การให้บริการอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2538 ในระยะแรกเป็นการเชื่อมต่อสัญญาณผ่านสายโทรศัพท์พื้นฐาน เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นก็สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายได้ ทั้ง wi-fi และผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ การใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว จากปี 2547 ที่มีผู้ใช้งานประมาณ 7 ล้านคน เพิ่มเป็นกว่า 18 ล้านคน ในปี 2556 ทั้งนี้กระทรวงไอซีทีได้สำรวจพบว่า ในปี 2557 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 7.2 ชั่วโมงต่อวัน หรือเท่ากับใช้เวลา 1 ส่วน 3 ของวัน อยู่กับหน้าจอ
ในระยะเวลาเพียง 10 ปี เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลมีศักยภาพเพิ่มขึ้นนับพันเท่าตัว
เดิมทีเดียวการใช้งานข้อมูลออนไลน์เกิดขึ้นผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะหรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเป็นหลัก จนไม่นานมานี้เองได้มีการคิดค้นและทยอยวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์แท็บเล็ตระบบปฏิบัติการต่างๆ โดยไอโฟน คินเดิล และแอนดรอยด์ออกมาในปี 2550 ส่วนไอแพดวางจำหน่ายปี 2553 ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าในเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น สัดส่วนคนไทยที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยอุปกรณ์โมบายได้แซงหน้าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะไปแล้ว
สถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยผ่านอุปกรณ์ชนิดต่างๆ ปี 2557
จากผลสำรวจการอ่านของคนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า คนไทยอ่านผ่านสมาร์ทโฟนและอุปแท็บเล็ตเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีเพียง 0.3 % เพิ่มเป็น 1.8 % ในปี ปี 2556 แม้จะดูเหมือนเป็นปริมาณที่น้อยนิด แต่อัตราการเติบโตนั้นสูงถึง 6 เท่าตัวในช่วงระยะเวลาเพียงสองปี ส่วนการอ่านทางคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 เท่า ขณะที่การอ่านจากหนังสือหรือกระดาษลดลงเพียงเล็กน้อย ชี้ให้เห็นว่าอุปกรณ์ไอทีมิได้ส่งผลกระทบต่อการอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษแต่อย่างใด แต่มีแนวโน้มที่คนจะอ่านผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งที่เป็นหนังสือกระดาษ อุปกรณ์ไอที และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
เปรียบเทียบการอ่านช่องทางต่างๆของคนไทย จากการสำรวจปี 2556 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ในต่างประเทศมีการวิจัยไว้ว่า สิ่งแวดล้อมแบบดิจิทัลซึ่งคนรุ่นใหม่สามารถเชื่อมต่อกับจักรวาลแห่งข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลาเพียงปลายนิ้วสัมผัส ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยตรงต่อพฤติกรรมการอ่านของมนุษย์ คนรุ่นใหม่จะเลือกเฟ้นอ่านเฉพาะสิ่งที่ต้องการจะนำไปใช้ประโยชน์ เครื่องมือการค้นหา (search engine) จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ข้อมูลที่ต้องการปรากฏอยู่ตรงหน้าในเวลาไม่กี่วินาที การอ่านผ่านทางหน้าจอจะเป็นกวาดสายตาอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งความสนใจไปที่คำสำคัญ (keyword) และไม่เป็นเส้นตรง (non‐linear reading) นอกจากนี้การอ่านอย่างลึกซึ้งจะเกิดขึ้นน้อยลงและการจดจ่อกับเนื้อหาที่อ่านก็จะน้อยลงด้วย
การใช้สายตาของคนรุ่นใหม่เพื่ออ่านเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเลือกอ่านหรือดูเฉพาะจุดที่สนใจและเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว
ปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เด็กดี กล่าวถึงพฤติกรรมการอ่านของคนยุคใหม่ไว้ว่า “คนจะรู้สึกว่าจะเข้าถึงข้อมูลเมื่อไหร่ก็ได้ อยากจะได้อะไรก็กดเสิร์ซดู แล้วก็ดูคร่าวๆ หยาบๆ เพราะฉะนั้นก็อาจจะน่ากังวลสำหรับการหาความรู้ใหม่ๆ เราจะเห็นว่าแม้แต่ข่าวต่างๆ หรือบทความต่างๆ ที่ฟีดอยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์คบางทีก็ไม่ได้มีคุณภาพมาก มีแต่อะไรที่หยาบๆ คร่าวๆ เน้นเร็ว เน้นดูฮือฮา จริงๆ แล้วก็ต้องรณรงค์คนที่เป็นผู้สร้างคอนเท้นท์ออนไลน์ให้สร้างคอนเท้นท์ที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงปรับตัว ไม่ใช่ว่ามันจะแย่แบบนี้ไปตลอด ต่อไปคอนเท้นท์ที่ฉาบฉวยในโลกออนไลน์อาจได้รับการตอบรับที่น้อยลง”
เทคโนโลยี 2.0 ทำให้โลกการอ่านออนไลน์ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวจากเว็บมาสเตอร์หรือผู้พัฒนาเนื้อหา แต่ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็น แชร์ข้อมูล รวมทั้งสวมบทบาทเป็นผู้สร้างเนื้อหาด้วยตัวเอง ชุมชนนักอ่านออนไลน์ในช่วงสิบปีนี้จึงเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์เด็กดี ซึ่งมีเยาวชนลองเขียนนิยายออนไลน์แบ่งปันกันอ่านนับแสนเรื่อง ก็จะมีผู้อ่านที่คอยเขียนแนะนำหรือวิจารณ์นิยายในเว็บ นอกจากนี้ยังมี Immortalbook กลุ่มคนที่บอกเล่าเรื่องราวหนังสือดีที่ตนมีอยู่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งจัดส่งหนังสือนั้นทางไปรษณีย์ให้ผู้อื่นได้อ่านต่อๆ กันไปตามลำดับการจอง เป็นต้น
หนังสือ ชายชราและทะเล ของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ซึ่งถูกโพสแบ่งปันกันอ่านในเฟซบุ๊ค Immortalbook
เพียง 1 วัน มีผู้จองคิวเพื่อรออ่านถึง 6 คน
คลิกที่นี่ เพื่อติดตามอ่านเนื้อหาฉบับเต็มและดาวน์โหลดหนังสือ “เต็มสิบ” 10 ปีทีเคพาร์ค : 1 ทศวรรษการอ่านของสังคมไทย
แหล่งข้อมูล
- รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2557 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- การสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2547-2556 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- บทคัดย่องานวิจัย Reading behavior in the digital environment: Changes in reading behavior over the past ten years จากเว็บไซต์ http://www.emeraldinsight.com/
แหล่งภาพ