Photograph: ALA Architects
“บัตรห้องสมุดคือสมบัติชิ้นแรกที่ฉันได้เป็นเจ้าของ” เป็นคำกล่าวของนาสิมา ราซมียะ (Nasima Razmya) บุตรสาวของผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันซึ่งอพยพมาอยู่ที่ฟินแลนด์เมื่อปี 1992 ตอนนั้นเธอไม่สามารถใช้ภาษาในการสื่อสารและมีฐานะอัตคัดขัดสน แต่แล้วบัตรห้องสมุดเพียงใบเดียวทำให้เธอพบกับหนังสือและความรู้ ซึ่งช่วยปลดปล่อยเธอให้เป็นอิสระจากอุปสรรคทั้งปวง “จนถึงวันนี้ฉันก็ยังพกบัตรห้องสมุดไว้ในกระเป๋าสตางค์” เธอกล่าวอย่างภูมิใจ
ปัจจุบันราซมียะเป็นรองนายกเทศมนตรีเมืองเฮลซิงกิ และพร้อมจะให้การสนับสนุนองค์กรซึ่งครั้งหนึ่งเคยช่วยเหลือเธอ โดยมีส่วนร่วมในการริเริ่มจัดตั้งห้องสมุดโอดิ (The Helsinki Central Library Oodi) ที่กำลังจะเปิดตัวในเดือนธันวาคม 2018 ฟินแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศนักอ่าน เมื่อปี 2016 สหประชาชาติระบุว่าฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดในโลก และเป็นชาติที่มีอัตราการใช้บริการห้องสมุดประชาชนมากที่สุดในโลก คือประชากร 5.5 ล้านคนยืมหนังสือเกือบ 68 ล้านเล่มต่อปี
การออกแบบภายนอกอาคาร พื้นที่เล่นสำหรับเด็ก และสตูดิโอบันทึกสื่อโสตทัศน์ ของห้องสมุดโอดิ (The Helsinki Central Library Oodi) / Photograph: ALA Architects
ช่วงเวลาที่ห้องสมุดทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาถูกตัดงบประมาณ มีผู้ใช้บริการลดลง จนห้องสมุดจำนวนมากต้องปิดตัว สถานการณ์ของฟินแลนด์กลับสวนกระแสโดยสิ้นเชิง ตัวเลขในปี 2016 แสดงให้เห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของสหราชอาณาจักรอุดหนุนงบประมาณด้านห้องสมุดเพียง 14.40 ปอนด์ต่อหัว ในขณะที่ฟินแลนด์ให้งบประมาณสูงถึง 50.50 ปอนด์ต่อหัว ตั้งแต่ปี 2010 ห้องสมุดกว่า 478 แห่งทั่วอังกฤษ เวลส์ และสก็อตแลนด์ ปิดตัวลง แต่เฮลซิงกิทุ่มงบประมาณ 98 ล้านยูโรเพื่อสร้างห้องสมุดใหม่ขนาดมหึมา เพราะคนฟินแลนด์หลงใหลการเข้าห้องสมุดเป็นชีวิตจิตใจ
ห้องสมุดแห่งแรกของกลุ่มประเทศนอร์ดิกเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1882 ภาพนี้เป็นบรรยากาศห้องอ่านหนังสือซึ่งถ่ายไว้เมื่อปี 1924 / Photograph: Eric Sundström © Helsinki City Museum
มันเป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์ว่าทำไมห้องสมุดจึงมีผู้เข้ามาใช้บริการอย่างล้นหลาม ประชากร 84% ของฟินแลนด์อาศัยอยู่ในเขตชนบทท่ามกลางสภาพอากาศที่โหดร้าย ห้องสมุดมิใช่เพียงสถานที่เรียนรู้ อ่าน หรือยืมหนังสือธรรมดาๆ แต่เป็นสถานที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในสังคม แอนทิ นูสโจกิ (Antti Nousjoki) สถาปนิกผู้ออกแบบห้องสมุดโอดิกล่าวถึงห้องสมุดแห่งใหม่ว่าเป็น “จตุรัสเมืองในร่ม” (indoor town square) ห้องสมุดก้าวไปไกลกว่าภาพลักษณ์เดิมๆ ที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่เงียบและน่าเบื่อหน่าย “โอดิได้รับการออกแบบเพื่อให้ประชาชนและผู้เยี่ยมชมมีพื้นที่อิสระสำหรับทำกิจกรรมที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่แค่เพียงผู้บริโภคที่เฉื่อยชา”
