บันได 6 ขั้น ของนักแปล
ใครหลายคนคงชื่นชอบการอ่านหนังสือต่างประเทศ และคงจะมีความฝันที่อยากลองเป็น “นักแปล” มือใหม่บ้าง เรามีเทคนิคที่สามารถเรียนรู้กันได้ ๆ ง่าย สู่ขั้นตอนการเป็น “นักแปล” ในฝันของๆ ทุกคน
1.เริ่มต้นด้วย “รัก”
การแปลหนังสือ ต้องเริ่มต้นจาก “ความรัก” เป็นอันดับแรก มีความต้องการอยากถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้และรู้สึกในสิ่งที่ตัวเองอ่าน นักแปลหลายคนเลือกแปลงานที่ตัวเองชอบอ่านแล้วสนุกก่อน เพราะจะทำให้มีความสุขตลอดการทำงาน
2. การอ่านเป็นพื้นฐาน
การแปลเริ่มจากการอ่าน หากอ่านไม่เข้าใจ ย่อมไม่อาจจะแปลได้ นักแปลที่ดีต้องละเอียดอ่อน สังเกตการใช้สัญลักษณ์ เครื่องหมาย การเว้นวรรค และต้องมีความรู้ทางด้าน “ภาษาไทย” ดีด้วย เลือกอ่านหนังสือของนักเขียนไทยเพื่อซึมซับภาษาและสำนวนที่ไพเราะ สิ่งที่ต้องทำคือ ทบทวนเรื่องหลักการใช้ภาษา ฝึกอ่านให้แม่นยำ
3.เพิ่มพูนภาษา
นักแปลต้องมีความรู้ทางด้านภาษาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ การมีความรู้ภาษาดีจะทำให้สามารถตีความต้นฉบับได้ง่าย และทำให้เข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อได้อย่างเหมาะสม ความรู้ทางด้านภาษาไม่ใช่สิ่งที่สามารถฝึกฝนกันได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่สามารถเพิ่มพูนได้จากการเก็บสะสมมาเป็นระยะเวลานาน นั่นคือการอ่าน อ่าน และอ่าน
4.ค้นคว้าข้อมูล
แม้ความรู้ความเข้าใจภาษาจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ การค้นหาความหมายให้ตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อมากที่สุด นักแปลจึงต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาและต้องรอบรู้ในศาสตร์ทั่วไป โดยเฉพาะคำศัพท์ในแต่ละสาขาอาชีพ เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง เพื่อจะเข้าใจเนื้อหาของต้นฉบับและหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ง่าย
5.เครื่องมือ...พร้อม!
ปากกา กระดาษ คงเป็นอุปกรณ์หลักที่นักแปลขาดไม่ได้ แต่ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่สำคัญ นั่นคือ พจนานุกรมคำศัพท์ต่างประเทศและคำไทย หนังสือคลังคำและคำศัพท์เฉพาะต่างๆ รวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์ หากสามารถพิมพ์ดีดได้อย่างคล่องแคล่ว ก็ช่วยทำให้การทำงานนั้นราบรื่น
6.หมั่นตรวจ-แก้
ในการตรวจ-แก้ นอกจากความถูกต้องของตัวอักษรและภาษาแล้ว ผู้แปลต้องเทียบเคียงกับต้นฉบับภาษาเดิม และพยายามขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมเพื่ออ่านนิสัยใจคอ น้ำเสียง ลีลาของผู้ประพันธ์ เช่น งาน “วรรณกรรมสำหรับเด็ก” ผู้ตรวจ-แก้ต้องมีจินตนาการ มองโลกด้วยสายตาเด็กๆ หรือ งานแปลประเภท “ประวัติศาสตร์” ต้องคำนึงถึงยุคสมัยของภาษาเป็นสำคัญ ส่วนงานแปลประเภท “ความเรียง” และ “ปรัชญา” ต้องทำความเข้าใจเรื่อง “คำ” เป็นพิเศษ พยายามหาคำที่อธิบายนัยให้ชัดเจน
แหล่งอ้างอิง :
http://www.seventranslation.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=10142&Ntype=1 อยากเป็นนักแปลเริ่มต้นอย่างไร
http://www.bflybook.com/Article/TranslationEd/TranslationEd.htm บรรณาธิการต้นฉบับงานแปล มิติใหม่ในแวดวงวรรณกรรม
http://www.praphansarn.com/article/detail/928
http://prachatai.com/journal/2013/02/45385 บทสนทนาไม่รู้จบของนักแปล
http://www.oknation.net/blog/nonglakspace/2012/09/11/entry-2 ประสบการณ์และเทคนิคการแปลของนักแปลมือรางวัล