“ความสุข” หลายคนบอกว่าเป็นสิ่งที่หายาก โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่มีแต่ความเครียด การแข่งขัน แต่อันที่จริงความสุขนั้นอาจอยู่ไม่ไกล เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิต เปลี่ยนหน้าเครียดเป็นรอยยิ้ม เปลี่ยนการแข่งขันเป็นการแบ่งปัน เพียงเท่านี้ความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ แล้ว เพื่อให้คนไทยมีความสุขกันถ้วนหน้า อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้ร่วมแบ่งปันความสุขในงาน“ศิลปะการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” ในวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2554 ณ ลานสานฝัน บอกเล่าเคล็ดลับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขเพื่อแบ่งปันให้แก่คนอื่นๆ ในอนาคต ในงานมีการจัดนิทรรศการความสุข ประกอบด้วยเคล็ดลับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขจากนักคิดนักเขียน หนังสือสื่อสร้างสุข โดยมีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การ “แบ่งปันความสุข” แล้วนำดอกผลจากการแบ่งปันนั้นมา “ช้อปปิ้งบุญ” เป็นหนังสือธรรมะได้แง่คิด ปรับใช้ได้จริง
กิจกรรมแรกของงานคือการ “แบ่งปันความสุข” เพื่อให้น้องๆ เข้าใจว่า ความสุขนั้นเริ่มต้นที่การแบ่งปัน โดยน้องๆ ที่มาเข้าร่วมงานจะได้รับจานกระดาษหนึ่งใบ เพื่อให้เขียนบอกเล่าเรื่องราวที่ตนเองมีความสุข หรือวิธีดีๆ ที่จะทำให้คนอื่นมีความสุข แต่งแต้มสีสันให้สวยงาม แล้วนำไปแขวนไว้ที่กระดานแบ่งปันความสุข จากเดิมที่มีจานกระดาษแห่งความสุขไม่มากนัก แต่เมื่อนานเข้าจำนวนจานก็ทวีขึ้นเรื่อยๆ ความสุขของทั้งผู้ให้และผู้รับก็ทวีขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
น้องๆ ร่วมแบ่งปันความสุข
เมื่อแบ่งปันความสุขของเราให้คนอื่นแล้ว เราก็ได้เรียนรู้ความสุขจากการ “ช้อปปิ้งบุญ” คือการเลือกเนื้อหาที่มีแง่คิดได้คัดสรรมาเป็นคำคม และเรื่องเล่าชวนคิด มาทำหนังสือธรรมะทำมือสุดเก๋ โดยมากดเลือกที่เครื่องช้อปปิ้งบุญชุดพิเศษ ว่าจะได้เรื่องอะไรและเรื่องละกี่หน้า จากนั้นก็นำเรื่องราวเหล่านั้นมาเย็บเล่มระบายสีเป็นหนังสือธรรมะทำมืออย่างสวยงาม ส่งให้เป็นของขวัญแด่คนที่คุณรัก หรือเก็บเอาไว้อ่านเวลาที่ท้อแท้ หมดกำลังใจ หรือต้องการข้อคิดดีๆ
เครื่องช้อปปิ้งบุญ
น้องๆ เลือกเรื่องราวที่ถูกใจมาทำหนังสือ
แต่งแต้มสีสันหนังสือธรรมะทำมืออย่างขะมักเขม้น
เมื่อถึงช่วงบ่าย มีกิจกรรมพิเศษคือการเสวนาและสาธิตในหัวข้อ “หัวเราะ เพาะสุข” หลากวิธีหัวเราะเพื่อกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุข สร้างพลังและเติมความสดใสให้ชีวิตจาก “ชมรมหัวเราะบำบัด” ซึ่งได้เชิญคุณสุวิทย์ แก้วเกิดศิริ ประธานชมรมหัวเราะบำบัด และคุณอังคณา มานิตกุล สมาชิกชมรมหัวเราะบำบัดมาร่วมการเสวนา
