ในโลกยุคใหม่ มีหนังสือดีๆ มากมายรอให้เราพลิกหน้ากระดาษไปพบความมหัศจรรย์ ยิ่งในยุคที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเคยเป็นตำราเล่มหนา เป็นยาขมหม้อใหญ่ที่ไม่มีใครอยากแตะ วันนี้กลายเป็นหนังสือ “ย่อยง่าย” พร้อมด้วยความสนุกที่ทำให้เราได้เข้าใจโลกและเข้าใจกลไกการทำงานในร่างกายอย่างลึกซึ้ง พวกเราชาว TK Park จึงไม่รอช้าที่จะคัดสรรหนังสือเหล่านี้ไว้ในห้องสมุดและหยิบมาแนะนำให้เพื่อนๆ ที่สนใจวิทยาศาสตร์ได้มาอัพเดตความรู้กัน จะมีเล่มไหนบ้างไปดูกันเลย
[Part 1 รู้จักโลก]
1. ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์
ผู้เขียน ศุภวิทย์ ถาวรบุตร
หนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนาแต่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่เป็นรากฐานของการศึกษาวิทยาศาสตร์ อาจารย์ศุภวิทย์ ถาวรบุตร จะพาเราย้อนกลับไปค้นหาประวัติศาสตร์ของการศึกษา “ความจริง” ของมนุษย์นับตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ยุคสำริด อารยธรรมกรีก วิทยาศาสตร์สมัยกลาง และความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ภายหลังการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ที่ทำให้ “การศึกษาความจริง” กลายเป็นเรื่องของการแข่งขันเพื่อแย่งชิงอำนาจไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บางคนอาจคิดว่า การย้อนกลับไปศึกษาอดีตนั้นไม่สำคัญเท่ากับการมองไปยังอนาคตของวิทยาศาสตร์ แต่หากเราได้ทราบประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์บางเรื่อง เราจะพบว่าแนวคิดและวิธีการค้นหาความจริงของคนในอดีตนั้นน่าทึ่งเพียงใด เช่น ใครๆ ก็รู้จักทฤษฎีบทพีธาโกรัส (a2+b2=c2) ที่เราเคยเรียนมาในสมัยมัธยมต้น แต่ใครบ้างจะรู้ว่าในสมัยที่พีธาโกรัสมีชีวิตอยู่ ตอนนั้นยังไม่มีเลขอารบิกใช้ ไม่มีแม้แต่ระบบการถอดรากหรือทศนิยมซึ่งเป็นหลักคิดสำคัญของสมการนี้ แล้วเขาขบคิดทฤษฎีนี้ได้อย่างไร? หนังสือเล่มนี้จะช่วยอธิบายความมหัศจรรย์ของวิธีคิดและวิธีศึกษาความจริงในสมัยโบราณ เพื่อเป็นรากฐานของการมองไปข้างหน้า โดยเฉพาะในบทสุดท้ายของเล่มที่อาจารย์ศุภวิทย์จะชี้ให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องล้ำสมัยเกินเข้าใจ แต่อยู่แนบสนิทกับชีวิตอย่างแยกกันไม่ออก
2. จุดกำเนิดของโลก ชีวิต จักรวาล และ (เกือบ) ทุกสิ่ง
ผู้เขียน Graham Lawton ผู้แปล ธิดา จงนิรามัยสถิต
เราเกิดมาได้อย่างไร? โลกถือกำเนิดมาอย่างไร? จักรวาลหน้าตาเป็นอย่างไร? เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีคำถามเหล่านี้ในใจ หรือบางคนอาจมีคำถามที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น ทำไมเราจึงถือกำเนิดบนก้อนหินขนาดยักษ์ก้อนที่สามจากดวงอาทิตย์? คำพูดคำแรกของมนุษย์คืออะไร? เสียงดนตรีเสียงแรกเป็นเสียงสูงหรือต่ำ? ทำไมเราต้องกินอาหารสุกให้ยุ่งยาก ขณะที่สัตว์กินอาหารดิบได้? หนังสือเล่มนี้จะพาเราย้อนกลับไปเพื่อหาคำตอบตั้งแต่จุดกำเนิดของทุกสิ่งที่อย่างที่เรียกกันว่า “ดีพไทม์” (Deep time) นับตั้งแต่กำเนิดระบบสุริยะ ไปจนถึงวันที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ครองโลกและสร้างสิ่งต่างๆ มากมาย
