เมืองแห่งการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วพริบตา ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศให้เมืองแห่งนี้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้คน เช่นในเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ หรือ Learning Fest Bangkok 2023 ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลาย ร่วมกันเฉลิมฉลองความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์ที่เป็นบ่อเกิดของการเรียนรู้ที่แผ่ขยายไปได้ทั่วเมือง ภายใต้แนวคิด ‘WONDERLEARN สงสัยให้สุด เป็นมนุษย์ไม่หยุดเอ๊ะ’ ด้วยกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อหลากหลายวัย ความถนัด และความสนใจ
โรงแรมมหัศจรรย์ CREAM Bangkok และ BooksBunny ร้านหนังสือตราเด็กส่งกระต่าย เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นและขยันขันแข็งของเราในภารกิจการสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ที่ติดปีกแห่งจินตนาการให้กับมนุษย์รุ่นเล็ก และในเทศกาลนี้ สำหรับ ครูใบปอ—อ้อมขวัญ เวชยชัย แห่ง CREAM Bangkok และแม่นิดนก—พนิตชนก ดำเนินธรรม จาก BooksBunny จึงเป็นโต้โผพาเด็ก ๆ 12 คนมาลงสนามการเรียนรู้แบบไม่มีกติกาบังคับที่สวนปทุมวนานุรักษ์ ภายใต้ชื่อกิจกรรม ‘A Conversation with the World คุยกันฉันกับโลก’↗ โดยให้เด็ก ๆ ผจญภัยออกวิ่งเล่น สำรวจสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติกันอย่างอิสระตลอดช่วงบ่าย โดยครูใบปอจะบันทึกเสียงหรือสิ่งที่เด็ก ๆ พูดคุย สงสัยในเรื่องที่พวกเขาเห็น ก่อนนำไปตัดเอาตอนสนุก ๆ ที่เด็กแต่ละคนได้มีปฏิสัมพันธ์กันหรือได้เชื่อมสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แล้วนำเรื่องราวความมหัศจรรย์ใหญ่น้อยนั้นมาปะติดปะต่อกันเป็น ‘แทรคเสียงพิเศษ’ ความยาว 55 นาที ให้ใครก็ตามที่อยากตามรอยเข้าสู่โลกมหัศจรรย์ของเด็ก ๆ ได้ยินได้ฟังด้ว
กิจกรรมนี้จึงชวนผู้คนทุกวัยหรือผู้ปกครองมาสวมหูฟังแล้วเดินเล่นในสวนสาธารณะแห่งนี้ และลองเดาจากคำพูดของเด็ก ๆ ว่าแต่ละคนกำลังเดินไปทางไหน มองเห็นอะไร กำลังทดลองอะไรอยู่ แล้วทำไมถึงดูสนุกกันจัง
มหัศจรรย์แห่งความสงสัยบนพื้นที่ปลอดภัย
จากวงสนทนาตกผลึกที่พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมได้กลับขึ้นมาล้อมวงคุยกันบน TK Park ครูใบปอเล่าว่า โดยปกติที่โรงแรมมหัศจรรย์ CREAM Bangkok จะมีการสร้างสรรค์กิจกรรมร่วมกับกลุ่มเด็ก ๆ อยู่แล้ว แต่สำหรับกิจกรรมนี้ ครูใบปอตั้งโจทย์จากการตีความคำว่า Wonderlearn ว่าไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การสงสัย แต่ยังรวมถึงความรู้สึกอัศจรรย์ใจที่เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ ผนวกกับเธอและแม่นิดนกได้ดูสารคดีญี่ปุ่นเรื่อง Kids Konference↗ (ดูได้ฟรีที่แอปพลิเคชัน VIPA ของ ThaiPBS) “ในเรื่องจะเล่าถึงในทุก ๆ เย็นก่อนกลับบ้าน ครูจะชวนเด็ก ๆ อนุบาล 3 มานั่งพูดคุยกันถึงประเด็นต่าง ๆ ถามเด็ก ๆ ว่า รู้จักฝนตกไหม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการที่เด็ก ๆ แต่ละคนต่างก็มีทฤษฎีตามความคิดของตัวเองมาพูดคุยกัน ซึ่งเราและครูใบปอได้มองเห็นวิธีการทำความเข้าใจโลกของเด็กเหล่านั้น เราเลยนำสิ่งที่ได้มาประยุกต์เข้ากับกิจกรรมในครั้งนี้” แม่นิดนกเล่าถึงที่มา
