หลายๆ วิกฤติที่เกิดขึ้นกับโลก ล้วนทำให้เราเห็นแล้วว่า มีผลต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งนั้น ตั้งแต่เหตุการณ์รุนแรงที่เพิ่งผ่านมาเมื่อต้นปี กับวิกฤติไฟป่าที่ออสเตรเลีย ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และอีกหนึ่งวิกฤติที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก อย่างไวรัสโควิด 19 แน่นอนว่าได้สร้างผลกระทบมากมาย ทั้งคร่าชีวิตผู้คน และทำธุรกิจพังครืนกันไปหลายแห่ง จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะเดียวกันวิถีของสิ่งแวดล้อมก็ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน นำมาสู่ประเด็นถกเถียงทางสังคมที่ว่าการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นไปในทางที่ดีหรือไม่
ในกิจกรรม Re:learning NOW จัดโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ได้ชวน 2 นักอนุรักษ์ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่องอาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม. เชียงใหม่ และประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา เชียงใหม่ และ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมสนทนาในหัวข้อ เมื่อวิกฤติเปิดโอกาส ธรรมชาติจะไปต่ออย่างไร
ธรรมชาติของไทยหลังเกิดวิกฤติ
จากมาตรการล็อกดาวน์ ไม่ให้มีการเดินทางและปิดแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางบกและทะเล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะทะเลไทยได้ฟื้นฟูตัวเอง แม้จะเป็นทะเลที่ไร้นักท่องเที่ยว แต่ได้เกิดภาพของสัตว์ทะเลหายากปรากฏแก่สายตาของชาวโลกในหลายพื้นที่ ซึ่งนักอนุรักษ์ ทั้ง 2 ท่านเห็นตรงกันว่า ภาพธรรมชาติที่หวนกลับคืนมาอาจเป็นเรื่องน่ายินดีในจำนวนไม่กี่เรื่อง ที่พอจะช่วยคลายทุกข์ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ว่า “จริงๆ ผลกระทบการท่องเที่ยวของไทย มีก่อนเกิดโควิด ซึ่งนักท่องเที่ยวในปี 62 มีกว่า 40 ล้านคน และไปทะเลมากที่สุดถึง 30 ล้านคน นิยมไปเที่ยวตามหาด มีเรือเป็นหมื่น ๆ ลำ ที่พานักท่องเที่ยวออกไปตามเกาะทุกวัน ซึ่งเรือจำนวนมากนั้นเป็นต้นเหตุที่รบกวนสัตว์ทะเล โดยเฉพาะสัตว์หายาก แต่พอเกิดโควิด เราหยุดการท่องเที่ยว เรือหายไปหมด สัตว์ทะเลก็เลยกลับมาในพื้นที่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น พะยูนจำนวนมากมารวมฝูงกันที่ตรัง เต่ามะเฟืองที่ขึ้นมาวางไข่ร้อยกว่าฟองที่ หาดหน้ายักษ์ พังงา” .
อีกด้านของสภาพแวดล้อมทางบก อย่างอุทยานหรือป่าเขา หมอหม่อง อธิบายถึงผลกระทบโควิดที่ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักให้กับสังคมโลก แต่ในแง่อนุรักษ์ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ยังได้เกิดผลดีที่ทำให้หลายสิ่งมีชีวิตได้รับการฟื้นฟู “พอโลกมนุษย์หยุดหมุน โลกธรรมชาติก็กลับมาสดใสร่าเริง เช่นภาพข่าวจากเวนิชอิตาลีคลองใส ชะมดในอินเดียออกมาเดินตามสี่แยก หรือฝูงฟามิงโกใกล้เมืองมุมไบ ผมว่าคนรุ่นหลังอาจไม่ทราบว่าสมัยก่อนมีแบบนี้ เช่นสมัยก่อนชายหาดมีปูลมวิ่งกันเต็ม คือยุคนี้พอสูญเสียอะไรไปก็อาจไม่รู้ว่าแต่ก่อนมันมีอะไร แต่โควิดเปิดเผยให้เราเห็นว่าสมัยก่อนนี้มีธรรมชาติแบบนี้อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม มันงดงามแต่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะดีใจได้เต็มที่ เพราะเราก็รู้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษ ที่ทำให้คนเดือดร้อนมาก แต่ตรงนี้เป็นเหมือนภาพให้เรามองเห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้มากขึ้น เห็นโอกาศว่าธรรมชาติกลับมาได้ ถ้าเรามีวิธีคิด วิธีจัดการที่ดี”
