ภาพทิวเขาสลับซับซ้อนไกลสุดลูกหู ลูกตาเบื้องหน้าและสายลมอ่อนๆ เย็นสดชื่นที่พัดมาปะทะ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าขณะนี้เราเดินทางมาถึงห้องเรียนธรรมชาติท่ามกลางหุบเขา ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้ว ซึ่งเคยเป็นเส้นทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จพระราชดำเนินผ่าน
ในความทรงจำของชาวอำเภอแม่ลาน้อย เต็มไปด้วยเรื่องราวของพระองค์ท่าน จากพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำเพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น และต่อไปนี้คือความทรงจำแห่ง ความสุขที่พวกเขาเคยได้รับจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
กำเนิดพื้นที่ แห่งความอุดมสมบูรณ์
เดิมพื้นที่บริเวณตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าละว้าและกะเหรี่ยง ซึ่งแต่เดิมดำรงชีพ ด้วยการปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย และเก็บของป่า เนื่องจากอยู่ห่างไกล ความเจริญเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงขาดแคลนทั้งสาธารณูปโภคและ องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต จนกระทั่ง พ.ศ. 2513 พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาที่นี่ครั้งแรกโดยเฮลิคอปเตอร์ พระที่นั่ง และทรงพระดำเนินสำรวจปัญหาของชุมชนบนที่สูงตั้งแต่เช้า จรดค่ำ จากนั้นได้ทรงเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์อีกหลายครั้ง และ มีพระราชดำริให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่น โดยทรงส่ง นักวิชาการเกษตรเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด และในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการ ก่อตั้ง ‘ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย’ ขึ้น เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ แห่งความอุดมสมบูรณ์อันจะนำไปสู่ชีวิตที่ดี ให้เติบโตและหยั่งรากลึกลงไปในชุมชนบนดอยห่างไกลแห่งนี้ ปัจจุบันโครงการหลวงแม่ลาน้อยส่งเสริมการปลูกพืชหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเสาวรส คะน้า เคปกูสเบอร์รี กวางตุ้งฮ่องเต้ มะเขือเทศ พริกเม็กซิกัน สารพัดผักสลัด ถั่วแดงหลวง กาแฟ และอื่นๆ อีกมากมาย หากใครสนใจแวะเวียนมาเรียนรู้เรื่องการเกษตร ชมวิวนาขั้นบันไดสวย จับใจ และสัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติ ทางศูนย์ก็มีที่พัก พร้อมอาหารปลอดสารพิษให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วย
พระราชาในความทรงจำ
ปู่บุญสม แก่นเจิง วัย 73 ปี ผู้อาวุโสชาวไทยภูเขาเผ่าละว้าที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่ลาน้อยมาโดยตลอด ถ่ายทอดความประทับใจเมื่อครั้งมีโอกาสรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี เมื่อปี พ.ศ. 2522 ให้เราฟังว่า ตอนนั้นปู่บุญสมซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน กังวลมากกับการพูดคุยกับในหลวง เนื่องจากตนเองไม่ได้มีความรู้มากนัก แต่ความรู้สึกนั้น ก็หายไปอย่างรวดเร็ว เพราะในหลวงทรงรับสั่งอย่างไม่ถือพระองค์ว่า “เรียก พ่อหลวงแม่หลวงก็ได้” ครั้งนั้นสมเด็จพระราชินีทรงถ่ายภาพปู่บุญสมคู่กับ ในหลวงเอาไว้และได้มีการอัดใส่กรอบนำมาพระราชทานให้ สร้างความ ปลื้มปีติใจและถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ในชีวิตของปู่บุญสมเลยทีเดียว “ปลูกอะไรกิน ใช้ชีวิตยังไง ขับถ่ายที่ไหน” บทสนทนาระหว่างพระราชา และประชาชนของพระองค์เป็นไปอย่างเรียบง่าย เมื่ออยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ที่ชื่อประเทศไทยแล้ว ท่านก็ไม่อยากเห็นใครต้องลำบาก องค์ความรู้จึงถูก นำเข้ามาพลิกฟื้นผืนป่าเพื่อให้ชาวเขามีพื้นที่ทำกินอย่างยั่งยืน ในหลวง รักประชาชน ประชาชนจึงรักในหลวง สายตาเป็นประกายของปู่บุญสม ขณะเล่าเรื่องราวของพระองค์ท่านบอกเราเช่นนั้น
แกะเปลี่ยนชีวิต
จากจุดหมายแรกเดินทางต่อไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ บ้านห้วยห้อม หมู่บ้านเล็กๆ ขนาด 60 หลังคาเรือน อยู่ในเขตรับผิดชอบ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือ การเกษตร ทอผ้าขนแกะ และปลูกกาแฟอราบิก้า ซึ่งไม่ได้ทำกันเล่นๆ แต่มีการวางแผนและพัฒนากระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ จนสามารถ ส่งออกสินค้าขายไปทั่วโลก นำรายได้เข้าสู่หมู่บ้านปีละหลักล้านบาท!
