อิเหนา สังข์ทอง ไกรทอง ขุนช้างขุนแผน
วรรณคดีที่คนไทยต่างรู้จักตัวละครและเรื่องราวกันดีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กนักเรียน แต่หากถามว่าเป็นผลงานของใครนั้น อาจไม่ใช่ทุกคนที่ตอบได้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กษัตริย์นักประพันธ์ผู้ทำให้ช่วงเวลานั้นเป็นยุคทองของวรรณคดีไทย
เนื่องในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเป็นที่มาของกิจกรรม “ยุคทองวรรณคดีไทย ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 22 - วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 11.00 น. - 17.00 น. ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
กิจกรรมในงานประกอบด้วย 4 ส่วน คือ นิทรรศการ ภาพยนตร์ การแสดง และเกมการแข่งขัน
หมากสกา และดอกสร้อยฟ้า
นิทรรศการรำลึกถึงพระปรีชาสามารถ
โดยบริเวณลานสานฝัน ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นสวนดอกไม้ไทยขนาดย่อมซึ่งเป็นพรรณไม้ที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องต่างๆ อันเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เช่น ต้นแสงจันทร์ ต้นสร้อยฟ้า ต้นทับทิมหนู บัว ถูกจัดวางข้างแผ่นป้ายนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระปรีชาสามารถด้านต่างๆอย่างสวยงาม
นอกจากนี้ ยังได้มีการจำลองเรือนไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น พร้อมกับการเล่น “หมากสกา” กีฬาไทยชนิดหนึ่งที่ช่วยฝึกฝนความคิด ปฏิภาณไหวพริบ การแก้ไขปัญหา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหมากรุกและหมากฮอต
อีกมุมหนึ่งของนิทรรศการ คือการนำแผนที่ของอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยหรือ “อุทยาน ร.2” ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้เข้าชมเสมือนได้หลุดเข้าไปในโลกวรรณคดี เพราะมีสถาปัตยกรรมไทยและหุ่นปั้นตัวละครในวรรณคดีที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมา ได้แก่ เรือนไทยหมู่ เรือประพาสอุทยาน รูปปั้นตัวละครในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ สังข์ทอง ไกรทอง รวมถึงพิพิธภัณฑ์ขนมไทย โดยอุทยาน ร.2 ตั้งอยู่ ณ ตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นที่พระบรมราชสมภพ จัดสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมบัติวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 2 เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน และยังส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ และวรรณคดีเรื่องอิเหนา
ภาพยนตร์เกี่ยวกับพระราชประวัติ รัชกาลที่ 2
หนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นในนิทรรศการครั้งนี้ คือการจัดฉายภาพยนตร์สารคดีเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสครบ 200 ปี วันครองราชย์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระปรีชาสามารถด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2300 ณ นิวาสสถาน ตำบลอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม เสวยราชสมบัติ เมื่อปีมะเส็ง ปีพ.ศ. 2352 - 2367 ขณะมีพระชนมายุได้ 42 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงครองราชย์เป็นเวลา 15 ปี ชั่วระยะเวลาที่พระองค์ครองราชย์อยู่นั้นนับว่าประเทศอยู่บนสถานภาพปกติสุข เมื่อว่างเว้นจากการสงคราม พระองค์จะทรงทำนุบำรุงประเทศชาติในด้านศิลปะ วรรณคดี และสถาปัตยกรรม ดังเป็นที่ปรากฏว่าวรรณคดีในสมัยของพระองค์รุ่งเรืองถึงขีดสุด
ด้านพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านวรรณศิลป์ ได้แก่ พระราชนิพนธ์วรรณคดีที่มีชื่อเสียงมาถึงปัจจุบัน วรรณคดีในสมัยของพระองค์ถือเป็นแบบฉบับอันยอดเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นคำกลอน ละครนอก ละครใน เสภา นิราศ กาพย์ ฉันท์ ลิลิต โครงสี่สุภาพ อาทิ บทละครเรื่องอิเหนา เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน บทพากย์โขน บทละครเรื่องไชยเชษฐ์ สังข์ทอง คาวี ไกรทอง มณีพิชัย
ด้านศิลปกรรมพระองค์ทรงให้สร้างวัดอรุณราชวราราม ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระพุทธรูปพระประธานด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง หรือทรงแกะสลักบานประตูบาทกลางพระวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นลายสลักซับซ้อน ด้านดนตรีพระองค์ทรงโปรดดนตรีไทยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีที่พระองค์โปรดปรานมาก ซอสามสายคู่พระหัตถ์ทรงพระราชทานนามว่า “ซอสายฟ้าฟาด” เมื่อว่างจากพระกรณียกิจพระองค์มักจะทรงเครื่องดนตรีซอสามสายอยู่เสมอ สำหรับด้านต่างประเทศทรงรับเป็นไมตรีกับพม่า ขณะเดียวกันก็โปรดให้สร้างเมืองและป้อม เพื่อป้องกันพระนคร เช่น สร้างป้อมนครเขื่อนขันธ์ อันเป็นเมืองด่านสำหรับป้องกันศึกศัตรู