วางแผนที่ดี เพื่อฉวยโอกาสจากวิกฤติครั้งนี้
วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกันการอนุรักษ์ที่รอบคอบจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ดีงาม และทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาจารย์ธรณ์ กล่าวว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้ทุกคนเห็นตรงกันว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และได้ยกตัวอย่างแผนการท่องเที่ยว New Normal ทะเลไทย’ หลัง ‘โควิด 19’ ไว้ 4 หมวด คือ ควบคุม ดูแล ส่งเสริม และสนับสนุน มากไปกว่านั้นคือการใช้มาตรการผสมผสานกัน ระหว่างมาตรการด้านสุขภาพกับมาตรการสิ่งแวดล้อม และขอเพียงใช้ประโยชน์ให้ถูกต้อง ตรงจุด
“สิ่งที่เราต้องพยายามทำให้เร็วที่สุด คือฉวยโอกาสสร้างแผนการท่องเที่ยวหลังโควิด ซึ่งแผนดีที่สุดจะเกิดจากคนในพื้นที่ แล้วค่อยนำมาปรุงแต่งปรับเพิ่มจากส่วนกลางทุกภาคส่วน” อาจารย์ธรณ์กล่าวพร้อมเน้นย้ำว่าควรให้เครือข่ายชาวบ้านและเอกชนเข้ามาร่วมจัดการด้วย โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่และผู้ประกอบการรายย่อยให้เขาเข้าใจร่วมกันและมีรายได้ที่ดีขึ้น ขณะที่เอกชนอาจเข้ามาช่วยในเรื่องการสลับเวลา หรือการไม่วิ่งเรือในบางพื้นที่
สำหรับหมอหม่อง เห็นด้วยกับอาจารย์ธรณ์ ที่ควรจำกัดนักท่องเที่ยว เพื่อแผนระยะยาวที่ยั่งยืน พร้อมเสริมแผนการท่องเที่ยวที่ควรเกิดขึ้น “การท่องเที่ยวทางบก ที่ผมอยากเห็นคือ กำหนดโซนนิ่ง หรือโอกาสที่เข้าหาธรรมชาติ ผมมองว่าไม่อยากให้ใช้เงินเป็นตัวตั้ง เช่นคุณรวยมากก็ได้ไปโซนวีไอพี แต่โซนนิ่งสำหรับผม คือจำกัดพื้นที่เพื่อบอกว่าบริเวณนี้มีระบบนิเวศบอบบางมาก ก็อาจไม่ให้คนรุกล้ำ ผมอยากให้แบ่งตามความรักในธรรมชาติ คือในบางพื้นที่ก็อาจไม่ต้องมีเครื่องอำนวยสะดวกครบครันก็ได้ คือคนจะได้ตรงนั้นต้องรักธรรมชาติจริงๆ ก็จะช่วยสกรีนคนไปแบบหนึ่ง”
ปรับตัวเอง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
การอนุรักษ์แบบยั่งยืน ในแบบฉบับอาจารย์ธรณ์คือ คือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า ซึ่งตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีที่สุดในการรีเซตทั้งหมด
“สิ่งที่ผมพยายามตลอดคือ อยากให้คนไทยเข้าถึงและละเอียดอ่อนกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด โดยไม่เกี่ยวกับรายได้มากมาย แต่ปัญหาตอนนี้ที่ต้องเข้าใจร่วมกันคือ คนไทยบางส่วนไปกองรวมกันที่จุดท่องเที่ยวจุดเดียวที่กำลังเป็นกระแส ทั้งๆ ที่มีธรรมชาติอีกหลายแห่งที่สวยงาม แต่ไม่มีคนไป ส่วนตัวมองว่าคนไทยในอดีตอาจจะยังค้นหาการท่องเที่ยวไม่เพียงพอ ผมค่อนข้างเศร้าใจเล็กๆ เพราะเวลาคนไทยไปต่างประเทศก็เสาะหาร้านอร่อยๆ หาไปยาก แต่พอหาข้อมูลการท่องเที่ยวในประเทศ เช่นจุดดูนก ยังไม่ค่อยมีบอก เนื่องจากข้อมูลพวกนี้ทางรัฐยังไม่ค่อยให้ความสำคัญอย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นผมหวังอย่างยิ่งว่าการท่องเที่ยวยุคหลังโควิด จะเกิดกระแสการท่องเที่ยวที่แสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เงียบสงบ ที่สวยงาม เพราะเมื่อมีคนเริ่มหาคนเขียนข้อมูลต่างๆ ก็จะเริ่มมีกำลังใจ นั้นแหละคือ การเปลี่ยนแบบ New Normal ที่ผมอยากเห็น” อาจารย์ธรณ์เล่าถึงความตั้งใจที่อยากเห็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพหลังโควิด 19
เรียนรู้เพื่อจะเปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางวิกฤติการณ์ต่างๆ มาถึงไวรัสโควิด 19 ล้วนส่งผลกระทบให้เกิดการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ หลังโควิด หมอหม่องมองว่าถ้าทุกคนยังไม่ลงมือปฏิบัติหรือใช้โอกาสนี้เปลี่ยนแนวทางในการพัฒนา พอโควิดหมด ทุกอย่างก็เหมือนเดิม นั่นเท่ากับว่าเราไม่เรียนรู้อะไรเลย
