H.G. wells นักเขียนชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า ความศิวิไลซ์เป็นการแข่งขันระหว่างการศึกษากับความหายนะ หากปรารถนาให้การศึกษาชนะ เราต้องเร่งเปลี่ยนแปลงโรงเรียนของเราอย่างเร่งด่วน ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ทั่วโลกกำลังถูกปฏิรูป แต่มันยังไม่เพียงพอ อันที่จริงแล้วเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหลักการและกระบวนการการศึกษาสาธารณะอย่างสิ้นเชิง
เซอร์เคน โรบินสัน นักการศึกษาชาวอังกฤษอธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า มนุษย์และโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรและความบีบคั้นจากทรัพยากรที่มีจำกัด และความสัมพันธ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ระหว่างมนุษย์และความก้าวล้ำด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความท้าทายมากมายที่เป็นผลโดยตรงจากความโกลาหลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งยังคงสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก “ณ วันนี้ ชนรุ่นเราและรุ่นที่เราให้การศึกษาต้องรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น ปัญหาก็คือระบบการศึกษาได้หยั่งรากลงในคุณค่าและวิถีทางของลัทธิอุตสาหกรรมนิยม ซึ่งเราไม่สามารถจะพัฒนาให้ระบบนี้มีประสิทธิภาพไปกว่านี้ ทางออกที่เหมาะสมก็คือเราต้องการกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการศึกษา”
ระบบอุตสาหกรรมการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับความต้องการของแต่ละบุคคล หากแต่มุ่งเน้นมาตรฐานที่เหมือนๆ กันในหลักสูตร วิธีการสอน และการวัดประเมินผล ประเทศชาติมักมองนักเรียนเป็นเสมือนวัตถุดิบและผลลัพธ์ทางสถิติ กระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาที่เห็นคุณค่าในพรสวรรค์ของนักเรียนมิได้เป็นเพียงเรื่องทฤษฎีในอุดมคติ แต่ได้เกิดขึ้นแล้วเป็นรูปธรรมที่โรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งของอังกฤษ จากการพัฒนาและพิสูจน์แนวคิดของ ริชาร์ด เกอร์เวอร์ (Richard Gerver) ซึ่งเป็นทั้งนักคิด นักพูด และนักการศึกษา
ปฏิรูปการศึกษา เพื่อพลเมืองของศตวรรษที่ 22
เกอร์เวอร์ กล่าวว่า “การศึกษาที่พวกเราคุ้นเคยมาตลอดนั้นถูกผลักดันด้วยวิธีคิดแบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ ระบบ และนโยบายระยะสั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อนาคตที่ลูกหลานเราจะใช้ชีวิต เราต้องไม่ลืมว่าเด็กที่เกิดขึ้นมาในวันนี้ไม่ใช่เป็นแค่พลเมืองของศตวรรษที่ 21 แต่เขาจะกลายเป็นคนของศตวรรษที่ 22 ด้วย ดังนั้น คำถามแรกที่ควรถามก็คือ เด็กของเราจำเป็นต้องเติบโตไปเป็นคนแบบไหน ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอด แต่เพื่อให้พวกเขาเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งแบบทวีคูณ เราควรตั้งคำถามนี้กับบรรดานักการศึกษา ผู้นำธุรกิจ องค์กรการกุศลหรือองค์กรทางสังคม ชุมชนด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ กลุ่มกีฬา ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในสังคม และควรถามกลับมายังตัวเองด้วยว่าแล้วเรากำลังทำอะไรเพื่อช่วยตอบคำถามนี้”
