สัปดาห์หนังสือต้องห้าม เป็นงานรณรงค์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 1982 ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ริเริ่มโดยสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association - ALA) และองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) เพื่อแสดงจุดยืนด้านเสรีภาพในการอ่าน เนื่องมาจากมองเห็นความสำคัญของการปกป้องหนังสือที่มีเนื้อหาขัดกับมุมมองแบบอนุรักษ์นิยมของสังคมหรือทัศนะที่คนทั่วไปไม่ยอมรับ และมีการเก็บรักษาหนังสือเหล่านั้นเพื่อให้ผู้ที่ต้องการอ่านสามารถเข้าถึงได้ ว่ากันว่านับตั้งแต่การจัดงานครั้งแรกจนถึงปี 2015 ผู้จัดได้รวบรวมหนังสือที่ถูกโรงเรียน ห้องสมุด หรือร้านหนังสือพิจารณาแล้วว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสมไว้ถึงกว่า 11,300 เล่ม
สาเหตุที่หนังสือบางเล่มถูกจำกัดการเผยแพร่เพราะมีเนื้อหาที่สั่นคลอน “ความปกติของสังคม” ด้วยการท้าทายความคิดความเชื่อตามขนบจารีตแบบเดิม นำเสนอด้านมืดหรือสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ หรือกระทบต่อผู้มีอำนาจในสังคม เช่น ประเด็นเกี่ยวกับเพศที่สาม การเหยียดสีผิว การข่มขืน การใช้ถ้อยคำหยาบคาย ยาเสพติด การฆ่าตัวตาย การใช้ความรุนแรง ทัศนคติทางการเมืองและศาสนา เรื่องลามก เรื่องเวทมนตร์ลี้ลับ ฯลฯ
ปี 2011 ผู้จัดงานได้ขยายขอบข่ายเรื่องเสรีภาพในการอ่านไปสู่โลกอินเทอร์เน็ต โดยกำหนดให้วันพุธของสัปดาห์หนังสือต้องห้ามเป็นวันเว็บไซต์ต้องห้าม (Banned Websites Awareness Day) ทั้งนี้มีผลสำรวจระดับชาติโดยสมาคมบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนอเมริกัน (American Association of School Librarians - AASL) ระบุว่า โรงเรียนกว่า 94% ใช้ซอฟต์แวร์ในการกลั่นกรองเนื้อหาเว็บไซต์ โดยมีการบล็อคโซเชียลมีเดียถึง 88% บล็อคการแชท 74% บล็อคเกม 69% บล็อคเว็บไซต์ที่ให้บริการวิดีโอ เช่น ยูทูป 66% ในขณะที่ AASL เชื่อมั่นว่าการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ 21 แต่หลายโรงเรียนก็เข้มงวดจนถึงขั้นปฏิบัติไปไกลเกินกว่าข้อเรียกร้องในสนธิสัญญาว่าด้วยการปกป้องเด็กจากอินเทอร์เน็ต
งานสัปดาห์หนังสือต้องห้ามมิได้เป็นเพียงการเชิญชวนให้เหล่านักอ่านมาทำความรู้จักกับหนังสือที่ถูกสังคมปฏิเสธ แต่ยังเรียกร้องเสรีภาพทางปัญญาให้กับห้องสมุด โรงเรียน และร้านหนังสือ และเตือนให้เห็นถึงภัยของอำนาจสั่งการที่คอยกำหนดทิศทางสารสนเทศในสังคมที่ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพ ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การจัดนิทรรศการ การออกร้านขายหนังสือ กิจกรรมสนทนากับนักเขียน การประกวดเขียนบทความ กิจกรรม “อ่านออกเสียง” ประโยคที่ชื่นชอบจากหนังสือต้องห้าม ฯลฯ
ในงานนี้ องค์การนิรโทษกรรมสากลยังเน้นประเด็นเรื่องการปกป้องบุคคลซึ่งเขียน ตีพิมพ์ หรืออ่านหนังสือต้องห้าม โดยชี้ให้เห็นว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีคนที่ถูกฆ่า จำคุก หรือคุกคามในรูปแบบต่างๆ จากอำนาจรัฐ และกระตุ้นให้สังคมหันมาสนใจและลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนเหล่านั้นโดยการประสานไปยังหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังรวบรวมประวัติและสถานะปัจจุบันของนักเขียนที่กำลังถูกคุกคามอยู่ในหลายประเทศ อาทิเช่น อาเซอร์ไบจาน จีน คิวบา อียิปต์ แกมเบีย อิหร่าน เมียนมา รัสเซีย และศรีลังกา
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หนังสือต้องห้าม ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่น่าสนใจหลายแง่มุม อาทิ เจฟฟ์ จาโคบี (Jeff Jacoby) คอลัมนิสต์จากบอสตันโกลบ (Boston Globe) กล่าวว่า “หนังสือส่วนใหญ่ในบัญชีรายชื่อของสัปดาห์หนังสือต้องห้าม เป็นหนังสือทั่วไปที่พ่อแม่พิจารณาว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม เพราะมีความรุนแรง ส่อไปในทางเพศ มีคำหยาบคาย หรือไม่เหมาะสมกับวัย แต่ไม่ถึงกับเป็นหนังสือที่ถูกกำจัดออกไปจากโลกหนังสือ”
เจสซามิน เวสต์ (Jessamyn West) อดีตที่ปรึกษา ALA กล่าวว่า “ประเด็นส่วนใหญ่ที่ถูกนำเสนอในงานเป็นเรื่องที่รับรู้กันทั่วไปอยู่แล้ว นั่นคือมีหนังสือจำนวนหนึ่งที่พ่อแม่เห็นว่าลูกไม่ควรอ่าน ในขณะที่ประเด็นเรื่องการเซ็นเซอร์หนังสือเป็นเรื่องยากมากสำหรับบรรณารักษ์ในการตัดสินใจหรือบริหารจัดการ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการจำกัดการเลือกซื้อหนังสือ”
ส่วน ดัก อาร์เชอร์ (Doug Archer) บรรณารักษ์และอดีตผู้บริหารของ ALA มีความเห็นว่า “รายชื่อหนังสือดังกล่าว ถูกคัดค้าน แต่ไม่เคย ถูกสั่งห้าม แม้ว่าหนังสือเหล่านี้จะถูกนำออกไปจากห้องสมุด แต่ก็ยังสามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือ และรัฐบาลก็ไม่เคยออกประกาศใดๆ ดังนั้นการเซ็นเซอร์จึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเพราะว่าห้องสมุดและบรรณารักษ์ปรารถนาดีจึงได้ลิดรอนเสรีภาพในการอ่าน นั่นแปลว่าพวกเรากำลังไม่ซื่อสัตย์หรือเปล่า? ไม่เลย... พวกเราเพียงแค่กำลังทำหน้าที่ของเรา”
10 อันดับหนังสือต้องห้าม ปี 2016
รวบรวม แปล และเก็บความโดย นางทัศนีย์ แซ่ลิ้ม ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, กันยายน 2560
ที่มาเนื้อหาและภาพ