Photo courtesy ABU MALIK AL-SHAMI / BBC.COM
“ผมเชื่อว่าสมองก็เหมือนกับกล้ามเนื้อ และการอ่านทำให้ความคิดแข็งแกร่งขึ้น สมองที่มีปัญญาช่วยหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของผม” อับดุลบาเสต อะลาห์มาร์ (Abdulbaset Alahmar) อดีตนักศึกษาผู้ชื่นชอบวรรณกรรมตะวันตกกล่าวถึงคุณค่าของการอ่าน และเป็นหนึ่งในผู้อาศัยในย่านดาเรย์ยา ชานกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ที่ถูกภัยสงครามโอบล้อมยาวนานหลายปี
หลายพื้นที่ของซีเรียถูกตัดขาดการสื่อสารจากโลกภายนอก ทว่าในปี 2016 เรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ของเหล่านักอ่านและห้องสมุดของพวกเขาถูกถ่ายทอดให้โลกรับรู้ผ่านการสัมภาษณ์ทางสไกป์ แม้ว่าในวันนี้นักอ่านบางคนจะเสียชีวิตและห้องสมุดถูกกวาดล้างไปแล้ว แต่เรื่องราวเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานถึงคุณค่าของความรู้ หนังสือ ห้องสมุด ในห้วงเวลาอันแสนวิกฤต
ห้องสมุดลับในซีเรีย
ดาเรย์ยามีประชากร 80,000 คน สามารถฝ่าวงล้อมสงครามออกไปได้เพียง 8,000 คน และต้องบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ในแต่ละวันมีห่ากระสุนโปรยปรายลงมาจากท้องฟ้า ท้องถนนเต็มไปด้วยสไนเปอร์ที่พร้อมจะซุ่มยิงผู้คนอยู่ทุกเมื่อ ชาวเมืองต้องเผชิญกับความระทมทุกข์และความหิวโหย
ลึกลงไปยังชั้นใต้ดินของซากอาคารปรักหักพังเป็นที่ตั้งของห้องสมุดซึ่งยังมอบความหวังและแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่ยังรอดชีวิต อาสาสมัครจำนวนหนึ่งทำหน้าที่เก็บรวบรวมหนังสือนับหมื่นเล่มจากบ้านเรือนที่ถูกระเบิดทำลายเสียหาย
“ส่วนใหญ่บ้านเหล่านั้นอยู่ในเขตแนวหน้าของการปะทะ การรวบรวมหนังสือจึงเป็นงานที่อันตรายมาก เราต้องซ่อนตัวอยู่ตามซากอาคารเพื่อให้รอดพ้นจากสายตาของสไนเปอร์” อะนัส อาห์หมัด (Anas Ahmad) อดีตนักศึกษาวัย 20 เศษ กล่าวถึงภารกิจของพวกเขา
Photo courtesy MALEK / BBC.COM
อะนัส อาห์หมัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งห้องสมุดลับในดามัสกัส
ยามคับขันเช่นนี้หนังสือคือสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล หนังสือวิชาการสร้างแรงบันดาลใจแก่อาสาสมัครและช่วยให้รู้จักวิธีดูแลผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาล จนถึงกับเปิดหน่วยทันตกรรมขึ้นมาได้ ผู้ที่ไม่ได้เรียนจบครูสามารถจัดห้องเรียนให้กับเด็กๆ ส่วนอีกหลายคนอ่านออกได้เพียงเพราะเขารักหนังสือ
อะนัสเล่าว่าหนังสือยอดนิยมส่วนใหญ่เป็นผลงานของนักเขียนชาวอาหรับที่มีชื่อเสียง เช่นบทกวีและบทละครของอาห์เมด ชอว์คี (Ahmed Shawqi) ซึ่งรู้จักกันในนามเจ้าชายแห่งบทกวี หรืออัลทานาวี (al-Tanawi) นักเขียนชาวซีเรียผู้บันทึกเหตุการณ์กบฏในโลกอาหรับ
Photo courtesy CNN.COM
อัมจัด บรรณารักษ์จำเป็นของห้องสมุดลับ
อัมจัด (Amjad) เด็กชายอายุ 14 มาห้องสมุดทุกวันเพราะบ้านของเขาอยู่ถัดไปและที่นี่ปลอดภัยกว่า เขากลายเป็น ‘รักษาการหัวหน้าบรรณารักษ์’ ดูแลห้องสมุดวันละ 4 ชั่วโมง ระหว่างบ่ายโมงถึงห้าโมงเย็น ทำหน้าที่แคตตาล็อกหนังสือและติดตามหนังสือที่ถูกยืมออกไป
กระนั้นก็ตาม การเดินทางไปห้องสมุดลับนับว่าเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายสำหรับเด็ก เด็กหญิงคนหนึ่งชื่นชอบการเล่นและอ่านหนังสือกับเพื่อนเพราะมันช่วยให้เธอลืมความทุกข์จากความหิวโหย แต่เธอกลับถูกยิงในระหว่างทางที่มาห้องสมุด
คลิกเพื่อรับชมวีดิทัศน์ เรื่อง ห้องสมุดลับในซีเรีย
พื้นที่แห่งความหวังและความใฝ่ฝัน