ห้องสมุดโลจา (Lohja main library) ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2005 / Photograph: Jussi Tiainen/Lahdelma & Mahlamäki Architects.JPG
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอัลโต (Aalto University library) ในเมืองเอสโป (Espoo) / Photograph: Tuomas Uusheimo
ห้องสมุดวาลิลา (Vallila library) เมืองเฮลซิงกิ / Photograph: Simo Rista/Vilhelm Helander, Juha Leiviskä Architects
โอดิ (Oodi หรือภาษาอังกฤษว่า Ode หมายถึงบทกวีสรรเสริญ) เป็นมากกว่าอนุสาวรีย์งามสง่าที่สร้างความภาคภูมิใจให้ผู้คน ห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองศตวรรษแห่งอิสรภาพของฟินแลนด์ มันจึงมิได้ถูกสร้างให้เป็นโกดังเก็บหนังสือ “ฉันคิดว่าไม่มีของขวัญใดที่จะดีต่อประชาชนมากไปกว่าห้องสมุด มันเป็นสัญลักษณ์สำคัญถึงการเรียนรู้และการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการพัฒนาฟินแลนด์ให้ประสบความสำเร็จ” ราซมียะกล่าว
สถาปนิกชาวฟินแลนด์ออกแบบห้องสมุดวีปูรี (Viipuri Library) ไว้เมื่อปี 1927 แต่เมื่อเขตแดนเปลี่ยนไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ปัจจุบันห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ในประเทศรัสเซีย / Photograph: Photo Gustav Weilin (c) Alvar Aalto Museum
สังคมฟินแลนด์มองว่าห้องสมุดคือรูปธรรมที่ชัดเจนของการศึกษา ความเท่าเทียม และการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ “มีความเชื่ออย่างแรงกล้าในเรื่องการศึกษาเพื่อคนทุกคน ห้องสมุดช่วยเติมเต็มเรื่องความสำนึกในการเป็นพลเมืองตื่นรู้ (active citizenship) ซึ่งทุกคนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ” ฮันนา แฮริส (Hanna Haris) ผู้อำนวยการอาร์คอินโฟฟินแลนด์ (Archinfo Finland) กล่าว
ห้องสมุดแห่งใหม่ของเมืองตั้งอยู่ตรงข้ามรัฐสภาเพื่อสะท้อนคุณค่าเรื่องความเท่าเทียมกัน “ฉันคิดว่าไม่มีสิ่งใดเหมาะที่จะยืนอยู่ด่านหน้าของสนามประชาธิปไตยเฉกเช่นห้องสมุดประชาชน เมื่อผู้คนยืนอยู่บนระเบียงของห้องสมุด เขาจะสามารถมองเห็นรัฐสภาอยู่ในระดับเดียวกับพวกเขา” ราซมียะกล่าว
ห้องสมุดโอดิไม่ใช่ห้องสมุดแห่งเดียวในเฮลซิงกิที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คน แฮริสกล่าวว่า “ห้องสมุดโตเลอ (Töölö library) เป็นอีกหนึ่งห้องสมุดที่ฉันชื่นชอบ มันตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ มีระเบียงที่ดาดฟ้า ครั้งหนึ่งฉันกับเพื่อนไปที่นั่นแล้วพบว่ามีคนยืนเข้าคิวรอเข้าไปใช้บริการอยู่ข้างนอกประตู โดยปกติแล้วในเช้าวันธรรมดาผู้คนจะมาเข้าคิวกันตั้งแต่ 9 นาฬิกา”
เมานูลาเฮาส์ (Maunula House) ซึ่งประกอบด้วยห้องสมุดท้องถิ่น ศูนย์การศึกษาผู้ใหญ่ และประตูที่เชื่อมไปยังห้างสรรพสินค้า / Photograph: Mika Huisman/K2S Architects
