เราคงคุ้นชินกันดีกับภาพเด็กนักเรียน ม.ปลาย ตั้งหน้าตั้งตาเรียนกวดวิชาและท่องตำราอย่างเคร่งเครียด โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่การสอบเข้าคณะที่ชื่นชอบในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีจำนวนที่นั่งจำกัดไม่เพียงพอสำหรับคนทุกคน
กระทั่งเมื่อ 4-5 ปีก่อน การเรียนการสอนระบบเปิดสำหรับมหาชนหรือ MOOCs (Massive Open Online Courses) นวัตกรรมการศึกษารูปแบบใหม่ได้เกิดขึ้น พร้อมกับความหวังว่าจะช่วยทลายกำแพงความรู้ ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงวิชาความรู้ที่มีคุณภาพโดยไม่มีอุปสรรคไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย เวลา สถานที่ หรือศักยภาพในการรองรับผู้เรียนของสถาบันการศึกษา
ความแพร่หลายของ MOOC ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงโลกตะวันตก แต่วงการการศึกษาของหลายประเทศในเอเชียทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย ก็ไม่พลาดโอกาสที่จะเกาะกระแสการเรียนรู้นี้ โดยการสร้าง MOOC ระดับชาติเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งคาดหวังว่าช่วยแก้ไขข้อจำกัดของการเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาดังเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ตลาดวิชาในโลกไซเบอร์... พร้อมแล้ว
Thai MOOC หรือ Thai Massive Open Online Course เปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการพัฒนาระบบกลางด้านการจัดการเรียนการสอน และกระบวนการวัดและประเมินผลรายวิชา
การพัฒนาเนื้อหารายวิชาของ Thai MOOC ในระยะแรกนั้นดำเนินการผ่านสัญญาโครงการซึ่ง สกอ. ทำร่วมกับสถาบันแม่ข่ายของเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค จำนวน 7 แห่ง จากที่มีอยู่ทั้งหมด 9 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยที่เป็นแม่ข่าย มีบทบาทในการประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาคนั้นๆ เพื่อคัดเลือก กลั่นรอง และผลิตรายวิชา ตามแนวทางและมาตรฐานการสอนที่ สกอ. กำหนดไว้ ทั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยกว่า 40 แห่ง ร่วมผลิตเนื้อหารายวิชา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ฯลฯ
ณ เดือนพฤศจิกายน 2560 Thai MOOC มีรายวิชามากกว่า 150 วิชา ทั้งที่มีลักษณะเป็น cMOOC คือมีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนซึ่งจะเรียนเมื่อไหร่หรือนานเท่าไหร่ก็ได้ และ xMOOC คือมีกรอบกติกาในการเรียนที่ชัดเจน เช่น เวลาเปิดปิดรายวิชาที่คล้ายกับภาคการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย รายวิชาของ Thai MOOC มีความหลากหลายทั้งสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เช่น การวางแผนกลยุทธ์ การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการศึกษา คลังข้อมูลและการจัดทำเหมืองข้อมูล หลักพยาบาลผู้สูงอายุ กล้วยไม้วิทยา การถ่ายภาพรังสีทางทันตกรรม สตาร์ทอัพชุมชน การบัญชีเพื่อการจัดการและการจัดการทางการเงิน หลักเศรษฐศาสตร์เกษตร การใช้ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ฯลฯ
Thai MOOC ใช้แพลตฟอร์มของ EdX ที่มีคุณภาพและใช้งานอย่างแพร่หลายในระดับสากล ผู้สนใจสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.thaimooc.org เพื่อลงทะเบียนเรียนวิชาต่างๆ เนื้อหาการเรียนแบ่งออกเป็นบทคล้ายกับ e-learning ทั่วไป โดยเน้นสื่อประเภทวิดีโอเป็นหลัก มีแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นให้ผู้เรียนสามารถอภิปรายโต้ตอบกันผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งสามารถเพิ่มเติมหรือแก้ไของค์ความรู้ในรายวิชานั้นๆ ลงใน Wikipedia เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน และติดตามความก้าวหน้าการเรียนรู้ของตนเองจากกราฟ
มาตรฐานการเรียนการสอน
ประสบการณ์การพัฒนาระบบ MOOC ระดับชาติครั้งแรกของไทย ประกอบกับการอ้างอิงมาตรฐานระดับโลกและการพิจารณาบริบทของประเทศไทย ถูกกลั่นกรองจนตกผลึกเป็น มาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 10 มาตรฐานหลักและ 28 ตัวบ่งชี้ ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้าได้แก่ โครงร่างรายวิชา และความพร้อมของบุคคลากร ปัจจัยด้านกระบวนการได้แก่ การออกแบบการเรียนการสอน เนื้อหา สื่อการเรียนรู้ การสื่อสาร ลิขสิทธิ์และครีเอทีฟคอมมอนส์ และการสนับสนุนผู้เรียน ปัจจัยด้านผลผลิตได้แก่ ผลการจัดการเรียนรู้ และการปรับปรุงพัฒนา
