‘ลำต้น’ คือส่วนที่สะท้อนถึงการเจริญเติบโตของพืชได้ดีที่สุด เพราะมักจะเติบโตขึ้นด้านบนเสมอ ลำต้นที่แข็งแรงมั่นคงหมายถึงพืชต้นนั้นได้นำสารอาหารมาเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ทั้งการสร้างใบ ขยายกิ่งก้านสาขา และเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำและธาตุอาหารไปสู่ส่วนต่างๆ ของพืช
เหมือนดั่งโครงการต่างๆ ที่ประชาชนได้เติบโตอย่างแข็งแรงตามแนวพระราชดำรัส นับจากพระปฐมบรมราชโองการที่ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นับจากนั้นตลอดจนระยะเวลากว่าเจ็ดทศวรรษแห่งการครองราชย์ ภาพชินตาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงงานอย่างหนักต่อเนื่องท่ามกลางแดดจ้า อากาศร้อน หรือแม้กระทั่งถิ่นทุรกันดาร พระองค์เสด็จไปทั่วทุกถิ่นในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาและขจัดความทุกข์ยากของประชาชน
หลังจากที่พระองค์ทรงงานอย่างหนักจนประชาชนของพระองค์มีความอยู่ดีกินดีเป็นรากฐานที่มั่นคงแล้ว จึงพระราชทานแนวพระราชดำริ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ว่าด้วยแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนทางสายกลาง มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล สร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการน้อมนำเอาหลักการเหล่านี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันที่อยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคโลกาภิวัฒน์และเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
พออยู่พอกินแบบคนเมือง
ฮิพอินทรีย์ ฟาร์มวิลล์พอเพียง (Hip Incy Farm, P2WARSHIP Self-Sufficiency Farming) ของ โอ๋ – ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล อดีตนักร้องนำวง P2Warship เจ้าของเพลงชื่อดังอย่างเพลง อย่า อยู่ อย่าง อยาก ได้เปลี่ยนสนามฟุตบอลขนาด 1 ไร่ ย่านลาดพร้าว 71 มาเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ เริ่มก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2011 โดยหยิบเอาต้นแบบมาจากเกษตรทฤษฏีใหม่มาปรับใช้ในแบบของตนเอง จากคนที่ไม่เคยปลูกต้นไม้มาก่อนกลายมาเป็น ‘เกษตรกรในเมือง’ จนปัจจุบัน ฮิพอินทรีย์ ได้มีการขยายสาขาออกไปทางเขตมีนบุรีซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า เปิดพื้นที่ให้กับคนเมืองที่สนใจการเกษตรเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ ทดลองร่วมกัน และต่อยอดผลผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ บนแนวคิดตามพระราชดำริที่ว่า ผลิตแบบพออยู่ พอกิน เหลือแล้วจึงนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและขายเพื่อนำรายได้กลับมาหมุนเวียนในสวนเกษตรต่อไป
www.facebook.com/HipIncyFarmville
ละทิ้งเพื่อเติมเต็ม
หน่อย หรือ ลลิดา คำวิชัย ตั้งสินใจทิ้งเงินเดือนสูงลิ่ว หันหลังให้ชีวิตมนุษย์เงินเดือน เดินทางกลับมาใช้ชีวิตตามรอยพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง พลิกที่ดินรกร้าง 35 ไร่ ที่ตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจนเกิดเป็นไร่หมุนเวียน สามารถนำผลผลิตไปแปรรูปส่งขายตามร้านโอท็อปต่างๆ เกิดการรวมกลุ่มกันของทั้งเกษตรกรรุ่นใหม่และเกษตรกรรุ่นเก่า โดยที่เกษตรกรรุ่นใหม่นำเอาความรู้ใหม่ๆ มาใช้ควบคู่กับประสบการณ์ของเกษตรกรรุ่นเก่าเพื่อให้ทั้งชุมชนสามารถที่จะเติบโตไปด้วยกันโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า หากเราอยากจะพัฒนาชุมชนของเรา เราจะต้องพยายามที่จะสร้างมันขึ้นมาจากข้างในชุมชน ไม่ใช่การนำเอาความเจริญจากภายนอกเข้ามาแต่เพียงอย่างเดียว
www.facebook.com/ไร่-ณ-ชายแดน-661162030667970
ต่อยอดต้นทุนชีวิตด้วยความพอเพียง
