ก่อนจะแตะขอบฟ้าไปรู้จักกับคณะสุดแนว มารู้จักตัวเองกันก่อนดีกว่า !!!
หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับเด็กมหาวิทยาลัย คือไม่มีความสุขกับการเรียนในคณะของตัวเอง บางคนเรียนเพราะรอสอบคณะอื่นเลยเรียนไปก่อน บางคนถูกผู้ปกครองหรือคนรอบข้างบังคับ แต่เชื่อว่ามีอีกหลายคนที่ตัดสินใจเลือกจากความคิดที่ว่า “ก็ไม่รู้จะเรียนอะไรดี”, “คะแนนถึงคณะนี้ ก็เอาอันนี้แหละ”, “เรียนให้จบปริญญาตรีก่อน จบแล้วค่อยเปิดธุรกิจส่วนตัว” สาเหตุหลักๆ ของความรู้สึกแบบนี้ส่วนมากมักจะเกิดจากการที่เราไม่เคยทำความรู้จักตัวเอง เรามี Tips & Tricks ง่ายๆ 5 ข้อ จาก Life Design Institute ที่ศึกษาเรื่องการเข้าใจชีวิตและการออกแบบชีวิตมาแนะนำน้องๆ กัน ไปดูกันเลย !
1. แค่ปรับวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน
>>น้องๆ เคยได้ยินคำว่า “MINDSET” กันไหม ... แปลว่า “ความคิดที่อยู่ในจิตใต้สำนึก” ซึ่งน้องกับเพื่อนไม่มีทางมีเหมือนกัน 100% เพราะความคิดนี้จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่แต่ละคนได้ผ่านมาในชีวิต โดยเจ้า MINDSET นี่แหละที่เป็นตัวสำคัญต่อพฤติกรรมที่เรามีต่อเรื่องต่างๆ รวมถึงการตัดสินใจของเราด้วย เช่น ตัดสินใจคบแฟน ตัดสินใจเรียนพิเศษ หรือตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัย
>>Dr.Carol S. Dweck จากมหาวิทยาลัยStanford Universityได้แบ่ง “MINDSET” ออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ GROWTH MINDSETและ FIXED MINDSETตามภาพด้านล่างนี้
ขอบคุณรูปจาก School of CHANGE MAKERS
เห็นแบบนี้แล้วรู้สึกยังไงบ้าง ... น้องบางคนตั้งข้อจำกัดให้กับตัวเอง “คณะนั้นมีแต่คนเก่ง” “คณะนั้นไม่มีงานทำ”
“คณะนี้ไม่เจ๋งเท่าเพื่อน” ลองปรับความคิดให้ตัวเองใหม่ ตัดคำพูดลบๆ ออกไปให้หมด “เราจะได้เรียนรู้กับคนเก่งๆ” “ถ้าเราเชี่ยวชาญงานนี้ ยังไงเราก็ต้องมีงานทำ” “คณะนี้แหละคือสิ่งที่เรารักจริงๆ” ... พยายามปรับวิธีคิดแบบนี้ในทุกๆ เรื่องที่เข้ามาในชีวิต พอใจเราเริ่มเปิด ไม่มีความคิดลบๆ มาปิดกั้น ก็ไปขั้นตอนที่ 2 กันเลย
2. อย่าถามตัวเองว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ให้ถามว่า “โตขึ้นอยากทำอะไร”
>>เปลี่ยนคำแล้วชีวิตเปลี่ยน!! เพราะการถามว่า ‘อยากเป็นอะไร’ คำตอบที่น้องๆ จะได้มา แน่นอนเลยว่าจะกลายเป็นอาชีพ เช่น อยากเป็นหมอ นางพยาบาล วิศวกร ฯลฯ แต่หากถามว่า ‘อยากทำอะไร’ คำตอบจะออกมาเป็นการกระทำต่างๆ มากมาย เช่น อยากรักษาคน อยากออกแบบโปสเตอร์ อยากสร้างบ้าน อยากทำภาพยนตร์อยากเป็นฟรีแลนซ์
