เมื่อมองดูจากภายนอกแล้ว ไข่ – ภคนัฐ ทาริยะวงศ์ ก็เป็นเหมือนกับหนุ่มสาววัยทำงานทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วการแต่งตัวที่เน้นความเรียบง่าย คล่องตัว สะพายกระเป้ใบโต ท่าทางและแววตากระชับกระฉับเฉง เขาคือนักเดินทางคนหนึ่ง ด้วยสัญญาณชีพจรจากเท้าของชายหนุ่ม ทำให้เขาตัดสินใจสมัครเข้าร่วมในโครงการ ‘เดินทางพ่อ Walk of The King’ โครงการเดินทางตามรอยโครงการพระราชดำริ เพื่อสานต่อในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นผู้ริเริ่มโครงการเหล่านี้ไว้ตาม 5 สถานที่ในประเทศไทย
โครงการ ‘เดินทางพ่อ Walk of The King’ เป็นโครงการที่จะนำไปสู่การเดินทางไปยัง 5 สถานที่ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเที่ยวชื่อดังที่ไม่ว่าใครก็ต่างคุ้นหูกันดี ไม่ว่าจะเป็น ดอยอ่างขาง, ดอยอินทนนท์, แม่ลาน้อย, กุยบุรี และ อ่าวคุ้งกระเบน แต่เบื้องหลังความนิยมที่ไม่ว่าใครก็ต่างวาดฝันว่าจะต้องเดินทางไปถึงที่สักครั้งในชีวิต จะเป็นผลจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระองค์ที่พลิกฟื้นจากความว่างเปล่าในอดีต สู่ปัจจุบันที่สวยงามที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
สำหรับ ภคณัฐแล้ว การเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นจากคำชักชวนจากเพื่อนคนหนึ่ง ด้วยความเป็นนักเดินทางของเขา ทำให้ตัดสินใจไม่ยากเลยว่าจะเดินทางไปที่ใด “เราตอนนั้นเห็นดอยอินทนนท์น่าสนใจ ยังไม่เคยไปด้วย จนได้ไปกับพี่เปอร์ สุวิกรม อัมระนันท์ (พิธีกรรายการ เดินทางพ่อ) แล้วเขาเป็นนักเดินทางอยู่แล้ว ถ้าไปกับนักเดินทางน่าจะได้อะไรดีกว่า ช่วงที่เราเห็นโครงการ เราก็คาดหวังว่าอยากเดินทางเฉยๆ แค่นั้น ถ้าดูจากเส้นทาง ไปเองน่าจะไปลำบาก เลยลองสมัครไปดู แล้วก็อยากรู้ด้วยว่าการเดินทางไปกับคนอื่นที่สไตล์แตกต่างกัน ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าจะเจอใครบ้าง แต่อยากลองเดินทางกับคนเยอะๆ ดูเหมือนกัน น่าจะสนุกดี”
สำหรับชายหนุ่มและทุกคนที่เข้าร่วมการเดินทางในครั้งนั้น ไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่า ก่อนที่พวกเขาจะได้เดินทางในทริปที่ฝันเอาไว้ พวกเขาต้องพบกับฝันร้ายที่คนไทยทุกคนไม่คาดคิด กับข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะถึงการเดินทางสู่สถานีการเกษตร ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ แต่สุดท้ายโครงการยังคงดำเนินตามกำหนดการณ์เดิม ทำให้ภคณัฐได้บินลัดฟ้าสู่เชียงใหม่ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พร้อมกับคนแปลกหน้าอีก 20 กว่าชีวิต
