Photo : Chattanooga Public Library flickr
ประเด็นที่กำลังเป็นโจทย์ท้าทายห้องสมุดทั่วโลก คือ “อนาคตของห้องสมุดสาธารณะในโลกดิจิทัล” เนื่องด้วยลักษณะของสารสนเทศที่เปลี่ยนแปลงไป จากรูปแบบหนังสือไปสู่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด และการลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
การปรับตัวของห้องสมุดจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และแนวโน้มหนึ่งที่ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คือการออกแบบและจัดการการใช้พื้นที่ (Space) ให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมผู้ใช้บริการ จนถึงกับกล่าวกันว่านี่คือ “ยุคฟื้นฟูใหม่ของพื้นที่” หรือ Renaissance of Space ของโลกห้องสมุดเลยทีเดียว
ต่อไปนี้คือกรณีตัวอย่างห้องสมุด 4 แห่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ
The Topic room - มาห้องนี้มีเรื่องแน่ !
Central and Regional Library Berlin (ZLB) ห้องสมุดสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี เป็นแหล่งค้นคว้าสำคัญด้านวัฒนธรรม สังคม และการศึกษา นอกจากผู้ใช้บริการจะเลือกอ่านหนังสือตามอัธยาศัยและความสนใจของตนเอง ZLB ยังมีแนวคิดที่จะนำเสนอประเด็นทางวัฒนธรรมที่สังคมควรตระหนัก ด้วยการบูรณาการทรัพยากรสารสนเทศที่ทันสมัย เกิดเป็นโครงการ “The Topic room” (ภาษาเยอรมัน เรียก Themenraum)
หัวข้อสำหรับ The Topic Room แต่ละเดือนถูกคัดสรรอย่างพิถีพิถันจากฝ่ายพัฒนาคอลเลกชั่น บางหัวข้อก็สัมพันธ์กับเหตุการณ์สำคัญหรือบริบททางสังคมในช่วงเวลานั้นๆ อาทิ อิสราเอลหลังการเลือกตั้ง ความยากจนและความร่ำรวย วิกฤติยูโร วัฒนธรรมอิสลาม เทพนิยาย ฯลฯ
บรรยากาศ The Topic Room เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2013 หัวข้อ อิสราเอลหลังการเลือกตั้ง และกิจกรรมเสวนากับนักเขียนชาวอิสราเอล
บทเรียนจากการทำงานของ ZLB พบว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ห้องสมุดจะนำเสนอเนื้อหาที่รอบด้านและสดใหม่ หากปราศจากแหล่งข้อมูลดิจิทัลออนไลน์ที่มีพลวัตอยู่ตลอดเวลา เมื่อคัดเลือกหัวข้อแล้วบรรณารักษ์จะช่วยนำเสนอแหล่งค้นคว้าทั้งที่เป็นหนังสือ ฐานข้อมูล ซีดี เว็บไซต์ สารคดี ภาพยนตร์ ฯลฯ จัดแสดงรวมกันไว้ในห้อง มีเกมคำถามเพื่อทดสอบความเข้าใจและทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุก อีกทั้งยังพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ช่วยรวบรวมแหล่งสืบค้นดิจิทัลไว้อย่างเป็นระบบ สามารถเชื่อมต่อกับ blog และ twitter เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นออนไลน์
ใช่ว่าการจัดหาอุปกรณ์และแหล่งค้นคว้าที่ทันสมัยจะเพียงพอแล้วในการให้บริการ ห้องสมุดยังจำเป็นจะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีแก่ผู้ใช้ที่ไม่ได้เป็นชนรุ่นดิจิทัล เช่น การนำชมและอธิบายการใช้งานอุปกรณ์ในห้อง The Topic Room การให้คำปรึกษาเรื่องอีบุ๊ค เวิร์คช็อปเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในอุปกรณ์โมบาย ฯลฯ การมีทักษะดิจิทัลที่คล่องแคล่วจะหนุนเสริมให้ผู้ใช้บริการสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้ในหลากหลายมิติมากขึ้น
4th Floor - สวรรค์ชั้น 4 ของเหล่า Maker
ห้องสมุดสุดเฉิ่ม สะเปะสะปะ และขาดการบริหารจัดการที่ดี เป็นภาพลักษณ์ในอดีตของ Chattanooga Public Library - CPL สหรัฐอเมริกา แต่วันนี้ CPL เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือด้วยการบริหารของ Corinne Hill จนห้องสมุดกลายเป็นจักรเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง Western Hemisphere ไปสู่วัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม
Photo : Chattanooga Public Library flickr
พื้นที่หลากหลายลักษณะของ 4th Floor มีทั้งโต๊ะสำหรับนั่งทำงาน พื้นที่โล่งสำหรับงานสร้างสรรค์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ
พื้นที่ประมาณ 12,000 ตารางเมตรบริเวณชั้น 4 ได้รับการปรับปรุงเป็นห้องแล็บสาธารณะที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา ทั้งเครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ โปรแกรม กิจกรรม และการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาสารสนเทศ การออกแบบ เทคโนโลยี และศิลปะประยุกต์ ผู้ที่นิยมชมชอบการสร้างสรรค์ผลงาน หรือ Maker จึงสามารถใช้พื้นที่นี้สำหรับผลิตผลงาน พบปะพูดคุย แบ่งปันเครื่องมือและความรู้ระหว่างกัน