>>การหาว่าจะเรียนอะไรดีจากคำว่า ‘อยากเป็น’ ทำให้ติดอยู่กับคณะบางคณะมากเกินไป “จะเป็นอาชีพนี้ ยังไงก็ต้องเรียนคณะนี้” หารู้ไม่ว่าถ้าลองเริ่มจาก ‘อยากทำ’ แล้วดูว่ามีคณะไหนเปิดสอนทักษะที่เราต้องการจริงๆ บ้าง จะมีคณะแปลกๆ ที่ชื่อไม่คุ้นให้รู้จักอีกเยอะมาก ซึ่งบางทีคณะชื่อแปลกๆ อาจจะเหมาะกับสิ่งที่เราอยากทำที่สุดก็ได้เช่น “อยากรักษาคนเหรอ รักษาแบบไหนล่ะ ถ้าตามหลักวิชาการตะวันตกก็ไปเรียนแพทย์หรืออยากผลิตสื่อทางการแพทย์ก็เรียนเทคโนโลยีการศึกษาก็ได้”
>>คำตอบจะออกมาได้เยอะมากจริงๆ ถ้าวิธีนี้ยังนึกไม่ออกอยู่ดีว่าโตขึ้นอยากทำอะไร ลองไปดูข้อต่อมากันเลย
3. รู้จักกับ PASSION และ SKILL
>>จากคำว่า “อยากทำอะไร” จริงๆ แล้วถ้ามองให้ลึกลงไปอีก ก็คือการที่เรารู้ว่าเรากำลัง “สนใจ” อะไรอยู่นั่นเอง สิ่งไหนที่เราสนใจมากเป็นพิเศษเราเรียกว่า PASSION ลองนั่งนึกดูซิว่าตัวเองสนใจกับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ อะไรก็ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น ฟุตบอล เกม หนังสือการ์ตูน การออกกำลังกาย ดูซีรีย์ ฯลฯ ลองนึกแล้วเขียนดู จะเป็นเรื่องที่ดูไร้สาระแบบนี้ หรือจริงจังอย่างการซ่อมรถ ภาษาอังกฤษ การท่องเที่ยว ฯลฯ ยิ่งเขียนออกมาเยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็ยิ่งดี
>>เราสนใจอะไรนั้น เก็บไว้ก่อน คราวนี้ลองมาดู SKILLหมายถึงความสามารถของเรามีอะไรบ้าง ไม่จำเป็นต้องพิเศษกว่าคนอื่นก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าทำได้ดี เช่น จับจังหวะเพลงได้ดี ความจำดี พูดดี วาดรูปดี มีเพื่อนง่าย คิดเลขเร็ว ฯลฯ ระหว่างนึก ลองเขียนลงไปด้วย แล้วอย่าคิดว่าสิ่งนั้นเราเก่งจริงหรอ คนอื่นทำได้ดีกว่า ให้คิดแบบ GROWTH MINDSET ว่าเราเชื่อว่าเราทำสิ่งๆ นี้ได้ดีจริงๆ นะ..คราวนี้เราก็จะได้ทั้ง PASSION และ SKILLเรียบร้อย
>>ลองเอามันมาจับคู่กันดู แล้วดูว่านั่นคือสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ในอนาคตรึเปล่าเช่น PASSION กับหนังสือการ์ตูนเป็นอย่างมาก ควบคู่ด้วย SKILLที่เรารู้สึกว่าเราวาดรูปได้ดี สองอย่างนี้รวมกันแล้วมันหมายถึงอนาคตเราอยากจะวาดการ์ตูนรึเปล่า? ถ้าคำตอบคือใช่ เราก็ลองไปหาคณะหรือหลักสูตรที่มีสอนการ์ตูนในแบบที่เราอยากวาด แล้วก็ไปเรียนเพื่อเพิ่มทักษะได้เลย
