ย้อนกลับไปยังโลกก่อนที่ผู้คนจะสามารถเข้าถึงออนไลน์ได้อย่างทุกวันนี้ ห้องสมุดถือเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งที่รวมหนังสือไว้มากมาย รวมข้อมูลมหาศาลไว้ให้ค้นหาเพิ่มเติมความรู้ และเป็นแหล่งรวมผู้คนมากหน้าหลายตา
มาถึงในยุคที่ข้อมูลและข่าวสารสามารถค้นหาได้เพียงปลายนิ้วจิ้มหน้าจอ การเดินทางไปห้องสมุดยังจำเป็นอยู่ไหม และวิกฤติอย่าง ไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาแพร่ระบาด มีผลกระทบต่อทุกสิ่งอย่าง ส่งผลให้ผู้คนต้องเว้นระยะห่าง ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ทุกอย่างจึงเบนเข็มเข้าสู่โลกของออนไลน์ไปโดยปริยาย แบบนี้แล้ว แหล่งการเรียนรู้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร? ห้องสมุดยังจำเป็นอยู่ไหม? ในช่วงหลังโควิดผ่านพ้นไป
ในงาน Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม จัดโดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ ชวนไปคุยเพื่อหาคำตอบกับ คุณทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท DEPARTMENT OF ARCHITECTURE จำกัด ในหัวข้อ ‘ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ในอนาคต’
ห้องสมุดในอนาคต
ห้องสมุด อาจจะไม่ใช่เพียงหนังสือ หรือ ตัวอาคารของห้องสมุดเพียงเท่านั้น เพราะแก่นแท้ๆ ของห้องสมุดคือพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ มีคำถามมากมายว่า ในอนาคตห้องสมุดจะเป็นอย่างไร หรือห้องสมุดจะยังมีอยู่หรือเปล่า เพราะข้อมูล ข่าวสาร ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในระบบดิจิทัลอย่างมากมาย อนาคตทุกอย่างจะถูกส่งไปยังโลกออนไลน์ เราสามารถนั่งค้นหาข้อมูลจากที่บ้านได้ ส่งผลให้รูปแบบการค้นหาข้อมูลทำได้หลากหลายกว่าการเดินเข้าห้องสมุดเพื่อหาหนังสือตามหมวดหมู่
แต่ถึงแม้จะสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ จากที่แห่งใดก็ได้ แต่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ทั้งหมด อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน หากเราจะซื้อ e-book, audio book หรือ database และยังมีข้อมูลอีกมากที่ยังต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่ ในส่วนตรงนี้ต้องยกให้เป็นหน้าที่ของห้องสมุดที่จะเข้ามาดูแลเรื่องของการซื้อทั้งหนังสือ หรือข้อมูลดิจิทัลต่างๆ เพื่อจะนำมาแบ่งปันกับคนในสังคม พูดได้ว่าเป็นหน้าที่หลักของห้องสมุดนั่นเอง
“ห้องสมุดคือ อุดมคติของความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าในอนาคต จะออนไลน์หรือออฟไลน์ ห้องสมุดก็ยังคงทำหน้าที่นี้อยู่”
ห้องสมุดในแบบที่โควิดยังคงอยู่
สำหรับคำถามที่ว่า ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้หลังโควิดผ่านพ้นจะเป็นอย่างไร และหากเรายังต้องอยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่มีช่วงหลังโควิด หมายถึง เราต้องอยู่เช่นนี้ต่อไป ไม่มีวัคซีนที่กำจัดโรคระบาดได้ ไม่มีวิธีรักษาที่ดีขึ้น เราจะต้องเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือกันต่อไป หากสถานการณ์เป็นเช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งอาจจะเปลี่ยนไปทั้งหมด จนเราอาจจำไม่ได้เลยก็ได้ว่า แต่ก่อนนั้นเคยเป็นมาอย่างไร แต่ถึงอย่างไร สิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือการปรับตัว จากครั้งอดีตนั้นได้ทำการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนเสมอมาและยังไม่รู้ว่า ในอนาคต เหตุไม่คาดฝันต่างๆ เหล่านี้จะยังคงมีมาให้ต้องเผชิญอีกไม่รู้จบอย่างแน่นอน
“หากทุกอย่างเป็นไปเช่นนี้ ในส่วนของห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ก็อาจจะต้องนำข้อมูลเข้าสู่โลกของอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลจากที่บ้านได้ พื้นที่สาธารณะอย่างห้องสมุด อาจจะมีความต้องการน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม กลไกหลังบ้านทางส่วนของผู้ให้บริการก็ยังต้องทำงานกันอยู่”
