ลองจินตนาการว่าหากคุณกำลังเดินสวนกับเด็ก 4 คน ช่วงอายุ 6-14 ปี ในกรุงเทพมหานคร ในเด็ก 4 คนนี้ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่กินผักและผลไม้เพียงพอ!
ข้อมูลนี้จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566↗ ทำให้อุทยานการเรียนรู้ TK Park นำมาเป็นโจทย์สำคัญของการเชื่อมโลกแห่งการเรียนรู้ให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวันของคนรุ่นอนาคต นิทรรศการ Le Petit Chef ที่ห้องเด็ก TK Park (จัดระหว่าง ก.ค. ถึง ก.ย. 67) จึงนำหนังสือนิทานภาพมาเป็นโจทย์ตั้งต้น แล้วต่อยอดไปสู่กิจกรรมการเรียนรู้หลากหลาย เพื่อนำพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงเด็ก ๆ เข้าสู่โลกของการประกอบอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้นอย่างสนุกสนานและดึงดูดใจ
ตัวอย่างหนังสือนิทานภาพเพื่อส่งเสริมการกินผักของเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง มาค้นหาได้ที่ TK Park
ผักสีไหนดียังไง
ผักผลไม้หลากสีมาพร้อมคุณประโยชน์มากมาย พ่อแม่สามารถทำความรู้จักผักสีต่าง ๆ เพื่ออธิบายให้เด็ก ๆ ฟังดังนี้
ผักผลไม้สีเขียว มีสารคลอโรฟิลด์ เป็นสารตั้งต้นในการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันเซลล์ในร่างกายถูกทำลาย ลดการเกิดมะเร็งได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องการขับถ่าย (ลดเวลาในการเบ่งอึ๊) ได้อีกด้วย
ผักผลไม้สีแดง มีสารไลโคปีน และเบตาไซยานินในปริมาณสูงมาก เป็นสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินอี 100 เท่า และมากกว่ากลูต้าไธโอนถึง 125 เท่า นอกจากนี้ยังช่วยต้านมะเร็งอีกด้วย
ผักผลไม้สีส้มและสีเหลือง มีสารเบตาแคโรทีน ช่วยลดคอเรสเตอรอลและไขมันในเส้นเลือด ทำให้ผิวพรรณสดใส มีความชุ่มชื่น นอกจากนี้ยังมีสารฟลาโวนอยด์และลูทีน ช่วยบำรุงสายตา หัวใจและหลอดเลือด
ผักผลไม้สีม่วงและสีน้ำเงิน มีสารแอนโทไซยานิน มีคุณสมบัติช่วยทำลายสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง กระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ และช่วยบำรุงเส้นผมให้เงางาม (ผมยาวสลวยเหมือนเจ้าหญิงราพันเซล)
ผักผลไม้สีขาวและน้ำตาลอ่อน มีสารแซนโทน เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ช่วยลดอาการอักเสบ รักษาระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีสารกรดไซแนปติกและอัลลิซิน มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตและโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่สำคัญยังช่วยลดไขมันในเลือดได้ด้วย
9 เทคนิคเปลี่ยนใจลูกให้กินผัก
