เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2548 อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park ได้ถือกำเนิดขึ้นในฐานะพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการในการอ่านหนังสือ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนไทย นับแต่นั้นมาTK Park กลายเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้ผู้คนทุกช่วงวัย พร้อมตอบรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี
TK Park เปลี่ยนมุมมองของผู้คนที่มีต่อห้องสมุดแบบเดิม ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นสถานที่เงียบสงบที่เต็มไปด้วยชั้นหนังสือเรียงราย ด้วยการออกแบบพื้นที่ที่มีชีวิตชีวาและยืดหยุ่น มีโซนสำหรับการอ่าน การพบปะสังสรรค์ การจัดกิจกรรม และพื้นที่สำหรับเด็กที่ออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ แนวคิดนี้ช่วยสร้างความตื่นตัวให้กับวงการห้องสมุดในประเทศไทย และทำให้ TK Park กลายเป็นแรงบันดาลใจและเป้าหมายการพัฒนาให้กับห้องสมุดทั่วประเทศ
พื้นที่ภายใน TK Park ออกแบบภายใต้แนวคิด Relax and Alert Environment ที่มอบความผ่อนคลายควบคู่ไปกับการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วยพื้นที่หลากหลาย เช่น โซนอ่านหนังสือแบบเงียบสงบ โซนสำหรับเด็กที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบสนุกสนาน และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ในทุกช่วงวัย
พัฒนาคน สร้างชุมชน สู่สังคมแห่งการเรียนรู้
การพัฒนาคนคือหัวใจสำคัญของ TK Park ทุกกิจกรรมและโครงการมุ่งเน้นไปที่การปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือโครงการ TK แจ้งเกิดซึ่งช่วยบ่มเพาะเยาวชนหลากหลายความสนใจ เช่น การเขียน ดนตรี และการผลิตสื่อมัลติมีเดีย โดยเชื่อมโยงเยาวชนเข้ากับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละวงการ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต
นอกจากนี้ TK Park ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรที่เป็นแกนหลักของการเรียนรู้ในชุมชน เช่น งานพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้วยแนวคิดอุทยานการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้ดูแลห้องสมุดให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล การอบรมเหล่านี้ไม่ใช่แค่การแนะนำเทคนิคในการจัดการทรัพยากรการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังเน้นเรื่องการสร้างสรรค์กิจกรรม การเชื่อมโยงเทคโนโลยี และการพัฒนาทักษะที่ช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้ใช้งานเพื่อให้งานบริการห้องสมุดสอดคล้องกับบริบทแห่งยุคสมัย
ความพยายามของ TK Park ไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาคนและชุมชนนักอ่านและผู้ให้บริการห้องสมุด แต่ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในระดับประเทศ การดำเนินงานของ TK Park ทำให้แนวคิดเรื่องห้องสมุดมีชีวิตและการส่งเสริมการอ่านกลายเป็นวาระสำคัญที่ภาครัฐต้องหันมาให้ความสำคัญ ผลลัพธ์ที่ TK Park แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ก่อให้เกิดนโยบายการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิตในยุคปัจจุบัน
นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว TK Park ได้ปรับตัวด้วยการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เช่น TK Read ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันห้องสมุดสาธารณะออนไลน์ ให้บริการหนังสือและสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถยืมคืนสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ใช้งานสามารถอ่านหนังสือได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมฟังก์ชันที่สะดวกและใช้งานง่าย
อีกหนึ่งแอปพลิเคชันสำคัญคือ MyTK ซึ่งช่วยให้สมาชิกสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้อย่างครอบคลุม ทั้งการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว ค้นประวัติการยืมคืนหนังสือจองหนังสือที่ต้องการและตรวจสอบคิวจอง ยืมหนังสือผ่านไปรษณีย์ด้วยบริการ TK Book Delivery รวมถึงจองใช้ห้องอบรมแบบส่วนตัว และชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย แอปพลิเคชันนี้ยังช่วยให้ผู้ใช้ติดตามกิจกรรมและข่าวสารของ TK Park ได้สะดวกขึ้น ทำให้บริการของ TK Park ไม่จำกัดอยู่กับพื้นที่ทางกายภาพอีกต่อไป
นอกจากนี้ TK Park ยังพัฒนาโครงการ TK Mini ตู้ยืมคืนหนังสืออัตโนมัติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหนังสือและทรัพยากรการเรียนรู้ได้อย่างสะดวกขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายบริการนี้ไปยังพื้นที่ชุมชนต่าง ๆโครงการนี้จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้
การขยายเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ
เครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ที่กระจายตัวทั่วประเทศรวม 27 แห่ง ใน 24 จังหวัด เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญของ TK Park อุทยานการเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของชุมชน เช่น อุทยานการเรียนรู้ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเน้นการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องพหุวัฒนธรรม และที่อุทยานการเรียนรู้ที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งมุ่งเน้นสร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ และการลดช่องว่างทางดิจิทัล (Digital Divide) เป็นต้น
TK Park ยังส่งเสริมการจัดทำสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นในรูปแบบหนังสือนิทานภาพ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่ให้กับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่อายุ4–12 ปี เช่น หนังสือนิทานภาพ‘มาลีแอ่วดอย’ และ ‘ทรายน้ำกก’ ในโครงการ "อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน" ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตท้องถิ่น และได้รับการออกแบบร่วมกับคนในชุมชน หนังสือเหล่านี้ไม่เพียงกระตุ้นความสนใจในการอ่าน แต่ยังสร้างความภูมิใจในรากเหง้าของชุมชนอีกด้วย
เทศกาลการเรียนรู้: เชื่อมคน เมือง และอนาคต
หนึ่งในกิจกรรมที่สะท้อนแนวคิดการพัฒนาคน ชุมชน และเมืองคือการจัดเทศกาลการเรียนรู้หรือ LearningFestที่เปิดกว้างทั้งรูปแบบกิจกรรม ความหลากหลายของพันธมิตร และหัวข้อที่สะท้อนประโยชน์ให้กับชุมชนเมือง เทศกาลการเรียนรู้ที่จัดในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2566 ได้เน้นการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ศิลปะ เทคโนโลยี หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นในกรุงเทพฯ ขณะที่เทศกาลการเรียนรู้ที่นครศรีธรรมราชมุ่งเน้นการดึงเอกลักษณ์ของภาคใต้มาเป็นตัวเชื่อมโยง เช่น การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน การละเล่น และงานคราฟต์ เทศกาลที่กำลังจะจัดขึ้นที่นครราชสีมาในเดือนกุมภาพันธ์2568 จะเน้นสร้างการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน
เทศกาลการเรียนรู้เหล่านี้ไม่เพียงช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ แต่ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ชุมชนและเมืองตระหนักถึงศักยภาพของตนเองในการร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
สร้างอนาคตผ่านการเรียนรู้
20 ปีที่ผ่านมา TK Park ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเวลา เมื่อพื้นที่และโอกาสเอื้ออำนวย ตั้งแต่การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็กเล็ก การสร้างพื้นที่แสดงออกสำหรับเยาวชน การพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ไปจนถึงการสร้างเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยการเรียนรู้ โดย TK Park ได้ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแห่งการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ
ในวาระครบรอบ 20 ปี TK Park ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยความตั้งใจที่จะเป็น "The Catalyst of Change" สร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่อนาคตที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ เติบโต และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด