ผู้คนมักเข้าใจผิดว่าสีสันเฉดสีรุ้งบนธงสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ ที่โบกสะบัดมาตั้งแต่ปลายยุค 1970s เป็นตัวแทนความหมายสื่อถึงความหลากหลายทางเพศของผู้คนบนโลกใบนี้เท่านั้น ทว่าในความเป็นจริงแล้วสีสันแต่ละสีที่ประกอบเข้าด้วยกันต่างก็มีความหมายเป็นของตัวเอง เหลืองคือแสงตะวัน แดงคือชีวิต เขียวคือธรรมชาติ ส่วนม่วงคือจิตวิญญาณ เพราะแม้พวกเขาจะมีจุดร่วมเหมือนกันในความหลากหลาย หรือเลื่อนไหลทางเพศ ทว่าในแต่ละหน่วยย่อยของชีวิตต่างก็ล้วนประกอบขึ้นจากเรื่องราวที่แตกต่างกัน
ในวันนี้เราจึงอยากจะพาทุกคนไปสำรวจเรื่องราวความหลากหลายทางเพศในแง่มุมต่างๆ ผ่าน 10 หนังสือน่าอ่านที่เราคัดมาฝาก โดยหวังว่าคุณจะสามารถเข้าถึงพวกเขาได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
1. Symptoms of Being Human
โดย Jeff Garvin
ผู้คนในปัจจุบันอาจมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อย่างไรก็ดีพวกเขายังพยายามนิยาม หรือให้คำจำกัดความ ‘เพศสภาพ’ อย่างชัดเจนอยู่เสมอ Symptoms of Being Human คือหนังสือแนว coming-of-age ที่พาเราไปสำรวจประเด็นทางเพศซึ่งไกลกว่าความ ‘หลากหลาย’ หากแต่เป็นการ ‘เลื่อนไหล’ ของเพศที่เปลี่ยนแปลงไปตามความพึงพอใจของคนๆ หนึ่ง
เรื่องราวเล่าผ่านตัวละคร ‘ไรลีย์’ เด็กวัยรุ่นที่เพิ่งก้าวสู่สังคมของโรงเรียนแห่งใหม่ บางวัน ‘เธอ’ อาจเป็นเด็กผู้หญิง และบางวัน ‘เขา’ อาจเป็นเด็กผู้ชาย ไรลีย์เริ่มต้นเขียนบล็อกนิรนามบอกเล่าถึงความรู้สึกของเด็กวัยรุ่นที่มีความเลื่อนไหลทางเพศในตัวเอง ก่อนที่วันหนึ่งไรลีย์จะถูกนักอ่านนิรนามคุกคามให้ต้องเลือกว่าจะออกมาประกาศตัว หรือฝังความลับทางเพศให้ตายไปกับบล็อกนี้เสีย ภายใต้ปมปัญหาที่ซับซ้อนของชีวิตวัยรุ่น Symptoms of Being Human ยังคงความสนุกสนานในการฉายภาพประเด็นเรื่องเพศ มิตรภาพ ไปจนถึงการก้าวข้ามผ่านปัญหาต่างๆ แม้ว่าตั้งแต่ต้นจนจบเราจะไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วไรลีย์มีเพศโดยกำเนิดเป็นหญิงหรือชาย
2. Pride: The Story of Harvey Milk and the Rainbow Flag
เขียนโดย Rob Sanders
ภาพโดย Steven Salerno
เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีการกำเนิดธงสีรุ้งของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รอบ แซนเดอรส์ และสตีเว่น ซาเลอร์โน นักเขียน-นักวาดภาพประกอบมือรางวัลจึงได้ออกหนังสือภาพสำหรับเด็ก เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมากว่าที่ธงผืนนี้จะถือกำเนิดขึ้น และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำการเดินขบวนพาเหรดของกลุ่ม LGBTQ อย่างเช่นทุกวันนี้
Pride: The Story of Harvey Milk and the Rainbow Flag บอกเล่าเรื่องราวในปี 1978 เมื่อ ฮาร์วี มิลก์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ออกมาประกาศตัวเองว่าเป็นเกย์ จับมือกับ กิลเบิร์ต เบเกอร์ นักออกแบบ สร้างสรรค์สัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนความหลากหลายของผู้คน ผ่านสีสันทั้ง 8 สี (ก่อนที่จะเหลือ 6 ในภายหลัง) เรื่องราวของธงผืนนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แสดงถึงความเฉลียวฉลาดทางการออกแบบเท่านั้น หากแต่ยังช่วยขับเคลื่อน ตลอดจนส่งต่อพลัง และแรงบันดาลใจในแบบที่เด็กทุกคน (และผู้ใหญ่อีกหลายๆ คน) ควรมีโอกาสได้อ่าน
3. Stone Butch Blues
โดย Leslie Feinberg
