ผลการวิจัยชี้ว่า อารมณ์ขันเป็นประโยชน์ต่อร่างกายจิตใจ และช่วยให้เรียนได้ดีขึ้นด้วย
เอริน ไร้ท์ นักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ กลัวเลขถึงขั้นหวาดผวา แน่นอนว่าเธอไม่อยากเรียนชีวสถิติ ที่เป็นวิชาบังคับ แต่พอลงเรียนจริง เธอกลับพบว่าทุกอย่างราบรื่นกว่าที่คิดไว้มาก เธอมั่นใจในการนำทฤษฎีสถิติไปใช้วิเคราะห์ผลการวิจัยทางการแพทย์ เพราะดร.รอน เบิร์ค อาจารย์ผู้สอนมีวิธีสอดแทรกมุกตลกและทำให้ตัวเลขกลายเป็นเรื่องสนุก
อาจารย์เบิร์คนำวัฒนธรรมป๊อปอย่างละครเพลง “ออล แดท แจซซ์” (All That Jazz) มาให้นักศึกษาแสดงในห้อง แล้วจู่ๆ ดนตรีก็หยุด เพราะถูกจู่โจมโดยกลุ่มตัวละครในชุดสเวตเตอร์ฮู้ดจาก “ร็อคกี้” เปรียบเทียบให้เห็นการสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มทางสถิติในแบบที่สนุกสนานและเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ใช้ความคิด
“เมื่อผมเข้ามาในห้องเรียน ผมอยากเปลี่ยนบรรยากาศให้ทุกคนสนุกกับเนื้อหา ถึงแม้จะยากหรือซับซ้อนก็ตาม” เบิร์คกล่าว เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับการสอนอย่างสนุกสนานไว้หลายเล่ม เพราะเชื่อว่าอารมณ์ขันช่วยลดความกลัวและความกระวนกระวายลงได้ แต่การใช้ความสนุกให้ได้ผลก็ต้องมีไว้เพื่อเสริมเนื้อหา ไม่ใช่เน้นแต่ตลกจนเสียสมาธิในการเรียน
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า การสอดแทรกความสนุกสนานในชั้นเรียนจะช่วยลดความกระวนกระวาย เสริมการมีส่วนร่วม และเป็นแรงผลักดันให้นักศึกษาสนใจเนื้อหา รวมทั้งช่วยให้มีผลงานที่ดีขึ้นได้ และนักศึกษาก็ให้คะแนนประเมินอาจารย์ที่สอนสนุกสูงกว่าอาจารย์อื่นๆ ด้วย
เมื่อเรามีอารมณ์ขัน สมองจะได้รับรางวัลเป็นสารโดพามีนที่หลั่งออกมากระตุ้นแรงจูงใจ ให้มีความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมาย เสริมความจำระยะยาว อารมณ์ขันจึงมีประโยชน์สำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกวัย
อี.บี.ไวท์ นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของผลงานหนังสือสำหรับเด็กชื่อดังได้กล่าวไว้ว่า “การผ่าวิเคราะห์อารมณ์ขัน จะทำให้มันตายเหมือนการผ่ากบ” แต่การวิเคราะห์นั้นก็จำเป็นสำหรับครูอาจารย์ เพื่อให้ใช้พลังของอารมณ์ขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากสร้างความสนุกสนานให้ห้องเรียนมีบรรยากาศที่ดี ยังต้องส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย
อารมณ์ขันสร้างบรรยากาศที่ดีในห้องเรียนได้อย่างไร? นอกจากช่วยสร้างความสนุกสนาน การหัวเราะยังติดต่อถึงกัน และช่วยผ่อนคลายลดกำแพง เพิ่มความสนิทสนมในกลุ่มได้ด้วย
