ติดตามกันต่อกับเรื่องสนุกและน่าสนใจจากอินโฟกราฟิกข้อมูลเกี่ยวกับการอ่านของประเทศต่างๆ ทั่วโลก...
รูปที่ 7 มาร่วมฉลองหนังสือดีที่ครบรอบในปี 2561 ด้วยการเอามาอ่านใหม่อีกครั้ง!
ครบรอบ 200 ปี “Frankenstein” เขียนโดย Mary Shelley (“แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรมีธีอัสยุคใหม่” แปลโดย ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล)
หนึ่งในตัวละครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกวรรณกรรม และถูกกล่าวถึงโดยนักเขียนชื่อดัง รวมถึงหนังสือพิมพ์ระดับโลก อาทิ[1]
“แฟรงเกนสไตน์คือจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมไซไฟในปัจจุบัน” สตีเฟน คิง (Stephen King)
“แฟรงเกนสไตน์บุกเบิกงานเขียนแนวดิสโทเปียและสร้างตำนานแห่งความสยดสยองจากผลที่ตามมาของการทดลองอย่างไม่รู้จักพอ” เดลี่เทเลกราฟ (Daily Telegraph)
“ความสำเร็จของแฟรงเกนสไตน์ซ่อนอยู่ในการนำเอา 'ความหวาดกลัวในความรู้ต้องห้าม' มาตีความใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในความกลัวอันไม่สิ้นสุดของมนุษยชาติ” ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov)
“เปี่ยมไปด้วยความหลอกหลอน ความโศกเศร้า และเป็นงานเขียนโกธิคที่งดงาม” อินดิเพนเดนท์ (Independent)
ครบรอบ 150 ปี “Little Women” เขียนโดย Louisa May Alcott (“สี่ดรุณี” แปลโดย อ. สนิทวงศ์)
นวนิยายเชิงอัตชีวประวัติของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตวัยเด็กของตัวเอง เธอเริ่มเขียนเรื่องนี้ในปี 1868 (พ.ศ.2411) จัดเป็นหนังสือดีอีกเรื่องที่ควรได้อ่านสักครั้งในชีวิต ลุยซาเล่าเรื่องราวตนเองผ่านตัวละครคนน้องที่ชื่อว่า โจ ในครอบครัวของสี่พี่น้องผู้หญิงล้วนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับแม่ในช่วงปี ค.ศ.1860 ขณะที่พ่อของพวกเธอต้องออกไปช่วยกองทัพฝ่ายเหนือ รบกับพวกกองทัพฝ่ายใต้ ในสงครามกลางเมืองหรือสงครามเลิกทาสของสหรัฐฯ เนื้อหาหนังสือไม่ได้เกี่ยวกับสงคราม แต่บอกเล่าชีวิตและความผูกพันของสี่พี่น้องซึ่งมีนิสัยใจคอแตกต่างกัน แม้จะขัดแย้งกันบ้างแต่ก็เปี่ยมสายใยแห่งความรักระหว่างพี่น้องในยามที่พ่อ
ไม่อาจอยู่เป็นผู้นำครอบครัว หนังสือชี้ให้เห็นถึงแรงขับทางทัศนคติและความใฝ่ฝันที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านและเติบโต การค้นพบตนเองและตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินในชีวิตของแต่ละคน
ครบรอบ 75 ปี “Four Quartets” เขียนโดย T.S. Eliot เป็นอีกเรื่องที่เราไม่มีข้อมูลของหนังสือเล่มนี้มากนัก จำต้องขอผ่านไปก่อน แต่ถ้าใครเคยอ่านหรือมีข้อมูล จะเขียนมาบอกเล่าแบ่งปันกันอ่าน ผ่านพื้นที่ตรงนี้ เราจะยินดีอย่างยิ่ง
ครบรอบ 50 ปี “A Wizard of Earthsea” เขียนโดย Ursula K. LeGuin (“พ่อมดแห่งเอิร์ธซี” แปลโดย วรรธนา วงษ์ฉัตร)
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมแฟนตาซีที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดตลอดกาล บอกเล่าเรื่องราวของ "เก๊ด สแปร์โรว์ฮอว์ค" บุรุษผู้ได้ชื่อว่าเป็นพ่อมดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรเอิร์ธซี ย้อนเวลาไปเล่าตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็ก ว่ากลายมาเป็นพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ต้องพบเจออะไรบ้าง นี่คืองานเขียนที่ผสมผสานเรื่องของอำนาจอันยิ่งใหญ่ เวทมนต์ มังกรในตำนาน การทดสอบ การค้นหาตัวเอง และการเติบโต[2]
ครบรอบ 25 ปี “Trainspotting” เขียนโดย Irvine Welsh (“เทรนสปอตติง” แปลโดย วิภาศิริ ฮวบเจริญ)
เออร์วิน เวลซ์ ผู้เขียนนิยายต้นฉบับอธิบายถึงที่มาของชื่อหนังสือเอาไว้ว่า ช่วงที่เขาเติบโตในเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ ที่นั่นมีสถานีรถไฟร้างที่กลายเป็นแหล่งชุมนุมของคนไร้บ้านและติดยา ซึ่งคนเหล่านี้จะใช้คำพูดว่า ‘trainspotting’ เมื่อไปเสพยากัน
หนังสือถูกนำไปสร้างเป็นหนังแหวกแนวสุดมันส์ โดนใจกลุ่มแฟนหนังทั้งในและนอกกระแส ในชื่อไทยว่า “แก๊งเมาแหลก พันธุ์แหกกฎ” ออกฉายเมื่อปี 2539 เรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นขี้ยาในอังกฤษที่สุดแสนขบถและหลุดโลก ผลงานกำกับของ แดนนี่ บอยล์ (ชื่อนี้รับประกันความสนุกในสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์)
หนังเรื่อง Trainspotting ว่าด้วยชีวิตมึนๆ ของกลุ่มหนุ่มขี้ยาที่ชีวิตไร้แก่นสาร ไร้อนาคต แต่หนังก็ตั้งคำถามกับคนดูและคนอ่านถึงการเกิด เติบโต และมีชีวิตอยู่ ว่าแท้จริงแล้วเรากำลังเลือกสิ่งที่ใช่และดีที่สุดให้กับชีวิตอยู่จริงๆ หรือไม่ หนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าตีแผ่แง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งเสพติดได้อย่างแยบคาย ผ่านงานด้านภาพที่แปลกตา ผสมกับซาวด์แทร็คที่ในยุคนั้นต้องเรียกว่าสดใหม่สุดๆ นิตยสาร Empire ของอังกฤษ เคยตีพิมพ์ลิสต์ 100 หนังดีหลายยุคจากเกาะอังกฤษที่ได้รับการยอมรับทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์ทั่วโลก ซึ่ง Trainspotting อยู่ในอันดับ 8 ส่วนอันดับ 1 คือ Lawrence of Arabia[3]
รูปที่ 8 มายาคติเกี่ยวกับการอ่านที่พบว่าเป็นความคิดความเชื่อผิดๆ ในปี 2561
ความเชื่อ คนชอบกลิ่นกระดาษของหนังสือที่เป็นรูปเล่ม
ความจริง มีเพียงร้อยละ 22 ของนักอ่านที่ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกหรือลำดับที่สองกับ “วัสดุและการออกแบบรูปเล่ม” ในการเลือกหนังสือมาอ่าน
ความเชื่อ ไม่ค่อยมีใครอ่านอีบุ๊คด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีตั้งโต๊ะหรือโน้ตบุ๊ค
ความจริง ร้อยละ 58 ของนักอ่าน อ่านอีบุ๊คด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีตั้งโต๊ะหรือโน้ตบุ๊ค (ซึ่งมีปริมาณมากกว่าจำนวนเครื่องอ่านอีบุ๊คหรือ e-reader devices เสียอีก)
ความเชื่อ การสืบค้นในอีบุ๊คเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีใครใช้ดัชนีค้นคำกันแล้ว
ความจริง มีรายงานระบุว่านักอ่านต่างก็ใช้คำสืบค้นและดัชนีค้นคำมากพอๆ กันเมื่ออ่านอีบุ๊ค การสำรวจยังพบด้วยว่าผู้อ่านถึงร้อยละ 42.5 ยังคงใช้ดัชนีค้นคำ
ความเชื่อ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนทำให้เราเคยชินกับการอ่านแบบเลื่อนขึ้นลง
ความจริง มีรายงานระบุว่านักอ่านส่วนใหญ่ใช้วิธีปาดเลื่อนหน้าจอตามแนวขวาง (ซ้ายขวา) และใช้การแตะหน้าจอเมื่อต้องการเปลี่ยนหน้า
ความเชื่อ มีเพียงผู้พิการทางสายตาและผู้ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือเล่มเท่านั้นที่เป็นผู้ใช้ฟีเจอร์ accessibility ในเครื่องโทรศัพท์
ความจริง ร้อยละ 12 ของนักอ่านที่ไม่ได้มีความบกพร่องทางการอ่าน กล่าวว่าพวกเขาใช้เทคโนโลยี screen reader ที่เป็นฟีเจอร์อยู่ในโทรศัพท์ ช่วยอ่านให้เขาฟัง
รูปที่ 9 เรื่องจริงหรืออิงนิยาย? เด็กผู้หญิงอ่านนิยายมากกว่าเด็กผู้ชาย!