นิยายรางวัลชนะเลิศในปี 1994 จาก American Library Association Gay & Lesbian Book Award ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเลสเบี้ยนในกลุ่ม Butch หรือกลุ่มที่มีลักษณะทางกายภาพ ตลอดจนชื่นชอบการแต่งตัวแบบผู้ชาย ในอเมริกาช่วงยุค 1970s โดยเล่าผ่านตัวเอก ‘เจส โกลด์เบิร์ก’ เด็กหญิงผู้เติบโตในย่านแรงงานของนิวยอร์ก ที่ต้องข้ามผ่านช่วงชีวิตวัยเด็กอย่างยากลำบาก เมื่อถูกพ่อแม่บังคับให้ต้องแต่งตัวแบบเด็กผู้หญิงทั้งที่ความต้องการจริงๆ ในใจเธออยากสวมเสื้อผ้าแบบเด็กผู้ชาย
หนังสือพาเราไปสำรวจการเติบโตทั้งภายใน และภายนอกของเจสตั้งแต่วันที่เธอถูกผู้คนพยายามตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วเธอเป็นเพศอะไรกันแน่ สู่การข้ามผ่านกลายมาเป็นตัวเองในรูปลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับผู้ชาย Stone Butch Blues ไม่เพียงแต่เป็นเหมือนสมุดบันทึกความสุข ความเศร้า ความรุ่งเรือง และแตกสลาย ของคนผู้เคยถูกมองว่า ‘แตกต่าง’ จากคนอื่นเท่านั้น แต่ยังรวบรวมเรื่องราวของประวัติศาสตร์ การเมือง ตลอดจนเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาว LGBTQ อีกด้วย
4. Real Life
โดย Brandon Taylor
การเอาชนะบาดแผลในชีวิตของคนเรานั้นมีราคาที่ต้องจ่ายหรือไม่ หากว่ามีสิ่งที่ต้องจ่ายนั้นจะแพงสักเท่าไหร่? Real Life คือหนึ่งในหนังสือนิยายแนว LGBTQ ที่ได้รับเลือกโดยบรรณาธิการของ New York Times ตลอดจนได้รับการยกย่องจากสื่อดังหลายเจ้าให้เป็นหนึ่งในหนังสือแนว coming-of-age ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งของยุค แบรนดอน เทย์เลอร์ ผู้เขียนได้เลือกหยิบเอาความเป็น ‘เกย์’ และ ‘คนดำ’ สองฐานันดรที่มักได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมในสังคมมาเป็นแกนหลักของเรื่อง
โดยหนังสือได้พาเราไปอยู่ท่ามกลางช่วงวันหยุดยาวฤดูร้อนของเมืองแห่งหนึ่ง เมื่อ ‘วอลเลซ’ เกย์หนุ่มผิวดำ นักเรียนปริญญาเอกสาขาชีวเคมีในมหาวิทยาลัยที่มีแต่คนผิวขาวกำลังครุ่นคิดเกี่ยวกับการลาออกกลางคัน Real Life พาเราย้อนกลับไปสำรวจชีวิตที่ทั้งสุข และเศร้า (ส่วนมากจะเป็นอย่างหลัง) จนทิ้งร่องรอยบาดแผลไว้ภายในใจจนส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่กับท่าทีที่วอลเลซมีต่อคนอื่นๆ รวมถึง ‘มิลเลอร์’ ชายหนุ่มผิวขาวที่เขามีความสัมพันธ์ด้วย น้ำเสียงของหนังสือเต็มไปด้วยการเสียดสี Privilege ของผู้คนในสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็บอกเล่าความเป็นจริงของชีวิตได้อย่างซาบซึ้ง และทรงพลัง
5. dayliGht
โดย Roya Marsh
โรยาห์ มาร์ช คือศิลปิน นักกวี และนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสำหรับชาว LGBTQ ที่เป็นที่รู้จักคนหนึ่ง ในวัยเด็กชีวิตของเธอถูกตีตราว่า ‘ผิดแปลก’ ไปจากคนอื่น เพียงเพราะชอบใส่เสื้อผ้าทรงหลวม ถักเดรดล็อกส์ และสวมผ้าโพกหัว การค้นพบความชื่นชอบทางเพศที่แตกต่างไปจากเพศสภาพโดยกำเนิดในยุคที่ผู้คนยังขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องที่น่าภิรมย์สักเท่าไหร่
จากประสบการณ์ในวัยเด็กของตัวเธอ แม่ ย่า ไปจนถึงผู้หญิงคนอื่นๆ ในครอบครัว โรยาห์ค่อยๆ ร้อยเรียงเรื่องราวความยากลำบากของผู้หญิงผิวดำในอเมริกา ทั้งในประเด็นเรื่อง ‘เพศ’ และ ‘สีผิว’ ออกมาในรูปแบบของบทกวีประกอบภาพถ่าย กระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง ตลอดจนความสำคัญในการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมในคนทุกเพศ และสีผิว
6. เมื่อวานเจ๊ทานอะไร? (Kinō Nani Tabeta?)
