ความไว้ใจ’
คำคำนี้ เป็นแกนหลักของระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายแบบพูดคุยเห็นหน้าแบบในอดีต ไปจนถึงยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้แทบทุกอย่างซื้อหาได้ผ่านระบบออนไลน์ ความไว้ใจก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญและยิ่งสำคัญมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจถูกท้าทายด้วยโรคติดต่อที่ยังไม่มีวัคซีนรักษา นำไปสู่ความไม่ไว้ใจของคนทั่วโลกอย่างในเวลานี้
รศ.ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้หยิบยกเรื่องที่คนกำลังให้ความสนใจอย่าง New Normal หรือ ปกติใหม่ และเศรษฐกิจของความไว้ใจ (Trust Economy) ที่เขาเคยพูดถึงในเฟชบุ๊กส่วนตัวมาพูดคุยอีกครั้งกับกิจกรรม “Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม” จัดโดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ ว่าโลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไร และความไว้ใจสำคัญมากขนาดไหนในสภาวะเช่นนี้
ปกติใหม่ New Normal
รศ.ดร.ชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันที่สังคมเราเป็นอยู่คือ Now Normal หรือ ปกติเดิม แต่พอโรคโควิด 19 เข้ามา ทำให้เราต้องเปลี่ยนปกติเดิมให้เป็น ปกติใหม่ หรือ New Normal อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เขียนบทความเรื่อง New Normal ว่าเป็นเรื่องที่ยากต่อการคาดการณ์ เหมือนเราพยายามจะหาคำตอบของอนาคต และ New Normal ไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว ขึ้นอยู่กับว่าพรุ่งนี้เราจะใช้มาตรการอะไร เราจะปิดเมืองต่อ เราจะใช้การทดสอบโควิดเข้มข้นขึ้นไหม อยู่ที่เราจะเลือกทางไหน New Normal จึงไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียวแต่มีเป็นร้อยรูปแบบ ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะไปจบลงที่ไหน เราเลือกเดินเส้นทางระยะสั้นอย่างปกติถัดไป Next Normal ที่คาดการณ์ได้ดีกว่า อย่าไปรอปกติใหม่เพราะยังอีกไกล เรายังคาดการณ์ไม่ได้ว่าสุดท้าย New Normal จะออกมาในรูปแบบไหน เป็นอย่างไร
ปกติถัดไป Next Normal
ถ้ามองในแง่การดำเนินชีวิตหรือการทำธุรกิจผมเชื่อมั่นอีกคำหนึ่ง ปกติถัดไป Next Normal เพราะเราคาดการณ์ได้ดีกว่า ถ้าเป็นธุรกิจไม่ต้องลงทุนเยอะเอาสิ่งที่มีอยู่มาปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ก่อน สุดท้ายอาจจะกลายเป็น New Normal ก็ได้ รุ่นน้องผมคนหนึ่งมีธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ได้รับผลกระทบจากโควิดก็ต้องหยุดกิจการไปก่อน แต่ถ้าเขาจะรอ New Normal ก็ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ เป็นอย่างไร เขาใช้แนวคิด Next Normal สังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคว่าคนขี้เกียจออกไปซื้ออาหาร จะใช้บริการเดลิเวอรี่ สั่งทีเดียวได้สองมื้อ มื้อกลางวันกับเย็น เขาก็เลยมีบริการส่งปิ่นโต สั่งครั้งเดียวได้ห้ามื้อเลย ซึ่งอาหารปิ่นโตก็ไม่ได้เรียกว่าเป็น New Normal เพราะต่อไปถ้าโควิดหายไป คนกลับมาใช้ชีวิตปกติอาหารปิ่นโตนี้ก็อาจจะหายไป แต่เรียกว่าเป็น Next Normal คือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ช่วงวิกฤตนี้ที่เป็นความต้องการระยะสั้น
โควิด Why So Serious ?
