|
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าวผลสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 มีการนำเสนอผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 55,920 ครัวเรือน ทั่วประเทศ และการจัดทำหนังสือ ‘เข็ม’ รวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีของทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อสังเกตจากผลการสำรวจ ตลอดจนเนื้อหาในหนังสือจะทยอยนำมาลงเป็นตอนๆ ตลอดเดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน
|
การรณรงค์และจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งการเพิ่มจำนวนและการพัฒนาพื้นที่การอ่าน อันเนื่องมาจากนโยบายส่งเสริมการอ่าน เป็นปัจจัยสนับสนุนให้จำนวนผู้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.3 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 78.8 ในปี 2561 และปริมาณการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจาก 39 นาทีต่อวันในปี 2551 เป็น 80 นาทีต่อวัน ในปี 2561
ถึงแม้ว่าปริมาณการอ่านจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งยังคงมีผู้ไม่รู้หนังสืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก ผลสำรวจของยูเนสโกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2558 ระบุว่า มีประชากรที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มากกว่า 4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี เกือบ 2 แสนคน ทั้งนี้ จำนวนเยาวชนที่ไม่รู้หนังสือมีแนวโน้มลดลง แต่จำนวนผู้ไม่รู้หนังสือในวัยผู้ใหญ่ (อายุ 24 ปีขึ้นไป) กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกันกับข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2558 จะพบตัวเลขที่น่าสนใจในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปีที่ไม่อ่าน หรือเทียบเท่าเด็กนักเรียนชั้น ป.1-ม.3 ซึ่งระบุว่าอ่านไม่ออกร้อยละ 31.7 คิดเป็นจำนวนถึง 2 แสนคนเศษ หากรวมเด็กกลุ่มอายุเดียวกันนี้ที่อ่านไม่คล่อง/อ่านได้เพียงเล็กน้อย อีกร้อยละ 34.7 นั่นหมายความว่ามีเด็กในวัยเรียนจำนวนกว่า 450,000 คน ที่ยังมีปัญหาอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง
ในการสำรวจล่าสุดในปี 2561 พบว่ากลุ่มเด็กวัยเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงประสบปัญหาอ่านไม่ออกและอ่านไม่คล่องร้อยละ 42.9 และ 26.5 ตามลำดับ คิดเป็นจำนวนประมาณ 510,000 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน แน่นอนว่าสำหรับเด็กที่ได้รับการศึกษาในระบบนั้น ปัญหานี้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งในด้านหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอน และควรลงไปดูในรายละเอียดถึงสาเหตุและสภาพแวดล้อมของตัวเด็กเป็นรายคน จึงจะสามารถแก้ปัญหาอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านไม่คล่องได้ตรงจุด
ขณะเดียวกัน เด็กกลุ่มนี้อาจหมายรวมไปถึงเด็กซึ่งขาดโอกาสหรือไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน อันเนื่องมาจากความยากจน มีภาระในการช่วยเหลือครอบครัว หรือไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งจำต้องโยกย้ายไปตามอาชีพของพ่อแม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการแตกต่างไปจากกลุ่มเด็กที่ได้รับการศึกษาในระบบ
การส่งเสริมการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้และปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ควรเป็นนโยบายสำคัญของรัฐและเป็นงานที่ภาคสังคมต้องมีส่วนร่วม ครอบคลุมเด็กทุกกลุ่มทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึงโดยไม่มีการแบ่งแยกกีดกัน ในขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมการรู้หนังสือในกลุ่มผู้ใหญ่ และทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ โดยขยายโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต แม้จะพ้นจากวัยเรียนไปแล้วก็ตาม