Photo courtesy Facebook @LibrariesWithoutBorders
ทุกวันนี้มีประชากรทั่วโลกที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถึง 795 ล้านคน มีเด็กกว่า 72 ล้านคนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน และมีผู้คนนับร้อยล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงหนังสือหรือทรัพยากรความรู้ ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศแทบจะไม่มีรากฐานของงานด้านวรรณกรรมและวิทยาศาสตร์ หรือหากมีก็มักเป็นงานเก่านับครึ่งศตวรรษ ส่วนบางภูมิภาคไม่มีห้องสมุดแม้แต่แห่งเดียว
สำหรับประชากรที่ยากไร้ ห้องสมุดคือสิ่งที่กำหนดชะตากรรมในอนาคต หนังสือเป็นมากกว่าการถ่ายทอดความรู้หรือการเปิดมุมมองใหม่ๆ แต่มันเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการฝึกฝนทัศนะการวิพากษ์วิจารณ์และการศึกษาเพื่อความเป็นประชาธิปไตย และท้ายที่สุดแล้วหนังสือยังเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
อุปสรรคในการเข้าถึงความรู้และสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกันเป็นจุดเริ่มต้นของ Libraries Without Borders (LWB) องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งทำงานด้านการส่งเสริมการศึกษา ที่สามารถเข้าถึงผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งบางแห่งผู้คนมีชีวิตอยู่อย่างไร้ความหวังและไม่เคยได้รับการศึกษาหรือเข้าถึงหนังสือเลยสักเล่มเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี
Photo courtesy AFP: Khalil Mazraawi
สภาพค่ายผู้ลี้ภัยกลางทะเลทรายที่ประเทศจอร์แดน ซึ่งรองรับผู้อพยพชาวซีเรีย
จุดเริ่มต้นของ Libraries Without Borders เกิดขึ้นในปี 2007 เมื่อแพทริค วิล (Patrick Weil) นักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเดินทางไปยังค่ายผู้อพยพที่แอฟริกา เขาพบว่าค่ายพักได้จัดหาเต๊นท์พัก อาหาร น้ำ และเสื้อผ้า แต่ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับความงอกงามทางปัญญาเลย สิ่งที่ได้พบเห็นตรงกันกับเนื้อหาในภาพยนตร์สารคดีซึ่งถ่ายทำในค่ายผู้ลี้ภัยที่บุรุนดี ชายหนุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในคองโกกล่าวว่า ‘วันคืนของพวกเราส่วนใหญ่หมดไปที่บ้านพักหรือไม่ก็เดินไปมาในแคมป์เพราะไม่มีอะไรทำ เราถูกโดดเดี่ยวจากโลกทั้งมวล สิ่งที่เราโหยหาที่สุดก็คือวัฒนธรรม’ นั่นเป็นภาพและคำพูดที่สร้างความสะเทือนใจแก่เขาอย่างมาก
“พวกเขาเหล่านั้นมิได้ต้องการเพียงมีอาหารให้กินอิ่มท้องวันละสามมื้อ หลายคนต้องเผชิญกับความทุกข์ระทมจากความรู้สึกโดดเดี่ยว ความเป็นอื่น และความหดหู่ พวกเขาต้องการติดต่อกับโลกภายนอกเพื่อจะบอกให้ผู้อื่นได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ และต้องการมองเห็นเป้าหมายของชีวิตในอนาคต”
เมื่อแพทริคกลับมายังฝรั่งเศส เขาได้บอกเล่าประสบการณ์และความคิดเห็นของเขาให้สาธารณชนได้รับรู้เพื่อเร่งหาหนทางช่วยเหลือภายใต้โครงการรณรงค์ที่ชื่อว่า The Urgency of Reading
เขาได้ลงนามความร่วมมือกับนักเขียนและนักการศึกษาจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลอีก 8 คน ในช่วงแรกเริ่ม Libraries Without Borders ดำเนินการขอรับบริจาคหนังสือมือสองจากชาวฝรั่งเศสเพื่อจัดส่งไปยังค่ายผู้ลี้ภัย กิจกรรมนี้ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ในโกดังของ LWB มีหนังสือมากกว่า 4 แสนเล่ม ซึ่งได้รับการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบพร้อมที่จะจัดส่งไปยังพื้นที่ที่ต้องการทั่วโลก
ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เฮติเมื่อปี 2010 LWB ได้เข้าไปตั้งเต๊นท์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยก่อนที่ยูนิเซฟจะร้องขอ โดยติดตั้งห้องสมุดเคลื่อนที่ให้กับเด็กๆ รวมทั้งจัดหนังสือภาษาฝรั่งเศสและภาษาครีโอลมากพอที่จะให้ครูเริ่มต้นสอนหนังสือได้อีกครั้ง แต่เขาต้องพบกับความจริงอันแสนเจ็บปวดว่า หนังสือจำนวนมากเสียหายเพราะถูกโยนลงจากเครื่องบินและถูกสายฝนกระหน่ำ
กล่องห้องสมุด Ideas box
ข่าวสารเกี่ยวกับอุปสรรคดังกล่าวไปถึงหูของฟิลิปป์ สตาร์ก (Philippe Starck) มัณฑนากรชาวฝรั่งเศสซึ่งออกแบบเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ในครัวให้กับเเบรนด์ดัง เขาจึงรับอาสาออกแบบกล่องห้องสมุดแบบป้องกันฝนให้กับ LWB โดยไม่คิดมูลค่า หลัก 6 ข้อในการออกแบบคือ ต้องเป็นอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานเพื่อใช้บรรจุเทคโนโลยีที่สามารถย่อหรือขยายส่วนได้ มีเนื้อหาที่สามารถปรับให้เหมาะกับชุมชนที่มีภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ขนย้ายและติดตั้งง่าย ดำเนินงานได้ง่ายเพียงแค่อบรมเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ ใช้พลังงานต่ำ และมีต้นทุนไม่แพง
Photo © librarieswithoutborders.org
กล่องห้องสมุดนี้มีชื่อว่า Ideas box กล่องแต่ละส่วนถูกจำแนกด้วยสีสันต่างๆ ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน มีขนาดตรงกับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่งสินค้าทั่วไป ใช้เวลาในการติดตั้งเพียง 20 นาที (คลิกชมวีดิโอการติดตั้ง Ideas box) เมื่อทุกอย่างถูกคลี่ออกจะกลายเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ซึ่งประกอบด้วย โต๊ะซึ่งสามารถชาร์จไฟผ่านช่องเสียบ USB เก้าอี้พับ 24 ตัว แท็บเล็ต 15 เครื่องและคอมพิวเตอร์ 4 เครื่องซึ่งเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เครื่องอ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e-reader) 50 เครื่องซึ่งมีอีบุ๊คกว่า 5,000 รายการ หนังสือจำนวน 250 เล่ม MOOCs โทรทัศน์พร้อมเครื่องฉาย ภาพยนตร์กว่า 100 เรื่อง วิดีโอเกมและและบอร์ดเกม กล้องความละเอียดสูง 5 ตัวสำหรับกิจกรรมทำหนังและสิ่งพิมพ์ อุปกรณ์ GPS 3 เครื่องสำหรับเรียนรู้เรื่องแผนที่ และวัสดุทำหรับทำงานประดิษฐ์และศิลปะ
ต้นทุนของ Ideas box 1 ชุดมีราคาประมาณ 50,000 ยูโร ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เข้ามาสนับสนุนส่วนหนึ่ง และได้รับการสนับสนุนจากเอกชนหรือมูลนิธิต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง
ห้องสมุดไร้พรมแดนเพื่อโลกที่เท่าเทียม
ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ประเทศบุรุนดีมีผู้ประสบภัยที่อพยพมาจากคองโกกว่า 37,000 คน “เราหนีมาจากประเทศของเราเพราะที่นั่นไม่ปลอดภัย กฎหมายระบุไว้ว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา แต่เราไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา ...เราได้แต่หวังว่าวันพรุ่งนี้หรือวันข้างหน้าประเทศของเราคงจะสงบสุข เด็กๆ เหล่านี้จะได้กลับไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคองโก” ครูในค่ายผู้ลี้ภัยกล่าวอย่างมีความหวัง
Photo © librarieswithoutborders.org
