ไม่ว่าเด็กคนไหนก็ชอบการ์ตูน และยิ่งชอบมากขึ้นเมื่อตัวการ์ตูนเหล่านั้นเคลื่อนไหวไปมาในหน้าจอโทรทัศน์หรือในโรงภาพยนตร์ที่เรียกว่าแอนิเมชั่นหลายคนจึงฝันอยากให้ตัวการ์ตูนที่วาดเองหรือตัวการ์ตูนที่ตนชื่นชอบมีโอกาสได้เป็นแอนิเมชั่นบ้าง วันนี้โอกาสนั้นมาถึงแล้วกับงาน “จากการ์ตูนลายเส้น สู่ภาพเคลื่อนไหว” กิจกรรม TK Special ที่จะทำให้คุณได้เรียนรู้เคล็ดลับวิธีสร้างตัวการ์ตูนจากลายเส้นสู่ภาพเคลื่อนไหวให้ขับเคลื่อนได้เหมือนจริง โดยมีพี่ๆ จากบริษัทลูกชาวไร่ มัลติมีเดียและแอนิเมชั่น ผู้อยู่เบื้องหลังแอนิเมชั่นดังๆ หลายเรื่องเป็นผู้ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
วิทยากรให้คำแนะนำน้องๆ เรื่องการวาดภาพ
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำ แอนิเมชั่น
เมื่อกล่าวถึง แอนิเมชั่น หลายคนคงนึกถึงการ์ตูนเคลื่อนไหวที่ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์การ์ตูน แต่ความหมายของแอนิเมชั่นไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงการ์ตูนเคลื่อนไหวเสมอไป หากแต่ยังมีงานกราฟิกอื่นๆ อีกมากมายที่อาจเรียกได้ว่าเป็นแอนิเมชั่น การ์ตูนแอนิเมชั่น นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ แบบ 2 มิติ และแบบ 3 มิติ ซึ่งเทคนิคการสร้างสรรค์ก็จะแตกต่างกันออกไป แอนิเมชั่น 2 มิติของไทยก็อย่างเช่น ประวัติพระพุทธเจ้า ส่วน 3 มิติก็เช่น ก้านกล้วย ปังปอนด์แอนิเมชั่น เป็นต้น
คำว่า แอนิเมชั่น นี้มีประวัติมาอย่างยาวนานนับแต่มนุษย์รู้จักการวาดภาพ ภาพที่ใกล้เคียงความหมายของแอนิเมชั่นมากที่สุดก็คือจิตรกรรมฝาผนังที่ชื่อว่า Egypt Motion ซึ่งปรากฏอยู่ที่สุสานในประเทศอียิปต์ มีอายุมากกว่า 4,000 ปี
ภาพ Egypt Motion
แต่ที่นับว่าเป็นภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่องในความหมายของแอนิเมชั่นจริงๆ ก็คือ แอนิเมชั่นเรื่อง Fantasmagorie ของนักเขียนชาวฝรั่งเศสนาม Emile Cohl ซึ่งออกฉายในปี ค.ศ. 1908 และได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น ส่วนแอนิเมชั่น ที่ปรากฏครั้งแรกในไทยคือการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่อง “เหตุมหัศจรรย์” ของปยุต เงากระจ่าง ออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 จากนั้นวงการแอนิเมชั่นของไทยก็พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งในปัจจุบันนั้นนับได้ว่ามีฝีมือไม่แพ้งานของต่างประเทศเลยทีเดียว
มาทำ Flip Book กันเถอะ!