หลังจาก น้องหนูดี หรือ จิตชนก ต๊ะวิชัย เพึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาได้ไม่นาน บัณฑิตสาวในวัยยี่สิบสี่ก็เลือกที่หันกลับมาหาต้นทุนที่เธอมีอยู่ ต้นทุนที่ว่าก็คือ ‘ภูเรือเรือนไม้รีสอร์ท’ ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวมีพื้นขนาดกว่า 15 ไร่ที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โดยเธอได้นำทุนที่เธอมีอยู่เหล่านี้มาต่อยอดด้วยการขยับขยายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรประเภทผักสวนครัว โรงสีข้าว ยุ้งข้าวตามรอยพระราชดำริของในหลวงนอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่ 8 ไร่และอาคารไม้เก่ามาสร้างเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง’ โดยปัจจุบันนี้ในศูนย์การเรียนรู้นั้นรวบรวมสิ่งของต่างๆ อย่าง อุปกรณ์เครื่องครัว อุปกรณ์การจับปลา หรือเครื่องโม่ข้าวทำจากไม้ไผ่และดินเหนียวซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน ซึ่งรวบรวมไว้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตคนไทย พร้อมให้ความรู้เชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการเกษตร เช่น การเพาะกล้าข้าวนาโยน ให้หน่วยงานต่างๆ ผู้คนในชุมชน และโรงเรียนได้ศึกษาดูงาน เรียกว่านี่คือการต่อยอดจากต้นทุนของครอบครัวที่เธอได้รับที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและคนรอบข้างอย่างแท้จริง
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์
จากทุนนิยมสู่ความพอเพียงที่ยั่งยืน
มาร์ติน วีลเลอร์ (Martin Wheeler) หรือ พ่อใหญ่มา ฝรั่งตาน้ำข้าวบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยนับกว่า 20 ปีแล้ว แม้จะเติบโตจากสังคมระบบทุนนิยม ที่คุณภาพชีวิตแปรผันตามความสามารถในการหาเงิน ถ้าสามารถหาเงินได้มากกคุณภาพชีวิตก็จะดีตามไปด้วย แต่ตัวเขากลับมีความคิดที่ว่าชีวิตน่าจะมีอะไรมากกว่าแค่การนำความรู้ไปหาเงินเพียงอย่างเดียว เขาจึงเริ่มที่จะคิดนำแนวคิดเกี่ยวกับความพอเพียงมาใช้ เริ่มจากการสร้างกระต๊อบหลังเล็กหรือเถียงนาด้วยเงิน 12,000 บาท แล้วผ่อนซื้อและพัฒนาพื้นที่ดินขนาด 6 ไร่ในจังหวัดของแก่น ศึกษาแนวทางเกษตรแบบพอเพียง รับจ้างทำงานก่อสร้าง ตกเย็นกลับมาทำงานในที่ดินของตัวเอง มุ่งเน้นให้มีปัจจัย 4 เพียงพอต่อการยังชีพได้ มีบ้าน มีงานทำทุกวัน และที่สำคัญคือมีกินทุกมื้อให้อิ่มท้อง ชักชวนคนในหมู่บ้านให้รู้จักกิน ลดการกู้หนี้ยืมสิน กระทั่งปัจจุบันบ้านคำปลาหลายได้พัฒนาจากหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดในอำเภออุบลรัตน์ กลายเป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นอยู่ดี มีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานอย่างมากมาย ทุกวันนี้ นอกจากจะทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพแล้ว ตัวของมาร์ตินเองก็ได้กลายมาเป็นวิทยากรเผยแพร่แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะปราชญ์ชาวบ้านที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านคำปลาหลายอีกด้วยที่มา: สำนักข่าวไทย
แนวพระราชดำริว่าด้วย ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ จึงเป็นเสมือนลำต้นของต้นไม้ที่เติบใหญ่แข็งแรงขึ้นจาก สติ ปัญญา และความเพียร ไม่ว่าพายุหรือลมแรงแค่ไหนก็จะไม่มีวันหักโค่นลงมา ทุกการทรงอย่างอย่างหนักของพระองค์นั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจสูงสุดที่ประชาชนของพระองค์จะน้อมนำสิ่งที่ทรงปฏิบัติ มาเป็นแนวทางในการดำเนินตามรอยเท้าของแห่งคุณความดีเพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
เรื่อง: ธันย์ชนก รื่นถวิล
ติดตามอ่าน Read Me Vol 40: ต้นไม้ของพ่อ ต้นไม้ของเรา ที่จะพาทุกคนไปสำรวจผลจากต้นไม้ของพ่อที่แตกเมล็ดเติบโตขึ้นในหัวใจของชาวไทยเป็นแรงบันดาลใจให้เราสืบสานปณิธานของพ่อต่อไป อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://readme.tkpark.or.th