งานวิจัยในปี 2561 แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นที่อ่านนิยายมากกว่าจะมีทักษะในการอ่านล้ำหน้าเพื่อนในกลุ่มมากกว่าปกติถึง 6 เดือนเมื่อเปรียบเทียบกับพวกที่ไม่อ่านนิยายเลย
ร้อยละ 45 ของเด็กผู้หญิงบอกว่าพวกเธออ่านหนังสือนิยายหลายครั้งในหนึ่งเดือน ขณะที่มีเด็กผู้ชายเพียงร้อยละ 27 ที่ทำเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม เด็กผู้ชายร้อยละ 27 และเด็กผู้หญิงร้อยละ 18 บอกว่าพวกเขาอ่านการ์ตูนหลายครั้งในหนึ่งเดือน นอกจากนั้นมีเด็กผู้ชายถึงร้อยละ 56 อ่านหนังสือพิมพ์หลายครั้งในหนึ่งเดือน ส่วนเด็กผู้หญิงมีเพียงร้อยละ 49
รูปที่ 10 นิตยสารเสื่อมความนิยม แต่การใช้สื่อเพิ่มสูงขึ้น
จากกราฟ จะเห็นว่า ในปี 2553 ผู้บริโภคชาวอเมริกันใช้เวลาอ่านนิตยสาร 24 นาทีต่อวัน แต่ลดลงเหลือ 18 นาทีต่อวันในปี 2558 และลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียงประมาณ 13 นาทีต่อวันในปี 2561
ปี 2554 ชาวอเมริกันใช้เวลา 668 นาทีต่อวันในการบริโภคสื่อหลัก (ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ รวมถึงสื่อออนไลน์) ในปี 2558 ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นเป็น 720 นาทีและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 728 นาทีภายในปี 2561
รูปที่ 11 ข้อเท็จจริงขำๆ เกี่ยวกับหนังสือและการอ่าน
Bibliosmia คือคำที่ใช้เรียกคนที่มีอาการชอบดมกลิ่นหนังสือหรือเสพติดกลิ่นหนังสือ
หนังสือที่มีคนอ่านมากที่สุดในโลก 3 อันดับ คือ คัมภีร์ไบเบิล วาทะประธานเหมา และแฮร์รี่ พอตเตอร์
หนังสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ The Klencke Atlas มีขนาดความสูง 1.75 เมตร กว้าง 1.90 เมตรเมื่อกางออก
หนังสือที่แพงที่สุดในโลก คือ 1640 Bay Psalm มีราคา 14.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
หนอนหนังสือ หรือ Bookworms มีตัวตนจริงๆ มันคือแมลงที่อาศัยและหากินอาหารอยู่แถวรอยต่อของหน้าหนังสือบริเวณที่ถูกเย็บเล่ม
Tsundoku เป็นภาษาญี่ปุ่น หมายถึง พฤติกรรมการซื้อหนังสือแต่กลับไม่อ่าน (แล้วยังเอามากองสุมเป็นตั้งไว้ในบ้าน) หรือพวกชอบดองหนังสือ
หนังสือเล่มแรกที่ถูกตีพิมพ์ คือ คัมภีร์ไบเบิลกูเทนเบิร์ก ค.ศ.1453 พิมพ์โดยเครื่องพิมพ์เครื่องแรกของโลก โดยนักประดิษฐ์ชื่อ โยฮานส์ กูเทนเบิร์ก
นวนิยายที่ยาวที่สุด คือเรื่อง Remembrance of Things Past เขียนโดย มาร์แซล พรุสต์ (Marcel Proust) มีตัวหนังสือมากถึง 9,609,000 ตัว หากอ่านต่อเนื่องโดยไม่หยุดจะต้องใช้เวลาในการอ่านถึง 43 ชั่วโมง 13 นาที
รูปที่ 12 ที่มาหรือแหล่งข้อมูลที่นำมาทำอินโฟกราฟิก
[3] https://thestandard.co/culture-film-20years-trainspotting/