
ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาคงไม่มีกระแสใดในวงการวรรณกรรมที่คนให้ความสนใจมากไปว่า การปรับเอาภาษาที่เหยียดรูปลักษณ์ เพศ และเชื้อชาติออกจากวรรณกรรมเด็กของนักเขียนที่แสนจะโด่งดังอย่าง โรอัลด์ ดาห์ล

เรื่องมีอยู่ว่า The Telegraph ได้เปิดประเด็นเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ว่า Puffin Books ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์วรรณกรรมเด็กภายใต้สำนักพิมพ์ Penguin Random House ได้ทำการปรับเปลี่ยนคำหลายร้อยคำในตัวละครและภาษาของวรรณกรรมเด็กที่แต่งโดยนักเขียนชื่อดังอย่าง โรอัลด์ ดาห์ล ราว 15 เล่ม เช่น ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต เวอร์ชั่น 2565 จะเรียกเด็กชายอ้วนฉุที่แสนตะกละชื่อ ออกั๊สตั๊ส กลู๊ป ว่า “ตัวใหญ่” (enormous) แทน “อ้วนฉุ” (enormously fat) ที่เคยใช้ในเวอร์ชั่นปี 2544 และ เรียกอุมปาลุมป้าส์ว่าเป็น "มนุษย์ตัวจิ๋ว" (small people) แทนคำว่า "ผู้ชายตัวจิ๋ว" (small men) หรือ มาทิลด้า ฉบับปรับปรุงจะไม่เรียก มิสทรันช์บุล ครูใหญ่ของโรงเรียนว่าเป็น "สาวที่น่าสะพรึงกลัว" (most formidable female) อีกต่อไป แต่เป็น "ผู้หญิงที่น่าสะพรึงกลัว" (most formidable woman) เพราะคำว่า female นั้นมีนัยยะการบ่งบอกถึงกายภาพมากกว่าความเป็นมนุษย์เพศหญิงอย่างคำว่า woman โดยโฆษกของบริษัทโรอัลด์ ดาห์ลที่ดูแลวรรณกรรมต่างๆ ของดาห์ลได้เปิดเผยว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวนั้น "เล็กน้อยและได้ไตร่ตรองถี่ถ้วนแล้ว"

กลุ่มนักอ่าน sensitivity readers คือ กลุ่มคนที่คอยตรวจสอบภาษาที่ไม่เหมาะสมที่ซ่อนอยู่ในวรรณกรรรม ซึ่งคนอ่านกลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมหรือความแตกต่าง เช่น ประเด็นการล่าอาณานิคม ความหลากหลายทางเพศ โดยปกติแล้วสำนักพิมพ์จะจ้าง sensitivity readers ให้ตรวจสอบภาษาที่ก้าวร้าวหรือมีแนวโน้มว่าจะแสดงอคติ เหยียดเพศ เชื้อชาติ และ รูปลักษณ์ก่อนจะทำการตีพิมพ์ แต่ในกรณีของดาห์ลนั้นมันเกิดขึ้นหลังจากที่ผลงานได้ตีพิมพ์ออกมาแล้วหลายสิบปี อีกทั้งผู้เขียนก็ได้เสียชีวิตลงแล้ว
เหตุการณ์ครั้งนี้จึงมีการแบ่งแฟนเป็นสองขั้ว ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับการที่ควรจะอีดิตเอาคำที่แสดงถึงความเหยียดออกไปเพราะจะได้ไม่เป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ ซึมซับเอาความคิดเหล่านี้ไป แต่อีกฝ่ายซึ่งล้วนอยู่ในแวดวงนักเขียนและสื่อ (ที่เราก็รู้กันว่าหวงแหนตัวตนที่แสดงออกมาในงานเขียนมาแค่ไหน) บ้างก็ว่าเป็นการเซนเซอร์ที่ไร้สาระ บ้างก็ว่าเป็นความพยายามทางการตลาดของสำนักพิมพ์ที่ทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มยอดขายด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อให้คนยุคใหม่สนุกไปกับวรรณกรรมยุคก่อนได้ แต่หลายคนจึงตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะปรับเปลี่ยนคำหรือเนื้อหาบางส่วนเพื่อให้เข้ากับบริบทสังคมปัจจุบันโดยที่ยังคงเนื้อหาดั้งเดิมไว้
นักเขียนชื่อดังอย่าง ซัลมาน รัชดี ออกโรงให้ความเห็นในทวิตเตอร์ส่วนตัวทันทีว่า “โรอัลด์ ดาห์ลไม่ใช่เทวดา แต่นี่เป็นการเซ็นเซอร์ที่ไร้สาระ ซึ่งสำนักพิมพ์ Puffin Books และ the Dahl Estate (ที่ดูแลลิขสิทธิวรรณกรรมของดาห์ล) ควรจะละอายแก่ใจกับการกระทำนี้”
ทั้งนี้ หลายคนรู้ดีว่าดาห์ลนั้นมีอคติกับเชื้อชาติและความคิดต่อต้านยิวมาตลอดจนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 2533 ด้วยวัย 76 ปี และครอบครัวของเขาปล่อยแถลงการณ์ขอโทษอย่างเงียบๆ บนเว็บไซต์ในปี 2564 เกี่ยวกับคำพูดที่ดาห์ลเคยแสดงอคติต่อคนยิวตั้งแต่เมื่อครั้งยังมีชีวิตเมื่อปี 2526