“ตอนนั้นคนไทยทุกคนรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เราเห็นงานอีเวนต์โดนยกเลิกพร้อมกันหลายๆ งาน เราก็กังวลว่าของเราจะเป็นยังไงบ้าง แต่ถ้ามันจะไม่จัดก็เพราะสาเหตุนี้ เราเข้าใจนะ มีสิ่งหนึ่งที่เรารับรู้ด้วยกันก็คือ เราสมัครมาโครงการนี้ด้วยกัน อยากตามรอยในหลวง แต่เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันก็เกิดขึ้นก่อน สุดท้ายทีมผู้จัดก็บอกว่าไม่ยกเลิกหรอก มันคือการสานต่อ มันคือการที่เราทุกคนทั้งหมดในค่ายเรียนรู้สิ่งที่ท่านทรงทำ สานต่อในสิ่งที่ท่านทำตามความสามารถของเรา เราไม่จำเป็นต้องไปปลูกผัก เราแค่ยึดสิ่งที่ท่านทำเป็นแบบอย่าง” ภคณัฐเล่าถึงวินาทีที่ได้รับข่าวร้ายพร้อมกับคนไทยทุกคน
“วันแรกไปถึงเชียงใหม่ตอนเช้าเลย แรกๆ เราก็ยังไม่รู้จักใคร เขาก็จะแบ่งเราขึ้นรถคันนู้นคันนี้ไป เขาก็เราไปขึ้นดอนอินทนนท์ วันแรกเป็นการชมแปลงดอกกุหลาบที่ในหลวงทรงมาพัฒนาจัดการ” ภคณัฐเล่าถึงสวนกุหลาบที่เขาได้เห็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ งานวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน งานวิจัยจำพวกไม้ดอกและไม้ประดับ และงานประมงบนพื้นที่สูง
แต่สิ่งที่ทำให้นักเดินทางหนุ่มต้องประหลาดใจ กลับเป็นแปลงมะเขือเทศ “ตอนเราไปเจอแปลงมะเขือเราตกใจมาก มะเขือเทศลูกเล็กๆ แบบที่ขายในห้างเขาทิ้งหมดเลย เขาบอกว่ามันเป็นขนาดที่ไมได้คุณภาพ ปกติที่ขายคือขนาดลูกเต็มเท่าฝ่ามือ ซึ่งถ้าของไม่ได้คุณภาพเขาก็ไม่ขาย” ซึ่งที่นี่เน้นเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพมากกว่าแสวงหาผลกำไร และสร้างงานให้กับชาวบ้านบนดอยมากกว่า
การเดินทางวันแรกเป็นการเยี่ยมชมภายในสถานีเกษตรเสียส่วนใหญ่ ก่อนจะจบลงด้วยการล้อมวงคุยกันในตอนกลางคืน ดวงตาของนักเดินเป็นประกาย เมื่อเล่าถึงความประทับใจถึง ก่อนจะมาเป็น ‘ดอยอินทนนท์’ สถานที่ท่องเที่ยวในทุกวันนี้ ว่าเมื่อก่อนนั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากภูเขาและป่าไม้
“สมัยก่อนเขาบอกันว่าดอนอินทนนท์เป็นแค่ดอยธรรมดา ไม่มีอะไร สิ่งแรกที่ในหลวงทำตอนที่เริ่มคือการเดินหาต้นน้ำ จริงๆ แล้วจะใช้เฮลิคอปเตอร์สำรวจก็ได้ แต่มันต้องเดินเพื่อให้รู้ว่าสภาพมันเป็นยังไง จะพัฒนาได้มากแค่ไหน จะตัดถนนยังไง แล้วจะใช้ต้นน้ำเพื่อประโยชน์อะไรได้ต่อ ไม่น่าเชื่อว่าจากต้นน้ำเล็กๆ ที่ทอดพระเนตรเห็นจะกลายเป็นดอยอินทนนท์ สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ที่คนอยากไปเยือนทุกวันนี้ มันเริ่มจากศูนย์ เป็นเพราะวิสัยทัศน์ของท่านจริงๆ”
รวมไปถึง กิ่วแม่ปาน จุดถ่ายรูปสุดฮิตในตอนนี้ ซึ่งกลายแลนมาร์คของดอยอินทนนท์ ขนาดที่ว่าช่วงปีใหม่นั้นมีบรรดานักท่องเที่ยวต่อแถวเป็นจำนวนมากเพื่อถ่ายรูป