แม้เรื่องราวทั้งหมดจะฟังดูยืดยาวและน่าเบื่อ แต่เกรแฮม ลอว์ตัน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กลับใช้พื้นที่เพียง 300 กว่าหน้าเล่าเรื่องกำเนิดของจักรวาลได้อย่างสนุกสนานและกระชับ โดยเฉพาะในบทที่ 6 ว่าด้วยเรื่องราวของการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เรายิ่งทึ่งกับภูมิปัญญาของมนุษย์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ได้ด้วยมือของเราเอง แถมท้ายด้วยหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ผู้เขียนแนะนำในท้ายเล่ม สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวต้นกำเนิดของเรา โลก และจักรวาล เล่มนี้ไม่ควรพลาด
3. ความลี้ลับของเวลา : ถอดปริศนาแห่งเวลาในสายตาควอนตัมฟิสิกส์
ผู้เขียน Carlo Rovelli ผู้แปล โตมร ศุขปรีชา
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “เวลา” หลายคนมีจินตนาการแตกต่างกันไป บางคนยึดโยงอยู่กับนาฬิกาและปฏิทิน บางคนนึกถึงความทรงจำในอดีต ช่วงเวลาในปัจจุบัน การจินตนาการถึงอนาคต บางคนนึกถึงไอน์สไตน์กับคำพูดอธิบายสัมพัทธภาพของเวลาที่โด่งดังของเขาว่า “เมื่อคุณนั่งอยู่ในสวนกับสาวสวย ระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงก็แสนสั้นราวกับผ่านไปเพียงวินาที แต่ถ้าคุณนั่งบนเตาร้อน ๆ หนึ่งวินาทีนั้นช่างยาวนานนับชั่วโมง” (When you are courting a nice girl an hour seems like a second. When you sit on a red-hot cinder a second seems like an hour.) แต่แม้จะผ่านมากี่ศตวรรษ “กาลเวลา” ก็ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังไม่สามารถไขปริศนาได้ทั้งหมด
คาร์โล โรเวลลี นักควอนตัมฟิสิกส์ชื่อดังผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเวลาจะพาจะชวนผู้อ่านไปหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วเวลาคือสิ่งใด จับต้องได้หรือไม่ หน้าตาเป็นอย่างไร มีอยู่จริงหรือไม่ ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับเวลาตั้งแต่ยุคของอริสโตเติล ไอแซก นิวตัน และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก่อนจะพาเข้าสู่คำอธิบายตามหลักควอนตัมฟิสิกส์ในปัจจุบันเพื่อชี้ให้เห็นว่า ในระเบียบของเวลา (The Order of Time) ที่หลายคนคิดว่ามีความเที่ยงตรงราวกับนาฬิกาเรือนทองจากสวิตเซอร์แลนด์นั้นเต็มไปด้วยความไร้ระเบียบและมีมิติของเวลาแบบอื่น ๆ แฝงอยู่มากมาย
จุดเด่นอีกประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ แม้จะจั่วหัวว่าควอนตัมฟิสิกส์ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเกินที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ผู้เขียนก็สามารถใช้ภาษาง่าย ๆ ในการอธิบาย มีการเปรียบเทียบและยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน เมื่ออ่านเล่มนี้จบเราจะพบว่า การทำความเข้าใจเรื่องเวลาสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจโลกและชีวิต
4. แบล็กโฮลบลูส์
ผู้เขียน Janna Levin ผู้แปล ปิยบุตร บุรีคำ
หากมีสิ่งหนึ่งที่มีแต่เพียงทฤษฎี ยังไม่มีใครเคยพิสูจน์ได้ แต่มีนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิจำนวนหนึ่งเชื่อมั่นในทฤษฎีนั้นและใช้เวลานับศตวรรษเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของสิ่งดังกล่าวโดยไม่เห็นวี่แววว่าจะสำเร็จได้ เรื่องราวระหว่างทางอันยาวนานจึงมีทั้งมิตรภาพ การต่อสู้ ความร่วมมือ การแข่งขัน ความท้อถอย การบาดหมาง การล้มเลิก และความสำเร็จ ทั้งหมดคือเรื่องราวของ “สถานีสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงไลโก” ที่สร้างขึ้นมาเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของ “คลื่นความโน้มถ่วง” หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของการศึกษาอวกาศที่เกิดจากการปะทะกันของหลุมดำ ซึ่งต้องใช้ “ไลโก” เครื่องมือที่มีความละเอียดอ่อนที่สุดจึงจะตรวจจับได้ (LIGO-The Laser Interferometer Gravitation-Wave Observatory) นับเป็นอุปกรณ์มูลค่าสูงลิ่วและมีความละเอียดอ่อนในการซ่อมบำรุงมาก ตั้งอยู่ ณ สถานีสังเกตการณ์ 2 แห่งคือ มลรัฐวอชิงตัน อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่มลรัฐหลุยส์เซียนา