ร่องรอยที่พอจะบอกได้ว่าเหตุใดชาวฟินแลนด์จึงหลงใหลห้องสมุดอาจมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ห้องสมุดให้บริการมากไปกว่าเรื่องของหนังสือ ในขณะที่ห้องสมุดทั่วโลกให้บริการพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือและเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ห้องสมุดน้อยใหญ่ในฟินแลนด์ขยายขอบข่ายการให้บริการครอบคลุมการยืมสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์กีฬา เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งของที่ใช้ในโอกาสอื่นๆ เช่นห้องสมุดเมืองวันตา (Vantaa City Library) มีคาราโอเกะไว้ให้บริการ
ห้องสมุดไม่ได้ถูกออกแบบไว้เพื่อเป็นวิหารแห่งการรู้หนังสือ แต่เป็นพื้นที่มีสีสัน เหมาะสำหรับครุ่นคิด และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใช้บริการและชุมชนเมือง ห้องสมุดในเมานูลาเฮาส์ (Maunula House) ชานเมืองทางตอนเหนือของเฮลซิงกิ มีทางเดินเชื่อมไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต ในอาคารเดียวกันยังมีศูนย์การศึกษาผู้ใหญ่และหน่วยให้บริการแก่เยาวชน ส่วนห้องสมุดโอดินอกจากให้บริการด้านห้องสมุดเป็นหลักแล้ว ยังมีคาเฟ่ ร้านอาหาร ระเบียงสำหรับการพบปะ สตูดิโอบันทึกสื่อโสตทัศน์ และเมกเกอร์สเปซซึ่งมีเครื่องพิมพ์สามมิติ
ห้องสมุดโตเลอ (Töölö library) สถานที่โปรดปรานของชุมชน ภาพเมื่อปี 1970 / Photograph: Teuvo Kanerva/Museum of Finnish Architecture
ห้องสมุดเทมเปอร์ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1986 รูปทรงอาคารได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบเคลติก (Celtic) รูปทรงของเขาสัตว์และธารน้ำแข็ง / Photograph: Photo Simo Rista © Museum of Finnish Architecture
ราซมียะให้ความเห็นว่า “ห้องสมุดจำเป็นต้องมุ่งตอบสนองคนรุ่นใหม่ โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนต้องการพื้นที่สำหรับการพบปะ ทำงาน และพัฒนาทักษะดิจิทัล”
ยิ่งไปกว่านั้น ห้องสมุดยังเป็นอาคารหลักของชุมชนที่ออกแบบเพื่อจุดประกายความรู้สึกเป็นเจ้าของ “เราต้องการให้ผู้คนใช้พื้นที่และเริ่มเปลี่ยนแปลงมัน” นูสโจกิกล่าว “วัตถุประสงค์ของเราคือทำให้โอดิมีเสน่ห์ดึงดูดให้ทุกคนอยากเข้ามาใช้บริการ และมีบทบาทในการทำนุบำรุงรักษาสถานที่ด้วย”
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจคือชุมชนต่างเห็นพ้องในการสร้างห้องสมุดแม้ว่าเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงก็ตาม “ผู้คนตั้งตาคอยโอดิ ไม่มีใครออกมาโต้แย้งคัดค้าน ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ใช้บริการ และในอนาคตมันจะกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนในเฮลซิงกิ” แฮริสกล่าว
Welcome inside the Central Library! from Kirjastokaista on Vimeo.
ที่มาเนื้อหาและภาพ แปลจากบทความในเว็บไซต์ theguardian.com เรื่อง The borrowers: why Finland's cities are havens for library lovers เขียนโดย Tash Reith-Banks 15 May 2018