ในส่วนของการเรียนรู้ เมื่อสมองพบกับข้อมูลขัดแย้งน่าสงสัย แล้วแก้ปริศนานั้นได้ เราก็อาจจะยิ้มหรือหัวเราะออกมาอย่างโล่งใจ ในทางกลับกัน อารมณ์ขันยังกระตุ้นความสงสัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียน จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมอารมณ์ขันจึงช่วยเสริมความจำได้ดี งานวิจัย A Pew Research Poll แสดงให้เห็นว่า ผู้ชมรายการข่าวที่นำเสนออย่างมีอารมณ์ขันเช่น The Daily Show และ The Colbert Report จดจำเนื้อหาได้ดีกว่าคนที่อ่านหนังสือพิมพ์ หรือดูข่าวจาก CNN, Fox News หรือช่องข่าวทั่วไป
มีงานวิจัยที่อธิบายได้ว่า เหตุใดเราจึงจดจำสิ่งที่ทำให้เราหัวเราะ อย่างเช่น ช่วงเวลาตลกๆ สมัยเรียนมัธยม หรือรายละเอียดจากหนังตลกที่ได้ดูเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน ผลการวิจัยทางประสาทวิทยาเปิดเผยว่า อารมณ์ขันกระตุ้นโดพามีนได้อย่างมีระบบ และงานวิจัยเกี่ยวกับความจำก็แสดงว่า โดพามีนกระตุ้นให้เกิดแรงผลักดันสู่เป้าหมาย และการสร้างความจำระยะยาว นอกจากนี้ งานวิจัยทางการศึกษายังพบว่า การใช้อารมณ์ขันอย่างถูกวิธี ช่วยพัฒนาความจำให้นักเรียนได้ตั้งแต่วัยอนุบาลถึงวิทยาลัย
แล้วต้องใช้อารมณ์ขันอย่างไรจึงจะถูกวิธี? มีงานวิจัยหนึ่งที่ให้นักศึกษาวิทยาลัย 400 คน ประเมินอาจารย์ว่าใช้มุกตลกได้เหมาะสมหรือไม่ ได้ผลอย่างไร และนักศึกษารู้สึกอย่างไรต่อมุกตลกนั้น ผลก็คือ การใช้อารมณ์ขันที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาจะช่วยเพิ่มความจำ แต่มุกตลกผิดที่, มุ่งร้าย หรือนอกประเด็นจะไม่มีประโยชน์อะไร ผลการศึกษายังพบด้วยว่า บางครั้งอารมณ์ขันที่ดีก็อาจไม่ช่วยเรื่องความจำ นักศึกษาอาจมองว่าอาจารย์บางท่านตลกดี แต่มุกเหล่านั้นอาจแค่เรียกความสนใจโดยไม่ได้ทำให้จำได้ งานวิจัยจึงสรุปว่า ถ้าต้องการพัฒนาความจำ ต้องเลือกใช้อารมณ์ขันให้เหมาะสม และเชื่อมโยงกับหัวข้อที่สอน จึงจะได้ผลดี
การเรียนการสอนบางวิชา เช่นเรื่องสถิติ อาจดูไม่น่าจะใช้อารมณ์ขันเข้าไปช่วยให้จดจำได้ แต่เมื่อทำการทดลองให้นักศึกษาวิทยาลัยฟังบรรยายวิชาสถิติ เปรียบเทียบระหว่างการสอดแทรกมุกตลก กับไม่มีอารมณ์ขัน แล้วให้ทำแบบทดสอบตามหัวข้อ รวมทั้งแบบสอบถามเรื่องความรื่นรมย์ในการเรียน ผลการวิจัยพบว่า การเสริมอารมณ์ขันที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนช่วยให้นักศึกษาจดจำได้ดีกว่า และสนุกกับการเรียนมากกว่าด้วย
สำหรับการใช้อารมณ์ขันให้เหมาะกับวัยของผู้เรียนนั้น ผู้สอนอาจจะรู้สึกลำบากใจหรือประหม่าถ้าต้องเล่นมุกกับนักเรียนวัยรุ่นที่คอยจับผิดเพ่งเล็งครู แต่งานวิจัยพบว่า วัยรุ่นมีแนวโน้มจะปล่อยและรับโดพามีนได้มากกว่าผู้ใหญ่ จึงตอบสนองต่ออารมณ์ขันในบทเรียนได้ดีเป็นพิเศษ ครูจึงควรลองเล่าเรื่องตลก หรือให้นักเรียนใช้อารมณ์ขันในการนำเสนอรายงานหรืออภิปรายหัวข้อต่างๆ อาจลองดูตัวอย่างไอเดียอารมณ์ขันสำหรับสอนชั้นมัธยมปลายได้ที่ Teach like a Pirat (https://daveburgess.com/)