พื้นที่นี้เป็นแห่งแรกที่ LWB นำ Ideas box เข้าไปติดตั้ง เพื่อสร้างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ชุมชนสามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกและเชื่อมต่อกับสารสนเทศ และเพื่อพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา อุปกรณ์การเรียนรู้ของห้องสมุดช่วยเข้าไปสนับสนุนวิธีการสอนใหม่ๆ ในการเรียนรู้เรื่องดิจิทัลในโรงเรียน และใช้จัดหลักสูตรอบรมอาชีพและการเรียนรู้ด้วยตนเองสำหรับผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังนำไปใช้เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และชุมชน กล่าวคือสามารถทำกิจกรรมถ่ายภาพ ผลิตวีดิทัศน์ งานศิลปะ งานเขียนและบล็อก ซึ่งมีส่วนในการสรรค์สร้างวัฒนธรรมของชุมชนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง รวมถึงยังสนับสนุนความสมานฉันท์ให้กับผู้คนได้เป็นอย่างดี
“มีงานศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบทางสังคมระยะยาวอันเกิดจากห้องสมุดคือการลดความไม่เท่าเทียมกันของสังคม ห้องสมุดกลายเป็นบ้านหลังที่สอง – ที่ซึ่งผู้คนสามารถเรียนรู้ได้อย่างอิสระและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ห้องสมุดยังช่วยทลายอุปสรรคทางสังคม เป็นสถานที่ซึ่งพวกเขาจะได้พบปะพลเมืองที่มาจากหลากหลายภูมิหลัง เราได้ยินเรื่องราวนับไม่ถ้วนจากผู้ยากไร้และชนกลุ่มน้อย ถึงหนทางที่ห้องสมุดช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากความยากจน เมื่อสารสนเทศกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่า ห้องสมุดก็ยิ่งทวีบทบาทในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและประชาธิปไตย” แพทริคกล่าว
Ideas box เป็นเครื่องมือสำคัญที่ LWB ใช้ในการทำงานส่งเสริมการการศึกษาและอ่านออกเขียนได้ในหลายพื้นที่ เช่น ค่ายที่เลบานอนและจอร์แดนซึ่งเต็มไปด้วยผู้ลี้ภัยสงครามจากซีเรีย ส่วนที่ออสเตรเลียมันถูกติดตั้งอยู่ในชุมชนของชาวอะบอริจิน นอกจากนี้ LWB ยังนำ Ideas box ไปติดตั้งในชุมชนที่มีรายได้ต่ำในเขตเมืองของประเทศพัฒนาแล้ว หรือชุมชนที่ห้องสมุดยังดูเหมือนเป็นพื้นที่น่ากลัวหรือขาดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นที่เมืองกาเลส์ ประเทศฝรั่งเศส และย่านบรองซ์ ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และมีการทดลองนำ Ideas box ไปใช้กับกลุ่มผู้ย้ายถิ่นหรือผู้ที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมทางสังคมในอังกฤษ ซึ่งมีผลการวิจัยว่าเด็กอังกฤษถึงหนึ่งในสี่มีอัตราการอ่านที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และหนึ่งในสามไม่มีหนังสือเป็นของตัวเอง
ภายหลังจากเหตุแผ่นดินไหวที่เฮติ ห้องสมุดชุมชนที่อยู่ในเมืองหลวงปอร์โตแปรงซ์ก็แทบไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ในขณะที่ประชากรมีอัตราการอ่านออกเขียนได้น้อยกว่าร้อยละ 50 LWB จึงปักหลักทำโครงการต่อเนื่องนอกเหนือจาก Ideas Box เช่น การดัดแปลงรถกระบะโดยสารในท้องถิ่นให้กลายเป็นรถห้องสมุดเคลื่อนที่ BiblioTaptap ออกเดินทางเพื่อให้บริการชุมชนที่อยู่ระหว่างเส้นทาง รถห้องสมุดมีทรัพยากรการเรียนรู้ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ สามารถจัดกิจกรรมที่หลากหลายเช่น การส่งเสริมการอ่าน การอภิปราย และเวิร์คช็อป ปัจจุบันเฮติมี BiblioTaptap จำนวน 3 คันให้บริการใน 3 ภูมิภาค
การทำงานที่นี่ยังทำให้ LWB เรียนรู้ถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และเนื้อหาที่บรรจุไว้ใน Ideas box เพื่อว่าหากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติองค์กรจะสามารถเข้าไปทำงานได้อย่างรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ ทีมงานจะต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ร่วมกับชุมชนถึงความจำเป็นและความต้องการ ทั้งในด้านเนื้อหา ภาษา และประเด็นสาธารณสุข