หลายครอบครัวที่กำลังพยายามให้ลูกกินผัก ไม่ว่าจะบังคับ หลอกล่อ ลูกก็ยังส่ายหน้าปฏิเสธ หรือเผลอทีไรก็แอบเขี่ยผักทิ้ง TK Park มีหนังสือ กินดี ต้องมีผัก โดยคุณชิดชนก ชูช่วย↗ ที่บอกเล่า 9 เทคนิคทำให้ลูกรักกินผักได้มากขึ้น ดังนี้
1. เริ่มด้วยผักต้มเปื่อย
เริ่มแรกควรฝึกให้ลูกกินผักแบบต้มเปื่อย เพราะจะกินง่ายกว่าผักสด เคล็ดลับเพิ่มผักในแต่ละมือ ทุกครั้งที่ต้มซุปก็ให้เพิ่มผักเข้าไปด้วย จะทำให้ลูกคุ้นเคยกับสีสันและรสชาติของผัก
2. เลือกให้เหมาะกับวัย
ให้ลูกกินผักที่เหมาะสมกับวัย โดยควรเริ่มจากผักที่นิ่มและกินง่าย เช่น ฟักทองต้มสุก ตำลึง หรือแคร์รอตต้มเปื่อย ผักเหล่านี้เมื่อต้มแล้วเนื้อผักจะนิ่มเคี้ยวง่าย และมีรสหวานเล็กน้อย เหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเริ่มกินผัก
3. เริ่มจากปริมาณน้อย
หัดให้ลูกกินผักจากปริมาณน้อย ๆ ก่อน เช่น สัปดาห์แรกเริ่มจาก 1 ช้อนโต๊ะ หลังจากนั้นก็เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นไปทีละนิด จนลูกเริ่มชินกับการมีเมนูผักอยู่ในจาน
4. กินให้เห็นเป็นตัวอย่าง
คุณพ่อคุณแม่ควรกินผักให้ลูกเห็นบ่อย ๆ โดยควรมีเมนูผักวางบนโต๊ะอาหารทุกมื้อ เพื่อให้ลูกคุ้นชินกับการกินผัก เสียงเคี้ยวผักกรอบ ๆ และท่าทางการกินอย่างเอร็ดอร่อยของพ่อแม่จะชวนให้ลูกอยากกินผักตามไปด้วย
5. ชวนลูกปลูกผัก
ลองให้ลูกได้ปลูกผักด้วยตนเอง ฝึกให้ดูแล พรวนดินหรือรดน้ำ เมื่อได้ผลผลิตก็ให้ลูกเก็บเอง และนำมาทำอาหาร จะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจ และอยากจะชิมผักที่ตัวเองปลูก นับเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการรับประทานผักให้กับเด็กอีกทางหนึ่ง
6. พาลูกเข้าครัว
ควรให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำอาหารในแต่ละมื้อ เช่น การเตรียมผัก ล้างผัก หรือช่วยทำอาหารที่ใส่ผักลงไปในหม้อหรือกระทะ ความภูมิใจและตื่นเต้นเล็ก ๆ ในการลงมือทำอาหารด้วยตนเอง จะช่วยให้ลูกอยากลองกินผักในมื้ออาหารที่ตัวเองลงมือทำเองมากขึ้นไปอีก
7. แปลงร่างผักให้แปลกตา
ลองดัดแปลงอาหารเมนูผักหน้าตาเดิม ๆ ให้ดูแปลกตาและน่ากินมากขึ้น เช่น ทำสเต๊กจากเนื้อสัตว์บดผสมกับผัก แล้วปั้นเป็นรูปสัตว์น่ารัก ๆ หรือใช้พิมพ์ตัดผักผลไม้เนื้อแข็งอย่างฟักทองหรือแคร์รอตให้เป็นรูปดอกไม้ ลูกก็จะเพลิดเพลินกับการกินผักมากขึ้น
8. นิทานช่วยได้
คุณพ่อคุณแม่อาจหาหนังสือนิทานเกี่ยวกับผัก หรือการรับประทานผักมาเล่าให้ลูก ๆ ฟังเป็นนิทานก่อนนอน เพื่อกระตุ้นความสนใจและเป็นการเสริมแรงที่ดีให้ลูกอยากรับประทานผักมากขึ้น หรือลองมายืมหนังสือนิทานภาพที่ TK Park ตามลิสต์ด้านบนไปอ่านเล่นกับลูก ๆ ที่บ้านก็ได้นะ
9. จัดจานให้น่าสนใจ
นอกจากการปรุงอาหารให้อร่อยถูกปากแล้ว การนำผักต่าง ๆ มาตกแต่งจานอาหารให้ดูน่าสนใจ หรือจะดัดแปลงเมนูผักเพิ่มลงไปในเมนูโปรดของลูก ก็จะช่วยให้ลูกหยิบผักมากินได้ง่ายขึ้น