MOOCs : แหล่งเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
MOOCs (มู้กส์) – Massive Open Online Courses หมายถึงระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชน ซึ่งมีลักษณะให้เข้าเรียนได้ไม่จำกัดจำนวนคน เป็นระบบ “เปิด” ที่ทุกคนที่อยากเรียนจะต้องได้เรียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเรียน และใช้เทคโนโลยีออนไลน์เป็นเครื่องมือ
เทคโนโลยีนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2008 เมื่อห้องเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเรียนออนไลน์ ซึ่งนอกเหนือจากนักศึกษาในห้อง 25 คนแล้ว คนอีกนับพันคนก็ได้มีโอกาสได้เรียนรู้วิชานั้นด้วย เครื่องมือในการทำ MOOCs เป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เราคุ้ยเคยกันอยู่ เช่นเว็บไซต์ วิดีโอ บล็อก ฯลฯ เงื่อนไขในการใช้งานข้อมูล เช่น ให้ใช้งานได้อย่างเดียว ให้นำไปเผยแพร่ได้ หรือให้นำไปแก้ไขดัดแปลงได้ ขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาแต่ละราย
MOOCs ต่างจาก E-learning ตรงที่ E-learning จะเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ MOOCs มีลักษณะเหมือนหลักสูตร มีระยะเวลาเปิด-ปิด เหมือนห้องเรียนปกติ ถูกกำหนดหัวข้อย่อยในรายวิชาไว้แล้ว มีการวัดและประเมินผล มีการบ้าน มีกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ทำงานกลุ่ม รวมทั้งให้ผู้เรียนช่วยกันตรวจงาน MOOCs หลายตัวสามารถให้ผู้เรียนเทียบหลักสูตรกับสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังหรือใช้อ้างอิงในการสมัครงานได้
ปัจจุบันมี MOOCs Provider เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแต่ละแห่งจะจับมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกในการผลิตสื่อการเรียนการสอน ทั้งนี้ ช่องทางที่บริษัทและมหาวิทยาลัยจะสร้างรายได้ ได้แก่ กรณีที่ผู้เรียนต้องการใบรับรองการจบหลักสูตร ค่าดำเนินการสอบ การช่วยนำโปรไฟล์ในการเรียนไปเผยแพร่กับบริษัทจัดหางาน ฯลฯ
ค่าย MOOCs ยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันได้แก่
1. edX เป็น MOOCs ที่ได้รับความนิยมสูงสุดแต่การนำเสนอเนื้อหาไม่ค่อยน่าสนใจ Google กำลังจะเข้าไปเป็นผู้พัฒนาปรับปรุง คาดว่าน่าจะมีอะไรแปลกใหม่เข้ามาในระยะอันใกล้นี้ (www.edx.org)
2. Coursera ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง MOOCs และเป็น MOOCs ที่ใหญ่ที่สุด (www.coursera.org)
3. Udacity ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น MOOSC ที่มีเสน่ห์ สนุก และน่าประทับใจ (www.udacity.com)
4. Khan Academy เป็น MOOCs สัญชาติอินเดียที่ทำวิดีโอประกอบการสอนได้เข้าใจง่าย และสนับสนุนกลุ่มผู้เรียนหลายวัย (www.khanacademy.org)
ค่าย MOOCs น้องใหม่มาแรง
1. Open 2 study ออกแบบให้มีความคล่องตัวในการใช้งานสูง เช่น สามารถลงทะเบียนได้ในเวลาเพียง 20 วินาที (www.open2study.com)
2. Youtube Education เป็น MOOCs ของยูทูบ ที่นำวิดีโอมาจัดระบบเป็นรายวิชาที่หลากหลาย (www.youtube.com/education)
3. TED.ED สอนโดยวิทยากรที่รู้จริงมีลีลาการพูดที่มีสีสัน หรือบางครั้งก็ทำเป็นแอนนิเมชั่นน่าชม (www.ted.com)
4. iTunes U เป็น MOOCs ของค่าย Apple รองรับเฉพาะอุปกรณ์ของ iOS เท่านั้น มหาวิทยาลัยหลายแห่งของไทยกำลังจะใช้ MOOCs รายนี้ (www.apple.com/education/ipad/itunes-u)
MOOCs ได้ช่วยลดอุปสรรคสำคัญในการศึกษา ที่ปัจจุบันมีความต้องการในการเรียนระดับอุดมศึกษาสูงเกินกว่าความสามารถที่สถานศึกษาจะรองรับได้ รวมทั้งต้นทุนการศึกษาที่มีราคาแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาต่อในต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน MOOCs ก็ยังมีข้อจำกัดบางด้าน เช่น ด้านภาษา มาตรฐานในการเทียบวุฒิ และยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่สอบกับผู้ที่ขอจบหลักสูตรเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ฯลฯ
สถิติผู้เรียนจนจบหลักสูตร MOOCs มีน้อยกว่าผู้ลงทะเบียนเรียนในสัดส่วนที่แตกต่างกันมาก ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าผู้เรียนเรียนแล้วไม่ชอบหรือไม่สนใจแล้วก็มีสิทธิ์ที่จะเลิกเรียนหรือเปลี่ยนไปเรียนวิชาอื่นได้
สถิติผู้ใช้ MOOCs ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกาเหนือและยุโรป ส่วนเอเชียมีผู้เรียนเป็นสัดส่วน 24% ซึ่งส่วนมากได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์กำลังจะร่วมมือกับบริษัทแห่งหนึ่งในการทำหลักสูตรใน MOOCs เองด้วย
ส่วนในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำลังทำโครงการ Thailand Cyber University ซึ่งกำลังจะพัฒนาE-Teacher E-Courseware และ E-Learning และหลายมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เริ่มสนใจที่จะทำหลักสูตรใน MOOCs
MOOCs จึงเป็นเทรนด์ของแหล่งเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่จะต้องมีควบคู่กับไปกับเทคโนโลยีก็คือทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต เช่น การคิดระดับสูง การยอมรับระหว่างวัฒนธรรม การคิดวิเคราะห์แปลความหมาย ความฉลาดทางสังคม ฯลฯ
* สรุปประเด็นจากการเสวนาหัวข้อ MOOCs: แหล่งเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในงานสัมมนาวิชาการ “การประกันคุณภาพการศึกษา” ประจำปี พ.ศ. 2556 โดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) วันที่ 7 พฤษภาคม 2556 วิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ภก.ดร.อนุชัย ธีระเรียงไชยศรี อ.วรสรวง ดวงจินดา และ รศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี
** สรุปและเก็บความ โดย นางสาวทัศนีย์ จันอินทร์ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้
*** ภาพประกอบบทความ http://edtechreview.in/