Hate Speech vs. Free Speech
หากคนในสังคมออนไลน์ปราศจากความรับผิดชอบหรือขาดวุฒิภาวะในการสื่อสาร บ่อยครั้งโลกไซเบอร์ก็กลายเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยคำด่าทอ คำเหน็บแหนม คำพูดให้ร้ายกันและกัน “เมื่อเราถึงยุคที่เราสามารถแสดงออกได้ทุกอย่าง ทุกที่ทุกเวลา ทำให้เราทำทุกอย่างง่ายขึ้น เราอยู่หลังคีย์บอร์ด เราพูดอะไรก็ได้ ยิ่งเมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นในสังคมก็ยิ่งกระตุ้นให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก มากไปกว่านั้นคนที่บอกให้หยุดใช้ Hate Speech ก็กลับใช้ Hate Speech อีกรูปแบบหนึ่งมาใช้โจมตีฝ่ายตรงข้าม” วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ บรรณาธิการบริหารนิตยสารจีเอ็ม กล่าว
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยเรื่อง การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง โดยศึกษาพื้นที่ออนไลน์ของไทย 3 รูปแบบ ได้แก่กระดานสนทนาออนไลน์ เว็บไซต์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ พบว่า กลุ่มเป้าหมายหรือพื้นฐานความเกลียดชังของการใช้ hate speech มากที่สุด คือเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นความรุนแรงระดับที่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกล่าวหา กล่าวโทษรุนแรง ประณาม แฉ ว่าร้าย พูดจาดูหมิ่น เหยียดหยาม สบประมาท ทำให้ขบขัน ลดคุณค่า ทำให้ด้อยค่าในสายตาผู้อื่น เยาะเย้ยอย่างรุนแรง สมน้ำหน้า ทับถม ไปจนถึงเปรียบเทียบในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นไม่ใช่คน
งานวิจัยเรื่อง Hate Speech และข้อมูลที่อันตราย: ทางเลือกวิธีตอบโต้ทางการเมือง ของชาญชัย ชัยสุขโกศล ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ความกังวลต่อภัยคุกคามอันมาจากการเผยแพร่ความคิดความเห็นในโลกออนไลน์ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศเลือกใช้วิธีการเซ็นเซอร์ แต่สังคมที่ยึดมั่นในแนวทางของเสรีภาพ ไม่คิดว่า hate speech สมควรถูกแทรกแซงหรือปิดกั้นด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานศีลธรรมของสังคมนั้น เงื่อนไขเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้ hate speech ถือว่าผิดกฎหมาย คือเมื่อการแสดงออกนั้นเป็นการยุยงส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงทางกายภาพต่อผู้อื่น
งานวิจัยของชาญชัย ยังกล่าวถึงทางเลือกในการโต้ตอบ Hate Speech อีกหลายหนทาง ไม่ว่าจะเป็น Counter Speech ซึ่งเป็นการรับมือคำพูดที่เลวร้ายด้วยการโต้แย้งอย่างมีเหตุผล มีหลักฐานรองรับอย่างหนักแน่น และเชื่อถือได้ ส่วน การทำอารยะขัดขืนอิเล็คทรอนิคส์ (Electronic Civil Disobedience) เป็นการผสม
ผสานยุทธวิธีปฏิบัติการทางตรงโดยไร้ความรุนแรงเข้ากับความรู้ทางเทคนิคแบบแฮ็คเกอร์ เช่นการเคลื่นไหวของกลุ่ม Strano Network ที่เชิญชวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกให้ flooding หน้าเว็บของเว็บไซต์เป้าหมาย เพื่อประท้วงนโยบายการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของรัฐบาลฝรั่งเศส ส่วนอีกวิธีการหนึ่งคือ การป่วนทางวัฒนธรรม (Culture Jamming) ซึ่งใช้วิธีการเชิงสัญญะแฝงกลิ่นอายการต่อต้านโดยไร้ความรุนแรงผ่านสื่อสร้างสรรค์หลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติการศิลปะข้างถนนของ Princess Hijab ที่พ่นสีทับรูปโฆษณาข้างถนนให้เหมือนว่านายแบบนางแบบในเหล่านั้นกำลังสวมฮิญาบ เพื่อเป็นการโต้ตอบกระแสการเกลียดกลัวอิสลาม
ผลงานของ Princess Hijab
แหล่งข้อมูล
- หยุด Hate Speech โลกโซเชียล เริ่มง่ายๆ ที่ตัวเรา! จากเว็บไซต์ไทยรัฐ www.thairath.co.th เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557
- งานวิจัยเผย Hate Speech โลกออนไลน์ เน้นยั่วให้ชัง-ปมการเมืองมากสุด โดยสำนักข่าวอิศรา จากเว็บไซต์ www.isranews.org เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556
- งานวิจัยเรื่อง Hate Speech และข้อมูลที่อันตราย : ทางเลือกวิธีตอบโต้ทางการเมือง โดย ชาญชัย ชัยสุขโกศล จากเว็บไซต์ https://chaisuk.files.wordpress.com
แหล่งภาพ
- http://www.gopixpic.com
- http://www.geripal.org
- http://en.wikipedia.org/wiki/Princess_Hijab