โดย Fumi Yoshinaga
แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ผลิตสื่อแนวความรักของเพศเดียวกัน ทั้งการ์ตูน หนัง หรือซีรีส์มากเป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย แต่วัฒนธรรมเรื่องความหลากหลายทางเพศในประเทศกลับยังเป็นเรื่องต้องห้าม และเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้กลุ่ม LGBTQ ชาวญี่ปุ่นหลายคนไม่กล้าที่จะออกมาเปิดเผยรสนิยมทางเพศ What Did You Eat Yesterday? คือหนังสือการ์ตูนแนวทำอาหารที่มีเวอร์ชันแปลไทยในชื่อ ‘เมื่อวานเจ๊ทานอะไร?’ เล่าเรื่องราวแนว Slice of life ของคู่รักชายวัยกลางคน ‘ชิโร่’ และ ‘เคนจิ’
แม้จะมีเรื่องราวการทำอาหารเป็นธีมหลัก แต่การ์ตูนเรื่องนี้กลับพาเราลัดเลาะไปสำรวจสภาพสังคมของญี่ปุ่นที่มีต่อชาว LGBTQ ได้อย่างลึกซึ้ง และแนบเนียน ผ่านบทสนทนาอันเรียบง่าย มุกตลก การจิกกัด หรือกระทั่งการกระทำของตัวละครต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่า การมีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างจากขนบของสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ง่าย’ และยังห่างไกลจากการถูกยอมรับแม้แต่จากคนในครอบครัวขนาดไหน สำหรับใครที่อ่านการ์ตูนจบแล้วแอบกระซิบเลยว่าเวอร์ชั่นที่เป็นซีรีส์ก็ทำออกมาได้ดีไม่แพ้กัน
7. Love Wins: The Lovers and Lawyers Who Fought the Landmark Case for Marriage Equality
โดย Debbie Cenziper และ Jim Obergefell
ในปี 2015 ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาผ่านร่างกฎหมายการสมรสระหว่างเพศเดียวกันครอบคลุมทั่วทั้ง 50 รัฐเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามกว่าที่กฎหมายฉบับนี้จะถูกเซ็นออกมาได้ เส้นทางที่ผ่านมาไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบหากแต่เป็นหนามล้วนๆ เมื่อข้อกฎหมายฉบับหนึ่งไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่ในแง่ของการบังคับใช้ทางราชการเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความรักของคนสองคนในรูปแบบที่จับต้องได้
‘จิม’ และ ‘จอห์น’ คือคู่รักชาย-ชายที่ทำการสมรสอย่างถูกกฎหมายในรัฐที่ให้การยอมรับการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน หากแต่ในรัฐโอไฮโอบ้านเกิดกฎหมายนี้ยังไม่ได้ถูกบังคับใช้ คนสองคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาจนถึงวาระสุดท้ายของฝ่ายหนึ่งจึงไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะใส่ชื่อลงในใบมรณะบัตรในฐานะคู่สมรส จากจุดเริ่มต้นในการต่อสู้เพื่อเครื่องยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมว่าคนที่รักจะยังอยู่ในความทรงจำตลอดไป จิม และ ‘อัล’ ทนายความนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจึงกระโดดลงมาในสนามรบครั้งนี้อย่างไม่กลัวเกรง และแน่นอนว่าในท้ายที่สุดแล้วความรักย่อมกำชัยชนะไปในที่สุด
8. เพศแห่งสยาม: ประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศ
โดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
เมื่อ 2 ปีที่แล้วมิวเซียมสยามได้จัดนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศในสังคมตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์จนถึงมุมมองในปัจจุบัน หลังจากนิทรรศการได้รับกระแสตอบรับที่ดีก็ได้นำข้อมูลจากในนิทรรศการ รวมเข้ากับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ จัดทำขึ้นเป็นหนังสือแจกฟรี เพื่อมุ่งขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยให้ผู้คนในสังคมได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ รวมถึงเกิดการยอมรับกลุ่มคนที่มีรสนิยมทางเพศแตกต่างจากตนเองได้อย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น