ละครนอกเรื่องสังข์ทอง และละครในเรื่องรามเกียรติ์
การแสดงร่ายรำจากบทพระราชนิพนธ์
จากบทพระราชนิพนธ์อันงดงามของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นำมาสู่การบรรเลงดนตรีและการแสดงนาฏศิลป์อันอ่อนช้อย กิจกรรมครั้งนี้ นักศึกษา “กลุ่มโจงแดง” จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้รวมตัวกันเนื่องจากมีความชอบในศิลปะการแสดงและดนตรีไทย โดยได้นำการแสดงร่ายรำจากบทพระราชนิพนธ์ 2 เรื่องมาให้ได้ชม คือ
ละครนอก เรื่อง “สังข์ทอง” ตอน “รจนาเสี่ยงพวงมาลัย” มีเรื่องราวว่า พระสังข์ซึ่งตัวจริงรูปร่างงาม ผิวเป็นทองทั้งตัว แต่แกล้งปลอมตัวโดยเอารูปเงาะเข้าสวมใส่แล้วแกล้งทำเป็นบ้าใบ้ ถูกพามาให้รจนา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงเลือกคู่ เนื่องจากเป็นบุพเพสันนิวาส รจนาจึงมองเห็นรูปทองข้างในของเจ้าเงาะ แล้วทิ้งพวงมาลัยให้เพื่อเลือกพระสังข์ (เจ้าเงาะ) เป็นสวามี
และ ละครใน เรื่อง “รามเกียรติ์” ตอน “หนุมานจับนางเบญกาย” เรื่องราว คือ นางเบญกายแปลงกายเป็นนางสีดาแกล้งทำเป็นตายลอยน้ำไปที่ค่ายของพระราม เพื่อให้พระรามหมดกำลังใจรบ จะได้ยกทัพกลับไปแต่หนุมานก็รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะศพนางสีดาลอยทวนน้ำขึ้นมา จึงทูลขอพระรามนำศพนางสีดาไปเผาไฟ นางเบญกายทนร้อนไม่ไหว จึงกลับคืนร่างเดิมและเหาะขึ้นฟ้าไป แต่หนุมานก็เหาะตามไปจับตัวนางมาได้
นอกจากการแสดงร่ายรำแล้ว ยังมีการบรรเลงซออู้เพลงไทยเดิม เช่น เพลง “ลาวเสี่ยงเทียน” จากวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา”ในตอนที่บุษบารู้สึกสับสน ว่าจะเลือกจรกาที่เป็นคู่หมั้นในปัจจุบัน หรืออิเหนาซึ่งเคยได้หมั้นหมายกันมาก่อน นางจึงไปเสี่ยงเทียนในถ้ำที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และจุดเทียนอธิษฐาน เพื่อให้เห็นว่าใครคือเนื้อคู่ตัวจริง
ผู้เข้าร่วมแข่งขันต่อโมเดลพระปรางค์วัดอรุณ
กิจกรรมแข่งขันต่อโมเดล
นอกจากนิทรรศการ ภาพยนตร์ และการแสดงที่ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมแล้ว ยังมีกิจกรรมสนุกๆ ให้ทุกคนในครอบครัวได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำภารกิจให้สำเร็จ ด้วยกิจกรรมแข่งขันต่อโมเดล โดยเป็นโมเดลรูปพระปรางค์วัดอรุณ ซึ่งมีหลายครอบครัวเข้าร่วมเล่นเกม ทีมละ 2-3 คน แข่งขันต่อโมเดลให้สมบูรณ์มากที่สุดในเวลาที่จำกัด ซึ่งก่อนที่จะมีการแข่งขัน พิธีกรและกรรมการการแข่งขันคือพี่ต้องและพี่ริบบิ้น ได้เล่าถึงประวัติของวัดอรุณราชวรารามและพระปรางค์วัดอรุณว่า
“วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร” สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า"วัดมะกอก" ตามชื่อตำบลบางมะกอก ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง แล้วเปลี่ยนชื่อวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม" ถึง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดอรุณราชวราราม"
ในส่วนของ “พระปรางค์วัดอรุณ” นั้น เดิมที่มีความสูง 16 เมตร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชปรารภสร้างพระปรางค์ในวัดอรุณให้สูงขึ้นอีก เพื่อเป็นศรีแก่พระนคร โดยสร้างได้ส่วนสัดสวยงาม สูง 81.85 เมตร วัดรอบฐาน 234 เมตร ประกอบด้วยปรางค์เล็กล้อมอยู่ 4 ทิศ และมีพระมณฑปอยู่ทั้ง 4 ทิศ
สำหรับผลการแข่งขันนั้น ปรากฏว่าโมเดลพระปรางค์วัดอรุณมีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงไม่มีทีมใดต่อโมเดลครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด ผู้ชนะจึงได้แก่ผู้ที่เหลือชิ้นส่วนโมเดลน้อยที่สุด ได้รับรางวัลเป็นสมุดบันทึกและบัตรสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ TK park โดยทุกทีมได้รับโมเดลพระปรางค์วัดอรุณที่ต่อไว้นำกลับไปต่อให้สำเร็จ
กิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ทราบถึงพระราชประวัติและพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในด้านวรรณคดี ที่มีความโดดเด่นมากที่สุดในยุครัตนโกสินทร์แล้วยังได้ทราบถึงพระปรีชาสามารถด้านอื่นๆ ของพระองค์ รวมถึงมรดกความเป็นไทยต่างๆ ที่ควรคู่ให้คนรุ่นหลังได้อนุรักษ์สืบต่อไป
พี่ตองก้า