การตรวจจับ “คลื่นความโน้มถ่วง” ซึ่งในยุคที่ก่อตั้งสถานีดังกล่าวอาจเปรียบได้ว่าเป็น “ผี” การไล่จับผีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่คนทั่วไปไม่เชื่อว่าผีตัวนี้มีอยู่จริง Janna Levin หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมสังเกตการณ์ในโครงการไลโกจึงพาพวกเราไปร่วมผจญภัยนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นการสร้างแบบทดลองทางจินตนาการ การออกแบบสถานี การทดสอบที่ทั้งล้มเหลวและสำเร็จ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความพยายามอย่างไม่ย่อท้อโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์จากหลายสาขา และที่ขาดไม่ได้คือ “ความศรัทธา” ที่มีต่อความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้
ความร่วมมืออันยิ่งใหญ่ครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนท่วงทำนองเพลงบลูส์ ดนตรีที่บิดผันผิดเพี้ยนไปจากทฤษฎีที่มีอยู่เดิม ทว่าแปลกหูและมีเอกลักษณ์เร้าใจชวนให้ค้นหา จึงไม่น่าแปลกใจว่าการประกาศการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงเมื่อ 6 ปีที่แล้ว (2558) จึงนับว่าเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในทศวรรษของเรา
5. เก็บกระเป๋าไปดาวอังคาร : สารพัดเรื่องราวเฮฮาและโหยไห้ในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศของมนุษย์
ผู้เขียน Mary Roach ผู้แปล สฤณี อาชวานันทกุล
หนังสือประวัติศาสตร์ หรือภาพยนตร์ มักฉายภาพนักบินอวกาศว่าเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโลก นักบินอวกาศจึงมักเป็นคำตอบแรกของคำถามที่ว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไรจ๊ะ” ทว่า Mary Roach กลับพาเราไปเข้าไปสำรวจทุกแง่มุมของการเดินทางในอวกาศว่าเป็นเส้นทางของ “วีรบุรุษ” หรือเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำกันแน่ ผู้เขียนเล่าเรื่องราวตั้งแต่การคัดเลือกนักบินอวกาศ การปรับตัวและการฝึกฝนในสภาวะแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ กระบวนการผลิตอาหารสำหรับมนุษย์อวกาศ การอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศ หรือแม้แต่ความยากลำบากในออกแบบวิธีการขับถ่ายในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง แถมด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศตลอดทั้งเล่มที่ชวนให้ขำน้ำตาเล็ดหรือเบือนหน้าหนีด้วยความขยะแขยง
สำนวนภาษาที่เต็มไปด้วยมุกตลกร้ายของผู้เขียนเป็นอีกจุดเด่นของเล่มนี้ที่ทำให้เรื่องราวที่แม้จะซีเรียสคอขาดบาดตายแต่กลับทำให้เราหัวเราะจนลืมสงสารคนที่ต้องพบกับเรื่องซวยในอวกาศ แม้เมื่ออ่านจบแล้วจะค้นพบว่ามนุษย์เราไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้ใช้ชีวิตในอวกาศ การเดินทางและการใช้ชีวิตในภาวะไร้แรงโน้มถ่วงจึงต้องผ่านการขบคิดและการทดลองอย่างหนักหนาสาหัส กระนั้นการ “เก็บกระเป๋าไปดาวอังคาร” หรือการเดินทางออกไปสำรวจอวกาศก็ยังเป็นความฝันของหลายคน ดังนั้นคนที่สนใจรีบหยิบเล่มนี้มาอ่านเตรียมตัวไว้ก็ไม่เสียหลาย
