สร้างนิสัยรักการอ่านอย่างไรตั้งแต่วัยเยาว์
“หนังสือทุกเล่มช่วยสร้างเสริมนิสัยรักการอ่านของเด็ก
การทำให้การอ่านกลายเป็นความต้องการส่วนลึกและต่อเนื่องจะเป็นเรื่องดีสำหรับตัวพวกเขาเอง"
– มายา แองเจโล นักเขียนชาวอเมริกัน
การอ่านกับพัฒนาการที่ดีนั้นมีความเชื่อมโยงกัน ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างก็สนับสนุนให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เพราะมันช่วยปลูกฝังนิสัยดีๆ มากมาย หากถามว่าแล้วเราควรจะเริ่มสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับลูกเมื่อไหร่ คำตอบคือตอนนี้เลย! ไม่เคยมีคำว่าเร็วเกินไป คุณสามารถเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ผลลัพธ์ก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ลูกของคุณจะมองการอ่านว่าเป็นนิสัยอย่างหนึ่งมากกว่าเป็นกิจกรรมพิเศษ และต่อไปนี้คือเทคนิคสำหรับการเริ่มต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่พร้อมแล้วกับการสร้างนิสัยรักการอ่าน
1. เตรียมหนังสือไว้ให้ใกล้มือ
จะสร้างนิสัยการอ่านต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง? แน่นอนว่าต้องมีหนังสือเด็กชุดคลาสสิกที่หลากหลายพอสำหรับการเริ่มต้น ให้เด็กๆ เลือกมาสักเล่มแล้วอ่านให้เขาฟัง เด็กวัยเตาะแตะมักชอบให้อ่านหนังสือเล่มเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พวกเขาก็ยังสนุก
2. ทำให้ช่วงเวลาเล่านิทานเป็นเรื่องสนุก
เรื่องสุดสนุกอาจกลายเป็นเรื่องสุดน่าเบื่อได้หากเล่าด้วยน้ำเสียงเดียวแบบโมโนโทน แต่สามารถทำให้ลูกสนุกผ่านการใช้เสียงต่างๆ มาประกอบการเล่า เด็กวัย 6 เดือนจะชอบการเล่าเรื่องแบบเล่นละคร และจะเริ่มหัดเลียนแบบในไม่ช้า ส่วนเด็กวัยหัดเดินก็จะสามารถเชื่อมโยงคำเข้ากับเสียง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคำศัพท์ของพวกเขาเอง
3. ซื้อหนังสือตามความสนใจของลูก
ถึงแม้ว่าในตอนเริ่มต้นเราควรจะมีหนังสือหลากหลายพร้อมให้เลือก แต่เมื่อลูกโตขึ้น คุณจะเริ่มพบว่าเขาชอบหัวข้อบางอย่างเป็นพิเศษ ถ้าเขาชอบนิทานเรื่องไหนก็ซื้อมาให้ครบทั้งคอลเล็กชั่นไปเลย! การยอมตามใจความชอบของเขาและซื้อหนังสือบนพื้นฐานสิ่งที่เขาสนใจ จะทำให้เขามีแนวโน้มจะหยิบพวกมันขึ้นมาดูมากขึ้น
4. ซื้อหนังสือที่สร้างปฏิสัมพันธ์และมีพื้นผิวให้สัมผัส
ทั้งเด็กทารกและเด็กวัยหัดเดินต่างก็เรียนรู้อย่างมากผ่านการกระตุ้นโดยการสัมผัส หนังสือที่มีปฏิสัมพันธ์แบบ interactive จึงเป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับเด็กวัยนี้ หนังสือที่เปิดแล้วมีภาพป๊อปอัพเด้งออกมา มีปุ่มให้กด มีพื้นผิวหลากหลายให้สัมผัส และสามารถดึงออกมาได้ ล้วนเป็นวิธีการที่เด็กๆ จะสามารถ "เล่น" กับหนังสือได้อย่างสนุกแม้ในเวลาที่พ่อแม่ไม่ว่างอ่านให้เขาฟัง และลองหาหนังสือลอยน้ำเอาไว้สำหรับใช้อ่านเวลาอาบน้ำด้วย
5. สร้างมุมนักอ่าน
อีกหนึ่งไอเดียที่เยี่ยมยอดคือ การจัดสักมุมหนึ่งในบ้านให้กลายเป็นมุมอ่านหนังสือที่ลูกจะสามารถไปใช้เวลาเงียบๆ อยู่กับหนังสือได้ สิ่งที่คุณต้องใช้มีแค่ที่นั่งสบายๆ และชั้นหรือตะกร้าสำหรับจัดวางหนังสือ แล้วเมื่อลูกโตขึ้น คุณก็สามารถปรับเปลี่ยนและตกแต่งมันใหม่ได้ตามความต้องการของเขาเอง
