สถานการณ์โควิด 19 เป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกว่าโลกเราจะสามารถผลิตวัคซีนที่สามารถต้านทานไวรัสชนิดนี้ และจัดจำหน่ายแจกจ่ายไปทั่วโลกได้ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบว่าเมื่อไหร่ ซึ่งความไม่แน่นอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมส่งผลกระทบต่อคนในสังคมที่ตั้งคำถามถึงอนาคตตนเอง กับความมั่นคงทางสังคมว่าจะเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า
และถึงแม้ประเทศไทยจะมีการจัดการได้ค่อนข้างดี บวกกับผลการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขยังคงสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ได้อยู่ แต่การบริหารจัดการสถานการณ์ ก็ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกมิติของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ แรงงานนอกระบบ ผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยจากการบรรยายหัวข้อ Social Safety Net ความมั่นคงทางสังคมหลังโควิด 19 ของ รศ.ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในกิจกรรม Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม ที่จัดโดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ ได้ชวนตั้งคำถามถึงผลกระทบจากเหตุการณ์โควิดให้ประเทศไทยต้องกลับมาคิดทบทวนตาข่ายคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ความเสี่ยงทางสังคม
“Social Safety Net” ตาข่ายคุ้มครองทางสังคม คือ ระบบหรือกลไกที่รัฐใช้จัดการความเสี่ยงทางสังคม ซึ่งความเสี่ยงต่างกันตามช่วงวัย เช่น วัยเด็กความเสี่ยงทางสังคม การขาดอาหาร ขาดความรู้ ไร้ที่พึ่ง ถูกทำร้ายหรือว่าเจ็บป่วย ต่อมาในวัยผู้ใหญ่ มีความเสี่ยงเช่น ขาดรายได้ ตกงาน ปัญหาครอบครัว หรือเจ็บป่วยจนทำงานไม่ได้ และความเสี่ยงทางสังคมในวัยผู้สูงอายุก็คือ การขาดรายได้ยังชีพ เจ็บป่วยเรื้อรัง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยตาข่ายคุ้มครองทางสังคมที่จัดโดยรัฐ ก็จะมีหลักการช่วยพยุงคนที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในสังคมให้สามารถลุกขึ้นมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
“ระบบสวัสดิการสังคมของภาครัฐ จริงๆ มีให้ประชาชนเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องได้รับ ซึ่งการช่วยผู้คน ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือขั้นต่ำ เนื่องจากเป็นการใช้เงินจากภาษี ฉะนั้นปริมาณกับการควบคุม จึงขึ้นอยู่กับว่าประชาชนยอมเสียภาษีมากน้อยขนาดไหน แต่ระบบ Social Safety Net เป็นระบบสวัสดิการที่ให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพราะวิกฤติโควิด 19 ทำให้คนวิตกกับเรื่องงานและรายได้ มีคนจำนวนมากที่กังวลเรื่องการไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลสังคมให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคมและแรงงานนอกระบบ ที่ถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด 19 “ อาจารย์วรวรรณ เล่าถึงบทบาทของตาข่ายคุ้มครองทางสังคมต่อวิกฤตโควิด 19
สถานการณ์โควิด 19 เกี่ยวโยงถึงตาข่ายคุ้มครองทางสังคมของไทย
การระบาดของไวรัสโควิด 19 ไม่ใช่เพียงกระทบต่อเศรษฐกิจ ยังส่งผลเกี่ยวโยงไปถึงตาข่ายคุ้มครองทางสังคมของไทยด้วย ตั้งแต่มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงชั่วคราว การอยู่บ้านเพื่อชาติ การให้หยุดเคลื่อนย้ายประชากร การ Lockdown ทำให้คนทำงานจำนวนหนึ่งต้อง Work from Home โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กลุ่มมนุษย์เงินเดือน และมีคนจำนวนมากกว่าที่ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้ ก็ต้องหยุดงาน
ประเภทงานที่ได้รับผลกระทบ เป็นงานบริการทั้งหลาย ทั้งมนุษย์เงินเดือน ที่รับจ้างรายวันและเป็นเจ้าของกิจการ ด้วยวิกฤติที่รุนแรงรอบนี้ ส่งผลให้ตาข่ายคุ้มครองทางสังคม ที่จัดให้โดยรัฐจึงต้องเข้ามารองรับ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ 2 รูปแบบคือ “การประกันว่างงานของสำนักงานประกันสังคม” และ “การสงเคราะห์”
