นิทานภาพมีเรื่องราวเฉพาะตัวของยุคสมัยใหม่ ที่สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เลือกหยิบยกขึ้นมานำเสนอสู่สังคม ผ่านงานเสวนาออนไลน์ "เปิดโลกนิทานภาพ” ทำให้หลายคนได้เรียนรู้ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในแวดวงนิทานภาพ จากศจ.มาร์ติน ซาลิสเบอรี นักเขียน นักวาดภาพประกอบ และผู้อำนวยการศูนย์วรรณกรรมเด็ก เคมบริดจ์สคูลออฟอาร์ท มหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกิน ประเทศอังกฤษ
ศจ.มาร์ตินมองว่าปัญหาของโลกในปัจจุบันสะท้อนออกมาในหนังสือนิทานภาพของเด็ก และมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน แต่ที่น่าในใจคือการหยิบยกปัญหาเหล่านี้มาถ่ายทอดในรูปแบบหนังสือภาพ ที่ต้องเล่าเรื่องได้อย่างงดงามเหมือนแฝงไว้ในบทกวี เพื่อให้เด็กสามารถเปิดรับสารเหล่านี้ได้
“การสื่อสารประเด็นที่ยากและจริงจัง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการเมือง ฯลฯ อย่างแยบคายเหมือนแฝงในบทกวี จะดึงดูดเด็ก ๆ เข้ามาสัมผัสเรื่องราวของหนังสือภาพได้แน่นอน”
ศจ.มาร์ตินเปรียบว่าเนื้อหาเหมือนเนื้อชิ้นโตแสนอร่อย ที่ขโมยเอาไปล่อหมาเฝ้าบ้าน เนื้อหาเป็นแค่สิ่งที่มาล่อไว้ แต่รูปแบบของสื่อ ที่เป็นหนังสือภาพต่างหากเป็นสิ่งสำคัญที่จะสื่อสารทั้งหมด การรับรู้ทุกสิ่ง ผ่านความรู้สึก ผ่านภาพ ผ่านถ้อยคำบรรยาย จะทำให้เด็กสามารถเปิดรับสิ่งที่จะสื่อสารได้ ”
ศจ. มาร์ติน เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรมหาบัณฑิตด้านภาพประกอบสำหรับเด็ก หรือ Children's Book Illustration ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหลักสูตรชั้นนำระดับโลก และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือภาพสำหรับเด็กเขียนหนังสือ Children’s Picturebooks: The Art of Visual Storytelling และ หนังสือ The Illustrated Dust Jacket: 1920-1970 รวมทั้งเป็นคณะกรรมการตัดสินหนังสือภาพสำหรับเด็กในระดับนานาชาติมากมาย รวมทั้งงาน Bologna Children's Book Fair และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Klaus Flugge Prize รางวัลที่มอบให้กับผู้สร้างสรรค์หนังสือนิทานเด็กหน้าใหม่ในวงการ
“สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ การบูมของหนังสือเด็กประเภทสารคดี เกี่ยวกับสภาวะโลกและสิ่งแวดล้อม นิทานภาพในปัจจุบันกำลังเต็มไปด้วยประเด็นที่จริงจัง เราเห็นหนังสือ Dear Earth นิทานภาพที่พูดถีงสิ่งแวดล้อม เขียนโดย Isabel Otter และวาดภาพประกอบโดย Clara Anganuzzi โดยเนื้อหาของ Dear Earth บอกเล่าถึงความพิเศษของโลก และเล่าเรื่องให้เด็ก ๆ เห็นว่าพวกเขาสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันได้
ศจ. มาร์ตินกล่าวว่า หนังสือภาพ แม้จะดูเรียบง่าย แต่การทำหนังสือสักเล่มนั้นเป็นความยาก ในกระบวนการทำงานอาจพบปัญหามากมาย การมองหาสิ่งที่อยากจะสื่อสาร ที่ผู้ทำงานอาจไม่แน่ใจว่าต้องการภาพแบบไหน สิ่งที่นักเขียนทำได้คือต้องวาด วาด และวาดไปเรื่อยๆ จนเจอภาพที่พอใจและต้องการสื่อสารอย่างแท้จริง และจากนั้นต่อไปก็ต้องทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ให้ราบรื่นจนกว่าจะได้ผลงานออกมา
ในฐานะที่ทำงานในสายการศึกษา ศจ.มาร์ตินพบว่าหนังสือเด็กถูกมองว่าด้อยค่ากว่าสาขาอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งๆที่ หนังสือเป็นสิ่งสำคัญมากกับเด็ก ที่การสื่อสารสิ่งสำคัญกับเด็กผ่านหนังสือภาพ ในรูปแบบที่ละเอียดอ่อนและสวยงามเหมือนบทกวี อาจทำให้เราหวังได้ว่าเด็กๆรุ่นต่อไปจะลุกขึ้นมาทำหน้าที่แก้ไขสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำเอาไว้ ให้โลกนี้ดีขึ้นได้