Photo courtesy Facebook @LibrariesWithoutBorders
BiblioTaptap Bookmobile in Haiti
ผลกระทบทางสังคมและก้าวต่อไปในอนาคต
กระบวนการทำงานของ Libraries Without Borders มิได้มุ่งให้เกิดเพียงกายภาพของห้องสมุด แต่ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการฝึกอบรมบรรณารักษ์ การขนส่งหนังสือ การจัดอบรมนักเขียน การสนับสนุนสำนักพิมพ์ในท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายห้องสมุด เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพในการริเริ่มการก่อตั้งห้องสมุดด้วยตนเอง และเกิดวัฏจักรในการขับเคลื่อนวงการหนังสือให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
โครงการกล่องห้องสมุด Ideas box ของ Libraries Without Borders ได้รับรางวัลชนะเลิศ World Innovation Summit for Education หรือ WISE Awards 2016 ในฐานะโครงการนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสามารถสร้างทางออกให้กับความท้าทายด้านการศึกษาในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ LWB ทำงานกระจายอยู่ใน 20 ประเทศ มีเจ้าหน้าที่ 30 คนและอาสาสมัครทั่วโลกกว่า 500 คน จัดส่งหนังสือไปยังผู้ขาดโอกาสกว่า 5 หมื่นเล่มต่อปี อบรมให้ความรู้แก่บรรณารักษ์ในท้องถิ่นกว่า 500 คน และมีผู้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการกว่า 5 ล้านคน
Photo © librarieswithoutborders.org
แพทริคกล่าวถึงการทำงานเกี่ยวกับห้องสมุดในอนาคตต่อไปว่า “เราต้องการพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ได้ 24 ชั่วโมง และมันควรจะเป็นห้องหนึ่งในห้องสมุดประชาชน ทุกเมืองในสหรัฐอเมริกามีห้องสมุด สิ่งที่จำเป็นส่วนใหญ่มีการลงทุนไว้หมดแล้ว การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่เพียงจัดหาการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อแสวงหาความรู้ อาจจัดสรรพื้นที่เสียใหม่ และจัดหาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถมาดำเนินงาน โดยทั่วไปแล้วห้องสมุดมีมูลค่าน้อยกว่ากิจกรรมอื่นๆ แต่องค์กรระหว่างประเทศกลับไม่ได้สนับสนุนเงินทุนด้านนี้ มีผู้คนมากมายที่สูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อห้องสมุดในอนาคต แต่ผมอยากจะพูดสิ่งที่ตรงกันข้ามนั่นก็คือ เครื่องมือหลักในการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมก็คือห้องสมุด”
อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ ห้องสมุดที่เป็นความหวังสำหรับอนาคตซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงสารสนเทศอาจเป็นภาพที่ดูจะไม่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง “ในแอฟริกา เราเคยจัดเวทีการประชุมและวงเสวนาเกี่ยวกับลำดับความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบหนังสือหรือทรัพยากรเทคโนโลยีสมัยใหม่ หลายคนให้คำตอบตรงกันว่า ‘ลองคิดดูสิว่าเราอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ เราอาจถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเมื่อไหร่ก็ได้... แต่หนังสือนั้นเก็บซ่อนได้ มันเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นไปได้ง่ายๆ’ ในสถานการณ์แบบนี้ หนังสือมีความสำคัญมากยิ่งกว่าอีบุ๊ค ดังนั้นเพื่อที่จะรักษาประชาธิปไตยให้ยังคงอยู่ เราจึงต้องปกปักรักษาหนังสือต่อไป”
ที่มาเนื้อหา
เว็บไซต์ Librarieswithoutborder .org
บทความ Tools for Global Equality: Symposium Focuses on Future of Libraries
บทความ All hail the pop-up library