ทหารหนุ่ม โอมาร์ อะโบ อะนัส (Omar Abo Anas) ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันกับการอ่านหนังสืออยู่หลังบังเกอร์ ข้างๆ ตัวเขามีปืนไรเฟิลพร้อมที่จะสู้รบกับศัตรู “สิ่งที่ผมเรียกมันว่าห้องสมุดตั้งอยู่ใจกลางแนวรบ ผมอ่านหนังสือวันละ 6-7 ชั่วโมง เมื่ออ่านเสร็จผมจะนำมันกลับไปวางตรงนั้นแล้วหยิบเล่มอื่นมาอ่านต่อ พวกเราแลกเปลี่ยนหนังสือและยังได้แลกเปลี่ยนความคิดกันด้วย”
“หนังสือสร้างแรงจูงใจให้เรายังมีชีวิตต่อไป เราอ่านเรื่องราวการกู้ชาติของคนในอดีต ซึ่งพวกเรากำลังทำเช่นนั้นเหมือนกัน หนังสือช่วยให้สามารถวางแผนชีวิตในวันที่ศัตรูล่าถอยออกไปหมดแล้ว พวกเราอยากปลดปล่อยแผ่นดินของเรา และหวังว่าการอ่านจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จ”
ทว่าช่างเป็นเรื่องน่าเศร้า ในวันที่เรื่องราวของโอมาร์และห้องสมุดถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ไฟสงครามได้กลืนกินชีวิตเขาไปเสียแล้ว
Photo courtesy MALEK / BBC.COM
โอมาร์อ่านหนังสืออยู่หลังแนวบังเกอร์
ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2016 ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลล่าถอยออกไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ กองทัพรัฐบาลซีเรียเคลื่อนกำลังเข้ายึดดาเรย์ยาคืนและทำการเคลียร์พื้นที่ รวมถึงห้องสมุดลับด้วย ทำให้หนังสือกว่าครึ่งหนึ่งถูกขนย้ายขึ้นรถกระบะออกไป
Photo courtesy CNN.COM
ทหารบุกไปยังห้องสมุดและนำหนังสือส่วนใหญ่ขึ้นรถกระบะไป
ที่พักพิงทางปัญญาของผู้ลี้ภัย
ข้อมูล ณ ปี 2018 ระบุว่าชาวซีเรียเสียชีวิตและสูญหายกว่า 4 แสนคน ราว 5.6 ล้านคนหรือกว่าครึ่งประเทศต้องลี้ภัยไปยังต่างแดน ส่วนใหญ่อพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และอีกจำนวนไม่น้อยเดินทางไปไกลถึงยุโรป ไม่มีใครรู้ว่าประเทศซีเรียจะกลับคืนสู่ความสงบเมื่อใด ผู้ลี้ภัยมิได้ต้องการเพียงที่อยู่อาศัยใหม่และอาหาร แต่ยังต้องการเรียนรู้ทักษะในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่และเยียวยาความเจ็บปวดทางจิตใจไปพร้อมกัน
Photo courtesy BBC Thai
สมาคมห้องสมุด สารสนเทศ และเอกสารอ้างอิงแห่งยุโรป (The European Bureau of Library, Information and Documentation Associations) รณรงค์ให้ห้องสมุดทั่วยุโรปร่วมมีบทบาทในฐานะแพลตฟอร์มเพื่อประชาธิปไตยและจิตใจที่เปิดกว้าง รวมทั้งเป็นสถานที่ปลอดภัยซึ่งทุกคนสามารถรวมกลุ่มทางสังคม ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
วารสารห้องสมุดออสเตรีย ฉบับที่ 3 ปี 2015 นำเสนอชะตากรรมที่ยากลำบากของผู้อพยพชาวซีเรีย ขณะที่ห้องสมุดออสเตรียต้อนรับผู้ลี้ภัยด้วยความเต็มใจ โดยจัดโครงการ “การอ่านไร้พรมแดน” (Reading without borders) ประกอบด้วยหลักสูตรการอบรม การจัดหาหนังสือภาพเพื่อใช้เป็นสื่อเริ่มต้นการเรียนรู้เพื่อการสื่อสาร
หน้าปกวารสารห้องสมุดออสเตรีย ฉบับที่ 3 ปี 2015 คลิกเพื่ออ่านวารสารที่นี่
ห้องสมุดฟินแลนด์ยึดแนวคิด “ห้องสมุดสำหรับทุกคน” จัดทำคู่มือการใช้งานห้องสมุดเป็น 17 ภาษา เพื่อรองรับผู้ใช้บริการต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรม มีกิจกรรมคาเฟ่ภาษา (language café) เพื่อสอนภาษาฟินนิชและภาษาอังกฤษสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันให้แก่ผู้ลี้ภัย
ห้องสมุดเยอรมนีทำงานร่วมกับทีมอาสาสมัครจากภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กว่า 70 คน เพื่อพัฒนาบทเรียนให้ผู้อพยพสามารถเรียนภาษาเยอรมันจากบทเพลง โดยการดาวน์โหลดออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน ห้องสมุดให้ความสำคัญกับการต้อนรับผู้ลี้ภัยอย่างอบอุ่นและสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน
