ห้องสมุด Dokk1 เป็นห้องสมุดหลักแห่งใหม่ของเมืองอาร์ฮุส เปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2015 และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ห้องสมุดก็ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในแง่จำนวนผู้ใช้บริการและเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ เมืองอาร์ฮุสมีประชากรเพียง 3.3 แสนคน แต่ Dokk1 สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการได้ถึง 1.3 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่ติดแฮชแท็ก #dokk1 ก็มีอย่างล้นหลาม ยิ่งไปกว่านั้น นับถึงปัจจุบัน ผู้ใช้บริการได้โพสต์ภาพห้องสมุดบนอินสตาแกรมกว่า 20,000 ภาพ เสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมจากประชาชน นักท่องเที่ยว นักวิจารณ์จากนานาประเทศ และผู้คนในแวดวงห้องสมุด ที่มีต่อห้องสมุดแห่งใหม่นี้ ควรนำมาวิเคราะห์และอธิบายถึงสาเหตุหรือปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในบทความชิ้นนี้ ข้าพเจ้าจะพยายามอภิปรายให้กระจ่างถึงองค์ประกอบบางประการที่เชื่อว่าเป็นที่มาของความสำเร็จนั้น
การมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการ
ไม่เป็นที่กังขาเลยว่าหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จดังกล่าวมากที่สุดคือการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการ ก่อนที่สภาเมือง (City Council) จะตัดสินใจสร้างห้องสมุดหลักแห่งใหม่ในเมืองอาร์ฮุสในปี 2003 มีความพยายามทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ สองปีก่อนหน้านั้นผู้บริหารห้องสมุดได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการวิสัยทัศน์” เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ให้กับห้องสมุดแห่งใหม่ ประกอบด้วยบุคคลที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้านสถาปัตยกรรม ห้องสมุด เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลวัตด้านวัฒนธรรม โดยทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาให้กับผู้อำนวยการห้องสมุด (ตัวข้าพเจ้าเอง) และเป็นแกนนำในการพัฒนาเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ฉบับแรกสำหรับห้องสมุดแห่งใหม่
นอกจากนั้น พวกเราได้ใช้กลยุทธ์หลายประการในการดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ใช้บริการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแนวคิดและแผนการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมด้านต่างๆ อาทิ การกำหนดค่านิยมซึ่งสะท้อนลักษณะห้องสมุด การผสมผสานทรัพยากรที่มีอยู่เดิมกับการให้บริการและพื้นที่เชิงกายภาพใหม่ ไปจนถึงการตั้งชื่อและการสร้างเอกลักษณ์ให้กับอาคาร
วัฒนธรรมเมกเกอร์ (maker culture)
ไม่กี่ปีมานี้คำศัพท์ making และ hacking มีความหมายที่กว้างกว่าเดิม แนวโน้มดังกล่าวให้คุณค่ากับอิสรภาพ การใช้ซ้ำทรัพยากร การแบ่งปันเครื่องมือและองค์ความรู้ และที่สำคัญที่สุดคือท่าทีอันเอื้อเฟื้อต่อกันในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ความเคลื่อนไหวนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อห้องสมุดประชาชนในหลายประเทศ สำหรับประเทศเดนมาร์กมีการผนวกเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ในยุทธศาสตร์เดนมาร์กว่าด้วยเรื่องห้องสมุดประชาชน (Danish strategy for public libraries) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงวัฒนธรรม เป็นองค์ประกอบในพื้นที่ส่วนหนึ่งของแบบจำลองจัตวากาศ (Four Spaces Model)