มาตรฐานดังกล่าวนอกจากจะเป็นแนวทางสำหรับนักวิชาการที่บริหารจัดการ MOOC และครูอาจารย์ผู้ผลิตรายวิชา ยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้เรียนที่ต้องการเปรียบเทียบมาตรฐานการเรียนการสอนเพื่อใช้เป็นหลักฐานการศึกษา ทั้งนี้ ในอนาคตมีแนวทางว่าผลการเรียนของ Thai MOOC จะสามารถเทียบโอนหน่วยกิตกับมหาวิทยาลัยในประเทศ มหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีความร่วมมือกับประเทศไทย
อนึ่ง รายวิชาใน Thai MOOC ที่เปิดสอนอยู่ในปัจจุบัน กำหนดเกณฑ์ให้มีผู้ลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 250 คน และมีผู้เรียนอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงสัปดาห์สุดท้ายในแต่ละรายวิชาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด ตามที่ระบุไว้ในขอบเขตของงาน (TOR) ระหว่าง สกอ. กับสถาบันแม่ข่ายของเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค เงื่อนไขดังกล่าวเป็นปัจจัยให้รายวิชานำร่องกว่า 150 วิชานี้ จำเป็นต้องมีเนื้อหาที่เข้มเข้นและมีรูปแบบน่าสนใจ เพื่อสามารถดึงดูดให้คนทั่วไปอยากแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเอง รวมทั้งทำให้สถาบันการศึกษาเกิดประสบการณ์ในการออกแบบการเรียนรู้นอกเหนือไปจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษา เนื่องจากในอนาคตการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเป็นเรื่องของคนทุกคน
MOOC กับ OER อย่าสับสนเอามาปนเปกัน
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการแพร่ขยายของแนวคิดเรื่องการแบ่งปันต้นฉบับเนื้อหาหรือความรู้ (open source) ก่อให้เกิดสื่อการเรียนรู้แบบเปิดเสรีหลายรูปแบบ ดังที่เราเรียกรวมๆ กันว่า OER (Open Educational Resources) หรือ “ทรัพยากรทางการศึกษาแบบเปิด”
ทรัพยากรทางการศึกษามีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ภาพ เสียง เนื้อหา วีดิทัศน์ ฯลฯ เมื่อประกาศให้เป็น OER จึงมีหลักกว้างๆ ที่อนุญาตให้ผู้สนใจสามารถนำไปใช้ ผลิตซ้ำ หรือดัดแปลง สำหรับสนับสนุนการเรียนการสอนได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แหล่งรวมและแบ่งปันทรัพยากรที่รู้จักกันดีเช่น เว็บไซต์ https://creativecommons.org มีสื่อการสอนที่ถูกประกาศให้เป็น OER นับหมื่นล้านรายการ อย่างไรก็ตาม แม้จะปลอดลิขสิทธิ์แต่ผู้ใช้ก็จะต้องระมัดระวังและเข้าใจถึงเงื่อนไขในการนำ OER แต่ละชิ้นไปใช้งานด้วย เพราะอาจมีเงื่อนไขจำเพาะในการอนุญาตให้นำไปใช้ที่แตกต่างกัน
ประเทศไทยมีแหล่งรวมทรัพยากรแบบเปิดมานานนับสิบปีตั้งแต่ยังไม่มีนิยามเรื่อง OER เช่น ไทยกู๊ดวิว และโกทูโนว์ หรือในช่วงหลังอย่างเช่นเว็บไซต์ http://www.openbase.in.th ส่วนเว็บไซต์คลังทรัพยากรแบบเปิดของโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวได้ว่าเป็น OER แบบเป็นทางการแห่งเดียวของไทยในปัจจุบัน โดยมีการจัดประเภทหมวดหมู่ ลักษณะการนำสื่อไปใช้ และสถิติการดาวน์โหลดที่ชัดเจน
คลังทรัพยากรแบบเปิด (OER) ของโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติฯ
สำหรับ MOOC นั้นเป็นแหล่งเรียนรู้แบบเปิดอีกประเภทหนึ่ง แต่จุดที่แตกต่างออกไปคือมีลักษณะเป็นหลักสูตรรายวิชาที่เปิดให้มีการลงทะเบียนเรียนอย่างเสรี เป็นการเรียนจริงที่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ รายละเอียดเนื้อหา และวิธีวัดประเมินผลการเรียน เช่นเดียวกับการลงทะเบียนเรียนในสถาบันการศึกษา
อาจารย์วรสรวง ดวงจินดา ผู้อำนวยการสำนักการจัดการศึกษาออนไลน์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายถึงความเกี่ยวข้องระหว่าง OER กับ MOOC ว่า “MOOC อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับ OER เลยก็ได้ หรืออาจจะเกี่ยวข้องกันก็ได้ในสองกรณีคือ ผู้ผลิต MOOC นำสื่อการสอนจาก OER มาประกอบเป็น MOOC หรือผู้ที่จัดทำ MOOC ประกาศให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของวิชาหรือทั้งหมดเป็น OER ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ผลิตแต่ละราย ตัวอย่างเช่นใน Coursera อนุญาตให้ผู้ใช้บริการดาวน์โหลดวิดีโอและซับไทเทิลเก็บไว้ใช้ประโยชน์ได้”
ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่ารายวิชาที่จะทำเป็น MOOC ได้ จะต้องเผยแพร่ในรูปแบบ OER ก่อนเป็นเวลา 2 ปีนั้น อาจารย์วรสรวงยืนยันหนักแน่นว่า “ไม่ใช่ ไม่จริง และเป็นไปไม่ได้ด้วย เนื่องจาก Thai MOOC เพิ่งจะเริ่มสอนจริงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมปีนี้เอง... เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เลยว่าไม่เกี่ยวกับ 2 ปี”
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีบางวิชาที่ประกาศให้เนื้อหาบางส่วนเป็น OER เช่น ถ้ามีสื่อการสอนประเภทวิดีโอ ก็จะถูกกำหนดให้ต้องทำเป็น OER เผยแพร่ผ่านยูทูป เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้ได้โดยไม่ติดปัญหาลิขสิทธิ์
อาจารย์วรสรวงให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า “อาจจะเป็นแนวคิดของคนที่อยากให้สื่อการสอนใน MOOC เป็นที่ยอมรับของคนที่เข้ามาดู จึงให้ลองไปเผยแพร่ก่อนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ถ้าไม่มีคนมาติติงว่าไม่ดีหรือไปละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น ก็จะปล่อยเข้ามาในระบบ แต่ตรงนี้ไม่มีนะครับ และเพื่อการศึกษาผมคิดว่าจะเป็นไปไม่ได้หรือ เพราะถ้าไปรอ 2 ปี มันก็เก่าไปแล้ว ล้าสมัย ไม่สามารถนำมาใช้ได้ มันต้องทำใหม่ ดังนั้น ผมคิดว่าผู้พูดอาจจะมีแนวความคิด แต่ไม่เหมาะกับบริบทของ MOOC
“Thai MOOC ไม่เคยมีนโยบายเช่นนี้ ผมพูดในฐานะที่สวมหมวกอยู่ 2 ใบ หมวกใบหนึ่งคือผู้พัฒนารายวิชาและเป็นผู้สอนเอง หมวกอีกใบหนึ่งในฐานะกรรมการของโครงการ ข้อนี้ไม่เคยอยู่ในความเข้าใจของผม และถ้ามีใครเสนอเข้ามา ผมจะเป็นคนประท้วงเลยว่าเป็นไปไม่ได้ มันไม่เหมาะกับการผลิตสื่อการสอน จะทำให้สื่อการสอนของเราล้าสมัยไปเลย”
อนาคตที่น่าจับตา
Thai MOOC ในปัจจุบันอาจดูเหมือนคลังหลักสูตรระดับอุดมศึกษา แต่จริงๆ แล้ว Thai MOOC มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิตของคนไทยตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน ไปจนถึงวัยชรา ดังนั้นในการดำเนินงานระยะถัดไปจะขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในสังกัดอื่นๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการจัดทำหลักสูตรออนไลน์ที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเติมเต็มเนื้อหาใน Thai MOOC ให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความสนใจของผู้คนหลากหลายช่วงวัยและสาขาอาชีพ
อาจารย์วรสรวงตั้งข้อสังเกตถึงจุดแข็งของ Thai MOOC ว่า “สื่อการเรียนการสอนและรายวิชาใน Thai MOOC มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือสูงมาก แทบทุกวิชามีสถิติผู้เรียนจบสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอย่างเห็นได้ชัด คือค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่บางรายวิชาใน Thai MOOC มีคนเรียนจบเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ วิดีโอคลิปบางเรื่องมีคนเปิดดูนับแสนครั้ง ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของ Thai MOOC ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือภายในปี 2560 นี้จะเกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยกับมหาวิทยาลัยของประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ซึ่งอาจนำมาสู่การผลิตรายวิชาร่วมกันใน Thai MOOC และเป็นไปได้ที่จะมีการเทียบโอนหน่วยกิตข้ามประเทศได้ในอนาคต”
เรียบเรียงโดย
ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม นักจัดการความรู้ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พฤศจิกายน 2560
แหล่งภาพและเนื้อหา
http://MOOC.thaicyberu.go.th/standard/fullpaperMOOCStandard_TCU2017.pdf
https://oer.learn.in.th/index
http://MOOC.thaicyberu.go.th/index.php?option=com_sppagebuilder&view=page&id=18&Itemid=515