เมื่อเรียนรู้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแอนิเมชั่นไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่น้องๆ จะได้ลงมือทำการ์ตูนลายเส้นให้เคลื่อนไหวได้เสียที พี่ๆ วิทยากรเริ่มต้นด้วยวิธีการง่ายๆ อันเป็นพื้นฐานของการทำแอนิเมชั่น นั่นคือ Flip Book โดยเตรียมอุปกรณ์ก็คือ หนึ่ง ปากกา ดินสอ สี ตามแต่ความถนัด และสอง กระดาษปอนด์ ตัดเป็นแผ่นเท่ากันตามจำนวนที่ต้องการ (อย่างน้อย 25 แผ่น)
Flip Book หรือชื่อภาษาไทยว่า สมุดดีด คือการวาดภาพเคลื่อนไหวอย่างง่าย เช่น ให้ตัวการ์ตูนเดิน ยิ้ม เป็นต้น วาดลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ แผ่นละ 1 ภาพ ให้อากัปกิริยาของตัวการ์ตูนค่อยๆ เคลื่อนไหวไปทีละนิด แล้วนำภาพที่วาดทั้งหมดมาเย็บรวมกันเป็นเล่ม จากนั้นใช้วิธีกรีดหรือพลิกดูแต่ละหน้าอย่างรวดเร็ว แล้วจะมองเห็นว่าตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้จริง พี่วิทยากรอธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่เราเห็นภาพเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นเพราะว่าแต่ละภาพจะพลิกผ่านสายตาของเราด้วยความเร็ว 30 ภาพต่อวินาทีโดยประมาณ ในขณะที่สมองยังไม่ลืมภาพเก่า ภาพใหม่ก็มาปรากฏแทนที่จึงเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาได้นั่นเอง
น้องๆ มาโชว์ Flip Book ของตัวเอง
เรียนรู้เคล็ดลับในการทำ แอนิเมชั่น
เมื่อถึงช่วงบ่าย พี่จักรี หรือคุณจักรี จ่ายกระโทก Director แผนกการ์ตูนแอนิเมชั่น กลุ่มลูกชาวไร่ บริษัทคอนเน็คพีเพิลได้มาสอนน้องๆ ถึงเคล็ดลับในการสร้างแอนิเมชั่น นับตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนออกมาเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นอย่างสมบูรณ์
พี่จักรีกล่าวถึงขั้นตอนการทำแอนิเมชั่น ว่ามีขั้นตอนหลักๆ อยู่ 3 ขั้นตอน คือ Pre-Production, Production และ Post-Production
เริ่มกันที่ Pre-Production เป็นขั้นตอนก่อนการลงมือทำแอนิเมชั่นหลักๆ อยู่หลายข้อคือ
1. คิด Theme หลักของเรื่อง Theme หลักของเรื่องคือ แนวคิดในการนำเสนอเรื่องนั้นๆ โดยมักจะเป็นคำถามหรือการตั้งข้อสงสัยว่าถ้าเกิดสิ่งนั้น สิ่งนี้จะตามมา เช่น เมื่อน้ำท่วมโลกคนจะกลายเป็นปลา เด็กจะกลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่เมื่อสนใจธรรมะ เป็นต้น
2. เขียนเรื่องย่อ เรื่องย่อก็คือเรื่องเล่าแบบย่อๆ ของเรื่องนั้น ส่วนมากมักจะจบในไม่เกิน 1 หน้า A4 อาจดูตัวอย่างได้ที่ปกหลังของดีวีดีภาพยนตร์ สิ่งที่แตกต่างกันคือในปกหลังดีวีดีจะจบลงที่เหตุการณ์ตื่นเต้นกระตุ้นให้คนอยากรู้ แต่สำหรับเรื่องย่อของเรานั้นต้องเขียนให้จบไม่ต้องขยักไว้ เพื่อเวลาเขียนบทจะได้เห็นทิศทางที่ชัดเจน
3. เขียนบท บทคือตัวหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราว การดำเนินเรื่อง เมื่ออ่านแล้วต้องเห็นภาพเป็นฉากๆ มีการบอกมุมกล้อง เทคนิคถ่ายทำ และบทพูดไว้อย่างชัดเจน
4. Story Board เมื่อได้บทที่ชัดเจนแล้ว เราก็จะมาเขียน Story Board คือภาพคำอธิบาย โดยด้านซ้ายเป็นภาพ ส่วนด้านขวาเป็นตัวอักษรอธิบายภาพ และมีเสียงประกอบหรือเสียงพูดจากบท การวาด Story Board ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดตัวการ์ตูนมากนัก อาจจะวาดเป็นแค่ตัวการ์ตูนหัวกลมๆ ก็ได้
ตัวอย่าง Story Board
5. Shooting Board เมื่อได้ Story Board ที่พอใจแล้ว เราก็จะมาทำ Shooting Board ซึ่งคล้ายๆ กับ Story Board แต่มีรายละเอียดมากกว่า มีภาพลักษณะการเคลื่อนไหวของตัวละครที่ชัดเจน