แบบจำลองจัตวากาศประกอบด้วยพื้นที่ 4 ประเภทได้แก่ พื้นที่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration space) พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ (learning space) พื้นที่เพื่อการพบปะสังสรรค์ (meeting space) และพื้นที่เพื่อการแสดงออก (performance space) ในยุคที่การเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นในรูปแบบดิจิทัลและระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมิได้เป็นเพียงผู้บริโภคสินค้าวัฒนธรรมแต่ยังเป็นผู้ผลิตเนื้อหาและผู้รังสรรค์วัฒนธรรม ผ่านการส่งเสริมและการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น แฮกเกอร์สเปซและงานเมกเกอร์แฟร์ ซึ่งจัดโดยความร่วมมือของหุ้นส่วนที่มากความสามารถและองค์กรพัฒนาเอกชน ส่วนห้องสมุดมีบทบาทสำคัญในฐานะปัจจัยเร่งการพัฒนาโครงการ การแลกเปลี่ยนความคิด และการสร้างเครือข่ายในภาคประชาสังคม
สตาร์ทอัพ
กรอบความคิดที่เชื่อมโยงกับ making และ hacking นี้ ได้นำพวกเราไปสู่การทำงานอย่างหนักกับชุมชนสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างระบบนิเวศฐานรากให้กับเมือง พวกเราจัดงานอีเวนต์ที่สตาร์ทอัพมีโอกาสปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ รวมทั้งจะได้พบปะ business angels ซึ่งช่วยเป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุนพวกเขา ด้วยแนวทางดังกล่าวนี้ ผู้มีศักยภาพในการลงทุนจะได้เสวนากับบุคคลที่กำลังเริ่มต้นสร้างธุรกิจและอยู่ในระยะที่มีแนวโน้มเติบโต (growth layer) และได้พบปะกับบริษัท ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ
กิจกรรมดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการขยายเครือข่าย และการสร้างจิตสำนึกด้านการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าขององค์กรให้กับหมู่พลเมืองแห่งอาร์ฮุส รวมทั้งเป็นปัจจัยในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทางการเมืองท้องถิ่น การวางแผนเชิงกายภาพ และการพัฒนาบริการสาธารณะ ในประเทศเดนมาร์กและอีกหลายประเทศ
บทบาทของห้องสมุดมีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการพัฒนาดังกล่าว ในฐานะพื้นที่เชิงกายภาพในอุดมคติ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ถือว่าห้องสมุดเป็นสถาบันที่ไม่มุ่งผลเชิงพาณิชย์และเป็นกลาง เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับภาคประชาสังคม รวมทั้งให้ความสำคัญกับค่านิยมการแบ่งปัน การสานเสวนาที่เป็นประชาธิปไตย เสรีภาพในการพูดและการคิด และสิทธิเสมอภาคสำหรับทุกผู้ทุกนาม ดังนั้นห้องสมุดประชาชนในบางประเทศจึงกำลังเริ่มต้นบทบาทในฐานะตัวกลางและช่องทางสำหรับกระบวนการมีส่วนร่วมและส่งเสริมการร่วมตัดสินใจ โดยมีประชาชนเป็นผู้ร่วมรังสรรค์และสร้างนวัตกรรม