รักษ์ป่าด้วยกาแฟ
มะลิวัลย์ นักรบไพร ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยห้อม บอกเล่าว่า ชาวบ้านห้วยห้อมรู้จักอาชีพเลี้ยงแกะและปลูกกาแฟจากการ สนับสนุนของกลุ่มมิชชันนารีอเมริกันที่เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในช่วงปี พ.ศ. 2500 โดยแต่เดิมนั้นสตรีบ้านห้วยห้อมมีทักษะการทอผ้า ด้วยฝ้ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทางมิชชันนารีจึงนำขนแกะมาให้ชาวบ้าน ลองทอ และถวายผ้าทอขนแกะแด่สมเด็จพระราชินีเมื่อครั้งเสด็จเยือน บ้านห้วยห้อม พระองค์ท่านมีความเห็นว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจ แต่ขนแกะ ยังแข็งเกินไป ในปี พ.ศ. 2538 สมเด็จพระราชินีจึงพระราชทานแกะ พันธุ์ผสมระหว่างสายพันธุ์พื้นเมืองกับสายพันธุ์บอนด์จากประเทศ ออสเตรเลีย ซึ่งทนต่อสภาพภูมิอากาศและมีขนหนานุ่มกว่าเดิมมาก ทำให้กลุ่มแม่บ้านสามารถผลิตผ้าทอขนแกะที่มีคุณภาพดีขึ้นและ กระจายสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วยความช่วยเหลือจากสำนักงาน พัฒนาชุมชน ทุกวันนี้สตรีบ้านห้วยห้อมยังคงทอผ้าขนแกะด้วยมือตามวิถีดั้งเดิม ทุกขั้นตอน และย้อมสีด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบห้อม เมล็ดกาแฟ ฯลฯ จึงทำให้สินค้ามีคุณค่าทางจิตใจและมีมูลค่าสูง ลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะ ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบสินค้าทำมือ 100% เช่นนี้มาก นอกจากนี้การเลี้ยงแกะ บนดอยในบรรยากาศธรรมชาติปราศจากสิ่งปรุงแต่งยังดึงดูดใจผู้คน จากทั่วสารทิศให้เดินทางมาท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแวะพักที่โฮมสเตย์ บ้านห้วยห้อม สร้างรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง
เมื่อป่าถูกปลูกในใจคน คนก็จะช่วยกันรักษาป่าให้อยู่คู่แผ่นดินอย่างยั่งยืน นี่คือแนวพระราชดำริที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้แก่ปวงชน ชาวไทย และเครื่องมือหนึ่งที่ทรงประสิทธิภาพอย่างมากในการช่วยรักษา ผืนป่าก็คือ ‘กาแฟ’ กาแฟที่เติบโตใต้ร่มไม้ในป่ามักมีรสชาติดีกว่ากาแฟที่ปลูกกลางแจ้ง เพราะเมล็ดกาแฟจะถูกบ่มให้สุกอย่างช้าๆ จึงมีน้ำตาลธรรมชาติสูงกว่า เมื่อนำมาผ่านกรรมวิธีคั่วบดก็จะได้ออกมาเป็นขมร้อนๆ ที่มีรสชาติลุ่มลึก ชวนให้จิบซ้ำแล้วซ้ำเล่า และแน่นอนว่ากาแฟดีย่อมนำมาซึ่งรายได้ให้แก่ เกษตรกร หากอยากปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตเลอค่าพวกเขาจึงต้องช่วยกัน ฟื้นคืนสมดุลสู่ธรรมชาติไปด้วยโดยปริยาย โครงการหลวงหลายแห่ง จึงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกกาแฟ พืชที่ตอบโจทย์ทั้งด้านรายได้และการ อนุรักษ์ ทั้งยังเหมาะกับสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่สูง และมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี บ้านห้วยห้อมก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการปลูก กาแฟพันธุ์อะราบิก้า โดยได้รับใบรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) จาก กรมวิชาการเกษตร และส่งขายไปยังร้านกาแฟชั้นนำหลายแห่ง หนึ่งในนั้น ก็คือแบรนด์ระดับโลกอย่างสตาร์บัคส์ รวมถึงมีการรวมกลุ่มภายในชุมชน ผลิตกาแฟห้วยห้อมขายเป็นแบรนด์ของตัวเองด้วย ความสำเร็จเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาชุมชนด้วยความรู้และภูมิปัญญาสามารถ ต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพได้อย่างไม่รู้จบจริงๆ เรื่องราวเปี่ยมล้นแรงบันดาลใจของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะยัง คงอบอวลอยู่ในห้วงคำนึงของพวกเราไปอีกยาวนาน การเรียนรู้ผ่าน สถานที่จริงทำให้เราเข้าใจงานของพระองค์ท่านอย่างลึกซึ้งกว่าที่เคย รับรู้ผ่านสื่อใดๆ วันนี้ดอกผลจากเมล็ดพันธุ์ที่พ่อหว่านไว้ผลิบานสม ความตั้งใจ และถ้าเราช่วยกันสานต่อ งานทรงคุณค่าของพระองค์ท่าน ก็จะไม่มีวันลบเลือน
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย
ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โทร. 09-3167-1649
ที่พักโฮมสเตย์บ้านห้วยห้อม
ที่พักคืนละ 150 บาท/คน ไกด์นำเที่ยว 200 บาท/ครั้ง
โทร. 08-9854-0914
http://royalprojectthailand.com/maelanoi
เรื่องและภาพ: สุธาสินี เลิศวัชระสารกุล
ติดตามอ่าน Read Me Vol 40: ต้นไม้ของพ่อ ต้นไม้ของเรา ที่จะพาทุกคนไปสำรวจผลจากต้นไม้ของพ่อที่แตกเมล็ดเติบโตขึ้นในหัวใจของชาวไทยเป็นแรงบันดาลใจให้เราสืบสานปณิธานของพ่อต่อไป อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://readme.tkpark.or.th