>>แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่จำเป็นว่าต้องจับคู่กันเสมอไปนะ ให้เอา PASSION เป็นหลักSKILLเราอาจจะยังไม่มีไม่เป็นไร เป็นสิ่งที่เราจะไปหาเพิ่มในมหาวิทยาลัย แต่ถ้ามีก็ทำให้เราเรียนได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้นนั่นเอง! ถึงจุดนี้บางคนอาจจะไปต่อได้แล้วว่าจะเรียนอะไร แต่บางคนที่ยังไม่รู้ ก็ลองดูข้อต่อไปก่อนนะจ๊ะ
4. มองหา IDOL
>>IDOL หรือบุคคลต้นแบบ เป็นเสมือนคนที่เราอยากจะไปให้ถึง น้องบางคนอาจจะมีไอดอลเป็นหมอเจี๊ยบ ลลนา พี่นิ้วกลม หรือพี่แสตมป์ ใครก็ตามที่เรารู้สึกว่าเราอยากจะมีชีวิตให้ได้แบบนั้น เราอยากเก่งแบบนั้น ลองลิสต์มาสัก 5 คน
>>คราวนี้ลองสละเวลาสักนิด ศึกษาชีวิตเขาดู เขาเรียนอะไรมา เขาเจออะไรถึงมาทำงานนี้ เขาสนใจอะไรเป็นพิเศษนะ แล้วความถนัดเขาคืออะไรเพียงแค่ 4 คำถามก็เพียงพอสำหรับไอดอลทั้ง 5 ของน้องๆ หลังได้คำตอบแล้วลองไล่อ่านดู น้องๆจะพบว่าชีวิตแต่ละคนช่างแตกต่างกันเสียเหลือเกิน แต่จะมีบางสิ่งบางอย่างของพวกเขาที่มีความคล้ายคลึงกัน สิ่งนั้นคืออะไรต้องวิเคราะห์และหาคำตอบให้ได้ อาจจะเป็นว่าทุกคนคือคนที่ชัดเจนในเส้นทางของตัวเอง ทุกคนเชื่อในเรื่องความพยายาม ทุกคนล้วนถนัดเรื่องการพูดเป็นพิเศษ
>>จุดร่วมของพวกเขา คือสิ่งที่เราอยากจะเป็น เพราะมันแปลว่าไม่ว่าเราจะชอบใครก็ตาม แต่ทุกคนล้วนมีบางสิ่งบางอย่างเพราะฉะนั้นหน้าที่ของน้องๆ ต่อจากนี้คือหาวิธีที่จะทำให้น้องๆมีบางสิ่งบางอย่างนั้นเหมือนอย่างไอดอลของน้องๆ ให้ได้ ก็จะทำให้น้องเริ่มรู้แล้วว่าจะหาหลักสูตรไหน จะเรียนต่ออย่างไร บางคนอาจจะเรียนตามไอดอลแต่อย่าลืมนะ สิ่งที่สำคัญคือเราเรียนเพื่อจะเอาอะไร หาสิ่งที่ทำให้เราเอามาใช้ในอนาคตให้ได้
5. ออกไปแตะขอบฟ้า
>>ผ่านมา 4 ข้อแล้วบางคนอาจจะยังสับสน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนอย่างไรดี นึกไม่ออกว่าสนใจอะไร ความถนัดคืออะไร ไอดอลเป็นใคร น้องไม่ผิดและไม่แปลกเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะงานนี้อุทยานการเรียนรู้ TK parkจัดขึ้นมาเพื่อน้อง!! และเมื่อน้องได้ลองอ่าน ลองฟัง ลองทำตามแต่ละกิจกรรมแล้ว ลองหันกลับมามองห้าข้อนี้ใหม่อีกครั้งนึง ถึงตอนนั้นน้องๆ อาจจะตอบตัวเองได้แล้วก็เป็นได้ ว่าเราเป็นใคร เราอยากจะเรียนอะไร แล้วเจอกันที่ตรงขอบฟ้านะน้อง!!!
แหล่งข้อมูล: Life Design Institute