ในยุคที่โลกยังไม่มีประดิษฐกรรมทางการบันเทิงอย่างโทรทัศน์หรือออนไลน์สตรีมมิ่ง อาชีพ ‘นักเล่านิทาน’ เคยเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมาก่อนในยุคสมัยหนึ่ง อาจเพราะมันเป็นความบันเทิงเดียวที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ไม่แพงนัก
นักเล่านิทานในแต่ละท้องถิ่นล้วนมีกลวิธีดึงดูดใจผู้ฟังที่แตกต่างกัน บ้างขับร้อง บ้างออกลีลาท่าทาง บ้างอาศัยเครื่องประกอบจังหวะช่วยเร้าอารมณ์ผู้ฟังให้รู้สึกมีอารมณ์ร่วม ศาสตร์ในการเล่าเรื่องจึงถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่และความต้องการของยุคสมัย
รูปภาพจาก: https://insaitama.com/a-kamishibai-performer-in-the-making/
คามิชิไบ ศิลปะการเล่านิทานจากแผ่นกระดาษ
หนึ่งในประเทศที่มีรากฐานการพัฒนาศิลปะกลวิธีเล่าเรื่องมาอย่างยาวนานที่สุดในโลกประเทศหนึ่งคือญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปนับร้อยปีก่อน คนญี่ปุ่นได้คิดค้นวิธีการเล่าเรื่องแสนมหัศจรรย์ขึ้นมาได้รูปแบบหนึ่ง มันมีชื่อว่า คามิชิไบ (Kamishibai) ในภาษาญี่ปุ่นคำๆ นี้มีความหมายว่า ‘ละครกระดาษ’ หรือหากจะให้อธิบายเฉพาะเจาะจงลงไปกว่านั้น คามิชิไบก็คือศิลปะการเล่าเรื่องของนักเล่านิทานโดยมีรูปวาดบนแผ่นกระดาษช่วยเติมเต็มจินตนาการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นักเล่านิทานคามิชิไบจะใช้กล่องไม้ที่มีบานพับแทนโรงละคร เมื่อมีผู้ชมมารุมล้อมมากพอบานไม้นั้นจะถูกเปิดออกเพื่อให้เห็นภาพวาดที่อยู่ด้านใน ในระหว่างการดำเนินเรื่องนักเล่านิทานจะค่อยๆ ดึงภาพที่ซ้อนกันอยู่ออกทีละรูป ในยุคแรกภาพวาดเหล่านั้นมักเป็นภาพที่นักเล่านิทานเป็นคนวาดด้วยตัวเอง นอกจากความสนุกสนานของเนื้อเรื่องแล้วเสน่ห์อย่างหนึ่งของคามิชิไบจึงยังขึ้นอยู่กับฝีมือการวาดภาพและลีลาการเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
จากต้นกำเนิดสู่ยุครุ่งเรือง
มีบันทึกอธิบายว่าต้นกำเนิดของคามิชิไบเริ่มต้นขึ้นในยุคศตวรรษที่ 12 โดยเกิดขึ้นจากวัดแห่งหนึ่งที่พระสงฆ์ใช้ม้วนภาพวาดประกอบการเทศน์ เพื่อให้การแสดงหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนามีความน่าสนใจและดึงดูดผู้ฟังได้
จนกระทั่งถึงยุคเอโดะ รูปแบบการเล่านิทานก็มีการพัฒนาขึ้น ภาพวาดบนกระดาษถูกห้อยเอาไว้บนเสาเพื่อให้ผู้เล่าสามารถเคลื่อนย้ายไปเล่านิทานตามสถานที่ต่างๆ ได้
เมื่อมาถึงยุคเมจินอกจากภาพวาดแบบเต็มแผ่นทั่วไปแล้ว ยังมีคนคิดค้นสร้างหุ่นตัวละครที่เกิดจากการตัดกระดาษแปะเข้ากับเสาไม้ คล้ายๆ กับหุ่นละครเงาของมาเลเซียและอินโดนีเซียขึ้น ความหลากหลายและแปลกใหม่ทำให้การเล่านิทานประกอบภาพค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในวงกว้าง
ทว่ากว่าที่คามิชิไบจะเข้าถึงยุครุ่งเรืองจริงๆ ก็ต้องรอจนถึงช่วงปี 1930 เสียก่อน โดยช่วงเวลานั้นโลกกำลังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้คนจำนวนมากต้องตกงานอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ด้วยเหตุนี้คนจำนวนหนึ่งถึงได้เลือกผันตัวเองมาเป็นนักเล่านิทานคามิชิไบ
รูปภาพจาก: https://mag.japaaan.com/archives/72459
พวกเขาสร้างตู้ไม้เล็กๆ ที่เรียกว่า บุไต (Butai) ขึ้น แล้วติดมันเอาไว้หลังจักรยาน นักเล่านิทานจะเลือกพื้นที่ชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน ขยับกรับไม้ (Hyōshigi) เสียงดังกริ๊บแกร๊บให้ผู้คนที่สนใจพากันล้อมวงเข้ามา จากนั้นก็จะเปิดขายลูกอม และสารพัดขนมจุกจิกเพื่อหารายได้ เมื่อพบว่ามีผู้ชมมากพอตู้บุไตก็จะถูกเปิดออกเผยให้เห็นภาพวาดฉากละคร