ศจ.มาร์ตินยกตัวอย่างต่อไปถึงหนังสือ Julian is a Mermaid เขียนโดย Jessica Love ที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2019 เป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ ที่มีด้านในแบบที่เป็นผู้หญิง และหนังสือเล่มนี้พยายามสื่อสารให้คนกล้าแสดงความเป็นตัวตนของเราออกมา เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญ
My Name is Not Refugee โดย Kate Milner เป็นผลงานลูกศิษย์ของศจ. มาร์ติน และแถมยังเป็นหนึ่งในห้าหนังสือภาพที่เข้ารอบสุดท้ายของรางวัล Klaus Flugge Prize ประจำปี 2018 โดยผลงานส่วนใหญ่ของนักเขียนคนนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น หนังสือเล่มนี้พูดเรื่องผู้อพยพ ที่ไม่ได้พยายามอธิบายข้อเท็จจริง แต่กลับเล่าในมุมมองที่เด็กสามารถเชื่อมโยงได้ เน้นสื่อสารด้วยภาษาเรียบง่ายจาก สวยงาม และรูปภาพสีสันเพียงน้อยนิด เพื่อให้เด็กๆ ได้เชื่อมโยงเข้ากับตัวเองและเข้าใจประเด็นผู้อพยพได้ง่าย
อีกหนึ่งตัวอย่างคือ The King Who Banned the Dark เขียนโดย Emily Haworth-Booth เป็นอีกหนึ่งหนังสือภาพที่บอกเล่าเรื่องซีเรียสในสังคม แฝงไปด้วยแง่มุมเชิงการเมือง สะท้อนผ่านภาพประกอบอันสวยงาม นอกจากนี้นักเขียนคนเดียวกันก็ยังมีผลงานชิ้นที่สอง The Last Tree ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์มาพร้อมเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนและความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
The Extraordinary Gardener หนังสือ shortlists สำหรับรางวัล KLAUS FLUGGE 2019 บอกเล่าเรื่องราวของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ค่อนข้างธรรมดา โลกของเขาค่อนข้างเป็นสีเทา และวันหนึ่งเขาก็ได้ตัดสินใจปลูกเมล็ดพันธุ์บนระเบียงของเขา ซึ่งศจ. มาร์ติน อธิบายเพิ่มเติมว่า นี่อาจเป็นหนังสือเชิงสิ่งแวดล้อมก็ได้ หรือการเพาะเมล็ดในเรื่องนี้ก็อาจหมายถึงการบ่มเพาะจินตนาการก็ได้
“หนังสือภาพมีมิติที่ลึก สามารถเล่าเรื่องราวได้ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องราวของเด็กๆ สิ่งที่สื่อสารผ่านหนังสือภาพบางครั้งดูเหมือนน้อยและเรียบง่าย แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่สื่อออกมากลับมหาศาล เพราะทุกการสื่อสารทั้งคำและภาพต้องผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ พัฒนาอยู่ตลอดกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ หนังสือภาพถ่ายทอดความเป็นจริงของโลก ในรูปแบบบทกวี บอกเล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์ของตัวละคร ส่งต่อให้เด็กทำความเข้าใจโลกในแบบของตัวเอง”
สุดท้าย ศจ. มาร์ติน ได้พูดถึงประเด็นการสื่อสารเรื่องปัญหาของสังคมโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ กับเด็กๆ ว่าการใส่ความจริงหรือความรุนแรงของปัญหาในหนังสือภาพขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ว่าควรใส่ประมาณไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใส่ความจริงที่อยากสื่อสาร เราไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นที่ความรุนแรง แต่ควรบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ประสบการณ์ หรือมุมมองที่เด็กๆ จะรับรู้ต่อเรื่องราวเหล่านั้นอย่างไรมากกว่า