ห้องสมุดถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ 2,600 ปีก่อนคริสตศักราช จากยุคของศิลาจารึก ม้วนบันทึกแผ่นหนัง มาจนถึงหนังสือ ห้องสมุดมีบทบาทจัดเก็บความรู้ที่ถูกบันทึกไว้และเป็นสถานที่ให้บริการทรัพยากรเหล่านั้น ปัจจุบันเมื่อสารสนเทศเปลี่ยนเป็นดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมีความแพร่หลาย การเข้าถึงความรู้จึงไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพื้นที่ทางกายภาพอีกต่อไป เกิดโครงการที่น่าจับตามองมากมาย เช่น โครงการกูเท็นเบิร์ก (Project Gutenberg) ซึ่งรวบรวมและเผยแพร่สิ่งพิมพ์ดิจิทัลนับแสนรายการแก่สาธารณชน ส่วนกูเกิลก็มีโครงการสแกนหนังสือกว่า 30 ล้านเล่มเพื่อจัดทำเป็นห้องสมุดดิจิทัล
ห้องสมุดได้ปฏิวัติตัวเองด้วยการทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ทางออนไลน์ ลดบทบาทการเป็นโกดังหนังสือ และเพิ่มบทบาทที่เชื่อมโยงกับผู้เรียนและการสร้างความรู้ ตัวอย่างเช่น โรงเรียน Cushing Academy รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ต้องการที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับ “การเรียนรู้แบบร่วมมือและการร่วมสร้างความรู้” จึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงห้องสมุดจนกระทั่งกลายเป็นห้องสมุดไร้หนังสือ โดยให้บริการฐานข้อมูลทรัพยากรดิจิทัลนับล้านรายการ และสร้างมุมกาแฟแทนที่โต๊ะยืมคืนหนังสือ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแสวงหาความรู้ของนักเรียนและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ห้องสมุด
จากห้องสมุดสู่ Learning Commons
หนังสือยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเรียน แต่เทคโนโลยีดิจิทัลก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ได้กว้างขวางขึ้น นับแต่นี้ต่อไปนักเรียนและครูไม่ต้องการเข้าถึงห้องสมุดแบบธรรมดาๆ แต่พวกเขาอยากได้พื้นที่เพื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและเปิดโอกาสสำหรับการร่วมสร้างสรรค์โดยอาศัยทรัพยากรที่หลากหลาย ดังนั้นแทนที่ห้องสมุดจะดำรงสถานะเป็นหอจดหมายเหตุ ถึงเวลาที่ห้องสมุดควรเปลี่ยนเป็น learning commons
การออกแบบและปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียน Francis W. Parker ในชิคาโก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ห้องสมุดให้ตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนในปัจจุบัน จากห้องสมุดแบบเดิมที่เต็มไปด้วยชั้นหนังสือและมีที่นั่งแบบเป็นคอก ไปสู่การส่งเสริมการเรียนรู้และการสื่อสารระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น ห้องสมุดได้สร้างพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่น สามารถโยกย้ายเก้าอี้ โต๊ะ และชั้นหนังสือ เพื่อให้มีพื้นที่กว้างพอสำหรับการทำโครงงานเป็นกลุ่ม รวมทั้งออกแบบโต๊ะและสันตู้หนังสือให้เป็นกระดานไวท์บอร์ด เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แบบร่วมมือและการแบ่งปันความรู้
ศูนย์การเรียนรู้โปร่งใส
ในการปรับรื้อการออกแบบห้องสมุดโรงเรียนมัธยม Westlake ที่รัฐเท็กซัส แคโรลิน ฟูต (Carolyn Foote) บรรณารักษ์ของที่นี่ คาดหวังให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่ปราศจากสิ่งขวางกั้น เป็นที่ซึ่งปัจเจกสามารถร่วมเรียนรู้กับผู้อื่น