4th Floor เป็นเหมือน Maker Space ที่อยู่ในห้องสมุด มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องวาดไวนิล เครื่องทอผ้า ฯลฯ จุดเด่นคือ GigLab ซึ่งให้บริการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มี Bandwidth สูงสุดของเมือง สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาพัฒนาและทดสอบซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่น นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 2012 GigLab ได้บ่มเพาะโครงงานนวัตกรรม จนกระทั่งได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจแล้วถึง 8 โครงการ
Zine Library ใน 4th Floor มี Zine Making Lab สำหรับออกแบบและตีพิมพ์นิตยสารเองโดยความร่วมมือกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทนเนสซี่
การปรับเปลี่ยนพื้นที่และการให้บริการของ CPL เป็นเสมือนการสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลที่สำคัญ จนได้รับการกล่าวถึงใน National Journal ว่า นี่คือลักษณะและบทบาทของห้องสมุดที่ควรจะเป็นในอนาคต เนื่องจากสังคมอเมริกันหลังปี 2008 ได้ก้าวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) แล้วอย่างเต็มตัว
People’s Lab – พื้นที่สร้างนวัตกรรม ไม่ง้อ Maker Space
ความตื่นตัวในการลงมือสร้างผลงานด้วยตนเอง หรือ Maker Movement กำลังเป็นกระแสที่มาแรงในสังคมตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกา จนกล่าวกันว่า Maker Culture จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับสังคมที่จะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และช่วยให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ประเทศเดนมาร์กเพิ่งจะได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการสร้างนวัตกรรมสูงที่สุดในยุโรป ตั้งแต่ปี 2010 ผู้ประกอบการในประเทศกว่าร้อยละ 55 สามารถพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โรงเรียนของรัฐกำหนดให้มีการสอนเกี่ยวกับนวัตกรรม การคิดสร้างสรรค์ และการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่วัยเยาว์ ห้องสมุดหลายแห่งรวมทั้ง Library of Roskilde จึงต้องเริ่มขบคิดที่จะปรับบทบาทให้สอดรับกับเป้าหมายดังกล่าว
กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะนวัตกรรมของโครงการ People’s Lab
แนวคิดในการสร้าง Maker Space ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ห้องสมุดกำลังมองหา แต่สำหรับห้องสมุดทั่วไปไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะปฏิรูปอย่างถอนรากถอนโคน ทั้งข้อจำกัดในด้านกายภาพ การจัดหาเครื่องมือทันสมัยที่มีราคาแพง รวมถึงทักษะในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อยู่เหนือขีดความสามารถของบรรณารักษ์ Library of Roskilde จึงใช้จุดแข็งของห้องสมุดที่ถนัดในด้านการอำนวยความสะดวกให้ผู้คนมาพบปะกัน สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ และจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่เพียบพร้อม แล้วริเริ่มโครงการ People’s Lab (หรือ Folkelab ในภาษาเดนนิช) ให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญหรือพวกหัวกะทิที่มีประสบการณ์ด้านการสร้างนวัตกรรม
ในการสร้าง Maker Culture นั้น มีหลักคิดที่สำคัญอยู่ 3 ประการ ก็คือ การแบ่งปัน การสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วม สำหรับการแบ่งปันนั้นเป็นเรื่องสามัญที่เกิดขึ้นไม่ยากเย็นนักในห้องสมุด แต่การจะกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการเกิดการสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมนั้นถือว่าเป็นงานหินเลยทีเดียว