“ผมมองไปไกลว่าเรื่องของการท่องเที่ยว คือสิ่งที่เราพบเมื่อโลกมนุษย์หยุดหมุน คือสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ประเทศในแหล่งอุตสาหกรรมที่ปกติจะมีปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ค่อนข้างสูง พอการผลิตหยุดลง อากาศก็ดีขึ้นอย่างชัดเจน ก๊าซเรือนกระจกก็ลดลง ก๊าซคาร์บอนก็ลดลง”
“เมื่อมองในมุมดี จริงอยู่ว่าทุกอย่างเหมือนจะดีขึ้น แต่จะชั่วคราวหรือเปล่า เมื่อโควิดผ่านไป ก็มีหลายคนมองว่าเสียโอกาสไปเยอะ อาจจะมีการเร่งการผลิตอีกครั้ง ผมมองว่าคนไม่ค่อยมองการณ์ไกล ถ้าเราพูดถึงโลกร้อน คนจะมองว่าอีกนาน แต่ปัญหาปากท้อง เป็นเรื่องของวันนี้ มะรืนนี้ เพราะฉะนั้นมุมการมองปัญหาระยะสั้น ระยะไกล เป็นเรื่องยังต้องบาลานซ์กันเยอะ เพราะระยะไกลเป็นเรื่องดี แต่ระยะใกล้จะมีกินหรือเปล่า อันนี้ก็อาจเป็นโจทย์ของรัฐในการวางนโยบาย ผมมองว่าการส่งเสริมของภาครัฐมีความสำคัญมาก”
บทเรียนสำคัญ ที่ธรรมชาติให้ไว้กับมนุษย์
ในช่วงสุดท้ายของการสนทนาของ 2 นักอนุรักษ์ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไรต่อไป แต่สุดท้าย สิ่งที่หลงเหลือไว้ให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน คือ ความหมายของธรรมชาติ
“ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญของการเรียนรู้ และเข้าใจบทเรียนว่า ความเสียหายมันหนักหนาเหลือเกิน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือไวรัสที่มีอยู่ในธรรมชาติ ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ระบุแล้วว่ามีอีกประมาณหมื่นสายพันธุ์ ที่สามารถข้ามจากสัตว์ป่ามาสู่มนุษย์ได้ ถ้าโอกาสเอื้ออำนวย เช่นมนุษย์ไปเอาสัตว์เหล่านั้นมาบริโภค มาเลี้ยง ทำลายสมดุลในป่า ซึ่งก็จะนำมาสู่การระบาดได้อีก ผมมองว่า เราทุกคนควรกลับมาเรียนรู้ว่า จะอยู่ในโลกนี้แบบเป็นเจ้าของโลกไม่ได้ เพราะเราไม่ได้อยู่เหนือธรรมชาติ บ่อยครั้งเรามองตัวเลขรายได้ทางเศรษฐกิจ แต่เราไม่มองรายจ่าย เช่นสุขภาพที่เสียไป ธรรมชาติที่เสียไป คือเราคิดบัญชีผิด เราก็นึกว่าเรากำไร แต่จริงๆ เราขาดทุน ซึ่งผมว่าเป็นมุมมองที่ไม่เข้าถึงธรรมชาติ ผมอยากให้ทุกคนเคารพทุกๆ ชีวิต สัตว์ทุกชนิดมีสิทธิดำรงชีวิตไม่ต่างจากมนุษย์” หมอหม่องเชื่อว่า ธรรมชาติสามารถอยู่ดีได้ โดยที่อารยธรรมมนุษย์ก็เติบโตได้ด้วยเช่นกัน ถ้ามนุษย์ไม่ละโมบจนเกินไป
อาจารย์ธรณ์ทิ้งท้าย ในหัวข้อสนทนา เมื่อวิกฤติเปิดโอกาส ธรรมชาติจะไปต่ออย่างไร ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ คือเราต้องหาสมดุลให้ได้ แต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน สมัยก่อนโควิด เราสนใจผลประโยชน์มาก่อน เพราะอยากรวย รอมีปัญหาแล้วค่อยแก้ ทั้งๆ ที่แก้ไม่ได้ ฟื้นไม่ได้
แต่พอผ่านโควิดมา เรารู้แล้วว่าไอ้ที่รวยๆ หายแว่บไปในสี่เดือนเลย เพราะฉะนั้นเราต้องใส่ใจสมดุลทั้งการใช้ประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดตามมา และจุดสำคัญอีกอย่างคือ บางครั้งเราบอกตัวเองได้ว่าการรักโลกต้องถือถุงผ้า ลดใช้พลาสติก แต่หลังโควิดผมหวังมากกว่านั้นคือ สิ่งที่เราก่อส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ เราต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่เก็บขยะของตัวเอง แต่เก็บขยะของใครก็ตาม คือไม่ควรคิดว่าขยะไม่ใช่ของเรา แต่คิดว่านี่เป็นหาดของเรา ซึ่งจากการที่คนเดินเก็บขยะบนชายหาดหนึ่งคน จะทำให้คนอีก 20 คนเห็นภาพไม่กล้าทิ้งขยะ คือถ้าคุณอยากเปลี่ยน Mindset คนอื่น คุณจะพูดให้คนเปลี่ยนทำไม่ได้ แต่ถ้าลงมือทำแล้วทำให้คนอื่นเห็น แล้วรู้สึก อย่างนั้นทำได้”