“ฉันต้องการให้ห้องสมุดเป็นเหมือนแคมป์ไฟที่นักเรียนมารวมตัวกัน เป็นพื้นที่ที่พวกเข้าสามารถทำงานร่วมกันในกลุ่มเล็กๆ เป็นพื้นที่โปร่งใสซึ่งสามารถมองผ่านกระจกเข้าไปเห็นการเรียนรู้ในโรงเรียน เป็นพื้นที่ไร้อุปสรรคในการใช้งาน และออกแบบให้สะท้อนถึงนวัตกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในโรงเรียน”
นอกจากนี้ เธอยังต้องการสร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับชุมชนโรงเรียน ที่สนับสนุนให้ครูและนักเรียนร่วมมือ สื่อสาร และแบ่งปัน ห้องสมุด Westlake จึงออกแบบให้ผนังทำจากกระจกเพื่อสื่อถึงความโปร่งใสอย่างแท้จริง ส่วนพื้นที่ด้านนอกเป็น “บาร์น้ำผลไม้” ที่ผสมผสานแนวคิดระหว่าง Apple Genius Bar และร้านกาแฟสตาร์บัค
ขยายกายภาพห้องสมุดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
มีข้อถกเถียงบ่อยครั้งถึงอนาคตของห้องสมุด ว่าควรเลือกหนังสือกระดาษหรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ควรเลือกพื้นที่กายภาพหรือพื้นที่เสมือน แต่แทนที่จะกังวลว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่สิ่งที่เคยมีอยู่ ห้องสมุดหลายแห่งมองว่านี่คือโอกาสนำเทคโนโลยีมาพัฒนาให้ห้องสมุดดีขึ้น อาทิเช่น ห้องสมุดโรงเรียน Sunshine Coast ประเทศออสเตรเลีย สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนโดยผสมผสานระหว่างกระดาษ หนังสือ กระดานไวท์บอร์ด ไอแพด และเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เพื่อให้เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ไปพร้อมกับความรู้และเทคโนโลยี
ห้องสมุดแห่งใหม่ของมูลนิธิ Stephen Perse ประเทศอังกฤษ ได้รับการกล่าวถึงว่าแวดล้อมไปด้วยแนวคิด learning commons ซึ่งผนวกโลกกายภาพและโลกดิจิทัลอย่างชาญฉลาด พื้นที่ห้องสมุดมีความสวยงาม มีหนังสือไว้ให้บริการ ขณะเดียวกันก็มีเฟอร์นิเจอร์ที่จัดวางอย่างยืดหยุ่นและสิ่งแวดล้อมแบบเปิด รวมทั้งมีเนื้อหาดิจิทัลซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนเล่นและค้นคว้าอย่างลึกซึ้งในหัวข้อที่อาจไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนั้นมาก่อน ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่า “จุดมุ่งหมายสำคัญของสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แห่งใหม่นี้ คือสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียนอย่างเสรี โดยไม่ให้มีอุปสรรคทางกายภาพ”
ห้องสมุดในอนาคต
เมื่ออุปกรณ์การสื่อสารที่ทันสมัยทำให้นักเรียนทุกคนสามารถมีห้องสมุดอยู่ในมือ บทบาทของห้องสมุดกายภาพก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น มิใช่เพียงสถานที่สำหรับจัดเก็บทรัพยากร แต่เป็นพื้นที่สร้างความหมายให้กับสารสนเทศ
ห้องสมุดศตวรรษที่ 21 ซึ่งให้บริการพื้นที่ใช้งานร่วมกัน (common space) จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ดีที่สุดซึ่งประกอบด้วยพื้นที่กายภาพและดิจิทัล เป็นห้องสมุดที่สนับสนุนการค้นคว้า การสร้างสรรค์ และการร่วมมือระหว่างนักเรียน ครู และชุมชนที่กว้างขึ้น สุดท้ายแล้วห้องสมุดจะยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนเพื่อสร้างความรู้และความหมายใหม่ให้กับโลกที่อยู่รอบตัวพวกเขา
แปลและเก็บความโดย
ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม นักจัดการความรู้ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, ตุลาคม 2560
ที่มาภาพและเนื้อหา
www.edutopia.org/blog/21st-century-libraries-learning-commons-beth-holland
net.educause.edu/ir/library/pdf/ELI7071.pdf