“แต่หากยังมองเห็นความสำคัญที่ต้องมีอยู่ของพื้นที่สาธารณะ การพบกันของผู้คนยังต้องมีอยู่ รูปแบบของสถาปัตยกรรมก็อาจจะต้องเปลี่ยนไป เช่น มีอากาศถ่ายเทได้มากขึ้น มีแสงส่องถึงทุกช่วงเวลา หรือ อาจมีการจัดกิจกรรมพบปะกันในสวนใต้ต้นไม้ ก็น่าจะช่วยประหยัดพลังงานได้ด้วย ก็จะทำให้ห้องสมุดและการเรียนรู้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง”
เมื่อต้องพึ่งพาโลกออนไลน์เป็นหลัก เรื่องของ digital technology คือ virtual reality หรือ digital space ก็อาจจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ เช่น ในเกมออนไลน์ต่างๆ ก็มีเรื่องของการพบปะและปฏิสัมพันธ์ของผู้คน สิ่งเหล่านี้อาจจะเข้ามามีส่วนสำคัญที่ห้องสมุดอาจจะเตรียมไว้ให้ใช้บริการได้ สามารถเข้าหาข้อมูลจากที่ไหนก็ได้
ห้องสมุดหลังผ่านพ้นโควิด
หากในเร็ววันเรามีวัคซีนที่จะรักษาผู้ติดเชื้อได้ เราก็อาจจะมีโอกาสได้กลับไปใช้ชีวิตกันได้อย่างเป็นปกติใกล้เคียงกับที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ห้องสมุด นั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ดูได้จากเรื่องของ digital information ที่ถาโถมเข้ามาอย่างในปัจจุบัน ทำให้ห้องสมุดนั้นต้องปรับแผนที่เหมาะสมและตามทันยุคสมัยเพื่อให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ห้องสมุดในยุคที่ผ่านมา เราอาจจะนึกถึงสถานที่ที่มีหนังสือเยอะๆ เราจะเข้าไปนั่งอ่านหนังสือ มีบรรณารักษ์คอยเตือนเรื่องการใช้เสียง ในปัจจุบันห้องสมุดมีการเปลี่ยนแปลงมาก เพราะฉะนั้น การเข้าถึงข้อมูลหรือบริการของห้องสมุด สามารถใช้บริการห้องสมุดจากที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้ และในอนาคตที่ข้อมูลจะถูกเปลี่ยนที่ไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น ห้องสมุดที่มีอยู่นั้นก็จะมีการจัดเก็บหนังสือที่ใช้พื้นที่น้อยลง เป็นอีกหนึ่งข้อดีที่จะได้มีพื้นที่ไว้ใช้สำหรับทำกิจกรรมหรือมีพื้นที่พบปะของผู้คนได้มากยิ่งขึ้น
“ถ้าเรามองว่าห้องสมุดเป็นเรื่องของการแชร์ความรู้และการเรียนรู้ให้ทุกๆ คนเข้าถึงได้ หากจะบอกว่า ในยุคนี้ที่ใครๆ ก็มีคอมพิวเตอร์ มีโทรศัพท์มือถือสามารถเข้าถึงข้อมูลกันได้ถ้วนทั่ว แต่ความจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้นซะทั้งหมด เพราะก็ยังมีคนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นห้องสมุดเองสามารถเข้ามามีบทบาทแก้ปัญหาเรื่องของการมีคอมพิวเตอร์ มีอินเทอร์เน็ตให้ผู้คนได้ใช้บริการ สิ่งนี้ก็จะทำให้การเข้าถึงการเรียนรู้ของทุกคนนั้นเกิดขึ้นมาได้จริงๆ”
นอกจากการเป็นแหล่งเรียนรู้ปัจจุบันห้องสมุดยังมีบทบาทอื่นๆ อย่างเช่น ทิศทางการเป็นแพลตฟอร์มของการเรียนรู้ หลายๆ ห้องสมุดเริ่มที่จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ล้วนเกี่ยวกับการเรียนรู้ ทั้งการเสวนา สัมมนา เวิร์กช้อป การให้ความรู้ทางด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ มีกิจกรรมอ่านนิทานให้เด็กๆ ฟัง รวมไปถึงการจัดนิทรรศการ เป็นต้น
เพราะการเรียนรู้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่การรับข้อมูลอย่างเดียว แต่การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการเป็นคนสร้างหรือลงมือทำด้วยเองก็เป็นส่วนสำคัญ ปัจจุบันหลายๆ ห้องสมุดก็มี Maker Space, 3D print, Laser cut ให้คนได้มาทดลอง หรือ การมีห้องซ้อมดนตรีและสามารถยืมเครื่องดนตรีไปใช้ได้ บางห้องสมุดก็อาจจะพัฒนาไปไกลด้วยการมี Urban Farming ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ที่หลากหลาย
“นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว อีกด้านหนึ่งของห้องสมุดที่สำคัญมากๆ คือ ห้องสมุดเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงสร้างความปฏิสัมพันธ์ให้แก่ผู้คน เราอาจได้รู้จักเพื่อนใหม่ได้จากการมานั่งฟังบรรยาย หรือการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำเวิร์กช้อปที่ทางห้องสมุดจัดขึ้น และผู้ปกครองที่พาเด็กมาฟังนิทาน พ่อแม่ของเด็กๆ ก็อาจจะได้มีการทำความรู้จักกันต่อไป หากถามว่า พื้นที่ทางกายภาพของห้องสมุดนั้นยังจำเป็นอยู่ไหม อาจจะบอกได้ว่า จำเป็นมากๆ เลยด้วยซ้ำ เพราะว่าเป็นพื้นที่ของผู้คน”