การเป็นหุ้นส่วน
ห้องสมุดประชาชนแห่งเมืองอาร์ฮุสมีพื้นฐานมาจากแนวความคิดการเป็นศาลาประชาคม ห้องสมุดให้บริการอาคารและพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม โดยกิจกรรมเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดยห้องสมุดเท่านั้น แต่สามารถดำเนินการโดยหน่วยงานบริการประชาชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ในเชิงหลักการแล้ว ศาลาประชาคมประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ได้แก่ ภาคประชาสังคม ห้องสมุด และหน่วยบริการประชาชน
ห้องสมุดได้ประโยชน์มหาศาลจากการผสานพลังที่เกิดขึ้น ในกระบวนการวิวัฒน์ห้องสมุดไปสู่สถาบันที่มีความสำคัญในสังคมที่เชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัล การสร้างหุ้นส่วนมีบทบาทหลักในการบูรณาการทรัพยากรและทักษะใหม่ๆ พวกเราไม่เพียงได้รับองค์ความรู้และแรงบันดาลใจ แต่เพิ่มความหลากหลายและคุณภาพให้กับการบริการและเครือข่าย หลักคิดของพวกเราคือการเสริมสมรรถนะด้านการสื่อสารสาธารณะและการตลาด หุ้นส่วนของพวกเราอาจกลายเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของห้องสมุด หากพวกเราดำเนินการเพื่อสร้างการเป็นหุ้นส่วนอย่างเหมาะสม
สิ่งที่ต้องเน้นให้ชัดคือการดำเนินการต่างๆ ต้องปราศจากผลประโยชน์ในรูปเม็ดเงิน หุ้นส่วนทั้งหลายรับหน้าที่ป้อนเนื้อหาและผู้ดำเนินการให้โครงการหรืองานอีเวนต์ ส่วนห้องสมุดรับผิดชอบด้านพื้นที่ การนำชม และให้บริการ ปัจจุบันเรามีหุ้นส่วนกว่า 130 ราย และมีโครงการซึ่งหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 60 (ราว 140 โครงการต่อเดือน) ปริมาณงานอีเวนต์และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ Dokk1 และบรรดาห้องสมุดสาขาในเมืองอาร์ฮุสมีมากกว่า 2,000 ครั้งต่อปี
พวกเราได้พัฒนาโมเดลสามระดับสำหรับการสร้างหุ้นส่วน โมเดลระดับที่หนึ่งคือระดับกลยุทธ์ โมเดลระดับที่สองคือการสร้างหุ้นส่วนการบริการ ส่วนโมเดลในระดับที่สาม โดยมากเป็นข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการว่าด้วยเรื่องกิจกรรมสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่ามีการใช้ห้องสมุดเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกิจกรรมซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหุ้นส่วน และหุ้นส่วนได้รับประโยชน์ตอบกลับในรูปการเข้าถึงสาธารณชนผ่านโครงการและสิ่งอำนวยความสะดวกของพวกเรา ดังนั้น การเป็นหุ้นส่วนจึงเป็นโอกาสสำหรับสร้างสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต่างก็ได้รับประโยชน์ (win-win situation)
การทดลองและโครงการพัฒนา
พวกเราได้พัฒนากลยุทธ์การสร้างนวัตกรรมจากระเบียบวิธีวิทยาที่เรียกว่า ห่วงโซ่การสร้างนวัตกรรมเจ็ดประการ (Seven Circles of Innovation) และสมมติฐานเบื้องต้นบางอย่าง กล่าวคือ ความต้องการของประชาชนควรเป็นจุดมุ่งเน้นสำคัญเสมอ การสร้างหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างองค์กรเป็นสิ่งจำเป็น แนวคิดควรได้รับการทดสอบและสร้างแบบจำลอง การทำซ้ำเป็นสิ่งที่ชาญฉลาด ภาวะความเป็นผู้นำเป็นสิ่งจำเป็น กลยุทธ์ดังกล่าวถูกแปลงเป็นวิถีการปฏิบัติงาน