องค์การสหประชาชาติประเมินสถานการณ์ว่าปี 2001 – 2100 (พ.ศ. 2544 - 2643) จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ หมายถึงการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าประชากรผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีฐานะยากจน สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี กว่า 10 ล้านคนจากประชากร 65 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.4 สำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 สัดส่วนของประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.1
ผลการสำรวจการอ่านของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือน้อยที่สุด ในขณะที่การสํารวจสุขภาพจิตกับการอ่านหนังสือของประชากรสูงอายุ 2554 พบว่า พฤติกรรมการอ่านหนังสือมีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ กล่าวคือผู้สูงอายุที่อ่านเนื้อหาประเภทความรู้วิชาการจะมีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าการอ่านเนื้อหาประเภทอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะความรู้วิชาการส่งผลต่อการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การสื่อสาร การเพิ่มพูนความรู้ การตัดสินใจที่ถูกต้อง การทราบข้อมูลที่แท้จริงเพื่อใช้ในการวางแผนชีวิต เช่นเดียวกับผลการทดลองของสหรัฐอเมริกาที่ยืนยันว่า การอ่านหนังสือพิมพ์ การเขียนจดหมาย การเข้าห้องสมุด การเล่นเกม เช่น หมากกระดาน หรือบอร์ดเกม เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ช่วยสร้างใยประสาทซึ่งส่งผลดีต่อสมองของผู้สูงวัย
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มีเวลาว่าง และจำนวนมากยังคงเป็นผู้ที่สนใจในการแสวงหาความรู้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่ต้องการการพึ่งพาที่สูงขึ้นเนื่องจากอาจมีภาวะการเจ็บป่วยและทุพพลภาพ จุดยืนของห้องสมุดท่ามกลางคลื่นมหาชนผู้สูงวัยก็คือ การปรับตัวให้เป็นองค์กรเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนหลักการของการเข้าถึงและเท่าเทียม กรณีที่โดดเด่นมากคือออสเตรเลียซึ่งมีนโยบายที่ชัดเจนและห้องสมุดระดับท้องถิ่นต่างก็ดำเนินการสอดรับกันอย่างถ้วนหน้า นอกจากนี้ก็ยังมีอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ที่ต่างก็กำลังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
ตัวอย่างคุณลักษณะและการให้บริการห้องสมุดเพื่อการรองรับความต้องการของผู้สูงอายุ ได้แก่
พื้นที่ห้องสมุด ควรตั้งอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมโดยรถสาธารณะได้สะดวกและอยู่ใกล้ที่จอดรถ มีความปลอดภัย ให้ความรู้สึกสบายเป็นธรรมชาติ ทุกบริเวณสามารถเข้าถึงได้โดยวีลแชร์ รวมทั้งควรออกแบบโต๊ะให้อยู่ในระดับเดียวกับวีลแชร์ด้วย มีลิฟท์ระหว่างชั้น และจำเป็นต้องมีห้องน้ำภายในห้องสมุด
กิจกรรม มีเนื้อหาหลากหลายในแต่ละช่วงของวัน เช่น ชมรมนักอ่าน กิจกรรมพูดคุยกับนักเขียน วงเสวนาเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กิจกรรมเย็บปักถักร้อย และงานฝีมือ เป็นต้น
บริการสารสนเทศ บรรณารักษ์จำเป็นต้องมีทักษะการสืบค้นด้วยอินเทอร์เน็ตอย่างคล่องแคล่ว เพื่อที่จะช่วยตอบคำถามผู้สูงอายุเกี่ยวกับงานอดิเรก การท่องเที่ยว ประวัติของเครือญาติ หรือสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเรื่องสุขภาพ นอกจากนี้ยังควรเตรียมคอมพิวเตอร์ไว้ให้บริการ และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำการใช้งานพื้นฐาน อาจจัดหลักสูตรเทคโนโลยีสำหรับเรียนรู้เป็นกลุ่ม เช่น การใช้เฟซบุ๊ก หรือการซื้อของออนไลน์
การบริการส่งหนังสือที่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมายังห้องสมุดได้ ห้องสมุดที่มีงบประมาณไม่มากอาจจับมือกับภาคีภาคเอกชนด้านขนส่ง หรือบางแห่งอาจจัดเก็บค่าบริการในราคาย่อมเยา
ทรัพยากรการอ่านสำหรับผู้มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่นหนังสือที่มีขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าปกติ (Large Book) หนังสือเสียง ห้องสมุดบางแห่งอาจมีเครื่องช่วยอ่านหนังสือ หรือจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครอ่านหนังสือหรือพูดคุยเรื่องเนื้อหาหนังสือให้แก่ผู้สูงอายุ
อาสาสมัครห้องสมุด คนในชุมชนสามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น ช่วยจัดหนังสือสำหรับส่งไปตามบ้าน ให้คำแนะนำผู้สูงอายุในการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ห้องภาพประวัติศาสตร์ ห้องสมุดสามารถสร้างความรู้สึกผูกพันกับผู้สูงอายุได้ง่ายๆ โดยการจัดทำห้องภาพประวัติศาสตร์ชุมชน หรือฐานข้อมูลภาพเก่า เพื่อให้ผู้สูงวัยได้รำลึกและบอกเล่าเรื่องราวความหลังที่ตนเคยมีประสบการณ์ร่วม ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำบันทึกอดีตจากคำบอกเล่า ซึ่งมีคุณค่าในแง่ประวัติศาสตร์ความทรงจำทางสังคม และเป็นแหล่งข้อมูลให้นักประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจได้เข้ามาสืบค้น ตรวจสอบ วิจัยและตีความ
แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุจะอยู่ในฐานะผู้รอรับบริการจากห้องสมุด แต่ก็มีอีกมโนทัศน์หนึ่งที่มองเห็นถึงศักยภาพและความกระตือรือร้นของ Active Older ที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับห้องสมุดในงานสาธารณประโยชน์ อาทิ โครงการ “Grandparents and Books” ของห้องสมุดประชาชนลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่เปิดรับอาสาสมัครเรียกว่า “Library Grandparents” ซึ่งจะได้รับการอบรมทักษะการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังในช่วงหลังเลิกเรียน หรือกรณีของออสเตรเลีย ได้ยกระดับคุณค่าของห้องสมุดโดยเพิ่มการบริการข้อมูลและจัดหางานจิตอาสาให้กับผู้สูงอายุ ผ่านความร่วมมือกับองค์กรอาสาสมัครระดับชาติและระดับท้องถิ่น เช่น Volunteer Australia ซึ่งช่วยอบรมและเพิ่มทักษะแกนนำอาสาสมัคร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเป็นหัวหน้าในการสานต่องานอาสาสมัครในชุมชน เป็นต้น
แหล่งข้อมูล
Active Engaged Valued Older People and NSW Public Libraries by Mylee Joseph
Aging Society จากเว็บไซต์ http://wisdom.unu.edu/en/
Reading, Writing and Playing Games May Help Aging Brains Stay Healthy จัดทำโดย Radiological Society of North America (RSNA) จากเว็บไซต์ http://www2.rsna.org/timssnet/media/pressreleases/pr_target.cfm?id=620
สำนักงานสถิติแห่งชาติ http://service.nso.go.th
ส่วนท้องถิ่นเมืองนอตติ้งแฮม http://www.nottinghamcity.gov.uk/
แหล่งภาพ
http://m.chinadaily.com.cn/en/2015-05/13/content_20707425.htm
http://www.sebagosolutions.com/sites/default/files/2017-07/shutterstock_428914999.jpg
https://thebristolcable.org/2017/03/invite-join-us-campaigners-occupy-cheltenham-road-library/