Photograph ©Hans-Martin Dölz
1. เหมาะสมกับการใช้งาน (Functional)
พื้นที่ห้องสมุดควรออกแบบให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากห้องสมุดเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ การสื่อสาร และค้นคว้าวิจัยต่างๆ การจัดพื้นที่จึงต้องทำให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่ในห้องสมุดได้อย่างสะดวก สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้งานที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้ได้อย่างทันท่วงที
Stuttgart Municipal Library ห้องสมุดที่นำเอาบันไดเป็นตัวเชื่อมทางเดินแต่ละชั้นอย่างต่อเนื่องกลมกลืน เพื่อให้ผู้ใช้บริการเดินหาและหยิบหนังสือได้สะดวก
2. ปรับเปลี่ยนได้ (Adaptable)
การออกแบบพื้นที่ที่ดี ควรมีความยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้รองรับการใช้งานในลักษณะต่างๆ เช่น การจัดโต๊ะหรือเก้าอี้ให้เคลื่อนย้ายได้ตามประเภทการใช้งาน การขยายหรือปรับพื้นที่เพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของไอที ดังนั้น การจัดเรียงโต๊ะและที่นั่งควรสามารถปรับเปลี่ยนได้หลายรูปแบบ การเดินสายสัญญาณเชื่อมต่อควรมีความยืดหยุ่น หลีกเลี่ยงการติดตั้งฮาร์ดแวร์แบบถาวร เพราะไม่มีใครทราบล่วงหน้าว่าผู้คนจะใช้งานห้องสมุดแตกต่างออกไปอย่างไรในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การออกแบบพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักหนังสือและตั้งวางชั้นหนังสือไว้ที่ไหนก็ได้ตลอดทั้งอาคารก็อาจไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการให้บริการเนื้อหารูปแบบดิจิทัลจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
3. เข้าถึงได้ง่ายและเชิญชวนให้เข้า (Accessible and inviting)
ห้องสมุดเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ควรออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย ควรทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน มีพื้นที่โล่งและเปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีบริเวณพักผ่อนที่ทำให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลายและกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยน
Photograph © Anja Schlamann
ห้องสมุดโอเพ่นแอร์ตั้งอยู่ริมถนนใจกลางชุมชน เมือง Magdeburg ได้รับรางวัลการออกแบบพื้นที่สาธารณะระดับภูมิภาคยุโรป
4. หลากหลาย (Varied)
ห้องสมุดควรสร้างสภาพแวดล้อมที่หลากหลายสำหรับผู้ใช้ที่มีพฤติกรรมและความต้องการแตกต่างกัน อุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสมกับทางเลือกแบบต่างๆ เช่น การนั่งอ่านคนเดียวหรือกับผู้อื่น การทำงานเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม นั่งใกล้หน้าต่าง นั่งในมุมส่วนตัว นั่งอ่านแบบผ่อนคลายบนโซฟา นั่งบนพื้น นั่งรวมกลุ่มติวหนังสือในห้องโถง หรือแยกต่างหากในโต๊ะอ่านหนังสือเฉพาะบุคคล หรือในห้องทำงานกลุ่ม ผู้ใช้ควรมีทางเลือกจากความเป็นไปได้เหล่านี้ตามความพึงพอใจของตน
ส่วนอุปกรณ์สำหรับสื่อชนิดต่างๆ ห้องสมุดควรออกแบบรองรับรูปแบบการเรียนรู้ส่วนบุคคลและการเรียนรู้ร่วมกัน รูปแบบและแนวทางการเรียนรู้ในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก ดังนั้นความหลากหลายของอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นไปได้จึงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับบริการของห้องสมุดในยุคนี้
5. มีปฏิสัมพันธ์ (Interactive)
ห้องสมุดควรออกแบบพื้นที่ที่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถมีปฏิสัมพันธ์ การติดต่อ ซักถามกับบรรณารักษ์ได้อย่างสะดวก เช่น มีมุมตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า อยู่ในพื้นที่ที่เห็นเด่นชัด เคาน์เตอร์บริการยืมคืนอยู่ในพื้นที่ที่เข้าออกสะดวก เป็นต้น การออกแบบพื้นที่ให้เป็นมิตรกับผู้ใช้ไม่ใช่เป็นแค่การออกแบบเพื่อความสวยงาม แต่ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเลยทีเดียว
6. จูงใจและกระตุ้น (Motivating and stimulating)
พื้นที่ห้องสมุดควรสร้างบรรยากาศที่ให้ความสะดวกสบาย น่าใช้บริการ จูงใจให้อยู่ ให้อ่าน ให้ค้นคว้า ให้รู้สึกสบายและรู้สึกดี ชั้นหนังสือที่เรียงเป็นแถวนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจ และไม่เพียงแต่บรรยากาศภายในห้องสมุดเท่านั้น แต่รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ที่น่าใช้งาน และการออกแบบที่ทันสมัยด้วย
เฟอร์นิเจอร์น่าสบายสีสันสดใสของห้องสมุดการแพทย์ O.A.S.E. เมือง Düsseldorf
7. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (Environmentally suitable)
