‘ภาพถ่าย’ คือสื่อที่บันทึกความทรงจำในรูปแบบหนึ่ง และการที่จะหวนกลับมานึกถึงความทรงจำดีๆ ได้คือหยิบรูปถ่ายขึ้นมาดู เดินทางไปยังสถานที่ในรูปถ่ายนั้น หรือทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน
นั่นคือแนวคิดของ เจมส์ - อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ ช่างภาพอิสระและอาจารย์พิเศษ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ริเริ่มโปรเจกต์การนำพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มาเทียบกับสถานที่จริงให้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่พระองค์เคยทรงประทับอยู่ ณ เวลานั้น
นับเป็นการตามรอยเสด็จที่ใช้สื่ออย่างภาพถ่าย มานำเสนอพระราชกรณียกิจที่เคยทรงพระราชทานไว้ให้กับคนไทยได้อย่างน่าชื่นชม
อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโปรเจกต์นี้
เริ่มมาจากความอยากจะไปในสถานที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ เยือนในอดีต และอยากไปโครงการตามแนวพระราชดำริว่าปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง แต่ก็คิดว่าถ้าไปเฉยๆ ก็คงไม่ค่อยรู้สึกอะไร แล้ววันหนึ่งก็เห็นเพจเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกต้นยูงทองที่ศูนย์รังสิต ก็เลยนึกถึงไอเดียการถ่ายภาพแบบ Dear Photograph คือใช้ภาพถ่ายในอดีตมาซ้อนทับกับสถานที่จริงในปัจจุบัน จึงหยิบไอเดียนี้มาทำเป็นตัวตั้งต้น
มีวิธีการหาแหล่งข้อมูลของภาพถ่ายแต่ละที่ที่พ่อไปอย่างไร
เริ่มค้นจากโครงการตามแนวพระราชดำริก่อนว่ามีอยู่ที่ไหนบ้างที่อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ บ้าง เพราะต้องทำงานจันทร์ถึงศุกร์ จะมีเวลาไปถ่ายภาพก็คือช่วงเสาร์อาทิตย์เท่านั้น หลังจากนั้นก็เริ่มหาภาพโครงการนั้นๆ หาดูว่ามีภาพหรือเปล่า ถ้ามีเป็นภาพประมาณไหน จากภาพนั้นจะหาสถานที่ปัจจุบันได้หรือเปล่า เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้วก็นำรูปที่ได้มาอัดขนาด 4x6 นิ้วเพื่อเอาไปใช้ถ่ายในสถานที่จริง ซึ่งข้อมูลส่วนมากที่ได้ก็มาจากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่ดูแลโครงการตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านหรือจากเว็บไซต์ข่าว
การเดินทางไปถ่ายภาพไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษ
ประทับใจตอนเดินทางไปที่ดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จ ต้องเสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ พอเสด็จถึงแล้วก็ต้องนั่งม้า นั่งลาของชาวเขาขึ้นไปอีก เป็นภาพที่ทุรกันดารมาก ผมได้มีโอกาสคุยกับคนหนึ่งที่อยู่ในรูปนั้น เขาบอกว่าหลังจากที่ในหลวงเสด็จแล้วหลายอย่างก็ดีขึ้น มีถนนเข้ามาถึงหมู่บ้าน มีไฟฟ้าใช้ พระองค์ขอให้ชาวดอยผาหมีเลิกปลูกฝิ่นแล้วหันมาปลูกกาแฟ ปลูกลิ้นจี่แทน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอาชีพที่พระองค์ท่านทรงมอบไว้ และชาวบ้านก็ยืดเป็นอาชีพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
คิดคนไทยทุกคนได้รับอะไรจากโปรเจกต์นี้
เป้าหมายแรกจริงๆ ในการถ่ายภาพในโปรเจกต์นี้เพียงแค่ต้องการที่จะไปตามโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่าน อยากไปเห็นว่าโครงการในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง อยากเห็นว่าสิ่งที่ท่านทำไว้ว่า สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่นั้นอย่างไรด้วยตาของตัวเอง แล้วเอาภาพที่ได้มาบอกเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง แต่พอสิ่งที่ผมนำเสนอไปมีคนสนใจมากขึ้น ก็คาดหวังว่าคนไทยจะศึกษาการทำงานของพระองค์ท่านว่าพระองค์มีแนวคิดในการทำงานอย่างไร แล้วน้อมนำเอาหลักคิด แนวคิดมาใช้ในการทำงาน ในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ก็ยังเป็นการรำลึกถึงพระองค์ท่านที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจตลอด 70 ปีของการครองราชย์
ถ้าหากเปรียบเทียบโปรเจกต์นี้กับดอกไม้ คิดว่าเป็นดอกไม้อะไร
คิดว่าน่าจะเป็น ‘ดอกบานไม่รู้โรย’เพราะว่าอยากให้สิ่งที่ผมได้นำเสนอผ่านภาพถ่าย เป็นสื่อกลางในการที่ช่วยให้ผู้คนได้เห็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อคนไทย และให้สิ่งเหล่านี้เบ่งบานในหัวใจคนไทยตลอดไปไม่มีวันจางหายโรยรา