เขายังวิพากษ์ระบบการทดสอบนานาชาติอย่างเช่น PISA (Programme for International Student Assessment) ว่าไม่ใช่เครื่องมือวัดผลที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม แต่เป็นการวัดผลสถานภาพของสิ่งซึ่งเป็นอยู่ สิ่งที่ตามมาหลังจากการนำผลประเมินไปใช้จึงเป็นเพียงแค่มาตรการระยะสั้นที่มุ่งสร้างระบบที่สมบูรณ์แบบแต่มักจะล้าสมัย รายงานของ OECD ประจำปี 2013 บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าประเทศซึ่งมีค่านิยมฝังหัวอยู่กับใบปริญญาหรือคุณวุฒิทางการศึกษามักจะเป็นประเทศซึ่งคนหนุ่มสาวมีชีวิตอยู่ในสถานที่ทำงานที่มีบรรยากาศทันสมัยแต่กลับมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ไม่หมาะสมไปจนถึงย่ำแย่ที่สุดในการใช้งาน
“โลกของวันนี้และวันพรุ่งนี้ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องของการแข่งขัน มันยังเกี่ยวข้องกับการร่วมมือกันด้วย อนาคตของโลกขึ้นอยู่กับพวกเราที่ต้องร่วมกันใช้สติปัญญาหาหนทางแก้ไขปัญหาซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยคนรุ่นก่อนหน้า ถ้าเราไม่สามารถหาวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่กำลังเผชิญอยู่นี้ได้ พวกเราก็ไม่มีอนาคต” นั่นจึงเป็นที่มาของความจำเป็นที่ต้องมีวิธีการใหม่ๆ ในการคิดและปฏิบัติ ซึ่งก็คือการเรียกร้องต้องการ ‘ระบบการศึกษาแบบใหม่’
เกอร์เวอร์ เชื่อว่า เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองตั้งแต่เกิด พวกเขาเรียนรู้ที่จะมอง ฟังเสียง ดมกลิ่น รับรู้ประสาทสัมผัส หัดพูด และรู้จักเลียนแบบพฤติกรรม ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยมีใครสอนพวกเขาว่าการเรียนรู้คืออะไร และการเรียนรู้ต้องทำอย่างไร มันเป็นโลกที่น่าอัศจรรย์ แต่เมื่อเขาเข้าโรงเรียน ครูกลับบอกให้พวกเขาละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยสนใจเอาไว้หลังบานประตู แล้วบอกว่า “ครูจะสอนสิ่งที่สำคัญมากกว่า” ครูได้กำหนดเอาไว้หมดสิ้นว่าเด็กควรจะเรียนอะไรและถูกทดสอบเรื่องอะไร การศึกษาในระบบโรงเรียนได้กำจัดธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ออกไป และทำให้นักเรียนสูญสิ้นความสามารถในการควบคุมชีวิตตนเองและเดินออกจากระบบการศึกษาไปสู่โลกแห่งการงานด้วยความทุกข์
“การศึกษาควรจะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจถึงพลังและศักยภาพของตนเองที่จะเดินไปสู่อนาคตอย่างองอาจ ช่วยให้พวกเขามองหาแรงบันดาลใจ ความสนใจ ความใฝ่ฝัน และทักษะอย่างมีความเป็นตัวของตัวเอง ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงคุณค่าของการมีชีวิตทั้งในระดับปัจเจก และในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน สังคม และโลกใบนี้”
แน่นอนว่าหากระบบการศึกษายังมีลักษณะครอบงำและควบคุม เด็กๆ ย่อมไม่มีวันเดินตามความใฝ่ฝันของตนเองได้ ในอดีตงานของครูคือการส่งต่อความรู้ให้กับนักเรียน มันอาจจะเป็นรูปแบบการศึกษาที่เหมาะกับยุคอุตสาหกรรม แต่เด็กทุกวันนี้อาจโต้แย้งว่า “หนูไม่ได้ต้องการให้ครูสอนเรื่องเหล่านี้เสียหน่อย” เพราะพวกเขาสามารถค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง มีผลการวิจัยว่ากระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์กว่า 70-75% เกิดขึ้นนอกห้องเรียน ดังนั้นการศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องของการควบคุมแต่เป็นเรื่องการเสริมพลัง และงานของครูก็คือการเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่เหมาะสม
เปลี่ยนโรงเรียนยอดแย่ เป็นโรงเรียนยอดเยี่ยมของอังกฤษภายใน 4 ปี