นอกจากทรัพยากรที่ทันสมัยและตรงกับความต้องการแล้ว บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้บริการ เช่น เรื่องของแสงสว่าง อุณหภูมิและการระบายอากาศ การควบคุมเสียงรบกวนจากภายนอกและลดเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นภายในอาคาร
สำหรับประเทศในยุโรป แสงธรรมชาติเป็นหัวข้อสำคัญที่สุดหัวข้อหนึ่ง ซึ่งการใช้แสงธรรมชาติถือเป็นทางเลือกลำดับแรก เช่นเดียวกับการระบายอากาศตามธรรมชาติ ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมเชิงนิเวศมากที่สุดสำหรับห้องสมุดส่วนใหญ่ในเยอรมนีทุกวันนี้
Photo courtesy i.redd.it
ห้องสมุดมหาวิทยาลัย Freier กรุงเบอร์ลิน ออกแบบให้ดูคล้ายกับก้อนสมอง เป็นกระจกทรงโดมเพื่อรับแสงจากภายนอก
และสามารถเปิดรับอากาศจากภายนอกในวันที่สภาพอากาศดี
8. ปลอดภัยและมั่นคง (Safe and secure)
มีระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งในเรื่องของทรัพยากรห้องสมุด คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ของห้องสมุด และทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสมุดบางแห่งในเยอรมนีเปิดให้บริการทั้ง 7 วัน โดยเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ยิ่งจำเป็นต้องมีระบบป้องกันการโจรกรรมและการใช้งานที่ผิด ดังนั้นการออกแบบภายในที่ทำให้ทุกคนรู้สึกสะดวกสบายและปลอดภัยจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ถึงแม้ว่ามาตรการด้านความปลอดภัยในบางครั้งอาจจะรบกวนหรือขัดแย้งกับเงื่อนไขเรื่องสุนทรียภาพไปบ้างก็ตาม
Photograph © Facebook @KIT.Bibliothek
ห้องสมุด Karlsruhe Institute of Technology (KIT) เมือง Stuttgart เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ออกแบบอย่างเรียบง่าย มีความโปร่งโล่ง ได้รับการจัดอันดับเมื่อปี 2011 ให้เป็น Third Place ที่น่าใช้บริการที่สุดในเยอรมนี
9. มีประสิทธิภาพ (Efficient)
การจัดพื้นที่ห้องสมุดควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น การประหยัดไฟในบางห้อง โดยเปิดหน้าต่างช่วยเพิ่มแสงสว่างในช่วงเช้าแทนการเปิดไฟ หรือการเปิดหน้าต่างเพื่อช่วยระบายอากาศในบางพื้นที่ หรือการจัดพื้นที่ให้ง่ายต่อการดูแลรักษาความสะอาด
10. เหมาะสมกับ ICT (Suitable for ICT)
การจัดพื้นที่สำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับห้องสมุดสมัยใหม่ ควรจัดเป็นสัดส่วนแบ่งตามประเภทการใช้งานอย่างชัดเจน เช่น คอมพิวเตอร์สำหรับการทำงาน คอมพิวเตอร์สำหรับค้นหาข้อมูล/ข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต หรือคอมพิวเตอร์เพื่อความบันเทิงต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการจัดการพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับความต้องการที่ไม่ได้คาดไว้ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ การปรับพื้นที่คอมพิวเตอร์ได้อย่างยืดหยุ่นจะทำให้ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์เป็นทั้งส่วนหลักของห้องสมุดและเป็นสิ่งที่สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการในแง่สุนทรียภาพอีกด้วย
การเดินท่อร้อยสายไฟแนวดิ่งจากบนเพดาน ทำให้การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สามารถทำได้อย่างมีอิสระยิ่งขึ้น
ดร.เคลาส์ อูลริช แวร์เนอร์
ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไฟรบูร์ก (Freiburg) เคยดํารงตําแหน่งต่างๆ ในห้องสมุดในสังกัดของ Freier Universität Berlinกระทั่งปี ค.ศ. 2000 เข้ารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการห้องสมุด The Berlin Brain ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิก นอร์แมน ฟอสเตอร์ และดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างใหม่จนถึงปี ค.ศ. 2005 จึงเปิดให้บริการ โดยเขายังคงเป็นผู้อำนวยการมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ เขายังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการให้คําปรึกษาด้านการก่อสร้างห้องสมุดและหอเก็บเอกสารของสถาบันมาตรฐานแห่งเยอรมนี (German Institute for Standardization) รวมทั้งยังเป็นบรรณาธิการให้กับหนังสืออีกหลายเล่ม โดยเขียนบทความเกี่ยวกับการออกแบบและการจัดการห้องสมุด เป็นอาจารย์และที่ปรึกษาให้กับห้องสมุดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์เล่มล่าสุดเมื่อปี 2013 ชื่อ The Green Library: The Challenge of Environmental Sustainability
แปลจาก เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “Libraries as learning space – and as a place, where everyone likes to be” โดย ดร.เคลาส์ อูลริช แวร์เนอร์ (Dr.Klaus Ulrich Werner) ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park วันที่ 28 ตุลาคม 2556