“เด็ก ๆ มีสิ่งที่เรียกว่า Wonder อยู่แล้ว หรือ ความรู้สึกอัศจรรย์ใจอย่าง เฮ้ย โลกนี้มันขนาดนี้เลยเหรอ มีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ เราอยากดึงตรงนี้มาใช้ อยากเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้เด็กมีอิสระได้แสดงออก และอยากให้ผู้ใหญ่ได้เห็นด้วย เพราะเราอยากให้เขาเห็นว่า เด็ก ๆ มีสิ่งที่เรียกว่า Wonder อยู่ในตัวทุกคน” ครูใบปอเสริม
กระบวนการทำกิจกรรมครั้งนี้คือการทดลองครั้งแรก เธอขอเลือกกลุ่มเด็ก ๆ After School ที่เคยมาร่วมเวิร์กช็อปกับเธอมาก่อนแล้วที่ CREAM Bangkok เพราะเชื่อว่าการพาเด็กทั้ง 12 คนที่มีนิสัยแตกต่างกันมาเดินสำรวจสวนปทุมวนารักษ์ พื้นที่ที่เด็ก ๆ ยังไม่เคยมา และยิ่งไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย โดยถ้าเด็กคุ้นเคยกับครูอยู่แล้ว พวกเขาจะรู้สึกปลอดภัย เชื่อใจ และกล้าพูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้
“นอกจากนี้ การที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย เขาจะรู้สึกว่าต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง คือถ้าอยู่ที่บ้านเด็กก็จะมีคาแร็กเตอร์อีกแบบหนึ่ง เวลาอยู่ที่โรงเรียนก็จะเป็นอีกแบบ ดังนั้นเพื่อให้เด็ก ๆ เป็นนักเรียนรู้ เราก็จะขอให้ผู้ปกครองส่งเด็กแล้วกลับเลย พอเด็กมาที่สวนก็ปล่อยให้ออกสำรวจด้วยตัวของเขาเลย” แม่นิดนกเล่า
เด็ก = นักสำรวจ นักเล่าเรื่อง และนักเล่น
พระเอกของงานที่จะขาดไม่ได้คือ เครื่องอัดเสียงที่ต้องนำมาไว้ประจำตัวเด็ก ๆ
“โดยปกติเวลาทำกิจกรรม เราจะไม่ค่อยมีแผนการ แต่จะปล่อยให้เป็นอิสระ ดังนั้น การสำรวจสวนในครั้งนี้ เราไม่รู้เลยว่าจะได้อะไรกลับมาไหม เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับเด็ก ๆ เราเลยให้โจทย์เพียงแค่ว่า สวนนี้เล่นสนุกอะไรได้บ้าง มีอะไรน่าสงสัย น่าประหลาดใจ หรือมีทฤษฎีอะไรที่น่าสนใจให้เล่าออกมานะ เราต้องการเสียงของเด็ก ๆ อย่าคิดอยู่ในใจนะ ซึ่งวันนั้นเด็ก ๆ พูดและเล่นกันเจี๊ยวจ๊าว ดูสนุกมาก ๆ”
ในระหว่างที่เด็ก ๆ ออกสำรวจ ทั้งครูใบปอและแม่นิดนกก็ต้องตอบคำถามในส่วนของตัวเองเช่นกันว่า เด็กกลุ่มนี้จะเกิดความสนใจสิ่งต่าง ๆ ต่อโลกนี้หรือไม่ จะสามารถถอดรหัส สร้างทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง พร้อมเผยหัวใจการเป็นนักสำรวจออกมาโดยธรรมชาติได้เองไหม
“การเป็นคนกล้าหาญ อยากทดลอง อยากรู้อยากเห็น เรามองว่านี่คือเรื่องพื้นฐานสำคัญที่เด็กทุกคนควรแสดงออกมา เราเชื่อว่าเด็ก ๆ มีอะไรอยู่ข้างในเยอะมาก แล้วเขาจะบอกเล่าผ่านวิธีการที่หลากหลายไปตามธรรมชาติของเขา ผ่านการเป็นนักสำรวจ นักเล่าเรื่อง และนักเล่น เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องมี แล้วสิ่งเหล่านี้ล่ะที่เราอยากให้มาปรากฏอยู่ในแทร็กคลิปเสียงให้คนที่มาเดินในสวนหรือใครก็ได้ลองฟังว่า โลกใบนี้ที่ดูธรรมดาเนี่ย ในสายตาของเด็กเป็นโลกมหัศจรรย์สำหรับเขาแค่ไหน”