แม้แต่ ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรถึงกับให้ความเห็นเรื่องการอีดิตคำที่กลุ่ม sensitivity readers กล่าวว่าไม่เหมาะสมกับยุคสมัยผ่านโฆษกว่า "เมื่อเป็นเรื่องของมรดกทางวรรณกรรมที่เข้มข้นและหลากหลาย นายกฯ เห็นด้วยกับ ย.จ.ด. ว่าคุณไม่ควรจะวุ่นวาย (gobblefunk) กับภาษา" โดยคำว่า gobblefunk เป็นศัพท์ที่ดาห์ลประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ในเรื่อง ย.จ.ด. (ยักษ์ใจดี) โดยนายกฯ ให้ความเห็นต่ออีกว่า “งานวรรณกรรมและนิยายควรเก็บรักษาเอาไว้ ไม่ใช่นำไปเสริมแต่งเพื่อปกปิดสิ่งใด”
นักเขียนจากนิวยอร์คอย่าง โซอี้ ดับโน ได้แสดงความคิดเห็นผ่านบทความในเดอะการ์เดี้ยนไว้อย่างน่าสนใจว่า การปรับปรุงเนื้อหาเหล่านี้ทำเพื่อปกป้องนักอ่านเด็ก แต่ก็น่าสนใจเมื่อวรรณกรรมผู้ใหญ่อย่าง เจมส์ บอนด์ ของ เอียน เฟลมมิ่ง ก็กำลังถูกสังคายนาเช่นกัน โดยทำการเอาคำที่มีอคติออกไปจากหนังสือ แต่ Dubno กล่าวว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ แม้คำเหล่านี้จะถูกยกออกไป แต่ตัวละครอย่างบอนด์ก็มักหยอกว่าผู้หญิงชอบการมีเพศสัมพันธ์กึ่งข่มขืน
หรือแม้แต่ตัว sensitivity reader บางคนเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการทำการแก้ไขต้นฉบับที่มีการตีพิมพ์ออกมาแล้ว เพราะเขากล่าวว่าเนื้อหาได้ถูกปล่อยออกสู่สาธารณชนและมีการตีความกันเรียบร้อยแล้ว หนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจน คือ เนื้อหาการเหยียดเพศที่ถูกเผยแพร่ผ่านการ์ตูนดิสนีย์ไปเรียบร้อยแล้ว ทางดิสนีย์จึงเพิ่งคำเตือนไว้ต้นเรื่องว่าเนื้อหาของการ์ตูนที่คุณกำลังชมนี้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหลายคนเชื่อว่าวิธีการเดียวกันนี้ก็น่าจะใช้กับโลกของวรรณกรรมได้เช่นกัน
กระแสนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโลกวรรณกรรม เมื่อเร็วๆ นี้ นักแสดงฮอลลีวู้ดอย่าง เจนนิเฟอร์ แอนิสตัน ที่โด่งดังจากซีรีส์ Friends สุดขำจากยุค 90 ถึงกับออกปากว่าการทำคอมเมดี้ในสมัยนี้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนยุคปัจจุบันพบว่ามุกในซีรีส์ Friends นั้นออกจะก้าวร้าวไปสักหน่อย ทำให้นักเขียนต้องระวังกับการเล่นมุกมากขึ้น เพราะไม่สามารถหยอกล้อชีวิตได้อีกแล้ว

ไม่มีใครรู้ว่ากระแสดังกล่าวจะไปไกลหรือขยายวงกว้างไปถึงไหน เพราะถ้าหากต้นฉบับของโรอัลด์ ดาห์ลถูกปรับเปลี่ยน นั่นหมายความว่าวรรณกรรมแปลของเขาทั่วโลกจะต้องถูกปรับเปลี่ยนตามด้วยหรือไม่ และที่สำคัญไม่มีใครรู้ว่าหากดาห์ลยังมีชีวิตอยู่ เขาจะยอมให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขคำเหล่านี้หรือไม่ จนกระทั่งทาง Penguin Random House ต้องประกาศว่าจะทำการตีพิมพ์วรรณกรรมดั้งเดิมของดาห์ลในรูปแบบหนังสือคลาสสิกควบคู่ไปกับเวอร์ชั่นใหม่หลังจากที่เจอกระแสตีกลับในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์
แต่ลองคิดเล่นๆ ว่า หากเราต้องปรับเปลี่ยนภาษาที่ดูก้าวร้าวเหล่านี้ในวรรณกรรมเด็กทุกเล่มให้เข้ากับยุคสมัย หรือถ้าวรรณกรรมไทยเราต้องมีการปรับเปลี่ยนบริบทต่างๆ ทั้งเรื่องเพศ เชื้อชาติ และรูปลักษณ์ ให้เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน เราจะเหลือวรรณกรรมสักกี่เล่มที่ยังสามารถคงเนื้อหาดั้งเดิมของต้นฉบับเอาไว้ได้
อ้างอิง
www.dw.com/en/roald-dahls-works-and-the-role-of-sensitivity-readers/a-64796277
www.lemonde.fr/en/culture/article/2023/03/01/roald-dahl-reprint-reignites-criticism-against-sensitivity-readers_6017847_30.html
www.reuters.com/lifestyle/uk-pm-sunak-condemns-gobblefunk-changes-roald-dahls-books-2023-02-20/
theconversation.com/roald-dahl-a-brief-history-of-sensitivity-edits-to-childrens-literature-200500
www.theguardian.com/film/2023/mar/30/jennifer-aniston-friends-offensive-interview
www.theguardian.com/books/commentisfree/2023/mar/09/roald-dahl-censorship-sensitivity-readers-books
www.today.com/news/family-author-roald-dahl-apologizes-his-anti-semitic-remarks-t202866?search=roald%20dahl