แนวคิดของเกอร์เวอร์ตกผลึกมาจากการศึกษาค้นคว้าและประสบการณ์โดยตรงจากการทำงานในฐานะครูใหญ่ บทพิสูจน์ที่สำคัญของเขาอยู่ที่โรงเรียนประถมศึกษาเกรนจ์ (Grange School) มณฑลดาร์บิเชียร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตกอยู่ในสภาวะจวนเจียนที่จะล้มเหลว เด็กนักเรียน ครู และผู้ปกครองต่างก็หมดความเชื่อมั่นต่อการเรียนการสอน แต่ในฤดูร้อนปี 2001 โรงเรียนได้เริ่มต้นเดินทางสู่การปฏิรูปตัวเองโดยมี เกอร์เวอร์ ครูใหญ่คนใหม่นำพาให้โรงเรียนเกรนจ์ฟันฝ่าอุปสรรคตามทฤษฎีที่เขาพัฒนาขึ้น กระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ยึดเอาการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหัวใจในการเปลี่ยนแปลง จนเมื่อถึงปี 2005 ความงอกงามก็บังเกิดขึ้น โรงเรียนประถมศึกษาเกรนจ์ได้รับการยอมรับว่า เป็นโรงเรียนที่มีความสร้างสรรค์และนวัตกรรมเยี่ยมยอดที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษ วิกฤตการณ์อันเลวร้ายได้ผ่านพ้นไปด้วยคำ 3 คำ นั่นก็คือ การมีชีวิต “living” การเรียนรู้ “learning” และ เสียงหัวเราะ “laughing”
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บรรดาครูตั้งคำถามกับตัวเองว่า กำลังทำอะไรและทำไม อะไรคือเหตุผลที่การสอนไม่ประสบความสำเร็จ เกิดความชัดเจนขึ้นอย่างรวดเร็วว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนจัดการศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับเด็ก ไม่ได้มอบทักษะที่จำเป็น และไม่ได้พัฒนากิจกรรมที่ยืนอยู่บนความสนใจหรือประสบการณ์ของนักเรียน
เกอร์เวอร์ ชวนให้ครูร่วมกันวิเคราะห์ว่า เด็กเกรนจ์จะเป็นผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อครูให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการเรียนรู้ จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ตอบสนองต่อปัญหา ความท้าทาย ความล้มเหลว และความสำเร็จ พวกเขาจะมีวิธีการสื่อสารอย่างไรในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงกับผู้คนที่เปลี่ยนไป พวกเขาจะจัดการกับชีวิตตนเองอย่างไร พวกเขาจะประยุกต์ทักษะเพื่อให้สามารถต่อยอดการเรียนรู้และสร้างโอกาสที่ดีกว่าให้กับตัวเองได้อย่างไร และพวกเขาจะเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างให้เข้ากับบริบทแห่งอนาคตได้อย่างไร
เกรนจ์จึงสร้างสรรค์นโยบายการเรียนรู้รายบุคคลขึ้น เป็นการพัฒนาแนวทางที่เปิดโอกาสให้ครูได้วิเคราะห์นักเรียนทีละคนอย่างเป็นระบบ เกี่ยวกับพัฒนาการในการเรียนรู้และความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ต่อไปในอนาคต จุดเริ่มต้นนี้ทำให้โรงเรียนสามารถยึดเอานักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการเรียนรู้ทักษะกับการเรียนรู้เนื้อหาวิชา
โรงเรียนเกรนจ์ได้พัฒนาวิสัยทัศน์ที่จะส่งเสริมเรื่องการเป็นผู้ประกอบการและกิจกรรมซึ่งสร้างความเชื่อมโยงด้วยทักษะและประสบการณ์ โดยสร้างเมืองจำลอง “เกรนจ์ตัน” ขึ้นในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดประสบการณ์ชีวิตที่กว้างขึ้น มีโอกาสนำทักษะที่ได้จากห้องเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งเกิดความเข้าใจเรื่องการเป็นพลเมือง เกรนจ์ตันถูกออกแบบให้เด็กๆ ต้องใช้ทักษะและการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา รู้จักวางกลยุทธ์ และสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างแคล่องแคล่ว เพื่อทำให้กิจการของพวกเขาเจริญก้าวหน้า