คุณสุวิทย์ได้กล่าวถึงการหัวเราะบำบัดว่า การหัวเราะบำบัด เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วในหลายประเทศ เช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นศาสตร์หนึ่งที่ยอมรับกันว่าปฏิบัติแล้วได้ผลจริง เพราะอันที่จริงแล้ว ธรรมชาติของมนุษย์เรา เวลาที่เจ็บปวด หรือต้องการระบายอะไรออกมาก็มักจะใช้เสียง ไม่เพียงแค่การหัวเราะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการร้องไห้ การอุทาน เพื่อลดทอนความอัดอั้นตันใจ
ส่วนเสียงหัวเราะนั้นเกิดขึ้นจากความผ่อนคลาย ความสุขในใจ และเมื่อรวมเข้ากับจุดประสงค์ในการบำบัดโรคจึงเกิดเป็นศาสตร์แห่งการ “หัวเราะบำบัด” ขึ้นมา โดยประยุกต์รวมเข้ากับหลักเพ่งสมาธิ ความนิ่งสงบของชี่กง และโยคะ มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เป็นการบำบัดแบบองค์รวม ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบการทำงานของร่างกาย ทั้งระบบหายใจ ระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบพักผ่อนและผิวพรรณ ระบบเจริญพันธุ์ และการหัวเราะยังช่วยกระตุ้นระบบการทำงานของต่อไร้ท่อ ช่วยให้ร่างกายหลั่งสาร ซีโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine) และเอ็นโดรฟิน (Endorphin) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวด แก้อาการซึมเศร้า เพิ่มภูมิคุ้มกันได้ด้วย
นอกจากนั้น การหัวเราะยังทำให้ทุกส่วนของร่างกายที่ใช้หัวเราะได้รับการบำบัดไปด้วย ได้แก่
1. ระบบสมองดีขึ้น เพราะการหัวเราะจะไปกระตุ้นระบบทำงานของสมอง เมื่อสมองถูกกระตุ้น ทำให้้มีความคิดทางบวกสร้างสรรค์มีผลให้ร่างกายและจิตใจพื้นฟูอย่างเร็ว
2. ระบบหายใจดีขึ้น เพราะระหว่างหัวเราะจะเกิดจังหวะการหายใจ การกลั้นหายใจ และการหายใจยาวๆ ทำให้้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น มีการฟอกเลือดดี ช่วยฆ่าเชื้อโรคและป้องกันโรคทางเดินหายใจ โรคความดันโรคหัวใจ และโรคปอดได้อีกด้วย
3. ระบบย่อยและขับถ่ายดีขึ้น เพราะการหัวเราะเป็นการออกกำลังอวัยวะส่วนท้อง กระเพาะ ลำไส้ ได้เป็นอย่างดี
4. ระบบพักผ่อนและผิวพรรณดี เพราะช่วยคลายเครียด เส้นประสาทกล้ามเนื้อบนใบหน้ายืดหยุ่น ช่วยให้หลับสนิท
5. ระบบภูมิคุ้มกันดี เพราะการหัวเราะช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นระบบ ช่วยทำลายอนุมูลอิสระที่เป็นตัวการสำคัญของการผิดปกติในเซลล์ของร่างกาย