ทำไมเราต้องจริงจังกับโควิดมากขนาดนี้ สาเหตุที่เราต้องจริงจังกับเรื่องนี้มีสองอย่าง คือ ความรุนแรงของไวรัส ที่ตอนนี้ (พฤษภาคม 2563) ติดเชื้อทั่วโลกไปสี่ล้านกว่าคนแล้ว เสียชีวิตไปเกือบสามแสนคน เราไม่มีวัคซีน โรคติดต่อได้ง่าย และสาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราต้องจริงจังกับโควิดคือการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อหยุดการระบาดของโรค ที่ทำให้กระเทือนทั้งแผ่นดินจริงๆ GDP เราลดลง นักท่องเที่ยวลด เกิดการว่างงาน สองอย่างนี้ทำให้เกิดเทรนด์อะไรบ้าง ถ้ารู้ตรงนี้จะทำให้นำไปปรับใช้กับธุรกิจได้
4 เทรนด์หลักกำหนดเศรษฐกิจปกติใหม่
รศ.ดร. ชัชชาติ ให้มุมมองเพิ่มเติม 4 เทรนด์หลัก เป็นทิศทางใหญ่ๆ ที่จะกำหนดปกติใหม่
1. สุขภาพ ในระยะยาวเทรนด์เรื่องสุขภาพจะไม่หยุดแค่หน้ากาก เพราะคนสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น คนดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้ติดโควิด แล้วต่อไปก็จะดูแลสุขภาพตัวเองด้านอื่นๆ มากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นช่องทางทำธุรกิจได้เลย
2. ประหยัด ผู้คนจะประหยัดมากขึ้น เพราะโควิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงและไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก คนหันมากินอาหารหาบเร่แผงลอยมากขึ้น เพราะต้องการประหยัดเงินเลยเลือกทานอาหารราคาถูกลง เทรนด์ประหยัดนี้น่าจะอยู่นาน อนาคตทุกบริษัทจึงต้องปรับตัว ลดต้นทุนเพื่อให้ราคาสินค้าถูกลง เพราะผู้บริโภคจะตัดสินใจจากราคาเป็นสำคัญ
3. เทคโนโลยี คนจะใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เปลี่ยนมาสั่งอาหารออนไลน์เพราะไม่อยากออกไปเสี่ยงติดโรคที่ร้าน เลยใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันการติดโรค
4 จุดอ่อน โควิดทำให้ได้เห็นจุดอ่อนของตัวเอง ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นก็เพราะจุดอ่อนที่มีมานานแล้ว พอโรคโควิดมาทำให้เห็นปัญหาชัดขึ้น เราต้องปรับตัวเอาวิกฤตเป็นโอกาสในการแก้ปัญหา ผมว่าบริษัทที่ผ่านพ้นตรงนี้มาได้จะมีความเข้มแข็งขึ้นเพราะเขาจะเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง ประเทศก็เหมือนกันถ้าผ่านโควิดได้จะมีความเข้มแข็งกว่าเดิม แต่ประเทศอื่นก็จะเข้มแข็งขึ้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเร่งพัฒนาประเทศด้วย
เศรษฐกิจของความไว้ใจ Trust Economy
ความไว้ใจเป็นฐานรากของเศรษฐกิจมาตลอดหลายร้อยปีมาแล้ว ตั้งแต่แลกเปลี่ยนสิ่งของเพราะเราไว้ใจ จนมาถึงการใช้เงินตราก็เพราะมีความไว้ใจในมูลค่าของเงิน การขายของออนไลน์ลูกค้าก็ต้องมีความไว้ใจว่าได้ของที่ดีมีคุณภาพ โดยใช้ระบบประเมินให้คะแนนกัน มีการรีวิว ให้เรตติ้งว่ากี่ดาว เพื่อสร้างความไว้ใจกันเพราะเรามองไม่เห็นผู้ซื้อผู้ขาย เรื่องโควิดไม่ต่างกันเพราะคือศัตรูที่มองไม่เห็น เราไม่รู้ว่าคนที่เราติดต่อด้วยจะติดโควิดไหม เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การส่งออก กลับคืนมาได้ เราต้องสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน คิดหาวิธีว่าทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกลับมา การสร้างความไว้ใจคือสิ่งสำคัญ และต้องทำทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ จังหวัด บริษัท กิจกรรมต่างๆ ชุมชน ครอบครัว หรือตัวเราเอง
ความไว้ใจสร้างได้อย่างไร
ผมมองเป็น 4 ขั้นตอน สาธารณสุขนำ ยุทธศาสตร์ชัดเจน ชุมชนเข้มแข็ง สื่อสารความไว้ใจ
สาธารณสุขนำ
ถ้าโรคไม่จบความไว้ใจไม่กลับมา สาธารณสุขของประเทศไทยทำได้ดีอยู่แล้วในอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเอาไปขยายต่อในการสร้างความไว้ใจได้ เราต้องแยกคนที่มีความเสี่ยง ตรวจสอบให้ได้ เยอรมนีมีแนวคิดที่จะทำพาสปอร์ตของคนที่มีภูมิต้านทานโควิด อิสราเอลกับสิงคโปร์หาความเสี่ยงโดยการใช้แอปพลิเคชัน ประเทศไทยเองมีแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ที่เราพัฒนาขึ้นมาโดยใช้ระบบ GPS และบลูทูธบอกพิกัดเพื่อตรวจสอบว่าเรามีความเสี่ยงที่จะไปใกล้ชิดคนป่วยไหม
ยุทธศาสตร์ชัดเจน
งบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาทที่จะใช้เยียวยาวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นต้องมีความชัดเจนว่าจะใช้อย่างไร ส่วนหนึ่งที่สำคัญผมว่าควรนำมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับความไว้ใจ วงเงิน 4 แสนล้านบาทที่จะนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม เราต้องมีไม้บรรทัดให้ชัดว่าจะทำอะไรบ้าง เช่น ทำระบบสาธารณสุขชุมชนที่เข้มแข็ง ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้มีความน่าไว้ใจ เพื่อให้เรากลับฟื้นขึ้นมาอย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว
ชุมชนเข้มแข็ง
เราต้องพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เพราะชุมชนเป็นด่านหน้า ถ้าเราจะป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโรคก็ต้องเริ่มจากด่านหน้าก่อน ให้ชุมชนได้รับสาธารณสุขที่ดี เป็นการสร้างความไว้ใจตั้งแต่ระดับเส้นเลือดฝอย
สื่อสารความไว้ใจ
เรามีจุดแข็งเรื่องสาธารณสุข เราก็ใช้จุดนี้มาสร้างความไว้ใจ ประเทศเกาหลีใต้เริ่มแคมเปญสร้างความไว้ใจขึ้นมาแล้ว หรืออย่างบางประเทศที่เขามีคนติดเชื้อโควิดน้อยเขาก็รวมกลุ่มกันเพราะความไว้ใจเรื่องความปลอดภัย ประเทศเทศไทยจะไปร่วมกับเขาได้ไหม ไปรวมกลุ่มเพื่อร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างเช่นการท่องเที่ยว การลงทุน ในกลุ่มประเทศที่ไว้ใจ แล้วขยายกลุ่มนี้ให้ใหญ่ขึ้น
ธุรกิจเพื่อสร้างความไว้ใจ
การสร้างความไว้ใจให้ธุรกิจ หัวใจคือ ‘รายละเอียด’ มีวิธีการที่ชัดเจน หลายธุรกิจเริ่มเห็นแล้วว่าความปลอดภัยเป็นหัวใจ ร้านสะดวกซื้อมีมาตรการสร้างความไว้ใจด้วยการวัดอุณหภูมิลูกค้าก่อนเข้าร้าน มีเจลล้างมือ จำกัดจำนวนคนเข้าร้าน ธุรกิจต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความไว้ใจให้กับพนักงาน ลูกค้า จะเห็นได้ว่าตอนนี้เรื่องความปลอดภัยเป็นหัวใจหลัก
ธุรกิจต้องทำอย่างไร เพื่อให้คนมั่นใจและกล้าใช้บริการ
รศ.ดร. ชัชชาติ กล่าวสรุปว่า 5 สิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องมีเพื่อสร้างความไว้ใจ
เทคโนโลยี
คือสิ่งที่สร้างความปลอดภัย มีร้านอาหารหนึ่งใช้วิธีถ่ายคิวอาร์โค้ดเพื่อดูเมนูอาหารแทนการเปิดเล่มเมนู เพื่อลดความเสี่ยงการติดโรค หรือใช้หลอดไฟฆ่าเชื้อโรค มีการออกแบบที่นั่งเครื่องบินใหม่เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค หรือทำการตรวจโควิดก่อนขึ้นบิน เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความสบายใจ
ดูแลผู้เกี่ยวข้อง
ช่วงวิกฤติการดูแลคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเราเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าเอาเปรียบเขา หาทางเพื่อให้เขามีงานและอยู่ต่อได้ อาจจะปรับเปลี่ยนวิธีการ อย่างโรงแรมหนึ่งที่ต้องปิดกิจการในช่วงโควิดเขาทำแอปพลิเคชันสั่งอาหารภายในชุมชนใกล้ๆ โรงแรม เพื่อให้พนักงานมีงานทำและชุมชนรอบข้างอยู่ได้ เป็นการสร้างความไว้ใจในระยะยาวว่าเราจะรอดไปด้วยกัน
คนที่น่าไว้ใจ
เราต้องดูแลสุขภาพให้ดี ใส่หน้ากาก ล้างมือ ดูแลความสะอาดของเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ เพราะเราคือความเสี่ยงของเพื่อนร่วมงาน ถ้าเรามีความเสี่ยงลดลง ก็จะมีความน่าไว้ใจมากขึ้น ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็จะดีขึ้น ถ้าพฤติกรรมเราแย่ความไว้ใจจากเพื่อนร่วมงานก็จะน้อยลง
ความผูกพัน
เราจะไว้ใจคนที่รู้จักคุ้นเคย ผมว่าหลังจากช่วงโควิดผ่านพ้นไป เรื่องความสัมพันธ์ ความผูกพันจะมีค่ามากขึ้น ต้องดูแลความสัมพันธ์ตรงนี้ให้ดี เพราะความผูกพันเป็นจุดเชื่อมโยงและสร้างความไว้ใจที่เข้มแข็ง
ความไม่เห็นแก่ตัว
คือความไว้ใจหลักเลย ถ้าเราเห็นว่ามีคนที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่ทำเพื่อคนอื่นก็จะทำให้เกิดความไว้ใจ อย่างตู้แบ่งปัน ทุกคนที่นำของมาใส่ตู้มีความไว้ใจว่าอีกฝั่งที่มารับจะนำไปแต่พอดี พอมีคนที่เห็นแก่ตัวนำของกลับไปมาก ฝั่งผู้ให้ก็จะเกิดความไม่ไว้วางใจแล้ว ลังเลว่าจะเอาของออกมาวางดีไหม ความไม่เห็นแก่ตัวจึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะสร้างความไว้วางใจในสังคม