หากจะว่ากันตามจริงแล้ว ‘โพรมีธีอุส’ น่าจะเป็นเทพจากปกรณัมกรีกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด เพราะเรื่องราววีรกรรมอันห้าวหาญเพื่อนำความศิวิไลซ์มาสู่มนุษยชาติของโพรมีธีอุส เป็นตำนานที่เล่าขานและถูกนำมาใช้เป็นธีมของนวนิยายและภาพยนตร์ฝั่งตะวันตกหลายเรื่อง จนถ้าจะกล่าวว่าโพรมีธีอุสเป็นเทพที่
‘ป็อป’ และมีฐานแฟนด้อมมากที่สุดในโลกมนุษย์ ก็น่าจะไม่ค้านสายตาคณะกรรมการจากยอดเขาโอลิมปัสมากนัก
หนึ่งในแฟนตัวยงของเทพผู้อุทิศตนองค์นี้ก็คือหนุ่ม ‘เต-ตะวัน วิหครัตน์’ ที่ถึงกับออกปากเลยว่า เรื่องราววีรกรรมของเทพขโมยไฟเป็นต้นแบบในเรื่องความกล้าหาญและการใช้ชีวิตแบบไม่เกรงกลัวอำนาจมืดของเขาเลยทีเดียว
ว่าแต่วีรกรรมห้าวหาญอันใดกันที่ทำให้ เต-ตะวัน รวมไปถึงเหล่ามนุษย์ยังเล่าขานตำนานของเขามานับพันๆ ปี? ตามตำนานเวอร์ชั่นที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งบันทึกโดยกวีนามว่า ‘เฮสิออด’ ‘โพรมีธีอุส’ (ภาษากรีกแปลว่า การคิดไตร่ตรองล่วงหน้า) คือเทพผู้ให้กำเนิดมนุษยชาติ ด้วยการปั้นมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหนียว และทำให้ก้อนดินเหนียวนั้นมีชีวิตขึ้นมา แต่มนุษย์พอเกิดมาก็ดันต้องพบพานกับความยากลำบาก ทำหน้าที่หาเครื่องสังเวยมาเซ่นให้เหล่าเทพบนยอดเขาโอลิมปัส
โพรมีธีอุสไม่สามารถทนเห็นเทพเอาเปรียบมนุษย์ตัวเล็กๆ ได้อีกต่อไป จึงวางกลลวงเหล่าเทพชั้นสูงไฮโซเหล่านั้น โดยแบ่งเครื่องสังเวยออกเป็นสองกอง กองหนึ่งคือเครื่องในของวัวที่ถูกคลุมไว้ด้วยกองเนื้อน่ากิน ในขณะที่อีกกองหนึ่งเมื่อมองจากภายนอกจะเห็นเป็นกองกระดูกกินไม่ได้วางสุมอยู่ แต่ด้านในกลับซ่อนเนื้อสดอวบฉ่ำเอาไว้ ซึ่ง ‘ซุส’ ราชาแห่งทวยเทพก็ตกหลุมพราง และเลือกกองเนื้อชุ่มฉ่ำ แต่ข้างใต้เป็นเครื่องในที่กินไม่ได้ เมื่อซุสรู้ถึงแผนลวงก็โมโหโกรธาสุดฤทธิ์ ลงโทษมนุษยชาติด้วยการริบเอาไฟมาจากมนุษย์ ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในความมืดและความหนาวเหน็บ
โพรมีธีอุสไม่อาจทนเห็นมนุษย์ได้รับความทุกข์ทรมาน เขาจึงได้ทำการขโมยไฟจากซุสเพื่อนำแสงสว่างและความอบอุ่นกลับคืนสู่มนุษยชาติ การกระทำอันอุกอาจของโพรมีธีอุสทำให้ซุสพิโรธหนัก จนโดนลงโทษด้วยการถูกตรวนไว้กับก้อนหิน โดยที่ทุกวันจะมีนกอินทรีย์บินมาจิกกินตับของเขาอยู่ร่ำไป และทุกวันตับของเขาก็จะงอกขึ้นมาใหม่วนไปเรื่อยๆ แต่โชคดีที่ ‘เฮราคลีส’ (หรือ เฮอร์คิวลิส ถ้าเรียกแบบโรมัน) วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในตำนานได้มาพบเข้า เขาจึงช่วยกำจัดเจ้านกอินทรีย์กินตับ ปลดปล่อยโพรมีธีอุสให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน
เรื่องราวของโพรมีธีอุสกลายเป็นหนึ่งในตำนานที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นธีมและคอนเซปต์ในงานศิลปะและวรรณกรรมฝั่งตะวันตกอย่างแพร่หลาย โพรมีธีอุสกลายเป็นสัญลักษณ์เรื่องความมานะบากบั่นของมนุษย์เพื่อแสวงหาวิทยาการต่างๆ โดยเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์ โดยไฟที่โพรมีธีอุสขโมยมาให้มนุษย์ก็คือสัญลักษณ์ของแสงสว่างทางปัญญา และความก้าวหน้าของมนุษย์ที่มาพร้อมกับการค้นพบวิธีการจุดไฟนั่นเอง ในขณะที่บทลงโทษที่โพรมีธีอุสได้รับ ก็มักถูกนำมาใช้เพื่อสะท้อนผลร้ายที่ตามมาจากการที่มนุษย์แข็งกล้าจะทำตัวเทียบพระเจ้า หรือมีความรู้เสมอพระเจ้า
ในส่วนของ Pop Culture นั้น เมื่อปี 2012 ก็มีการดัดแปลงเรื่องราวของโพรมีธีอุสให้กลายเป็นหนังเอเลียน ‘Prometheus’ กำกับโดย ริดลีย์ สก็อตต์ เล่าถึงการดั้นด้นออกไปค้นหาคำตอบเรื่องต้นกำเนิดของมนุษย์ในจักรวาลอันไกลโพ้น แต่หากย้อนกลับไปไกลกว่าหนัง ในโลกของวรรณกรรมตะวันตกก็ยังมีงานเขียนคลาสสิกอย่าง ‘The Modern Prometheus’ ในปี 1818 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘Frankenstein’ ผลงานของนักเขียน แมร์รี เชลลี ว่าด้วยนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่พยายามใช้วิทยาศาสตร์เพื่อลอกเลียนอำนาจของพระเจ้าด้วยการสร้างมนุษย์จากการประกอบร่างขึ้นมาจากชิ้นส่วนของซากศพ และใช้กระแสไฟฟ้าในการกระตุ้นให้หัวใจของอมนุษย์ตนนี้กลับมาเต้นอีกครั้ง
ถึงจะเป็นตำนานเก่าหลักพันปี แต่เรื่องของโพรมีธีอุส ยังแอบแฝงอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นในจอทีวี หนังสือ หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ที่คอยปลุกไฟให้เรายึดมั่นในสิ่งที่เราเชื่ออย่างไม่ยอมแพ้
ภาพประกอบ
‘Prometheus Brings Fire’ โดย Heinrich Friedrich Fuger, 1817