“กิ่วแม่ปาน แรกเริ่มคือไม่มีอะไรเลยนะ แม้กระทั่งทางเดิน แต่ที่มีทุกวันนี้ได้เพราะในหลวงท่านเห็นว่ามีต้นน้ำ มีป่าเบญจพรรณเยอะ น่าทำเป็นอุทยานการเรียนรู้ ซึ่งทางเดินตลอดกิ่วแม่ปานเกิดจากที่ชาวม้งช่วยกันขนไม้มาทำเป็นทางเดินเพื่อให้เป็นแหล่งธรรมชาติอย่างที่ในหลวงทรงบอก แล้วก็กลายสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในตอนนี้”
และเมื่อเข้าสู่การเดินทางไปในวันที่สอง พวกเขาได้เดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านของชนเผ่าปกาเกอะญอ ชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูงและป่า ผูกพันกับธรรมชาติจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เมื่อความเจริญมาถึงยอดดอย พวกเขาถูกขับไล่จากถิ่นที่อยู่เดิม จนต้องหันไปปลูกฝิ่น เพื่อความอยู่รอด
แต่เมื่อพระบาทของในหลวงก้าวมาถึงที่นี่ พระองค์ได้นำพาเมล็ดพันธุ์ที่จะให้ชนเผ่าปกาเกอะญอนั้นเติบโตได้อย่างมั่นคง นั่นคือ ‘เมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้า’ ภคณัฐเล่าว่าในตอนแรกก็ฟังดูเหมือนเรื่องตลก “เราได้ยินมาว่าตอนที่เอากาแฟมาปลูก ทุกคนก็ตลก มันจะขึ้นจริงๆ เหรอ สุดท้ายมันก็ขึ้น แล้วก็กลายเป็นกาแฟอาราบิก้าต้นแรกของไทย ไม่ว่าจะต่างถิ่น ต่างหน้าตา ต่างเผ่าพันธุ์ แต่เรายืนอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกันที่ชื่อว่าประเทศไทย ในหลวงทรงนำต้นกาแฟต้นแรกมาปลูก จนสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชน”
“เขาบอกว่าทุกๆ ที่ที่ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไป เหมือนท่านได้หย่อนเมล็ดบางอย่างไว้ในดิน แล้วรอให้เติบโต”
การเดินทางสู่ดอยอินทนนท์ในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับการเดินทางในหลายๆ ครั้งของชายหนุ่ม เพราะไม่ใช่การเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อถ่ายรูปสวยๆ แต่การเดินทางที่ทำให้ชีวิตของคนในวัยหนุ่มสาวต้องกลับมาทบทวนชีวิตของตัวเอง
“การเดินทางไปเห็น ทำให้เราเข้าใจบางอย่างมากขึ้น พอเรามองย้อนกลับมาดูตัวเอง ทำให้เกิดคำถามว่าตอนนี้เราทำอะไรให้กับโลกเราบ้าง เราดีใจที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยเดียวกับท่าน”
จากเมล็ดพันธุ์ที่พระองค์ได้หว่านไว้ยังดอยอินทนนท์ กลับมาเติบโตงอกงาม กลายเป็นต้นไม้ และออกผลเป็นแรงบันดาลใจต่อไป
เรื่อง: รุจรวี นาเอก / ภาพ: ทศพล พรรณเภรี
ติดตามอ่าน Read Me Vol 40: ต้นไม้ของพ่อ ต้นไม้ของเรา ที่จะพาทุกคนไปสำรวจผลจากต้นไม้ของพ่อที่แตกเมล็ดเติบโตขึ้นในหัวใจของชาวไทยเป็นแรงบันดาลใจให้เราสืบสานปณิธานของพ่อต่อไป อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://readme.tkpark.or.th