|
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าวผลสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 มีการนำเสนอผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 55,920 ครัวเรือน ทั่วประเทศ และการจัดทำหนังสือ ‘เข็ม’ รวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีของทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อสังเกตจากผลการสำรวจ ตลอดจนเนื้อหาในหนังสือจะทยอยนำมาลงเป็นตอนๆ ตลอดเดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน
|
ในช่วงปี พ.ศ. 2557-2560 ตลาดหนังสือของไทยมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่องและหดตัวลงเกือบร้อยละ 20 ส่งผลต่อวงจรธุรกิจหนังสืออย่างถ้วนหน้า ทั้งสำนักพิมพ์ สายส่ง และร้านหนังสือ ถึงแม้ว่าร้านหนังสือจะยังเป็นช่องทางหลักในการกระจายหนังสือถึงมือผู้อ่าน แต่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากขึ้นในการหาซื้อหนังสือ โดยเฉพาะจากเทศกาลหนังสือซึ่งทุกสำนักพิมพ์ต่างพร้อมใจกันลดราคา ส่วนการสั่งซื้อหนังสือผ่านร้านออนไลน์ก็มีแรงจูงใจเรื่องของความสะดวกรวดเร็วในการค้นหาหนังสือที่ต้องการและบริการจัดส่ง
ร้านหนังสือจึงก้าวสู่สถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงาน และค่าบริหารจัดการร้าน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาร้านหนังสือนับร้อยแห่งทยอยปิดตัว ร้านที่เหลืออยู่พยายามปรับตัวโดยมองถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบัน
ทางเลือก ทางรอด ร้านหนังสือเชนสโตร์
ในภาวะเปราะบางของธุรกิจหนังสือ ร้านประเภทเชนสโตร์น่าจะยืนหยัดอยู่ได้ด้วยสายป่านที่ยาวกว่าร้านหนังสืออิสระ แต่อันที่จริงแล้วเชนสโตร์ก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เครือข่ายร้านหนังสือรายใหญ่อย่างเช่นซีเอ็ด (SE-ED) ซึ่งเคยมียอดขายสูงถึง 5,700 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันกลับมีตัวเลขขาดทุน สาขาหลายแห่งต้องยุบเลิกปิดกิจการ บางสาขาจำเป็นต้องลดขนาดพื้นที่ร้านลง เช่นเดียวกับร้านนายอินทร์ซึ่งมีการปรับลดจำนวนสาขาลงเช่นกัน
ส่วนเครือข่ายร้านหนังสือที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานภาครัฐ คือร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ซึ่งก่อตั้งมายาวนานกว่า 60 ปี ก็ประสบภาวะยากลำบากไม่ต่างกับเชนสโตร์เอกชน ล่าสุดเปิดเผยตัวเลขผลประกอบการของร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ทั้ง 10 สาขา เมื่อปี 2561 ว่ามีรายได้ 391.79 ล้านบาท ขาดทุน 14.44 ล้านบาท[1] โดยมีค่าใช้จ่ายหลักคือค่าเช่าอาคารสถานที่และค่าจ้างพนักงาน จึงเตรียมจะปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร
กระนั้นก็ดี ยังมีร้านหนังสือประเภทเชนสโตร์ที่สามารถดำเนินธุรกิจเติบโตสวนกระแส ดังเช่น บีทูเอส เอเซียบุ๊คส และคิโนะคูนิยะ ซึ่งกลยุทธ์ของร้านหนังสือทั้ง 3 แห่งอาจเป็นแนวทางที่ชี้ให้เห็นทางรอดของร้านหนังสือในยุคเทคโนโลยีพลิกผัน ตัวอย่างเช่น
• เปลี่ยนภาพลักษณ์ร้านขายหนังสือให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ หรือพื้นที่ทางความคิดและสร้างแรงบันดาลใจ โดยจัดการพื้นที่ให้มีความหลากหลายสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าและสามารถใช้สอยได้สารพัดประโยชน์ เช่น นั่งอ่านหนังสือ นั่งทำงาน ใช้อินเทอร์เน็ต ชมนิทรรศการ เล่นและเรียนรู้
• จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านที่ทำให้เกิดบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาและก่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ แก่นักอ่าน เช่น จัดงานเปิดตัวหนังสือ พบปะนักเขียน จัดกิจกรรมศิลปะ และเวิร์คช็อปต่างๆ
• นำเทคโนโลยีมาใช้กับการขายและการตลาดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ระบบการค้นหาและสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ บริการจัดซื้อหนังสือจากทั่วโลก เพิ่มไลน์สินค้าอีบุ๊ค สื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
