ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) ท้าทายการเรียนรู้แบบดั้งเดิม
ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีอิทธิพลอย่างชัดเจนต่อการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมการศึกษาทั้งในด้านเทคโนโลยีและสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งปรัชญาการศึกษาและรูปแบบการเรียนการสอนที่จำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับบริบทการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
The New Media Consortium และภาคีด้านการศึกษา ได้วิเคราะห์แนวโน้มทางการศึกษาว่าจะเกี่ยวข้องกับการเติบโตของโซเชียลเน็ตเวิร์ค และส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ อาทิ การเรียนรู้โดยบูรณาการเทคโนโลยีออนไลน์เข้ากับการเรียนรู้แบบร่วมมือ การคิดใหม่เรื่องบทบาทของครูและระบบโรงเรียน การเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้เรียนจากผู้บริโภคเป็นผู้สร้าง และทรัพยากรการเรียนรู้แบบเปิด เป็นต้น
ในห้องเรียนแบบเก่า เราจะได้เห็นบรรยากาศที่ครูยืนบรรยายอยู่หน้าห้อง และมีผู้เรียนนั่งฟังอย่างเงียบๆ เป็นระเบียบ จุดแข็งของห้องเรียนแบบนี้อยู่ที่ปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว และความสัมพันธ์เชิงมนุษย์ระหว่างครูกับศิษย์ แต่ในยุคดิจิทัลห้องเรียนแบบเดิมจำเป็นต้องปรับตัว เพราะผู้เรียนซึ่งเป็น Digital Native จะมีคุณลักษณะที่หลากหลาย ต่างประสบการณ์ ต่างความสนใจ พวกเขามีศักยภาพที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สร้างและถ่ายทอดความรู้ที่ตนมีด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ห้องเรียนจึงควรเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ระหว่างเพื่อนร่วมเรียน อาทิ การทำโครงงานร่วมกัน หรือการอภิปรายถกเถียง เพื่อต่อยอดความคิดให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ประสิทธิภาพของการเรียนรูปแบบต่างๆ ที่มีผลต่อการจดจำของผู้เรียน
ข้อวิพากษ์สำคัญต่อรูปแบบการศึกษาที่กำลังสอนกันอยู่ทั่วโลกก็คือ การเรียนการสอนแบบบรรยายและการอ่านหนังสือมีผลต่อการจดจำของผู้เรียนได้เพียงน้อยนิด ในขณะที่การเรียนรู้ด้วยรูปภาพและเสียงซึ่งมีอยู่ทั่วไปในโลกดิจิทัลมีผลต่อการจดจำได้ดีกว่า ยิ่งหากใช้สื่อการเรียนรู้เหล่านี้เป็นเครื่องมือประกอบการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการอภิปรายถกเถียงหรือลงมือทำ ก็ยิ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการศึกษาในรูปแบบเดิม ข้อค้นพบนี้เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการเรียนรูปแบบต่างๆ ที่มีผลต่อการจดจำของผู้เรียนเป็นสิ่งยืนยันอย่างชัดเจนว่า การศึกษาของโลกถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แล้ว
มีการคาดการณ์ไว้ว่า ห้องเรียนอนาคตจะมีลักษณะเป็น ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) ซึ่งอาจให้นักเรียนเรียนเนื้อหาเบื้องต้นด้วยตนเองจากสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ซึ่งเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ที่บ้านในเวลากลางคืน เพราะเป็นช่วงที่ปลอดจากกิจกรรมอื่นๆ รบกวน ส่วนในห้องเรียนควรเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการแลกเปลี่ยนและอภิปรายกลุ่มเป็นหลัก ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ การเรียนรู้เชิงวิพากษ์ และการเรียนรู้ทางสังคม โดยสามารถเรียนรู้เนื้อหาได้อย่างไร้ขอบเขตจากแหล่งเรียนรู้ที่เรียกว่า MOOCs (Massive Open Online Courses)
ทุกวันนี้ เพียงผู้เรียนมี Mobile Device ก็สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อพัฒนาทักษะการคิดได้ครบทั้ง 6 ระดับ ทั้งการจดจำ เข้าใจ ประยุกต์ วิเคราะห์ ประเมินค่า และสร้างสรรค์ นี่จึงเป็นพลังของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าในวงการศึกษาและการแสวงหาความรู้ นักการศึกษาจึงเห็นแนวโน้มอนาคตที่ชัดเจนว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้จะเกิดปรากฏการณ์ BYOD – Bring Your Own Device กล่าวคือ Mobile Device จะกลายเป็นอุปกรณ์การเรียนที่ผู้เรียนทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อใช้งานทั้งในและนอกห้องเรียน ส่วนในระดับรัฐบาลก็อาจเกิดนโยบายจัดหาอุปกรณ์รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและมีปริมาณเพียงพอสำหรับผู้เรียนทุกคน
iPadagogy Wheel
การเรียนการสอนยุคดิจิทัล เพียงแค่มี iPad หรือแท็บเล็ต ติดตัวไว้เครื่องเดียว ก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ในทุกระดับ ด้วยแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่สามารถโหลดผ่านอุปกรณ์ไร้สาย
แม้ว่าการศึกษาในยุคดิจิทัลกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แต่ก็ใช่ว่ามนุษย์ในอนาคตควรจะเรียนรู้อยู่ตามลำพังกับสื่อที่ทันสมัย เพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ต้องการปฏิสัมพันธ์ การพัฒนาคนไม่ใช่แค่การทำให้มีสมองดี แต่คนควรจะต้องมีจิตสำนึกที่ดี มีความสร้างสรรค์ นั่นคือมีทั้ง Brain และ Mind อีกทั้งเทคโนโลยีไม่ได้มีคุณค่าในตัวของมันเอง ไม่ใช่เป้าหมาย ไม่ใช่กระบวนการ เป็นเพียงเครื่องมืออำนวยความสะดวกเท่านั้น ดังนั้น แนวโน้มเทคโนโลยีการศึกษายุคดิจิทัลที่ควรจะเป็น จึงไม่ใช่การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างสุดโต่ง หากแต่เป็น การเรียนรู้แบบลูกผสม (Hybrid) ที่ผสานจุดเด่นของการศึกษาแบบเก่าและใหม่จนเกิดความลงตัวระหว่างเทคโนโลยีและปฏิสัมพันธ์ สติปัญญาและการปฏิบัติ สมองและจิตใจ
คลิกที่นี่ เพื่อติดตามอ่านเนื้อหาฉบับเต็มและดาวน์โหลดหนังสือ “เต็มสิบ” 10 ปีทีเคพาร์ค : 1 ทศวรรษการอ่านของสังคมไทย
แหล่งข้อมูล
- การประชุมวิชาการนานาชาติ TCU International e-Learning Conference 2014 จัดโดยโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หัวข้อ Overcome the Uncertainty of Technology in Education วันที่ 5-6 สิงหาคม 2557
- NMC Horizon Report: 2014 Higher Education Edition/K-12 Edition โดย The New Media Consortium
แหล่งภาพ
- www.gsu.edu
- 3.bp.blogspot.com/-rgvmtdyNNHc/Ua2GIsYizXI/AAAAAAAACEw/ikGVYP84esw/s1600/Pedagogy+Wheel.jpeg
- www.yabbamedia.com/wp-content/uploads/2014/04/The-learning-pyramid-businessbootcamps.png