Designed by jcomp / Freepik
|
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าวผลสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 มีการนำเสนอผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 55,920 ครัวเรือน ทั่วประเทศ และการจัดทำหนังสือ ‘เข็ม’ รวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีของทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อสังเกตจากผลการสำรวจ ตลอดจนเนื้อหาในหนังสือจะทยอยนำมาลงเป็นตอนๆ ตลอดเดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน
|
เมื่อวิเคราะห์ถึงสัดส่วนประชากรที่อ่านหนังสือเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคต่างๆ และระหว่างพื้นที่ในและนอกเขตเทศบาลพบว่า ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2561 กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอ่านหนังสือมากที่สุด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้อ่านหนังสือน้อยที่สุดมาโดยตลอดนับจากการสำรวจปี 2551 เป็นต้นมา กระทั่งล่าสุดปี 2561 ภาคที่มีประชากรอ่านน้อยที่สุดคือภาคใต้ โดยมีช่องว่างของร้อยละระหว่างภาคที่อ่านสูงสุดกับต่ำสุดต่างกัน 18.6 ส่วนพื้นที่ในและนอกเขตเทศบาล มีช่องว่างของร้อยละต่างกัน 8.4
มีข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ปี 2551-2556 ช่องว่างความแตกต่างนี้ลดลงเรื่อยๆ แต่ในปี 2558 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ปรับนิยาม “การอ่าน” ให้ครอบคลุมทั้งการอ่านหนังสือและการอ่านเนื้อหาผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ช่องว่างกลับเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย สะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการอ่านอาจมีความเชื่อมโยงกับปัญหาการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียมกันด้วยเช่นกัน แต่ผลการสำรวจปี 2561 ช่องว่างนี้ได้ปรับตัวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน ดังนั้นถ้าหากสมมติฐานดังกล่าวถูกต้อง ย่อมหมายความว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการกระจายตัวทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม
ช่องว่างของปริมาณผู้อ่านระหว่างพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำประเภทหนึ่ง อันอาจสืบเนื่องมาจากปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานที่แตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ซึ่งทำให้โอกาสในการเข้าถึงหนังสือ สื่อการอ่าน และแหล่งเรียนรู้สาธารณะ เกิดความไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็ยังไม่เคยมีงานศึกษาวิจัยหรือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการอ่านกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
ผลสำรวจการอ่านจำแนกตามภูมิภาคพบว่าแนวโน้มจำนวนผู้อ่านเพิ่มสูงขึ้นในทุกภาค แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือปัจจัยอะไรที่ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีจำนวนผู้อ่านเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าภาคอื่น และใช้เวลาประมาณ 10 ปีจึงพ้นจากภาคที่มีการอ่านน้อยที่สุดสองลำดับสุดท้ายไปได้ ในทางกลับกันอะไรคือสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้อ่านของภาคใต้ลดลงจากการสำรวจรอบที่แล้ว แม้จะเป็นตัวเลขที่ลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้กลายเป็นภาคที่มีร้อยละของผู้อ่านน้อยที่สุดไปในการสำรวจรอบนี้
ข้อมูลความแตกต่างของจำนวนร้อยละของผู้อ่าน เปรียบเทียบเชิงพื้นที่ระหว่างภูมิภาค และระหว่างในกับนอกเขตเทศบาล อาจช่วยให้ตระหนักว่าการส่งเสริมการเข้าถึงหนังสือ สื่อการอ่าน และแหล่งเรียนรู้สาธารณะนั้น เกี่ยวข้องกับปัญหาโครงสร้างการพัฒนาที่มีความไม่เท่าเทียมกัน ถ้าหากไม่นับอุปสรรคหรือข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว นโยบายส่งเสริมการอ่านที่มีประสิทธิภาพควรที่จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือน ตลอดจนการลดช่องว่างความเป็นเมืองและชนบทอีกด้วย