Roskilde เป็นเมืองแห่งบทเพลงและเสียงดนตรี มีผู้คนที่หลากหลายที่ชื่นชอบแนวดนตรีแตกต่างกัน ทั้งร็อค เมทัล แร็พ โฟล์ค ฯลฯ ห้องสมุดจึงได้จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นเพื่อให้เมืองนี้เป็นเมืองที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับศิลปินและวงดนตรี โดยทำหน้าที่เป็นกาวใจเชื่อมผู้คนหลากหลายกลุ่มให้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น การบอกเล่าประสบการณ์การก่อตั้งวงดนตรี การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมอุปกรณ์และการจัดแสดง ฯลฯ จนท้ายที่สุดชาวเมืองได้รวมตัวกันจัดนิทรรศการดนตรียุคเทปคาสเซ็ทและการบันทึกเสียงด้วยแถบแม่เหล็ก ในชื่อ “Magnetic Groove Memories” ขึ้นมา ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ห้องสมุดไม่ใช่แค่พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการมีปฏิสัมพันธ์กันเองเท่านั้น แต่งานมวลชนสัมพันธ์เป็นบทบาทที่จำเป็นสำหรับห้องสมุดในอนาคตด้วย
BiblioTech – ห้องสมุดไร้หนังสือ
ห้องสมุดสาธารณะดิจิทัลที่ไม่มีหนังสือแห่งแรกของสหรัฐอเมริกาเปิดให้บริการเมื่อปี 2013 ที่รัฐเท็กซัส เมื่อแรกเริ่มนั้น BiblioTech ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนที่ครัวเรือนเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ และยังขาดแคลนเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุม ห้องสมุดแห่งนี้จึงเล็งเห็นความจำเป็นของห้องสมุดดิจิทัล เพื่อให้ผู้ที่ขาดโอกาสสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม และทลายอุปสรรคด้านการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งปัจจุบันได้ขยายนิยามครอบคลุมถึงทักษะดิจิทัลด้วย
Photo : website munozandcompany
BiblioTech ให้บริการอีบุ๊คกว่า 25,000 รายการ หนังสือเสียง 400 รายการ รวมทั้งภาพยนตร์ ดนตรี รายการโทรทัศน์ นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ ฐานข้อมูล และซอฟต์แวร์การศึกษา มีอุปกรณ์อ่านอีบุ๊ค 600 เครื่อง อุปกรณ์อ่านอีบุ๊คสำหรับเด็ก 200 เครื่อง ไอแพด 40 เครื่อง และคอมพิวเตอร์กว่า 50 เครื่อง
นอกเหนือไปจากการจัดหาอุปกรณ์ไฮเทค สิ่งที่ห้องสมุดสำหรับอนาคตจำเป็นต้องตระหนักคือการสร้างพื้นที่ที่มีฟังก์ชั่นทางสังคมให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน พื้นที่ 4,000 ตารางฟุตของ BiblioTech สามารถจัดอบรม ประชุม ติวหนังสือ ทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก มีห้องสำหรับการทำโครงงานเป็นกลุ่ม และห้องพักผ่อน คล้ายกับแนวคิด Third Place ที่เริ่มมีอิทธิพลต่อการออกแบบพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางธุรกิจมากขึ้น
Photo : website munozandcompany
เมื่อห้องสมุดไม่มีหนังสือ บทบาทของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจึงไม่ใช่บรรณารักษ์ที่ต้องง่วนอยู่กับการจัดชั้นหนังสือ หากแต่มีหน้าที่หลักในการทุ่มเทเวลาแนะนำการใช้งานห้องสมุดให้แก่ผู้ใช้บริการแบบตัวต่อตัว ได้แก่ วิธีการใช้อุปกรณ์ วิธีการค้นคว้าข้อมูล วิธีการดาวน์โหลดทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์
พื้นที่ห้องสมุดได้รับการออกแบบเป็นพิเศษให้ดูสะอาดตาและมีสีสันสดใส คำนึงถึงด้านสุนทรียภาพ สร้างบรรยากาศที่เชิญชวนให้ผู้ใช้บริการใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นานๆ และที่สำคัญคือจะต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
Photo : website munozandcompany
การโยนหินถามทางของห้องสมุดไร้หนังสือแห่งแรกได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ใช้บริการ และประเมินกันว่าทำให้อัตราการมีงานทำของคนในชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากห้องสมุดช่วยให้คนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นโอกาสให้ยกระดับความสามารถของตนเอง ในปี 2014 BiblioTech ขยายสาขาเพิ่มอีก 1 แห่ง ซึ่งเป็นห้องสมุดดิจิทัลที่ไม่มีหนังสือเช่นเดียวกัน
แหล่งที่มาเนื้อหาและภาพ
บทความและสไลด์ประกอบการประชุม IFLA 2014 เรื่อง tear down the wall between physical and digital: ZLB Topic Room
บทความและสไลด์ประกอบการประชุม IFLA 2014 เรื่อง Overcoming barriers to change and growth
บทความและสไลด์ประกอบการประชุม IFLA 2014 เรื่อง Making without a maker space: the people’s La in Roskilde, Denmark
บทความและสไลด์ประกอบการประชุม IFLA 2014 เรื่อง Bexar County BiblioTech -Bringing the library to the publicLaura
บทความ The first bookless library: BiblioTech offers only e-books จากเว็บไซต์ money.cnn.com
บทความ The Nation’s First Fully Digital Public Library: How a Texas County Made it Happen จากเว็บไซต์ publiclibrariesonline.org