6. Animatic เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเตรียมทำแอนิเมชั่น คือการสร้างภาพเคลื่อนไหวคร่าวๆ ให้เห็นจังหวะการตัดต่อ จังหวะการเคลื่อนไหวของแอนิเมชั่น แต่อาจจะยังไม่ต้องแบ่งเฟรมเยอะมากนัก และมักจะใส่เสียงประกอบเลยเพื่อให้รู้จังหวะการเคลื่อนไหวที่จะพอดีกับเสียง
Production คือขั้นตอนการลงมือทำแอนิเมชั่น
เมื่อเตรียมตัวมาพร้อมสรรพ ขั้นตอนการลงมือทำนี้ก็ง่ายขึ้น สิ่งที่เราจะได้จากขั้นตอนก่อนหน้าคือ Animatic กับบทพูดของตัวละคร หลังจากนี้เราต้องออกแบบตัวละคร (Character Design) และวาดภาพเคลื่อนไหวอย่างละเอียด ในจังหวะการเคลื่อนไหว 1 วินาที หากเป็นการ์ตูนที่เคลื่อนไหวน้อยก็อาจจะใช้เพียง 12 ภาพ/วินาที แต่หากจะให้การเคลื่อนไหวละเอียดเป็นธรรมชาติอาจต้องใช้ภาพมากถึง 24 ภาพ/วินาทีเลยทีเดียว
ตัวอย่างการออกแบบตัวละคร
Post-Production คือขั้นตอนการตัดต่อ เก็บรายละเอียดเพื่อให้เป็นงานแอนิเมชั่นที่สมบูรณ์
ขั้นตอนนี้คือการนำภาพเคลื่อนไหวทั้งหมดมาตัดต่อให้กลายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่สมบูรณ์ โดยมีทั้งการใส่เสียง Effect ประกอบ เสียงพากย์ให้กลมกลืนกับอากัปกิริยาของตัวการ์ตูน ซึ่งในขั้นตอนนี้มีคำศัพท์ 2 คำที่ควรเรียนรู้คือ
1. Effect คือเสียงพิเศษดึงดูดความสนใจ มักจะเป็นเสียงการเคลื่อนไหวของตัวละคร หรือเสียงประกอบที่ช่วยเร้าอารมณ์
2. Render หมายถึงการให้แสงและเงาที่สมจริง เป็นการสร้างภาพขั้นตอนสุดท้ายของคอมพิวเตอร์กราฟฟิก
นอกจากจะอธิบายขั้นตอนการทำแอนิเมชั่นอย่างคร่าวๆ แล้ว พี่จักรียังพานักวาดการ์ตูนมาวาดภาพเคลื่อนไหวให้ดูกันสดๆ อีกด้วย ซึ่งหลักการก็คล้ายๆ กับ Flip Book ที่น้องๆ ได้ลงมือทำกันไปก่อนหน้านี้ คือเป็นภาพการ์ตูนในลักษณะอากัปกิริยาใกล้เคียงกัน เมื่อเปิดผ่านเร็วๆ จะเห็นว่าตัวการ์ตูนนั้นเคลื่อนไหวไปมาได้
สาธิตการวาดภาพเคลื่อนไหว
พี่จักรีกล่าวปิดท้ายว่า ในปัจจุบันวงการแอนิเมชั่นของไทยนั้นก้าวไกลไปมาก ฝีมือของนักทำแอนิเมชั่นของไทยนั้นไม่ได้แพ้ชาวต่างชาติเลย บางครั้งคนไทยก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการ์ตูนแอนิเมชั่นของญี่ปุ่นหรือของฝรั่งด้วย อย่างไรก็ตาม บุคลากรในวงการนี้ของไทยยังมีอยู่น้อย ดังนั้นหากใครชอบวาดการ์ตูนหรือสนใจเรื่องทำแอนิเมชั่น ก็อยากจะให้ลองไปศึกษาและก้าวเข้ามาในวงการนี้ เดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เริ่มเปิดหลักสูตรคอมพิวเตอร์กว้างขวางขึ้น บางมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตรการทำแอนิเมชั่นโดยตรง หากมีฝีมือจริงก็สามารถยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ไม่ยากเลย
ด.ช.นวัตกรณ์ สุวรรณประภา หนึ่งในผู้ร่วมงานกล่าวว่า งานในวันนี้สนุกมาก ได้ทำ Flip Book ที่ทำให้เห็นภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวได้จริงๆ แล้วก็มีเพื่อนที่ชอบการ์ตูนด้วยกันมานั่งทำแล้วแลกเปลี่ยนกันดู นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้วิธีการทำแอนิเมชั่นอีกด้วย หากโตขึ้นมีโอกาสก็อยากจะลองเรียนทำแอนิเมชั่น เพราะจะได้วาดการ์ตูนอย่างที่ชอบ
จบงานวันนี้ไป หวังว่าน้องๆ จะได้เรียนรู้การทำแอนิเมชั่น ทำให้ภาพการ์ตูนของเราเคลื่อนไหวดุ๊กดิ๊กได้สมใจ แล้วก็อย่าลืมเรียนรู้และฝึกฝนต่อไปเรื่อยๆ นะคะ ไม่แน่ว่าอาจมีบางคนในวันนี้ได้เป็นนักทำแอนิเมชั่น ที่โด่งดังไปไกลทั่วโลกก็ได้ใครจะรู้
หนอนหนังสือตัวอ้วน