‘หลานม่า’ ภาพยนตร์ดราม่าครอบครัวโดย GDH ขึ้นสู่กระแสความนิยมอย่างรวดเร็วในช่วงรอยต่อระหว่างเทศกาลเชงเม้งกับเทศกาลสงกรานต์ ปี 2024
เมื่อมองมุมกว้างออกมายังสังคมไทย ซึ่งกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society – มีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 14 ของทั้งประเทศ) ไปแล้วเมื่อปี 2022 และจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society — มีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของทั้งประเทศ ) ราวปี 2030 TK Park จึงเห็นว่านี่คือโอกาสดีที่จะชวนทุกคนมาประเมินไปด้วยกันว่าสังคมไทยพร้อมรองรับผู้สูงวัยแค่ไหน และเรายังต้องผลักดันเรื่องอะไร เพื่อให้ผู้สูงวัยในสังคมไทยใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างสุขสบายตามสมควร ในเมื่อเราแต่ละคนก็จะกลายไปเป็นผู้สูงวัยเช่นกันในสักวันหนึ่ง
บทความนี้นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสุขภาวะของผู้สูงวัยในด้านต่าง ๆ โดยไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญจากภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ (No Spoilers)
ของเข้าปาก สิ่งที่อยาก กับสิ่งที่ใช่
ประเทศไทยเต็มไปด้วยอาหารรสเลิศ วัตถุดิบเพียบพร้อม รสชาติเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม คือที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น ความอร่อยกับสูงวัยใช่ของคู่กันหรือไม่?
เมนูอาหารอร่อยเข้มข้นมักมาพร้อมกับโซเดียมปริมาณมากซึ่งส่งผลต่อการทำงานของไต อีกทั้งปริมาณน้ำตาล — ที่ยิ่งกินก็ยิ่งติด — ที่ก่อโรคเบาหวานและโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ (NCDs — Non-Communicable Diseases) แม้ในปัจจุบัน จะมีการเผยแพร่ความรู้ มีอาหารและวัตถุดิบทางเลือกสุขภาพมากขึ้น แต่ก็มักมีราคาสูง และหลายอย่างยังมีน้ำตาลแฝงหรือน้ำตาลเทียมที่กระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวานอยู่ดี อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่น ทั้งความเคยชินและธรรมเนียมประเพณี เป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้สูงวัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินได้ยาก
เรื่องอาหารการกินจึงเป็นปัญหางูกินหาง ที่เป็นทั้งต้นเหตุและปลายทางของปัญหาด้านสุขภาวะผู้สูงวัย นำไปสู่โจทย์ใหญ่ว่าครอบครัวจะช่วยปรับพฤติกรรมผู้สูงวัยอย่างไร ในเมื่อการรับประทานเนื้อสัตว์ย่อยยาก เมนูรสจัด และอาหารไขมันสูง คือธรรมเนียมของเทศกาลมงคลและสัญลักษณ์ของความมั่งมี และรัฐหรือสถานพยาบาลจะต้องรณรงค์และมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมด้านการกินการอยู่เพื่อให้ผู้สูงวัยห่างไกลโรค
บ้านช่อง ห้องหับ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตามค่านิยมของผู้สูงวัย บ้านคือทรัพย์สินที่หมายถึงความมั่นคงและปลอดภัย เป็นสมบัติมีราคา และเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นครอบครัว เพราะเป็นพื้นที่พบปะและกิจกรรมวันรวมญาติ
แต่เมื่อสำรวจสถานการณ์ในภาพรวม สถิติโดยของกรมกิจการผู้สูงวัย (ผส.) เมื่อปี 2017 บ่งบอกว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงวัยไทยยังมีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน ประกอบกับสถิติประเภทครัวเรือน ซึ่งมีผู้สูงวัยจำนวนเพียง 41% ที่อาศัยร่วมกับครอบครัวลูกหลาน ส่วนอีก 11.5% เป็นครัวเรือนที่มีเฉพาะผู้สูงวัย 21% พักอาศัยกับคู่สมรส และอีก 11% คือผู้สูงวัยที่พักอาศัยคนเดียว ซึ่งแปลว่าสำหรับผู้สูงวัยจำนวนมาก แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพและซ่อมบำรุงที่อยู่อาศัยให้ถูกต้องตามหลักสุขลักษณะจากรายได้ของตนเองโดยลำพัง
และในวันที่ประชากรผู้มีรายได้น้อยและไร้เงินเก็บกลายไปเป็นผู้สูงวัย ขาดรายได้ ไม่ได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยเอง และต้องพึ่งพิงเบี้ยยังชีพผู้สูงวัยรายเดือน ความมั่นคงในการมีที่อยู่อาศัยที่ไม่เสี่ยงโดนไล่ ไม่เสี่ยงถูกยกเลิกสัญญาเช่าจะเป็นเช่นไร
ระบบขนส่งสาธารณะ การผจญภัยอันท้าทาย
เมื่อสมรรถนะร่างกายถดถอย ผู้สูงวัยมักต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเป็นประจำ ดังนั้น การมีรถยนต์ส่วนตัว และมีลูกหลานหรือผู้ดูแลเดินทางไปด้วยกัน นับเป็นสิ่งที่ผู้สูงวัยพึงปรารถนา
แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น การก้าวขึ้นลงบันไดรถโดยสารสาธารณะแต่ละขั้น การห้อยโหนเกาะเกี่ยวอยู่บนรถ และเผชิญสภาวะการจราจรติดขัด ก็ล้วนแต่เป็นการผจญภัยสุดท้าทายของผู้สูงวัย
กรุงเทพมหานครมีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จริง แต่นั่นหมายถึงความสะดวกสบายที่มากขึ้นจริงหรือ เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การต่อระบบขนส่งสาธารณะหลายต่อที่ชื่อสถานีที่ชวนสับสน ตั๋วโดยสารที่ไม่เชื่อมระบบกัน สายรถประจำทางที่เปลี่ยนเลขแล้วเปลี่ยนเลขอีก มีระยะเดินระหว่างต่อรถพอสมควร และติดตั้งลิฟต์หรือบันไดเลื่อนไม่ทั่วถึง รวมถึงยังต้องต่อรถโดยสารขั้นสุดท้ายให้ถึงบ้าน ทั้งหมดนี้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้ในทุกขั้นตอน และยังไม่นับรวมถึงพื้นที่นอกเมืองหลวงที่การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะแทบเป็นไปไม่ได้
ระบบขนส่งสาธารณะในฝันสำหรับผู้สูงวัยจะต้องเป็นอย่างไร และเมื่อไรสังคมไทยจะเดินไปถึงจุดนั้น นี่คืออีกหนึ่งโจทย์ที่สำคัญที่ต้องการความใส่ใจจากทุกภาคส่วน
เทคโนโลยีที่ผู้สูงวัยต้องสวมแว่นขยาย เปิดใจ แล้วใช้ให้เป็น
LINE, QR Code, Mobile Banking กลายเป็นพื้นฐานชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่สำหรับผู้สูงวัยที่ไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัล นี่อาจเป็นเรื่องท้าทาย
หลายครอบครัวที่บุตรหลานเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ น่าจะช่วยให้ผู้สูงวัยเรียนรู้การใช้งานสมาร์ทโฟนเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่ยากนัก แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ ที่คนในครอบครัวจำเป็นต้องช่วยกันแนะนำ เพราะข่าวผู้สูงวัยถูกมิจฉาชีพหลอกลวงนั้นยังมีให้เห็นเรื่อย ๆ อีกทั้งระบบความปลอดภัยของระบบธนาคารออนไลน์ก็เป็นเรื่องที่รัฐและสถาบันการเงินต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจริงจังเพื่อปิดช่องทางการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพ
สิทธิรักษาพยาบาล สะท้อนคุณค่าความเป็นมนุษย์
ประเทศไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นด้านการเข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบถ้วนหน้าจนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อสิทธิ์บัตรทอง นอกจากนี้ ยังมีสิทธิของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการของข้าราชการ ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระดับที่ต่างกันออกไป แต่สิทธิ์บัตรทองเป็นสิทธิพื้นฐานที่เป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้กับทุกคน
ในเมื่อพื้นฐานเรื่องการรักษาพยาบาลของประเทศไทยดีพอสมควรอยู่แล้วในแง่ของความถ้วนหน้า การต่อยอดจากพื้นฐานเดิม ทั้งในแง่ของการพัฒนาคุณภาพและความครอบคลุม รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค จึงเป็นโจทย์ลำดับต่อไปที่ต้องทำให้เกิดทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล
เพราะสิทธินี้ไม่ได้หมายถึงแค่หน้าที่ที่รัฐต้องดูแลประชาชน แต่หมายถึงการธำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมและระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนมีส่วนต่อเติม ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม โดยเฉพาะในกรณีผู้สูงวัย ผู้มีส่วนสร้างสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้มานานกว่า 60 ปี
ดังนั้น การช่วยดูแลประคับประคองให้ผู้สูงวัยสามารถดำรงชีวิตบั้นปลายให้เป็นตามสมควรไปจนสุดเส้นทาง จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องคำนวณความคุ้มค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัดนัก
ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อาจยังไม่ครอบคลุมชีวิตของผู้สูงวัยในทุกมิติ แต่อย่างน้อยเราได้เห็นจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และความเสี่ยงที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้
เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบแค่ในระดับครอบครัว แต่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งในการปรับปรุง ดูแล และเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า.
อ้างอิง [1], [2], [3], [4]