เริ่มจากความช่วยเหลือจากการประกันการว่างงาน อาจารย์วรวรรณ อธิบายว่า “ผู้จะได้รับสิทธิคุ้มครองเมื่อตกงาน ต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งการสมทบเงินประกันสังคมก็คือภาษีรูปแบบหนึ่ง โดยผู้มีสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน ต้องสมทบเงินประกันสังคม 6 เดือนขึ้นไป ภายในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา และถ้าลาออกงานจะได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่าคนที่ถูกให้เลิกจ้างจากการที่สถานประกอบการล้มละลายหรือหยุดกิจการเพราะภัยพิบัติ ซึ่งในช่วงโควิด ก็มีการขยายความคุ้มครองให้ผู้ตกงานเพราะโรคระบาดด้วย โดยรัฐก็มีการเพิ่มเงินประโยชน์ทดแทนจาก 50% เป็น 62%”
จากสถิติสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 จำนวนคนทำงานมีทั้งหมด 37 ล้านคน มีกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพด้านบริการที่ได้รับผลกระทบชัดเจน เช่น ค้าขาย หรือพนักงานโรงแรม 13 ล้านคน แต่ขณะเดียวกันกลุ่มอาชีพเหล่านี้กลับเป็นลูกจ้างผู้ประกันตนอยู่เพียง 2.3 ล้านคน ในผลสำรวจจึงสรุปได้ว่าความครอบคลุมของผู้มีสิทธิรับเงินประกันว่างงานสำหรับกลุ่มอาชีพบริการคิดเป็นเพียง 18% เท่านั้น และอีก 82% ที่ไม่ได้รับการครอบคลุม โดยผู้ที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม สามารถไปรับการสงเคราะห์ รูปแบบการช่วยเหลืออีกอย่างหนึ่งของทางรัฐได้เช่นกัน
รูปแบบการสงเคราะห์ ในสถานการณ์ปกติคนที่ยากลำบาก สามารถไปลงทะเบียนรับเงินสงเคราะห์ หน่วยงานพัฒนาสังคมจังหวัด ซึ่งต้องมีการตรวจสอบสิทธิ เช่น เป็นคนยากจนจริงหรือไม่ โดยใน 1 ปี สามารถขอรับความช่วยเหลือได้เพียงครั้งเดียวและได้รับเงินสูงสุดที่ 2,000 บาทต่อครอบครัว แต่ในวิกฤติครั้งนี้กระทบคนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว รัฐจึงมีการสงเคราะห์ มาตรการแจกเงินคนละ 5,000 บาท โดยคนที่เดือดร้อนก็ต้องไปลงทะเบียนขอรับสิทธิกับ “เราไม่ทิ้งกัน”
หลังโควิด จากวิกฤติ(อาจ)จะเป็นโอกาสสร้างตาข่ายคุ้มครองทางสังคมของไทยที่ยั่งยืน
มีการคาดการณ์ว่าการพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคระบาดครั้งนี้ ต้องใช้เวลากว่า 12-18 เดือน ซึ่งช่วงเวลาที่รอยังไม่มีวัคซีนออกมาก ก็ได้ส่งผลกับการคาดการณ์ถึงกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบ ให้ยิ่งคาดการณ์ได้ยากขึ้น ว่าผู้คนจะสามารถกลับไปทำอาชีพเดิมได้เท่าไหร่ ส่วนคนที่กลับไปทำอาชีพเดิมไม่ได้ ต้องหาอาชีพใหม่ทำ หรือคนที่รับเงินประกันว่างงานจนครบ 3-6 เดือนและคนที่รับเงินจาก “เราไม่ทิ้งกัน” ครบ 3 เดือน แล้วยังไม่มีงานทำ ระบบการคลังจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ไปได้นานขนาดไหน
แต่แม้ว่าการคาดการณ์จะยังยากอยู่ อาจารย์วรวรรณ ก็ได้แนะนำว่าวิกฤตครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ทุกคนเตรียมพร้อมเรื่องการเงิน สุขภาพ โดยความสำคัญของการออม จะช่วยสร้างตาข่ายคุ้มครองทางสังคมที่ยั่งยืน เนื่องจากในวิกฤติครั้งนี้ ทำให้เห็นแล้วว่า คนวัยทำงานไม่มีเงินออม และถ้าในอนาคตยังไม่มีเงินออม ก็จะส่งกระทบต่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเข้ามามีส่วนในการที่จะช่วยทำให้ระบบการออมที่สร้างขึ้นมาแล้วทำงานได้สมบูรณ์ขึ้น เช่น การตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขึ้นมาแล้วแต่ประชาชนร่วมออมในสัดส่วนที่น้อยมาก
ภาครัฐควรส่งเสริมการออมภาคบังคับ โดยแนวทางหนึ่งที่พอเป็นไปได้คือ การบังคับออมทางอ้อม ยกตัวอย่างในอนาคตถ้ารัฐจะมีการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ก็ให้มีเงื่อนไขว่า รัฐช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่มีชื่ออยู่ในการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติหรือประกันสังคมเท่านั้น ขณะเดียวกันรัฐควรส่งเสริมให้คนมีรายได้มากพอจนสามารถที่จะออมได้ด้วย
นอกจากนี้อาจารย์ยังได้ทิ้งท้ายไว้ได้อย่างสนใจ ถึงสิ่งสำคัญของการสร้างตาข่ายคุ้มครองทางสังคม หลังวิกฤติโควิด “นอกจากการออมภาคบังคับที่ต้องเกิดขึ้น รัฐต้องปรับปรุงการบริหารจัดการด้านประกันสังคมให้มีความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจที่จะสามารถคุ้มครองความเสี่ยงให้ประชาชน โดยตัวระบบเองต้องปรับปรุง ไม่ทำตัวเป็นความเสี่ยงชนิดหนึ่งของประชาชน และสุดท้ายควรให้ท้องถิ่นมีบทบาทในงานด้านพัฒนาของสังคม เนื่องจากมีภาพให้เราเห็นแล้วว่า ในวิกฤติครั้งนี้ภาคประชาชนและท้องถิ่นได้ขึ้นมาทำงานเป็นตาสับปะรดและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก ไม่ว่าจะเป็นการสอดส่องคนในชุมชน การช่วยเหลือผู้ยากลำบาก เรียกว่าต้องใช้ตาสับปะรดเหล่านี้ถึงจะช่วยทำให้ตาข่ายคุ้มครองทางสังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น”