6. What If? จะเกิดอะไรขึ้นถ้า...
ผู้เขียน Randall Munroe ผู้แปล ศล
จุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์คือการตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ แต่ถ้าคำถามนั้นพิลึกพิลั่นจนเกินกว่าที่มนุษย์จะคิดได้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่อะไร? ทว่าสำหรับหนังสือเล่มนี้ คำถามสุดพิลึกอย่าง “ถ้าทุกคนบนโลกชี้เลเซอร์พอยเตอร์ไปที่ดวงจันทร์พร้อมกัน ดวงจันทร์จะเปลี่ยนสีหรือไม่?” “ต้องปล่อยสเต็กจากความสูงเท่าไหร่จึงจะทำให้มันสุกพอดีตอนตกถึงพื้น?” “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพายุฝนปล่อยน้ำทั้งหมดลงมาเป็นหยดน้ำขนาดยักษ์เพียงหยดเดียว?” กลับนำมาซึ่งคำตอบที่น่าอัศจรรย์
“What if?” (จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้า...) เป็นหนังสือที่รวบรวมคำถามสุดพิลึกพิลั่นแปลกประหลาดเกินคาดเดา ผู้เขียนคือ Randall Munroe อดีตวิศวกรของนาซาที่ผันตัวมาเป็นนักเขียนการ์ตูน โดยก่อนที่จะมาเป็นหนังสือ ผู้เขียนได้เปิดให้คนส่งคำถามไปที่เว็บไซต์ https://what-if.xkcd.com ซึ่งเขาจะพยายามค้นหาคำตอบมาให้โดยพยายามอธิบายคำตอบด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์
หนังสือเล่มนี้จึงเต็มไปด้วยความรู้มากมายหลายแขนง บวกกับอารมณ์ขันและจินตนาการที่คนอ่านคาดไม่ถึงว่า "ถามแบบนี้ก็ได้เหรอ" เช่นเดียวกับคำตอบของคำถามหลุดโลกที่ยังอ้างอิงอยู่กับหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างเหนียวแน่น ทำให้ผู้อ่านเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะไร้สาระเพียงใด แต่ทุกเรื่องมีคำตอบทางวิทยาศาสตร์รองรับเสมอ ดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ตอนต้นของเล่มว่า มีคนบอกว่าโลกนี้ไม่มีคำถามที่โง่ (There’re no stupid question) แต่เขาคิดว่ามันมีคำถามโง่ ๆ อยู่บนโลกนี้จริง แต่การพยายามหาคำตอบให้กับคำถามโง่ ๆ เหล่านั้นต่างหากที่จะนำมาซึ่งสิ่งมหัศจรรย์ (Answer a stupid question can take you to some interesting places)
[Part 2 รู้จักตัวเรา]
7. ยินดีที่รู้จักฉัน
ผู้เขียน Bill Sullivan ผู้แปล K.D.
เคยมีคำถามในใจไหมว่าทำไมเราถึงแอบชอบคนบางประเภทอยู่ซ้ำๆ? ทำไมแค่เราคิดถึงเค้ก ต้นขาก็ใหญ่ขึ้นแล้ว แต่เพื่อนเราสวาปามเค้กทั้งก้อนกลับยังผอมเพรียว? บางคนอาจคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน แต่ Bill Sullivan ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาระดับเซลล์และโมเลกุลจะพาเราไปสู่โลกของ “พันธุกรรม” ที่กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ใครจะเชื่อล่ะว่าสิ่งที่เราคิดว่า “เราเลือกเอง” เช่น เมนูอาหาร คณะที่เลือกเรียน เพื่อน คู่ชีวิต จนถึงพรรคการเมือง ที่จริงแล้วมี “ผู้บงการ” อยู่เบื้องหลัง คอยแอบซ่อนตัวอยู่ในหัว ในท้อง หรือแม้กระทั่งซ่อนอยู่ในสัตว์เลี้ยงตัวโปรด
ภายในเล่ม ศาสตราจารย์ Bill Sullivan พาผู้อ่านกลับไปยังประวัติศาสตร์การศึกษาพันธุกรรมในมนุษย์ อธิบายการทำงานของ DNA ซึ่งนับเป็น “พิมพ์เขียวของชีวิต” ที่กำหนดทุกอย่างในชีวิตของเราตั้งแต่แรกเกิด รวมถึงแนะนำศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกว่า “พันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม” (Epigenetics) ซึ่งมีสมมติฐานว่าปัจจัยต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อการทําางานของยีนเรา รวมถึงส่งผลให้เกิดการแปรเปลี่ยนของดีเอ็นเอที่จะส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต
ยิ่งได้รู้จักตัวเองผ่าน DNA ยิ่งทำให้เรารู้ว่าจะควบคุมการกระทําของตนเองได้แค่ไหน และอาจเปิดทางไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ใหม่ และการรักษาอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมของเราให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในบทส่งท้ายของเล่มที่ชื่อว่า “พบกับคุณคนใหม่” ที่ศาสตราจารย์เขียนขึ้นเพื่อบอกว่า แม้ชีวิตของเราจะถูกกำหนดด้วยรหัสพันธุกรรมไว้แล้ว แต่อำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นคนที่ดีขึ้นยังเป็นของตัวเราเสมอ
8. วิทยาศาสตร์แห่งความเหงา
ผู้เขียน John T. Cacioppo, William Patrick ผู้แปล โตมร ศุขปรีชา
การอยู่ในสังคมเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ในสัญชาตญาณมนุษย์ ดังนั้นการ “ขาดการเชื่อมต่อ” จากสังคม ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “ความเหงา” ซึ่งเป็นอารมณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งไม่แพ้ความสุข ความเศร้า ความโกรธ หรือความกลัว แม้ว่าในปัจจุบัน หลายคนยินดีที่จะอยู่อย่างเหงาๆ ตามแบบที่ว่าไว้ในเพลง ภาพยนตร์ หรือสื่อต่างๆ ทว่าการปล่อยให้เกิดความเหงาเรื้อรังนั้นกลับส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมในแง่ลบ ซ้ำยังรบกวนการทำงานของสมองจนทำให้เกิดผลร้ายตามมาอย่างไม่คาดคิด
เนื้อหาในเล่มนี้ ผู้เขียนจะนำเรากลับไปยังต้นกำเนิดของ “ความเหงา” นับแต่บรรพกาล ความสำคัญของความเหงาที่กระตุ้นให้มนุษย์ต้องอยู่รวมกันเป็นฝูงเพื่อเอาตัวรอดจากสัตว์อื่นและธรรมชาติที่โหดร้าย จนกระทั่งในปัจจุบันที่เงื่อนไขทางสังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โรค “การกลัวการเข้าสังคม” จึงกลายเป็น 3 ใน 10 ของโรคกลัว (phobia) ที่เกิดขึ้นในมนุษย์ ผลร้ายของความเหงาที่เกิดขึ้นกับสมองส่วนต่างๆ และเป็นต้นเหตุความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผลดีของความเหงากับการขัดเกลาตัวเองให้เข้ากับสังคมใหม่ การทำงานของสมองที่มีผลกับ “ความสัมพันธ์” และ “ความเหงา”
การรู้จักทุกแง่มุมของความเหงาผ่านหนังสือเล่มนี้ จึงมิใช่เพื่อการอยู่คนเดียว แต่คือการรู้จักและเข้าใจตนเอง นำไปสู่การแสวงหาและคัดสรรความสัมพันธ์ในสังคมที่เราอาศัยอยู่ และใช้ประโยชน์จากความเหงาเพื่อให้เรากลายเป็นคนที่น่าคบหามากขึ้น
9. ยีนเห็นแก่ตัว
ผู้เขียน Richard Dawkins ผู้แปล เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
“ความเห็นแก่ตัว” (Selfish) ฟังดูเป็นคำในแง่ลบ ยิ่งเมื่อมาบวกกับคำว่า “ยีน” ก็ชวนให้พิศวงงงงวยกันไปใหญ่ว่า “ยีนเห็นแก่ตัว” คืออะไร เป็นยีนที่ไม่ดีในร่างกายเราหรือไม่? บางคนเป็นคนเห็นแก่ตัวเพราะว่ามียีนแย่ๆ อยู่ในตัวหรือเปล่า? ศาสตราจารย์ Richard Dawkins นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการจะพาผู้อ่านไปรู้จักความหมายที่แท้จริงของ The Selfish Gene โดยย้อนกลับไปดูวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกตั้งแต่ตอนที่โลกมีแค่สารเคมีต่างๆ ก่อนจะเกิด "ตัวจำลองแบบ" หรือยีน ยีนจำนวนมากเกิดขึ้นและล้มหายตายจาก มีก็แต่ยีนที่โปรแกรมความเห็นแก่ตัวฝังเอาไว้ตั้งแต่ต้นที่สามารถสรรหากลยุทธ์ต่าง ๆ มาใช้ในการต่อสู้เอาชนะยีนคู่แข่งหรือหาทางให้ยีนเดียวกันได้ดำรงชีวิตในสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ต่อไป ยีนนี้ฝังอยู่ในสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วจนมองไม่เห็นอย่างพวกแบคทีเรีย หรือแบบที่เก่งกาจในการสร้างอาหารได้เองอย่างพวกพืช หรือแบบที่โลดแล่นเคลื่อนที่ไปมาแคล่วคล่องอย่างพวกสัตว์ ไปจนถึงเหล่ามนุษย์ในปัจจุบัน