โดยการออกประกาศเชิญชวนให้บุคลากรนำเสนอบริการใหม่ๆ ในฤดูใบไม้ผลิของทุกปี บุคลากรที่มีแนวคิดและข้อเสนอแนะจะเขียนข้อเสนอโครงการโดยย่อให้แก่คณะผู้บริหารห้องสมุด บุคลากรซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่โดดเด่นจะได้รับคำเชิญให้นำเสนอแนวคิดของตนต่อผู้บริหาร หากโครงการได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการต่อ เจ้าของโครงการจะได้รับการยกเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่อื่นเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งตามแต่กำหนดเพื่อพัฒนาแนวคิดหรือดำเนินโครงการต่อไป นอกจากนี้ ผู้บริหารยังจัดสรรเงินก้อนหนึ่ง (เทียบเท่ากับราว 65,000 ยูโรในปัจจุบัน) เป็นเงินก้นถุงสำหรับโครงการ ยิ่งไปกว่านั้น ห้องสมุดยังใช้ความเชี่ยวชาญเพื่อช่วยระดมเงินทุนจากภายนอก วิธีการนี้ทำให้ห้องสมุดสามารถระดมเงินทุนได้ราวห้าแสนถึงหนึ่งล้านยูโรต่อปี สำหรับใช้ในการพัฒนาบริการที่เกี่ยวเนื่องกับหุ้นส่วน
ห้องสมุดในเมืองอาร์ฮุสได้ดำเนินการและนำเสนอโครงการพัฒนาหลายร้อยโครงการในหลายปีที่ผ่านมา อาทิ หลักสูตร ‘การเรียนรู้ดิจิทัลเบื้องต้น’ (Digital ABC) ซึ่งบุคลากรห้องสมุดพัฒนาร่วมกับคณาจารย์จากโรงเรียนมัธยมในท้องถิ่น เป้าหมายของหลักสูตรนี้คือเพื่อสอนคนหนุ่มสาวให้สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลสาธารณะสำคัญ ตอนนี้หลักสูตรดังกล่าวถูกนำไปใช้สอนทั่วประเทศเดนมาร์ก ตัวอย่างที่สองคือชั้นอินเตอร์แอคทีฟ (interactive floor) ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นแนวคิดโครงการ แต่ในที่สุดได้ถูกพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปขายให้กับหน่วยงานอื่น อีกหนึ่งตัวอย่างคือโครงการโอเพนซอร์สชื่อว่า ‘TING’ ซึ่งเริ่มต้นจากจุดประสงค์ที่ต้องการพัฒนาโปรแกรม open API (Application Program Interface) มาใช้กับระบบห้องสมุด แต่สุดท้ายได้พัฒนาจนเป็นระบบหลักของห้องสมุดดิจิทัลแห่งประเทศเดนมาร์ก (Danish Digital Library) ทำให้ห้องสมุดของเทศบาลทั่วประเทศทำงานประสานกันได้ เป็นต้น
บุคลากรห้องสมุดจำนวนมากได้มีส่วนร่วมในหนึ่งหรือหลายโครงการ พวกเขาไม่เพียงได้เรียนรู้เนื้อหาของกิจกรรมเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานข้ามขอบเขตจำกัด การทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและผู้ประกอบการภายนอกห้องสมุด การทำให้เป้าหมายโครงการประสบความสำเร็จ การสื่อสารกับหน่วยงานภายนอกองค์กร และการแสวงหาองค์ความรู้ในมิติอื่นๆ ที่ทรงคุณค่า ในที่สุดกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดการสร้างชุมชนแห่งการปฏิบัติ (communities of practice) ภายในสถานที่ทำงาน รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลงและการสร้างนวัตกรรมทั่วทั้งองค์กร ซึ่งทั้งสองปรากฏการณ์ได้อุบัติขึ้นแล้วในเมืองอาร์ฮุส
พื้นที่ในฐานะบริการ