ช่วงเวลากว่า 4 ชั่วโมงที่เด็ก ๆ ได้เล่นและสำรวจพื้นที่ในสวนกันอย่างตื่นเต้น ครูใบปอและแม่นิดนกยังได้เห็นการสร้างมิตรภาพดี ๆ ที่เกิดจากการที่เด็ก ๆ พูดคุยกันและดูแลช่วยเหลือกันเอง หรือการที่เด็ก ๆ เรียนรู้ได้เองว่า ควรหรือไม่ควรที่จะปฏิบัติกับเพื่อนหรือกับสิ่งมีชีวิตอย่างแมลงที่ค้นพบอย่างไร ถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ทำให้เด็ก ๆ ได้รู้จักตนเองมากขึ้นด้วย
ส่งต่อโลกมหัศจรรย์ให้คนอื่น ๆ
หลังจากที่ทั้งคู่ตัด ‘แทรคเสียงพิเศษ’ เสร็จแล้ว ก็นำออกเผยแพร่บนช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้สนใจดาวน์โหลดและเดินฟังที่สวนได้ ทั้งคู่ต่างคาดการณ์ไว้ว่า “ทุกคนที่เดินเล่นในสวนโดยเฉพาะผู้ปกครอง ถ้าได้ฟัง อยากให้ลองสำรวจตัวเองดูว่า ในแง่ของการเรียนรู้ คุณเชื่อว่าเด็ก ๆ เขากำลังสนุกกับการเรียนรู้หรือเปล่า เขาสนุกอยู่แล้วมาตั้งแต่เด็ก ๆ เลยหรือเปล่า เขามีความสนใจที่จะอยากรู้เรื่องต่าง ๆ ในโลกใบนี้อยู่แล้วอย่างเป็นธรรมชาติหรือเปล่า เรารู้สึกว่าสิ่งนี้จะตอบด้วยเรื่องราวและน้ำเสียงที่อยู่ในคลิปเสียงนี้ได้”
หากใครมีโอกาสสวมหูฟังเพื่อฟังคลิปเสียงเด็ก ๆ ระหว่างเดินเล่นในสวนไปด้วย น่าจะรู้สึกได้ว่าเสียงใส ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความเอ๊ะ บวกกับเรื่องราวที่เด็ก ๆ สนใจ ช่วยกระตุ้นจินตนาการของเราขึ้นมา ว่าเราและเด็ก ๆ เหล่านั้นกำลังพบเจอสิ่งเดียวกันหรือเปล่า บรรยากาศในวันที่เด็ก ๆ มาที่นี่เป็นอย่างไร คน สัตว์ และสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้วแค่ไหน และคำถามสำคัญที่อาจเกิดขึ้นกับหลายคนก็คือ ตัวเราเองได้เป็นนักผจญภัยแบบนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไรและที่ไหน ยังจำความรู้สึกนั้นได้หรือเปล่า การตั้งคำถามกับตัวเราเองก็คงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ครูใบปอและเม่นิดนกอยากให้เกิดเราทุกคนเช่นกัน
“เด็กเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ความฝัน มีอะไรก็มองเป็นเรื่องมหัศจรรย์ได้ ตรงนี้สำคัญ เพราะนักเรียนรู้จำเป็นจะต้องมีพลัง มีไฟอยากเรียนรู้โลกเท่าที่มี ไม่ว่าใครจะมีข้อจำกัดแบบไหน หรือแม้ว่าโลกนี้ไม่น่าตื่นเต้นอะไร แต่ถ้าได้ลองคิดอีกแง่ โลกมันใหญ่มากนะ ก็ตื่นเต้นที่ความกว้างใหญ่จะเต็มไปด้วยสิ่งที่เราไม่รู้ โลกนี้คงน่ามหัศจรรย์ในตัวของมันอยู่แล้ว ซึ่งเด็ก ๆ ยังมองเห็นอยู่ แสดงว่าความเป็นนักสำรวจของเขายังไม่ถูกทำลาย” ครูใบปอและแม่นิดนกสรุปส่งท้าย
กิจกรรมครั้งนี้ ครูใบปอและแม่นิดนกอาจจะไม่เพียงอยากให้เด็ก ๆ รักษาพลังแห่งการเรียนรู้แบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่ยังรวมถึงคนวัยผู้ใหญ่เอง ที่อาจจะต้องลองลดภาระหนักอึ้งของความเป็นผู้ใหญ่ และกลับมาสวมความเป็นเด็กบ้างแม้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับโลกและมองให้เห็นความมหัศจรรย์ของทุกสิ่งที่กำลังดำเนินไป
คลิกเพื่อย้อนฟัง ‘แทรคเสียงพิเศษ’ ผ่านช่องทางการรับฟังที่คุณสะดวก SoundCloud↗ YouTube↗ RSS Feed↗ และ Spotify↗