เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2024 เกิดเรื่องสะเทือนขวัญคนไทยจำนวนไม่น้อย เมื่อ TasteAtlas เว็บไซต์สารานุกรมด้านอาหาร ได้ประกาศ 100 เมนูอาหารอันดับยอดแย่จากทั่วโลก (100 Worst Rated Foods in the World) โดย "แกงไตปลา" ขึ้นแท่นมาเป็นอันดับ 1 ทำให้เดือนเมษายนที่อากาศร้อนจัดอยู่แล้ว ยิ่งร้อนแรงทะลุปรอทด้วยกระแสทวงคืนความยุติธรรมให้เมนูเลื่องชื่อจากภาคใต้เมนูนี้กันทั่วฟ้าเมืองไทย
นอกจากเมนูแกงไตปลา ยังมีอาหารไทยอื่น ๆ ติดอันดับอาหารยอดแย่นี้ด้วย ทั้งข้าวคลุกกะปิ (อันดับ 27) หอยทอด (อันดับ 29) จิ้มจุ่ม (อันดับ 44) น้ำตกหมู (อันดับ 73) และผัดวุ้นเส้น (อันดับ 75) ซึ่งล้วนแล้วแต่ค้านสายตากรรมการ (ชาวไทย) ด้วยกันทั้งสิ้น
แต่อะไรที่ทำให้อาหารไทยมักเป็นที่กล่าวขานในระดับโลก? และอะไรทำให้คนไทยรู้สึกผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับความ 'อร่อย' ของอาหารจากประเทศตนเอง จนสามารถปลุกกระแสความตื่นตัวขึ้นมาได้?
TK Park ถือโอกาสนี้จัดชุดหนังสือขึ้นมา 12 เล่ม↗ ว่าด้วยอาหารคาว อาหารหวาน อาหารว่าง และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอาหารของคนไทย ที่ประกอบร่างจนกลายเป็นความอร่อยแบบไทย ๆ ให้นักอ่านได้อ่านกันอย่างกลมกล่อม
-
ตำราแม่ครัวหัวป่าก์↗ ตำราอาหารเล่มแรกของคนไทย โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ที่เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำส่วนตัว ที่ผู้เขียนใช้เวลาทั้งชีวิตฝึกปรือฝีมือการปรุงอาหาร ทดลองใช้วัตถุดิบ และสรรหาเทคนิควิธีการปรุงและจัดสำรับให้ชนชั้นเจ้านาย ก่อนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองในอีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา
-
อาหารไทยจงเจริญ↗ โดย ชรินรัตน์ จริงจิตร ประกอบคัมภีร์อาหารไทย 119 เมนู ทั้งน้ำพริก ยำ ต้ม ตุ๋น ผัด แกง ทอด และอาหารจานเดียว เพื่อชวนผู้คนเดินกลับเข้าครัว แล้วลงมือปรุงอาหารให้ได้เจอ “รสมือ” ของตัวเอง
-
วิทยาศาสตร์ของการปรุงอาหารไทย↗ วลีรัตน์ สินสวัสดิ์ พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับหลักวิทยาศาสตร์เบื้องต้นเพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานในการปรุงอาหาร ทั้งการเลือกวัตถุดิบ การคาดคะเนปริมาณ การควบคุมความร้อน ฯลฯ โดยมีไฮไลต์สำคัญของเล่มคือสูตรอาหารของร้านเรือนมัลลิการ์ ที่ Michelin Guide Book แนะนำในช่วงปี 2018–2020
-
เรื่องเล่ากับข้าวไทย: อาหารไทยมีเรื่องเล่าที่เราหลายคนไม่รู้ เล่ม 1↗ และ 2↗ ผู้เขียน ศรีสมร คงพันธุ์ เล่าถึงอาหารแต่ละเมนูในหลายมิติ ทั้งผ่านวัตถุดิบ วิธีทำ เกร็ดประวัติศาสตร์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมของอาหารไทยแต่ละเมนู ด้วยเรื่องเล่าที่เลิศรสไม่แพ้ตัวอาหารจริง ๆ
-
กับข้าวกับแขก: สำรับอาหารเหนือ↗ อาหารเหนืออาจไม่เป็นที่คุ้นเคยนักของคนไทยจากภาคอื่น แต่คำ ผกา เขียนหนังสือเล่มนี้โดยรวบรวมเรื่องราวอันหลากหลายของอาหารเหนือ และแนะนำตั้งแต่ขั้นตอนการเดินตลาดเลือกวัตถุดิบ จนสุดขั้นตอนการยกสำรับเสิร์ฟ
-
กินเล่นเช่นไทย↗ ผู้เขียน ณวรา เปลี่ยนบุญเลิศ รวบรวมสูตรอาหารว่างขึ้นหิ้ง 48 สูตรที่คนไทยหลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อหรือลิ้มรสมาก่อน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ท้าทายกระแสการเปลี่ยนแปลงและนิยามของคำว่า “อร่อย” ของคนไทยยุคปัจจุบัน
-
ขนมแม่เอ๊ย (ฉบับปรับปรุง)↗ สมบัติ พลายน้อย เขียนเรื่องขนมไทยที่ไม่ได้มีดีแค่ความหอมหวานประณีต แต่มีเรื่องราวของคติมงคล และพิธีกรรมความเชื่อ ที่ทำให้ขนมไทยแต่ละชนิดมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง
-
50 เมนูขนมไทย และขนมไทยประยุกต์↗ เมื่อเวลาผ่านไป บริบทการกินขนมของคนไทยก็เปลี่ยนไปด้วย หนังสือเล่มนี้จึงรวบรวมสูตรขนมไทยทั้งแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์ให้เข้ากับบริบทสมัยใหม่ เป็นไอเดียให้ขนมไทยถูกต่อยอดออกไปได้หลากหลายมากขึ้น
-
ต้นสาย ปลายจวัก↗ ผู้เขียน กฤช เหลือลมัย เลือกอาหารกว่า 30 เมนูที่คนไทยหลายคนคุ้นเคย มานำเสนอเรื่องราวความเป็นมา สู่ข้อสรุปว่าแท้จริงแล้ววัฒนธรรมอาหารอันรุ่มรวยของคนไทยในปัจจุบัน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบของผู้คนมากมายที่นำเอาวัฒนธรรมและวัตถุดิบมาปะทะสังสรรค์กันที่ประเทศแห่งนี้
-
รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม↗ ผู้เขียน อาสา คำภา เสนอประเด็นสำคัญว่าอาหารไทยและรสชาติความอร่อยแบบไทย ๆ นั้นไม่เคยหยุดนิ่ง เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมโดยตลอด และที่สำคัญ อาหารไทยคืออาวุธสำคัญที่รัฐ-ทุน-สื่อ ใช้สร้างสำนึกร่วมกันของคนไทยตลอดมา
-
ปฏิวัติที่ปลายลิ้น: ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475↗ ชาติชาย มุกสง เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อชวนมองว่าการปฏิวัติการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 นั้น ครอบคลุมมาถึงปลายลิ้นของคนไทย เพราะโภชนาการสมัยใหม่ที่เน้นสารอาหารครบถ้วน เป็นหนึ่งกระบวนการของพันธกิจสร้างชาติผ่านการนิยาม “ความอร่อย” แบบใหม่ ที่ทุกคนจะต้องเข้าใจและขานรับความอร่อยนี้ไปด้วยกัน เพื่อร่วมกันสร้างพลเมืองที่แข็งแรง ระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มั่นคง
อ้างอิง [1], [2], [3]