• จำหน่ายสินค้า nonbook ที่สร้างแรงบันดาลใจและบ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง และช่วยเสริมคุณค่าของสินค้าหลักคือหนังสือ เช่น เหล็กฉากกั้นหนังสือเน้นดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์ เครื่องเขียนสำหรับคนทำงานด้านการออกแบบและงานศิลปะ ซีดีเพลงบรรเลงซึ่งช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการอ่านหนังสือ ซีดีภาพยนตร์หายากที่สร้างจากวรรณกรรมคลาสสิก
ความหวังของร้านหนังสืออิสระ
ทศวรรษที่ผ่านมามีร้านหนังสืออิสระเก่าแก่ที่ต้องปิดตัวลงหลายแห่ง เช่น ปริ๊นซ์บุ๊คสโตร์ ร้านหนังสือชื่อดังของจังหวัดขอนแก่นซึ่งจำหน่ายมานานกว่า 30 ปี ร้านหนังสือนาครบวรรัตน์ ซึ่งอยู่คู่ชาวนครศรีธรรมราชมาเกือบ 30 ปี รวมทั้งร้านหนังสืออิสระที่เปิดได้ไม่นานก็ต้องยุติกิจการ เช่น ร้านเอกาลิเต้ จ.ลำปาง ร้านหนังสือเชียงดาว จ.เชียงใหม่ เนื่องจากร้านหนังสือเป็นธุรกิจที่มีกำไรต่ำ หากยอดขายน้อยเกินไปหรือไม่เป็นไปตามเป้าย่อมกระทบต่อความอยู่รอดทันที
เมื่อธุรกิจหนังสือได้รับผลกระทบจากการพลิกผันทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านของผู้บริโภค ร้านหนังสือเองก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย การที่ไม่มีสาขาเหมือนกับร้านประเภทเชนสโตร์ ทำให้ร้านหนังสืออิสระพยายามหาทางออกด้วยการจับมือกันเพื่อช่วยส่งเสริมการขายซึ่งกันและกัน ดังเช่นการจัดงาน “สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติครั้งที่ 1” เมื่อปี 2556 และยังคงจัดต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน (แต่ตัดคำว่า ‘แห่งชาติ’ ออกไป) นอกจากจะประชาสัมพันธ์ให้ร้านหนังสืออิสระประจำท้องถิ่นเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นแล้ว ยังช่วยกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการจำหน่ายหนังสือหมุนเวียนไปตามร้านต่างๆ อีกด้วย
Harvard Business School เคยศึกษาวิจัยปรากฏการณ์ที่ร้านหนังสือในสหรัฐอเมริกากลับเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงปี 2552-2558 ทั้งๆ ที่ร้านหนังสืออิสระเคยล้มหายตายจากไปจนมีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 42[15] อันเนื่องมาจากยุครุ่งเรืองของร้านหนังสือออนไลน์อย่างแอมะซอน (Amazon) โดยค้นพบทางรอดของร้านหนังสืออิสระที่สรุปรวบยอดเป็นหลัก ‘3C’ ได้แก่ Community คือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างร้านหนังสืออิสระและคุณค่าแบบท้องถิ่นนิยม (Localism) Curation คือการเลือกหนังสือที่ไม่เน้นหนังสือขายดี แต่เลือกอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และช่วยให้ผู้อ่านได้พบหนังสือใหม่ๆ และ Convening คือการสวมบทบาทเป็นพื้นที่ทางปัญญา สำหรับลูกค้าที่มีความคิดหรือมีความสนใจตรงกันมาร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ
สำหรับประเทศไทย การประยุกต์หลัก 3C และการสร้างสรรค์เอกลักษณ์หรือจุดเด่นของร้านหนังสืออิสระแต่ละแห่ง จะช่วยให้ร้านหนังสืออิสระฟันฝ่าสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่หนักหน่วงรอบนี้ไปได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
[1] https://thestandard.co/suksapan-panit-revenue/
[2] บทคัดย่องานวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบการรับร้บุคลิกภาพตราสินค้าร้านหนังสือระหว่าง “ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์” และ “นายอินทร์”
[3] บทความเรื่อง คืนหนังสือให้ร้านหนังสือ : ทางเลือกและทางรอดของธุรกิจร้านหนังสือไทย
[4] บทความเรื่อง บีทูเอส ฝันหวานแบบแอมะซอน
[5] บทความเรื่อง เอเซียบุ๊คส เปิดสาขาใหญ่สุด@เซ็นทรัลเวิลด์
[6] https://th.wikipedia.org/wiki/คิโนะคูนิยะ
[7] สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
[8] สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
[9] สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
[10] https://www.suksapanpanit.com
[11] https://www.asiabooks.com/asia_books_branches/
[12] https://th.wikipedia.org/wiki/คิโนะคูนิยะ
[13] https://www.facebook.com/stock.vitamins/posts/-se-ed-ขาดทุน-แต่-b2s-กำไร-ใคร-ๆ-ก็รู้ว่าธุรกิจหนังสือกำลังตกต่ำจากการเข้ามาของโ/1970406353224753/
[14] http://longtunman.com/4292
[15] https://www.matichonweekly.com/special-report/article_69503