ห้องสมุดกลางแห่งฮัมม์ (Central Library of Hamm) ในเยอรมนี เป็นหนึ่งในห้องสมุดจำนวนหลายแห่งของยุโรปที่เปิดรับและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนทักษะการใช้ภาษาเยอรมันในชีวิตประจำวัน เช่น กิจกรรมค่ายฤดูร้อนสำหรับผู้ลี้ภัย กิจกรรม “พบปะและพูดคุย” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อพยพและชาวเมืองฮัมม์ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน
โมฮัมเหม็ด บาคร์ (Mohammed Bakr) นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งอพยพมาจากตอนเหนือของซีเรียตั้งแต่ปี 2015 ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดและยังเข้ามาฝึกงานในห้องสมุด โดยทำหน้าที่จัดเตรียมกิจกรรมและเป็นล่ามภาษาอารบิกและภาษาเคิร์ด ช่วยจัดชั้นหนังสือ และเป็นผู้นำชมห้องสมุด ทักษะทางภาษาของเขาพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนสามารถอ่านตำราและวรรณกรรมภาษาเยอรมัน ปัจจุบันเขาศึกษาต่อด้านไอทีในวิทยาลัยท้องถิ่น และยังคงมาใช้บริการห้องสมุดกลางแห่งฮัมม์อย่างต่อเนื่องเพื่อศึกษาค้นคว้าและทำงานร่วมกับเพื่อน
โมฮัมเหม็ด บาคร์ (Mohammed Bakr) นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ Photo : © Mohammed Bakr
สภาบรรณารักษ์แห่งบอลติก (The Congress of Baltic Librarians) ประเทศลัตเวีย ออกแถลงการณ์ด้านการให้บริการห้องสมุดแก่ผู้ลี้ภัย และสื่อสารทำความเข้าใจกับคนในสังคมถึงวิกฤตที่ชาวซีเรียกำลังเผชิญ ห้องสมุดแสดงออกถึงความเต็มใจมุ่งให้บริการอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อให้คำปรึกษาด้านการเข้าถึงบริการทางสังคม ช่วยพัฒนาทักษะภาษา ช่วยเยียวยาความเจ็บปวดทางจิตใจให้กับเด็ก โดยมีห้องสมุดเป็นพื้นที่แห่งการสานเสวนาและสะท้อนความรู้สึกนึกคิด
ห้องสมุดเนเธอร์แลนด์ริเริ่มแนวทางช่วยเหลือผู้อพยพอย่างหลากหลาย เช่นจัดทำสารสนเทศที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นภาษาอารบิก ระดมทุนเพื่อนำไปซื้อหนังสือภาพ จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน จัดกิจกรรมคาเฟ่ภาษา (language café) จัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวเพื่อจำหน่ายหารายได้ช่วยเหลือผู้อพยพต่อไป
เรื่องราวของชาวซีเรียทำให้เห็นว่าห้องสมุดเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ตราบเท่าที่ผู้คนและความรู้มาบรรจบกัน ความรู้เหล่านั้นอาจอยู่ในรูปของหนังสือ หรือสิ่งที่จับต้องได้น้อยกว่านั้นเช่นความทรงจำและเรื่องเล่าซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายกับผู้คน
สำหรับมนุษยชาติ ห้องสมุดเป็นมากกว่าเรื่องของการอ่าน การรู้หนังสือ การเรียนรู้ และงานอดิเรก แต่ยังสัมพันธ์กับคุณค่าต่างๆ ทางสังคม เช่น เสรีภาพ ภราดรภาพ ความเป็นธรรม ความเสมอภาคและเท่าเทียม พหุวัฒนธรรม และความเคารพซึ่งกันและกัน
มีถ้อยคำอุปมาว่าห้องสมุดเปรียบเหมือนสนามเพลาะหรือแนวกันภัย (library as trenches) เพราะต่อไปในภายภาคหน้าห้องสมุดจะเป็นสถานที่สำหรับกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม (activism) การคิดเชิงวิพากษ์ การสร้างความเข้มแข็งของพลเมือง และความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความอดทนและมีอุปสรรคอีกมากมายที่ต้องต่อสู้ฝ่าฟัน
แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์ BBC.COM
เว็บไซต์ CNN.COM
เว็บไซต์ BBC Thai
เว็บไซต์ eblida.org
เว็บไซต์ Goethe.de