อุทยานการเรียนรู้ TK park และภาคีเครือข่าย จัดโครงการ “ลับสมองประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน ครั้งที่ 7” เฟ้นหาเด็กเก่ง มีความสามารถ จากทั่วภูมิภาคเป็น “หนูน้อยนักเล่านิทาน” เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เสริมสร้างจินตนาการ ผ่านการเล่านิทาน
จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้วสำหรับ “โครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน ครั้งที่ 7” โดย อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และนิตยสาร Mother & care จัดขึ้น เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนโดยใช้ “นิทาน” เป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กได้ง่ายที่สุด ถ่ายทอดผ่านความน่ารักสดใสและท่าทางที่เป็นธรรมชาติ ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมาได้หนูน้อยยอดนักเล่านิทานที่มีคุณภาพจำนวนมาก
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) กล่าวว่า โครงการลับสมองประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 เป็นโครงการที่ต้องการเฟ้นหาหนูน้อยยอดนักเล่านิทานที่มีความสดใส สมวัย เป็นธรรมชาติมากที่สุด นอกจากนี้ที่ขาดไม่ได้คือความถูกต้องของภาษา ซึ่งตลอด 6 ปีที่ผ่านมา รู้สึกภูมิใจและยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความสามารถและพัฒนาศักยภาพของเด็กไทย
คุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวว่า ภารกิจของมูลนิธิฯ คือนำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ ซึ่งมีความเชื่อมั่นในศักยภาพและการอ่านหนังสือของเด็กไทย เพราะว่าก่อนที่เด็กจะมาขึ้นเวทีประกวดได้ เขาจะต้องผ่านการฟังการอ่านจากพ่อแม่มาพอสมควร จึงสามารถขึ้นเวทีได้ ซึ่งนี้เป็นกิจกรรมที่ดีและควรสนับสนุน จะทำให้เราได้เห็นความสามารถและคุณภาพของเด็กไทย
ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “ทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าที่สุดของประเทศ คือ คน และการอ่านถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างลักษณะนิสัยของประชาชนและคุณภาพของประชากร ซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศในอนาคต ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งเด็กเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงวัยที่ยังฟังนิทาน ครอบครัวควรที่จะสร้างนิสัยรักการอ่านโดยใช้นิทานเป็นสื่อ เพราะการอ่านและการเล่านิทานจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไปคิดต่อ เกิดแรงบันดาลใจในการทำความดีความงามและความสุข รวมทั้งการเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวมและเพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้ปัจจุบันการใช้สื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ หรือวิดีโอ ทำให้จินตนาการถูกจำกัดลง เพราะการมีทั้งภาพทั้งเสียงอยู่แล้ว แต่การอ่านจะช่วยกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ และความอยากรู้อยากเห็นได้ดีกว่า ชวนให้ติดตามเรื่องราวได้มากกว่า”
นพ.พลเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมที่จะสร้างสังคม สร้างประเทศชาติ ซึ่งเป็นการสร้างจากตัวตนของเยาวชนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของประเทศ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มีการขยายกิจกรรมนี้ไปยังจังหวัดต่างๆ มากขึ้น แม้ว่าจะไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยอยากเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกในระดับจังหวัดมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสของเด็กไทยทุกจังหวัด
ด้าน ภญ.ณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล หรือ โน้ต คุณแม่ยอดนักเล่านิทาน ซึ่งมาพร้อมกับน้องพอใจ ลูกสาววัย 2 ขวบ เล่าว่า เริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน ซึ่งเด็กจะสามารถฟังเสียงและจำเสียงต่างๆ ได้แล้ว จนตอนนี้น้องพอใจชอบอ่านหนังสือและต้องอ่านทุกคืนก่อนนอน โดยช่วงนี้เป็นช่วงที่น้องเริ่มแสดงความคิดเห็นได้ โดยให้น้องเลือกนิทานเอง เมื่อสนใจเรื่องไหนน้องก็จะสนใจติดตาม และเมื่อใดที่น้องมีการต่อต้าน เริ่มดื้อและไม่เชื่อฟัง เราก็จะสอนผ่านตัวละครที่เขาชื่นชอบ เล่าเป็นนิทานสอนไป เขาก็จะฟังและก็บอกว่าจะไม่ทำไม่ดีอย่างในนิทาน
ภญ.ณัฐกานต์ กล่าวอีกว่า “การอ่านเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเด็ก เพราะเป็นต้นทุนทางปัญญาที่คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ได้และจะติดตัวลูกไปตลอด ถ้าเขารักการอ่านแล้วก็จะเป็นเด็กที่ใฝ่รู้และหมั่นที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ช่วงที่อ่านหนังสือถือเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามาก เพราะการอ่านนิทานร่วมกันภายในครอบครัวนอกจากจะได้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวแล้ว เด็กยังได้ความรู้และสิ่งดีๆ ที่สอดแทรกอยู่ในนิทาน หากเราเล่าและสอนไปด้วย”
สำหรับ น้องต้นหลิว ด.ญ.ธรพชรพรรณ พูลศรี ซึ่งเข้าประกวดในปีที่ 1 เล่าถึงประสบการณ์หลังจากที่ได้ประกวดนี้ว่า ได้ประสบการณ์เยอะมาก เวลาเล่านิทานนั้นทั้งสนุกและมีความสุข รู้สึกดีที่ได้เล่านิทานให้คนอื่นๆ ฟัง นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมที่ทำให้พัฒนาการเล่านิทานของตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย
น้องต้นหลิวยังบอกอีกว่า อยากให้คุณพ่อคุณแม่เล่านิทานให้น้องๆ ฟังก่อน แล้วเด็กๆ จะรู้สึกอยากลองเล่าบ้าง อย่างต้นหลิวที่อยากลองเล่านิทานแบบคุณพ่อ ซึ่งจะทำให้น้องๆ มีจินตนาการและกล้าแสดงออก นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในวิชาภาษาไทยได้อีกด้วย
ส่วน น้องเจตน์ ด.ช.ภัทรดนัย ธูปสุวรรณ ซึ่งผ่านการประกวดมาแล้วเช่นกัน บอกว่า “อยากให้สมัครเข้ามาเล่านิทานกันเยอะๆ เพราะนอกจากสนุกแล้วยังได้ประสบการณ์อีกด้วย ซึ่งวิธีการเลือกนิทานก็ให้เลือกนิทานที่สนุกสนานและลองซ้อมให้คุณพ่อคุณแม่ดูเยอะๆ”
สำหรับโครงการลับสมองประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน ปีนี้จัดการประกวดขึ้นที่ส่วนกลางคือ กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี นครสรรค์ และนครศรีธรรมราช สนใจร่วมแสดงความสามารถผ่านการประกวดเล่านิทาน โดยการประกวดแบ่งเป็นประเภทเดี่ยว ระดับอายุ 4-6 ปี และระดับอายุ 6-9 ปี และประเภททีมครอบครัว ดาวน์โหลดใบสมัครและสมัครออนไลน์ที่เว็บไซด์ www.tkpark.or.th หรือ www.motherandcare.in.th หรือสมัครผ่านโรงเรียนหรือหน่วยงานที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 15 กรกฎาคม 2555