เนื้อหาในหนังสือคือข้อเขียนที่เกิดขึ้นจากการเรียบเรียงเอกสารประวัติศาสตร์ บันทึก หนังสือพิมพ์ รวมถึงบทสัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เราสามารถเห็นการเดินทางของความหลากหลายทางเพศที่สอดแทรกอยู่ในบริบทต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นตำนานทางพระพุทธศาสนา ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วรรณกรรม วรรณคดี พงศาวดาร ละครนอก-ละครใน ไปจนถึงตัวบทกฎหมายจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
9. The Death of Vivek Oji
โดย Akwaeke Emezi
จากผู้เขียนเดียวกันกับ Freshwater และ Pet อเควกี อีเมซี นักเขียนนิยายแนว LGBTQ ชาวไนจีเรียที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ ด้านงานเขียนนับสิบรางวัล ได้ปล่อยผลงานล่าสุดที่ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่ผู้ชมตั้งตารอคอยมากที่สุดจาก The New York Times, Harper’s Bazaar และ BuzzFeed ในชื่อเรื่องว่า The Death of Vivek Oji นิยายเกี่ยวกับชีวิต มิตรภาพ ครอบครัว และตัวตนของคนหนึ่งคนที่เริ่มต้นด้วยการตายของตัวละครเอก ‘วิเวค โอจิ’
วิเวคเป็นเด็กชายที่เติบโตมาในเมืองเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของไนจีเรีย เขาไว้ผมยาว ทาลิปสติก และเกิดมาพร้อมรอยแผลเป็นรูปปลาดาวที่เหมือนราวกับถอดแบบมาจากผู้เป็นย่า ทุกคนในครอบครัวต่างรักวิเวค แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจจริงๆ ถึงสิ่งที่เขาเป็น จนกระทั่งในบ่ายวันหนึ่งเมื่อผู้เป็นแม่เปิดประบ้านออกไปแล้วพบกับร่างไร้วิญญาณของวิเวคที่ถูกห่อด้วยผ้าหลากสี The Death of Vivek Oji เล่าเรื่องโดยแฝงกลิ่นอายของจิตวิญญาณ ควบคู่ไปกับการพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ครอบครัว และความเข้าใจของคนใกล้ชิดที่มีต่อคนๆ หนึ่งในขณะที่เขายัง ‘มีชีวิตอยู่’ อย่างมีลมหายใจ
10. Simon vs. the Homo Sapiens Agenda
โดย Becky Albertalli
ปิดท้ายกันด้วยนิยายแนวรอม-คอมเรื่องดังที่เคยฮิตมากๆ ในปี 2015 จนถูกหยิบยกมาทำเป็นหนังในชื่อเรื่องว่า ‘Love, Simon’ หรือชื่อไทย ‘อีเมลลับฉบับ, ไซมอน’ เป็นหนังสือแนว coming-of-age แนว LGBTQ ที่เรียกว่าโด่งดังพอๆ กับ Call me by your name หรือ The Perks of Being a Wallflower เลยทีเดียว โดยเรื่องราวเล่าถึง ‘ไซมอน’ เด็กหนุ่มวัย 16 ปีที่รู้ว่าตัวเองเป็นเกย์แต่ยังไม่พร้อมเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้
วันหนึ่งเขาบังเอิญได้รู้จักกับ ‘บลู’ เพื่อนหนุ่มในโลกออนไลน์ ผ่านการเขียนอีเมล์ถึงกันแบบไม่เปิดเผยตัวตน ทุกอย่างคงจะดีถ้าไม่ใช่เพราะการเผลอเรอลืม Log-out ออกจากเครื่อง จนเป็นเหตุให้ไซม่อนถูกเพื่อนร่วมชั้นแบลคเมล์เพื่อใช้เป็นสะพานในการจีบสาว จนเป็นต้นเหตุของความชุลมุน ตลอดจนเหตุการณ์ชวนหัว ที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับเรื่องราวของความสัมพันธ์ ปัญหาเรื่องเพศ ตลอดจนการก้าวข้ามผ่านของวัยที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างละเมียดละไม อบอุ่น และสะท้อนความในใจของวัยรุ่นที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านได้เป็นอย่างดี