จากนั้นคุณอังคณาจึงเล่าถึงประสบการณ์การฝึกหัวเราะบำบัดว่า ก่อนหน้าที่จะมาฝึกหัวเราะบำบัดนั้นตนเองป่วยหลายอย่าง ทั้งโรคอ้วน โรคไขข้อ โรคกระเพาะ โรคเครียด นับจากวันที่เริ่มฝึกจนถึงวันนี้ก็ 4 ปีแล้ว ฝึกเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเอง ปรากฏว่าสุขภาพดีขึ้นมาก น้ำหนักลดลงโดยไม่ต้องอดอาหาร ก่อนที่จะฝึกหัวเราะเคยไปตรวจเบาหวาน แล้วหมอบอกว่าเริ่มมีอาการ แต่พอฝึกหัวเราะไปได้ปีเดียว อาการที่ส่อเค้าว่าเป็นโรคเบาหวานก็หายเป็นปลิดทิ้ง
เมื่อผู้ฟังเริ่มสนใจการหัวเราะบำบัดจากประสบการณ์ตรงของคุณอังคณาแล้ว เธอจึงบอกวิธีการฝึกหัวเราะว่า เสียงหัวเราะไม่ได้มีแค่ ฮ่า ๆ ๆ ที่เคยได้ยินกัน เสียงหัวเราะที่ใช้ในการบำบัดมีอยู่ 4 เสียงคือ
1. เสียงท้องหัวเราะ คือเสียง โอ ให้หัวเราะว่า โอ๋... โอะ ๆ ๆ ๆ โดยเปล่งเสียงออกมาจากท้อง
2. เสียงอกหัวเราะ คือเสียง อา ให้หัวเราะว่า อ๋า... อะ ๆ ๆ ๆ ให้รู้สึกว่ามีลมไหลเวียนอยู่ที่ปอดมาก
3. เสียงคอหัวเราะ คือเสียง อู ให้หัวเราะว่า อู๋... อุ ๆ ๆ ๆ ให้รู้สึกว่ามีลมอยู่ที่คอเป็นหลัก
4. เสียงหน้าหัวเราะ คือเสียง เอ ให้หัวเราะว่า เอ๋... เอะ ๆ ๆ ๆ ซึ่งขณะที่หัวเราะให้ยิ้มเต็มที่
เมื่อฝึกเสียงได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือฝึกท่าทางการหัวเราะ ซึ่งในท่าทางการหัวเราะเองก็มีอยู่ถึงสองระดับ การฝึกเคลื่อนไหวในการหัวเราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานอย่างสัมพันธ์กัน และเป็นการออกกำลังกายอีกทางหนึ่งด้วย (ผู้สนใจการฝึกหัวเราะต่อสามารถอ่านได้ในภาคผนวก 2) นอกจากจะสาธิตให้ชมแล้ว คุณสุวิทย์และคุณอังคณายังชวนให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ทดลองทำตามอีกด้วย
คุณอังคณาสาธิตวิธีการหัวเราะแบบมีท่าทาง
ความสุข รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ เป็นสิ่งที่พบได้ไม่ยากเลย เพียงแค่เราเปิดใจ มีทัศนคติดีๆ ต่อสิ่งรอบตัว แบ่งปันสิ่งดีๆ แก่คนรอบข้าง ยิ้มและหัวเราะให้กับทุกอย่างในชีวิต เพียงเท่านี้คุณก็จะเป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีรอยยิ้มในทุกวัน เหมือนกับแนวคิดของงานที่บอกว่า “ความสุขอยู่รอบๆ ตัวเรา เพียงแค่เรารู้จักมองและค้นหา”
หนอนหนังสือตัวอ้วน
--------------------
ภาคผนวก 1:
ข้อคิดดีๆ จากกิจกรรมช้อปปิ้งบุญ : ธรรมะทำมือ
- ไม่มีใครเกิดมาไร้ค่า แม้แต่คนโง่ที่สุดยังฉลาดในบางเรื่อง และคนฉลาดที่สุดก็ยังโง่ในหลายเรื่อง
- ไม่มีอะไรเสียเวลาไปมากกว่าการคิดจะย้อนกลับไปแก้ไขอดีต
- ถ้าคุณไม่ลองก้าว คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าทางข้างหน้าเป็นอย่างไร
- ยินดีกับสิ่งที่ได้มา และยอมรับกับสิ่งที่เสียไป
- มีแต่วันนี้ที่มีค่า ไม่มีวันหน้า วันหลัง
- ความสุขเกิดขึ้นได้ทุกวัน อยู่ที่การตัดสินใจของเราว่าจะเลือกให้เกิดขึ้นหรือเปล่า
คำคม
- ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ภายนอก แต่ขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณมองมัน -ลีโอ ตอลสตอย นักเขียนชาวรัสเซีย
- ชีวิตเป็นงานที่สนุกสนาน เฉพาะสำหรับคนฉลาดเท่านั้น -อีเมอร์สัน นักเขียนชาวอเมริกัน
- สัตว์โลกทุกชนิด ยกเว้นคน รู้ว่าภารกิจหลักของชีวิตคือการชื่นชมกับชีวิต -แซมมวล บัตเลอร์ นักเขียนชาวอังกฤษ
ภาคผนวก 2:
วิธีการฝึกหัวเราะแบบมีท่าทางประกอบ
ระดับที่ 1
1. เสียงท้องหัวเราะ (โอ) ให้ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปด้านข้างของลำตัว งอแขนเล็กน้อย กำมือทั้งสองข้างโดยชูนิ้วหัวแม่มือขึ้น ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ กักลมไว้ จากนั้นค่อยๆ เปล่งเสียง โอ๋... โอะ ๆ ๆ ๆ แล้วชูนิ้วหัวแม่มือขึ้นๆ ลงๆ
2. เสียงอกหัวเราะ (อา) ให้ยืนตรง กางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปข้างลำตัวเหมือนนกกระพือปีก หงายมือขึ้น และปล่อยมือตามสบาย ตามองตรง สูดลมหายใจลึกๆ กักลมไว้ ค่อยๆเปล่งเสียง อ๋า... อะ ๆ ๆ ๆ กระพือแขนขึ้นๆ ลงๆ
3. เสียงคอหัวเราะ (อู) ให้ยืนตรง กางขาเล็กน้อย แขนแนบลำตัว ยกมือขึ้นตั้งฉากชี้ไปข้างหน้า งอนิ้วนางและนิ้วก้อยเข้าหาตัวเอง ยกนิ้วหัวแม่มือขึ้น และชี้นิ้วชี้และนิ้วกลางไปข้างหน้าในลักษณะชิดติดกัน เหมือนท่ายิงปืน ตามองตรง จากนั้นสูดลมหายใจลึกๆ กักลมไว้ แล้วค่อยๆเปล่งเสียง อู๋... อุ ๆ ๆ ๆ พร้อมกับแทงมือไปข้างหน้า
4. เสียงหน้าหัวเราะ (เอ) ยืนตามสบาย ค่อยๆ ยกมือขึ้นมาตามถนัด สูดลมหายใจลึกๆ แล้วขยับทุกนิ้วทั้งหัวแม่มือ ชี้ กลาง นาง และก้อย ตามองตรง จากนั้นให้เปล่งเสียง เอ๋... เอะ ๆ ๆ ๆ เหมือนกำลังหยอกล้อเด็ก
ระดับที่ 2
1. เสียงท้องหัวเราะ (โอ) ให้ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปด้านข้างของลำตัว เปล่งเสียงหัวเราะ โอ๋... โอะ ๆ ๆ ๆ ขณะที่เปล่งเสียงนั้นให้เอามือขวาแตะเข่าซ้าย สลับกับมือซ้ายแตะเข่าขวาสลับกันไป
2. เสียงอกหัวเราะ (อา) ให้ยืนตรง กางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปข้างลำตัวเหมือนนกกระพือปีก หงายมือขึ้น เปล่งเสียงหัวเราะ อ๋า... อะ ๆ ๆ ๆ คล้ายกับท่าระดับที่ 1 ต่างกันที่ท่านี้มีการแกว่งเท้าด้วย เมื่อยกมือขวาให้แกว่งเท้าซ้าย เมื่อยกมือซ้ายให้แกว่งเท้าขวา
3. เสียงคอหัวเราะ (อู) ให้ยืนตรง กางขาเล็กน้อย มือขวาแตะที่อก มือซ้ายแตะที่ท้อง เปล่งเสียงหัวเราะ อู๋... อุ ๆ ๆ ๆ แล้วโยกสะโพกไปมา
4. เสียงหน้าหัวเราะ (เอ) ยืนตรง ตั้งท่าเหมือนจะว่ายน้ำฟรีสไตล์ เปล่งเสียงหัวเราะ เอ๋... เอะ ๆ ๆ ๆ ขณะที่หัวเราะให้หมุนไหล่ โยกลำตัว เน้นบริหารไหล่คล้ายท่าว่ายน้ำฟรีสไตล์
ขอบคุณข้อมูลจาก
- ชมรมหัวเราะบำบัด. lclub.igetweb.com