ในยุคของการเรียนรู้สมัยใหม่ มีทฤษฎีที่กล่าวถึงการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติอยู่หลายทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็น Constructionism หรือ Constructivism ที่เชื่อว่า ความรู้และสติปัญญามีอยู่ในตัวคนทุกคน การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้ผู้เรียนได้ค้นหาคำตอบและปฏิบัติเอง เป็นวิธีการเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดความหมายต่อผู้เรียนและมีผลต่อโครงสร้างความรู้ในสมองมากที่สุด
แหล่งเรียนรู้ในยุคเดิมซึ่งเน้นการป้อนความรู้ให้กับผู้เรียน อาจยังไม่ตอบโจทย์ของการเรียนรู้ด้วยตนเองเท่าใดนัก เพราะความรู้สามารถหาได้ด้วยตนเองจากการใช้เทคโนโลยี สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดก็คือประสบการณ์ แนวคิดของแหล่งเรียนรู้ที่เรียกว่า Maker Space จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับนักนวัตกรรม (Innovator) ที่ต้องการจะมุ่งสู่ความเป็นมืออาชีพเหล่านี้
SITU Studio ได้รับมอบหมายจาก the New York Hall of Science
ให้เป็น Maker Space สำหรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วยการลงมือปฏิบัติ
Maker Space คือสถานที่ที่ผู้คนซึ่งมีความสนใจเดียวกัน เข้ามาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ หรือทำโครงงานร่วมกันให้เกิดขึ้นจริง ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีความพร้อมสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ วัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องไม้เครื่องมือของวิชาชีพนั้นๆ รวมถึงอาจมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาคอยให้คำแนะนำหรือชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหา
ในต่างประเทศ Maker Space มีหลากหลายลักษณะ ทั้งที่ตั้งอยู่ที่หน่วยงานหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ บางแห่งที่มีความยืดหยุ่นมากพอก็สามารถใช้เป็นสถานที่สำหรับให้ทุกคนในชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้งานเครื่องมือต่างๆ ที่มีราคาสูง โดยอาจเรียกเก็บค่าบริการและค่าวัสดุสิ้นเปลืองในราคาสมเหตุสมผล ส่วนบางแห่งก็ทำโดยเอกชนเพื่อเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ มีการอบรมการใช้เครื่องมือก่อนให้เช่าพื้นที่และอุปกรณ์ รวมทั้งอาจมีการจัดหลักสูตรอบรมเฉพาะทางเพื่อสร้างชิ้นงาน
ห้องสมุดสาธารณะ Westport และห้องสมุดสาธารณะ Detroit
นอกจากนี้ห้องสมุดหลายแห่งก็ได้ปรับตัวเข้ากับกระแสการเรียนรู้สมัยใหม่ โดยจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งในห้องสมุดไว้ให้เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างนวัตกรรมด้วย เช่น ห้องสมุดสาธารณะ Westport ซึ่งเน้นเป็นพื้นที่การเรียนรู้ด้านการออกแบบที่อยู่อาศัย ห้องสมุดสาธารณะ Detroit ซึ่งเน้นเป็นแหล่งความคิดสร้างสรรค์สำหรับวัยรุ่นทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และ The Institute for Museum and Library Services (IMLS) ซึ่งมุ่งเน้นด้านวัฒนธรรมและการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
สำหรับประเทศไทย เริ่มมี Maker Space ให้บริการเชิงพาณิชย์มาได้ประมาณ 1-2 ปี อาทิ Bangkok maker space ย่านพระโขนง Chiang Mai Maker Club ย่านกำแพงเมืองเชียงใหม่ Maker Zoo ย่านสุขุมวิท Home of Maker ในห้างฟอร์จูน เป็นต้น ส่วน Maker Space ที่ก่อตั้งโดยสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่KX : KMUTT Knowledge Xchange ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเปิดให้บริการ
น้องคิม ลูกค้าขาประจำของ Maker Zoo สนใจประดิษฐ์ป้อมปืนหนังยางซึ่งสามารถบังคับทิศทางและสั่งยิงด้วยจอยสติ๊ก
คลิกที่นี่ เพื่อติดตามอ่านเนื้อหาฉบับเต็มและดาวน์โหลดหนังสือ “เต็มสิบ” 10 ปีทีเคพาร์ค : 1 ทศวรรษการอ่านของสังคมไทย
แหล่งข้อมูล
- 7 Things You Should Know about Makerspace จากเว็บไซต์ http://net.educause.edu
- A Librarian’s Guide to Makerspaces: 16 Resources จากเว็บไซต์ http://oedb.org
- The Makings of Maker Spaces, Part 1: Space for Creation, Not Just Consumption จากเว็บไซต์ www.thedigitalshift.com
- How to Make a Makerspace จากเว็บไซต์ www.tpemagazine.com
- 2014 ความเคลื่อนไหว Maker Space ในไทย จากเว็บไซต์ www.myconfix.com
แหล่งภาพ
- www.thedigitalshift.com
- www.situstudio.com
- www.makerzoo.com