เมืองจำลองบริหารงานโดยสภานักเรียน สมาชิกสภาได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งของทุกๆ ห้องเรียน ส่วนประธานสภามาจากกระบวนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งนักเรียนทุกคนจะออกเสียงเลือกหนึ่งในผู้ลงสมัครทั้ง 4 คน ในเมืองเกรนจ์ตันมีกิจการที่หลากหลายซึ่งเด็กๆ เป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ ร้านขายของ ห้องสมุด คณะสำรวจสิ่งแวดล้อม คาเฟ่ภาษา พิพิธภัณฑ์ มีเดียเซ็นเตอร์ นักเรียนแต่ละกลุ่มได้รับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาซึ่งมีความร่วมมือกับโรงเรียน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สถานีโทรทัศน์และวิทยุบีบีซี หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ร้านค้า ASDA พิพิธภัณฑ์อีราวอช และบริษัทบัตรเครดิต EGG
ในอังกฤษมีการถกเถียงครั้งใหญ่เกี่ยวกับความสมดุลระหว่างความรู้และทักษะ และหาคำตอบว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและการเรียนรู้ คำตอบก็คือ ระบบการศึกษาต้องพัฒนาปัจเจกบุคคลที่มีความมั่นใจในตัวเอง มีความสร้างสรรค์ และรู้จักแก้ไขปัญหา เพื่อให้พลเมืองในอนาคตสามารถเอาตัวรอดได้บนโลกซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมา โลกซึ่งเทคโนโลยีตกรุ่นตั้งแต่ยังไม่ถูกผลิต และโลกซึ่งโครงสร้างของการจ้างงานและการประกอบอาชีพเปลี่ยนไปเกินกว่าที่จะคาดถึง ด้วยเหตุนี้โรงเรียนจึงต้องสร้างบรรยากาศซึ่งเยาวชนสามารถปรับตัว แก้ไขปัญหา และตอบสนองอย่างสร้างสรรค์ต่อความท้าทายและประเด็นที่กว้างขวาง เพื่อไม่ให้เด็กๆ ถูกกักขังไว้ในกรอบเดิมๆ
ริชาร์ด เกอร์เวอร์ ได้กลั่นกรองแนวคิดและประสบการณ์ของเขาเป็นหนังสือ “Creating Tomorrow’s Schools Today” ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าครูและนักการศึกษาแห่งศตวรรษนี้ไม่อ่านไม่ได้ อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากเซอร์เคน โรบินสัน เป็นผู้เขียนคำนิยม หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านให้ร่วมขุดคุ้ยคำตอบสำคัญด้านการศึกษาที่เกอร์เวอร์ได้ชี้ชวนให้เกิดการตั้งคำถาม ทั้งยังอธิบายถึงกลยุทธ์ที่ใช้เมื่อครั้งทำหน้าที่เป็นครูใหญ่เพื่อฟื้นฟูปรับปรุงโรงเรียนประถมศึกษาเกรนจ์ นอกจากนี้เขายังบอกเล่าสิ่งที่ได้พบเห็นจากโรงเรียนต่างๆ ในเกือบทุกทวีปที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน รวมทั้งบทสนทนาด้านการศึกษาระหว่างเขากับบรรดาครูและนักวิสัยทัศน์ชั้นนำ อาทิ สตีฟ วอซเนียก ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิล และข้อเสนอบริบทของระบบการศึกษาที่จำเป็นหรือ “ภูมิทัศน์ใหม่ทางการศึกษา” ซึ่งต้องตระเตรียมไว้ให้กับเด็กในวันนี้เพื่อที่จะเติบโตและใช้ชีวิตในอนาคต
แปลและเรียบเรียงจาก
วีดิทัศน์การบรรยายหัวข้อ Creating schools that prepare for the future โดย Richard Gerver
บทความเรื่อง Grangeton Grange Primary School’s Journey into the Creative Curriculum
บทสัมภาษณ์ Richard Gerver หัวข้อ The keys to the education transformation
คำนิยมหนังสือเรื่อง Creating Tomorrow’s Schools Today โดย Sir Ken Robinson
แหล่งภาพ
เว็บไซต์ grangeton.uk
เผยแพร่ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2560