ในช่วงที่รุ่งเรืองมากๆ นักเล่านิทานบางคนอาจต้องเปิดแสดงมากถึง 10 รอบต่อวัน โดยนิทานพื้นบ้านเรื่องฮิตที่ผู้คนในยุคนั้นนิยมหยิบยกมาเล่า ได้แก่ เจ้าหญิงคางุยะ ตำนานเจ้าหญิงคางุยะหรือตำนานคนตัดไผ่ เป็นนิทานพื้นบ้านของประเทศญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 เล่าถึงเจ้าหญิงจากดวงจันทร์ที่ชายตัดไผ่มาพบและได้เลี้ยงดูไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งที่เธอต้องกลับไปยังดวงจันทร์ หรือ โมโมทาโร่ ตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่นว่าด้วยเด็กชายที่ถือกำเนิดจากลูกท้อ เมื่อโตขึ้นเขาก็ได้ไปสู้กับยักษ์ และสามารถนำความสงบสุขคืนสู่ผู้คน ไปจนถึงนิยายแนวดราม่า หรือซูเปอร์ฮีโร่ และเมื่อนวัตกรรมการพิมพ์เจริญขึ้น จากคามิชิไบที่สร้างสรรค์ด้วยฝีแปรง ก็เกิดเป็นธุรกิจภาพพิมพ์สีเพื่อให้นักเล่านิทานสามารถเช่าหรือซื้อหาไปประกอบอาชีพได้
เมื่อโรงละครต้องปิดม่าน
คามิชิไบยังคงได้รับความนิยมจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นความบันเทิงที่มีราคาถูก ผู้คนที่อดอยากแร้นแค้นจากสงครามอาศัยเรื่องราวสนุกสนานเหล่านี้ปลอบประโลมใจให้สามารถผ่านวันอันยากลำบากไปได้
จนกระทั่งการมาถึงของโทรทัศน์ในช่วงปี 1950 เจ้าจอสี่เหลี่ยมที่มีภาพเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องอาศัยมือคนขยับจนได้รับฉายาว่า ‘คามิชิไบไฟฟ้า’ ก็เข้ามาแทนที่ จนคามิชิไบรูปแบบเก่าเสื่อมความนิยมลง นักเล่านิทานหลายคนต้องสูญเสียอาชีพที่เคยใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง บ้างหันไปทำอาชีพอื่น บ้างก็อาศัยความสามารถในการเล่าเรื่องหาทางต่อยอดในแวดวงงานโทรทัศน์
แม้ในท้ายที่สุดแล้วโรงละครเล็กๆ ที่สืบสานศิลปะพื้นบ้านแต่โบราณมาต่างต้องพากันปิดตัวลง ทว่าศาสตร์แขนงนี้ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน กลวิธีเล่าเรื่องแบบคามิชิไบยังถูกนำกลับมาใช้ในการเรียนการสอน หรือในเทศกาลงานศิลปะต่างๆ อยู่เสมอๆ
เรื่องเล่ารอบโลก
ในยุคก่อนที่โทรทัศน์จะกลายเป็นความบันเทิงหลักที่ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงได้ นอกจากศิลปะการเล่านิทานประกอบภาพแบบคามิชิไบที่มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นแล้ว อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างก็มีกลวิธีถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อสร้างความบันเทิงเริงใจให้กับผู้ชมได้น่าสนใจไม่แพ้กัน อาทิ
รูปภาพจาก: https://themerakimagazine.com/kathputli-an-art-form-in-rajasthan/
Kathputli การแสดงหุ่นกระบอกชักเชิดประกอบการเล่าเรื่องจากประเทศอินเดียที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับพันปี โดยจุดเด่นของ Kathputli อยู่ที่การสร้างสรรค์หุ่นด้วยไม้ ประดับประดาด้วยผ้าจนสวยงาม บอกเล่าเรื่องราวของนิทานพื้นบ้านซึ่งเกี่ยวข้องกับตำนาน ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนอินเดีย
รูปภาพจาก: http://www.unesco.org/archives/multimedia/document-2205
Naghali ศิลปะการเล่าเรื่องแบบโบราณจากอิหร่าน โดยอาศัยคนเล่าเพียงคนเดียวสวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ ผสมผสานกับการร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี หรือออกลีลาท่าทางประกอบ เพื่อสร้างความสนุกและตื่นเต้นให้กับผู้ชม เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ที่มักนิยมหยิบมาเล่าคือการต่อสู้กันระหว่างความดีและความเลว ความรัก หรือประวัติของผู้ที่เป็นตำนานแห่งดินแดนเปอร์เซีย
รูปภาพจาก: https://m.ntok.go.kr/kr/Ticket/Performance/Details?performanceId=265583
P’ansori การแสดงนิทานแบบขับร้องที่โด่งดังจากประเทศเกาหลี โดยอาศัยฝีมือการถ่ายทอดเรื่องราวที่ต้องการสื่อสารผ่านนักร้องหนึ่งคน และผู้ตีกลองประกอบอีกหนึ่งคน มีจุดเริ่มต้นในหมู่ชนชั้นล่างของสังคม ก่อนที่จะได้รับความนิยมแพร่หลายไปในผู้คนทุกชนชั้น ในอดีตนิยมเล่นเรื่องราวที่เป็นสุขนาฏกรรม แต่ในปัจจุบันเนื้อเรื่องที่มีตอนจบรันทดได้รับความนิยมมากกว่า
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.kamishibai-ikaja.com/en
https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/207
https://www.artbangkok.com/?p=48971