ยีนเหล่านี้นี่เองที่เป็นคำอธิบายของพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นของมนุษย์และสัตว์เพื่อเอาตัวรอด เช่น พฤติกรรมของลูกนกกาเหว่าที่เกิดมาแล้วรู้จักการฆ่าลูกของนกตัวอื่นๆ ในรัง โดยการเอาปีกช้อนไข่ของนกตัวอื่นคว่ำลงกับพื้น เพื่อให้แม่อุปถัมภ์ป้อนอาหารให้ตัวเองมากที่สุด หรือแม้แต่ “การทำเพื่อคนอื่น” ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ยาวที่สุดในเล่ม ผู้เขียนก็ยังชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วเป็นผลจากยีนเห็นแก่ตัวที่ประเมินแล้วว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ตนเองได้ประโยชน์มากที่สุด
แม้หนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์มานานกว่า 40 ปีแล้ว ทว่าเนื้อหาและข้อเสนอในเล่มเรียกว่าไม่ได้ล้าสมัยและยังคงสดใหม่ชวนให้ถกเถียงกันได้เสมอ ผู้สนใจวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับร่างกายจึงไม่ควรพลาดงาน “คลาสสิก” เล่มนี้
10. อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก
ผู้เขียน ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์
จะพาแฟนไปเดตทั้งที เป็นใครก็ต้องเลือกหนังรักสุดสวีตให้เข้ากับบรรยากาศโรแมนติก แต่ใครจะรู้ว่าที่จริงแล้ววิทยาศาสตร์บอกว่าหนังที่จะทำให้การออกเดตประสบความสำเร็จที่สุดไม่ใช่หนังรัก แต่ควรเป็นหนังแนวแอ็คชันระเบิดภูเขาเผากระท่อม หรือหนังแนวสยองขวัญต่างหาก! หนังสือเล่มเล็กๆ ของ ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ที่มีความหนาเพียงสองร้อยหน้านี้จะนำพาผู้อ่านไปสู่การอธิบายเรื่องใกล้ตัวด้วยวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา แถมด้วยข้อมูลงานวิจัยที่มาสนับสนุนคำอธิบายในทุกเรื่อง เช่นว่า หญิงหรือชาย ทำไมต้องมีกิ๊ก? ทำไมนางโชว์ในวันไข่ตกจะได้รับเงินทิปมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ? ผลของการเดินผ่านประตู (door-way effect) คืออะไร ทำไมทำให้เรามักจะลืมว่าจะไปไหนหรือกำลังจะทำอะไร?
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นการอธิบายเรื่องต่างๆ ด้วยวิทยาศาสตร์และงานวิจัย แต่ชื่อของ ดร.นำชัย ก็เป็นที่รู้กันในวงการหนังสือวิทยาศาสตร์ไทยว่าอ่านง่าย เข้าใจง่าย มีอารมณ์ขันเหมาะเจาะกับเรื่อง ยิ่งเนื้อหาแต่ละบทเป็นเรื่องราวทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน คงมีไม่กี่คนที่จะเก็บมาเป็นประเด็นขบคิดและค้นหาคำตอบ ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ เรื่องธรรมดาเหล่านี้อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และมีงานวิจัยรองรับทั้งสิ้น ยิ่งทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และการวิจัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรานี่เอง
เป็นอย่างไรบ้างกับหนังสือวิทยาศาสตร์ 10 เล่มที่ช่วยเปิดหูเปิดตาให้เราได้เข้าใจต้นกำเนิดของโลก และหันกลับมาเข้าใจตัวเองได้มากขึ้นตามหลักวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญคือการเปลี่ยนมุมมองว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่เต็มไปด้วยเนื้อหาและศัพท์แสงที่เข้าใจยาก แต่เป็นเรื่องราวการศึกษา “ความจริง” ที่มีมานานหลายศตวรรษเพื่อตอบคำถามว่า “เราเป็นใคร” “เราอยู่ที่ไหน” และ “อนาคตจะเป็นอย่างไร” นั่นเอง หนังสือทั้ง 10 เล่มมีให้บริการใน TK Park สาขาต่างๆ ทั่วประเทศ อย่าลืมมาใช้บริการกันนะ