6. พาเข้าร้านหนังสือ
การพาเด็กวัยซนเข้าร้านหนังสืออาจฟังดูเหมือนฝันร้าย แต่ขอให้ลองก้าวผ่านความกลัวของคุณไป ให้พวกเขาได้นอนพักเสียให้พอก่อนไปเหยียบร้านหนังสือ แล้วลูกจะสนุกกับประสบการณ์ครั้งนี้อย่างแน่นอน ร้านหนังสือส่วนใหญ่จะมีมุมเด็กที่พวกเขาสามารถเปิดดูไปทีละหน้า อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังด้วยการอยู่กับลูกตลอดเวลาเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะไม่เผลอฉีกหรือทำลายหนังสือ
7. เป็นต้นแบบให้ลูกด้วย
หากสงสัยว่าจะปลูกฝังนิสัยการอ่านให้ลูกได้อย่างไร คุณพ่อคุณแม่ก็จงอย่าลืมทำตามสิ่งที่ตัวเองพร่ำสอนด้วย! เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการเลียนแบบ ดังนั้นคุณจึงต้องช่วยเป็นต้นแบบที่มีค่าให้กับพวกเขาด้วย ให้เด็กๆ ได้เห็นคุณอ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า หนังสือสักเล่มทุกคืน และวรรณกรรมสักบทในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ไม่ช้านานพวกเขาก็จะอยากแสดงท่าว่าตัวเองโตแล้วผ่านการอ่านหนังสือบ้าง! และอย่าลืมว่านอกจากพ่อแม่แล้ว ลูกคนพี่นั้นก็มีอิทธิพลกับน้องมากๆ ด้วยเช่นกัน
8. จัดเวลาสำหรับการอ่าน
ไม่มีช่วงเวลาไหนวิเศษไปกว่ากันสำหรับการอ่านหนังสือ เราจึงต้องจัดเวลาเฉพาะตายตัวสำหรับการอ่านในทุกวันเพื่อช่วยสร้างให้มันกลายเป็นกิจวัตร พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเลือกช่วงก่อนนอน เพราะเป็นช่วงที่ทั้งพ่อและแม่กลับถึงบ้านแล้ว และลูกๆ ก็อยู่ในภาวะนิ่งพอที่จะฟัง แต่อย่าลืมเลือกหนังสือที่สงบเย็นเหมาะกับเวลานอน เพราะเชื่อเถอะว่าคุณคงไม่อยากทำให้เด็กๆ กลับมาคึกกลางดึกอีกรอบแน่!
9. คุยเฟื่องเรื่องหนังสือ
อย่าแค่อ่านไปตามตัวหนังสือที่เขียนไว้ แต่คุยถึงสิ่งที่คุณอ่าน พยายามเชื่อมโยงเนื้อหานั้นเข้ากับชีวิตจริงให้ได้มากที่สุด การที่ลูกเห็นว่าตัวเองมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในหนังสือจะช่วยทำให้เขารู้สึกสนใจมากขึ้น ในทางกลับกัน เมื่ออยู่นอกบ้านแล้วเห็นอะไรก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนั้น บอกลูกให้เขาหวนนึกถึงสิ่งที่เขาเห็นในหนังสือล่าสุด การทำแบบนี้จะช่วยให้ความคิดเกี่ยวกับหนังสืออยู่ในใจของเขาได้นานขึ้น
10. อย่าบังคับ
ไม่ว่าจะทำอะไร ขอให้มั่นใจว่าไม่ได้บังคับลูกให้อ่าน และทำให้กิจกรรมที่ควรจะทำแล้วมีความสุขกลายเป็นสิ่งที่ต้องจบลงด้วยน้ำตา! เมื่อสงสัยว่าจะปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้อย่างไร พ่อแม่มักมีความปรารถนาแรงกล้าเกินไป แม้ในตอนแรกลูกของคุณอาจสนใจกับการเรียงหนังสือให้เป็นตั้งๆ มากกว่าการเปิดหนังสือออกทีละหน้ากระดาษ แต่ก็ขอให้ปล่อยเขาทำตามที่ต้องการ ไม่นานเขาก็จะกลับมาพลิกดูข้างในหนังสือและเริ่มเห็นว่ามันน่าสนใจเองในที่สุด
แหล่งข้อมูลและแหล่งภาพจาก http://www.mylittlemoppet.com/how-to-cultivate-reading-habit-from-childhood/