หากพิจารณาว่ามนุษย์เป็นปัจจัยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ห้องสมุดยุคใหม่จะต้องมุ่งให้อาคารเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกิจกรรมของมนุษย์ โดยเป็นพื้นที่ซึ่งไม่อัดแน่นด้วยชั้นวางหนังสืออีกต่อไป ควรมีสิ่งที่เรียกว่า ‘โอเอซิส’ ระหว่างชั้นวางหนังสือ คือพื้นที่เล็กๆ ประกอบด้วยเก้าอี้มีพนักวางแขนคุณภาพดีสองสามตัวกับโต๊ะขนาดเล็กอีกหนึ่งตัว ควรมีเวทีและฉากในพื้นที่แบบเปิดสำหรับการจัดการแสดง ควรเพิ่มพื้นที่แบบเปิดและลดพื้นที่แบบปิดและพื้นที่แบบกึ่งปิด ควรมีห้องประชุมและห้องเรียนจำนวนมาก และควรมีคอกสำหรับอ่านหนังสือซึ่งผู้ใช้บริการสามารถสำรองที่นั่งด้วยตนเองทางเว็บไซต์
องค์ประกอบสำคัญที่มักถูกมองข้ามสำหรับการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้บริการได้รับความสบายคือเรื่องเสียง ความเงียบสงัดในห้องสมุดแบบดั้งเดิมอาจสร้างบรรยากาศที่สงบ แต่ก็อาจสร้างความรู้สึกหม่นหมองและเข้มงวด รวมทั้งกระตุ้นการตรวจตราซึ่งกันและกันหากเกิดสิ่งรบกวนแม้เพียงเล็กน้อยที่สุด กลยุทธ์ที่ดีกว่าการกำหนดนโยบายงดใช้เสียงในทุกพื้นที่ คือการจำกัดการใช้เสียงเฉพาะภายในพื้นที่แบบปิดและพื้นที่เก็บเสียง
มิติด้านความเป็นมนุษย์
พวกเราเลือกพัฒนารูปแบบ โครงสร้าง และรายละเอียดของ Dokk1 จากหลักการที่ถือปฏิบัติมาต่อเนื่อง กล่าวคือ มนุษย์เป็นปัจจัยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนสื่อ กิจกรรม และพื้นที่ เป็นตัวแปร รูปลักษณ์ของอาคารซึ่งแสดงอัตลักษณ์ของห้องสมุดควรได้รับการพัฒนาเพื่อให้ดำรงอยู่ได้เป็นเวลา 100 ปีหรือยาวนานกว่านั้น ลักษณะและโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้จึงควรปรับตามความต้องการของมนุษย์ในด้านต่างๆ ได้แก่ ความใกล้ชิด การสร้างเครือข่าย ประสบการณ์ การเรียนรู้ การใคร่ครวญ ความสงบของจิตใจ ผัสสะ และการสื่อสาร ความต้องการเหล่านี้ก่อตัวผ่านกลไกทางสังคมและพันธุกรรม โดยไม่ผันแปรแม้เมื่อเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ
การตกแต่งพื้นที่ภายในของ Dokk1 จึงสอดคล้องกับทั้งความต้องการพื้นฐานของมนุษย์และยุคดิจิทัลของโลกภายนอก ด้วยการพิจารณาอาคารห้องสมุดในเชิงกายภาพว่าเป็นกลุ่มพื้นที่อเนกประสงค์ที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งให้บริการกับชุมชนท้องถิ่นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประสบการณ์เชิงวัฒนธรรม การสร้างความร่วมมือและชุมชน แทนที่จะเป็นสถานที่สำหรับจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลซึ่งมีรูปแบบจำกัด (เช่น หนังสือ บทความ นิตยสาร ซีดี เป็นต้น) สิ่งที่ปรากฏชัดคือแนวคิดที่ยึดมิติความเป็นมนุษย์เป็นรากฐานในการจัดสรรพื้นที่และบริหารจัดการ เป็นหลักการนำทางที่มีคุณค่าเหลือคณานับ
ที่มาเนื้อหา : สรุปและและเรียบเรียงจาก Setting new standards for public libraries – Dokk1 in Aarhus, Denmark บทความประกอบการบรรยายในงานประชุมวิชาการ TK Forum 2018 เขียนโดย รอล์ฟ เฮเพล ผู้อำนวยการงานบริการประชาชนและห้องสมุดและแห่งเมืองอาร์ฮุส
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย โดย Rolf Hapel ที่นี่
ที่มาภาพ :
https://www.flickr.com/photos/aakb
https://www.jamesburleigh.co.uk/contemporary-furniture-projects
https://www.archdaily.cn/cn/769106/ao-hu-si-dokk1tu-shu-guan-schmidt-hammer-lassen-architects