“ในพระสิริโฉมเป็นที่มาแห่งนาม”
กล้วยไม้เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง
ความรัก ความสง่างามแสดงถึงความประเสริญ
และความงามอันละเมียดละไม
แคทลียาควีนสิริกิติ์
“มิสเตอร์แบลค”แห่งบริษัท แบลคแอนด์ฟลอรี่ ผู้ผสมกล้วยไม้ระหว่างลูกผสมระหว่างแคทลียาโบเบล กับแคทลียาโอเบรียนเนียน่า อัลบา จนได้กล้วยไม้ลักษณะดี "หาที่ติมิได้" จนได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลระดับสูงจากสหพันธุ์ไม้แห่งชาติของอังกฤษ แต่เขากลับหาชื่อที่เหมาะสมกับดอกกล้วยไม้นั้นไม่ได้ วันหนึ่งเขาได้รับพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระอิริยาบถต่างๆ เมื่อครั้งที่ทรงเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดงานเป็นปฐมฤกษ์ ในการจัดประกวดกล้วยไม้ประจำปี ณ บริเวณสวนลุมพินี มิสเตอร์แบลคผู้เห็นภาพถึงกับกล่าวว่า "จากการที่ได้มีโอกาสเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรแล้ว ทำให้ผมตัดสินใจทันที จะขอพระราชทานนามาภิไธย "ควีนสิริกิติ์" ให้เป็นสิริมงคลนามแก่ต้นไม้นี้ เพราะพระองค์ท่านมีพระสิริโฉมโสภาอะไรอย่างนั้น”
ก่อนถึงวันผลิบาน
วันหนึ่งในปีสุดท้ายก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรได้เล่าให้เพื่อนร่วมชั้นฟังอย่างสนุกสนานว่า มีหมอดูคนหนึ่งได้ทำนายที่วังสเด็จพ่อว่า ต่อไปภายหน้าเธอจะได้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงศ์ตระกูล จะมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ถึงพระราชินี เพื่อนๆที่ล้อมวงต่างกันชอบใจ และนับแต่นั้นมาเพื่อนๆทั้งหลายก็ขนานนามว่า “ราชินีสิริกิติ์”
จากการสนพระทัยและทรงมีพรสวรรค์ในวิชาดนตรีเป็นพิเศษ จนครูผู้ฝึกสอนดนตรีออกปากชมอย่างจริงใจว่า พระองค์ทรงมีวิญญาณศิลปินติดตัวมาแต่กำเนิด โดยสามารถอ่านโน๊ต และร้องเพลงได้ถูกต้อง ตามจังหวะอย่างน่าอัศจรรย์ใจ สามารถทรงเปียโนได้ไพเราะเพราะพริ้ง ยิ่งกว่าเด็กทุกคนในวัยเดียวกัน แม้พระปรีชาสามารถจะไม่ถึงขั้นอาชีพหรือขั้นนักดนตรีเอกของโลกในด้านเปียโนก็ตาม แต่ฝีมือก็ถือเป็นเลิศ ยากนักที่เด็กหญิงที่มีอายุเพียง ๑๓ ปีจะสามารถกระทำได้ และด้วยเหตุที่ทั้งสองพระองค์ ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในการดนตรีเช่นเดียวกัน ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพิเศษ
“สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรเป็นราชินี”
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ ขณะทรงขับรถพระที่นั่งออกจากเมืองโลซานน์ ทรงรับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ระหว่างนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์บุษบาและหม่อมหลวงบัว กิติยากร เข้าเฝ้าฯ 1 ปีต่อมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล พระบิดา และโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีหมั้นเป็นการภายใน เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ. 2492 เมืองโลซานน์ ภายหลังจากเสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินี”
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิต์ กิติยากร ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ทรงดำรงดำแหน่งพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 28 เมษายน พุทธศักกราช 2493 เป็นปีที่ 5 ในราชการปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป.พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
กำไรของแผ่นดิน
“กำไรของแผ่นดิน”คำนี้ได้พระราชทานไว้เมื่อผู้ถวายงานในโครงการฟาร์มตัวอย่างกราบบังคมทูลว่า ได้จ้างชาวเขามาทำงานในฟาร์มตัวอย่างที่บ้านขุนแตะ จังหวัดเชียงใหม่ เพียง 40 คน ถ้าจ้างคนงานมากๆ อาจจะต้องขาดทุน เพราะผลผลิตยังน้อยอยู่ พระองค์มีรับสั่งว่า “อย่ามาพูดเรื่องกำไรขาดทุนกับฉันนะ ฉันต้องการให้คนจนมีงานทำมากๆ ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน”...คำว่า “กำไรของแผ่นดิน” คือ การที่ทำให้คนยากจนในชุมชนนั้นๆมีงานทำมีรายได้ไปเลี้ยงครอบครัวไม่ต้องไปเป็นโจรขโมย หรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติ รวมทั้งไม่ตัดไม้ทำลายป่า ชุมชนนั้นจะมีความสุขความสงบ หากทุกชุมชนเป็นเช่นนี้ ก็จะแผ่วงกว้างเป็นความสุขความสงบของตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศชาติ
ต้นแบบดอกไม้แห่งคุณค่า
นับจากวันที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น “แม่ของแผ่นดิน” ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อปวงชนชาวไทยยาวนานต่อเนื่องกว่า 40 ปี เพื่อให้ประชาชนของพระองค์มีความสมบูรณ์พูนสุข แม้จะล่วงเลยกว่า 85 พรรษา แล้วยังคงเสด็จไปทรงติดตามความกว้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆพร้อมกับเยี่ยมเยือนทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎร “แคทลียาควีนสิริกิติ์” ดอกไม้แห่งคุณค่า ดอกไม้แห่งต้นแบบความดีงาม
“เกิดมาครั้งนี้ ได้มามีโอกาสเป็นพระราชินี
และได้มารับความรักความไว้วางใจจากประชาชนนี้
คุ้มค่า คุ้มค่ากว่าอะไรทุกอย่าง…
ให้เปลี่ยนอะไรอีก กลับไปเป็นเด็กใหม่ก็ไม่ขอเปลี่ยนแปลง
ชอบที่จะไปเยี่ยมราษฎรเช่นนี้”
ที่มา
- สารคดีพิเศษ เฉลิมพระเกียรติ แม่ของแผ่นดิน วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 24 ฉบับที่ 532 องอาจ ตัณฑวณิช ชมรมการจัดการทรัพยากรการเกษตร
- สมเด็จพระนางเจ้า ในดวงใจประชาราษฏร์ อภิญญา ราชนนธิการ บันทึกสยาม
- พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ปวฎาพร พชรมน