ที่จริงรายการทีวีสำหรับเด็กชื่อดังอย่าง Sesame Street ใช้อารมณ์ขันช่วยสอนมาหลายสิบปีแล้ว เรายังจำโกรเวอร์กับมุกตลกเหลวไหลของเขา, ความสับสนของมิสเตอร์นู้ดเดิ้ล และความพยายามของบิ๊กเบิร์ดที่อยากจะบอกให้เพื่อน ๆ เชื่อว่ามิสเตอร์สนัฟฟลูพากัสมีอยู่จริงได้เป็นอย่างดี นักวิจัยจึงเลือกบางบทบางตอนจาก Sesame Street มาใช้ในการทดสอบผลที่อารมณ์ขันมีต่อความจำและความมีส่วนร่วมในเด็กเล็ก โดยให้เด็กนักเรียนอนุบาลและชั้นประถมหนึ่งดูรายการแบบที่มีและไม่มีมุกตลก เมื่อมาทดสอบเนื้อหา เด็กที่ดูรายการแบบมีมุกตลกทำคะแนนได้สูงกว่า และมีส่วนร่วมมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วยังสนใจเลยไปถึงเนื้อหาส่วนอื่นที่ไม่ได้แทรกมุกตลก รวมทั้งจดจำบทเรียนโดยรวมได้ดีกว่าด้วย
ดร. เจนนิ่งส์ ไบรอัน นักวิจัยการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยอลาบามา ที่ปรึกษาสคริปต์รายการ “เซซามี สตรีท ผู้ศึกษาเรื่องอารมณ์ขันในห้องเรียน และทำโครงการวิจัย 22 งานระหว่างปี 1969 – 2000 เรื่องอารมณ์ขันกับการศึกษา พบว่า ถึงแม้อารมณ์ขันจะช่วยให้การเรียนรื่นรมย์ขึ้น แต่ก็ต้องปรับให้เข้ากับผู้เรียน ตามความต้องการที่จะดึงดูดความสนใจ, สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในห้องเรียน หรือลดความกระวนกระวายในการสอบ เพราะการใช้อารมณ์ขันมากเกินไปอาจทำให้นักเรียนเฝ้ารอมุกตลกจนพลาดสารสำคัญที่อาจารย์อยากจะสื่อ
ในช่วงปีแรก ๆ ของ “เซซามี สตรีท” ดร.ไบรอันท์แนะนำให้นักเขียนบทสอดแทรกอารมณ์ขันตลอดทั้งรายการเพื่อผูกโยงกับบทเรียนและทำให้เด็ก ๆ สนใจ โดยกุญแจสำคัญอยู่ที่ ต้องคิดมุกผ่านสายตาของผู้ชมหรือนักเรียน “อาจารย์ส่วนใหญ่คิดแบบอาจารย์ ซึ่งที่จริงไม่ควรทำแบบนั้น” ไบรอันท์บอก “เวลาสอนผมจะคิดถึงนักศึกษาเป็นหลัก ไม่มีอะไรเกี่ยวกับผม ผมจะแตะประเด็นต่างๆ ที่นักศึกษาต้องการเรียนรู้ และคำนึงถึงวัฒนธรรมของพวกเขา เพื่อพวกเขาจะได้เข้าใจเนื้อหาในแบบของพวกเขาเอง”
สรุปได้ว่า การใช้อารมณ์ขันช่วยเพิ่มการจดจำบทเรียนนั้น มีเคล็ดลับดังต่อไปนี้:
ควร
- ใช้อารมณ์ขันสร้างความรื่นเริงให้ห้องเรียน
- ใช้อารมณ์ขันสร้างความสนิทสนมในกลุ่ม
- ใช้อารมณ์ขันให้เหมาะกับบทเรียน
- ใช้อารมณ์ขันให้เหมาะกับวัย
- สอดแทรกอารมณ์ขันระหว่างเนื้อหาและการฝึกซ้ำ
ไม่ควร
- ประชดเสียดสี
- ใช้อารมณ์ขันที่เป็นตลกร้ายแบบไม่เหมาะสมหรือล้อเลียน
- ตลกแบบบังคับยัดเยียด
- เล่นมุกมากจนเกินไป
จากสถิติและงานวิจัยที่รวบรวมมาตลอด 40 ปีเรื่องอารมณ์ขันกับการเรียนรู้ชี้ชัดว่า อารมณ์ขันช่วยเสริมความสัมพันธ์ของผู้คน และอารมณ์ขันที่เหมาะสม ไม่เล่นมุกรุนแรง จะช่วยในการเรียนรู้ได้ด้วย การสอดแทรกอารมณ์ขันเข้าไประหว่างการสอนและการฝึกซ้ำๆ จะเป็นประโยชน์ แต่ผู้เขียนบทวิเคราะห์นี้ก็เตือนด้วยว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอารมณ์ขันโดยธรรมชาติ ครูจึงไม่ควรบังคับยัดเยียด เพราะความพยายามเล่นมุกฝืดจะกลายเป็นเคอะเขินและไม่ได้ผล นอกจากนี้ยังต้องระวังความคิดต่าง เช่นนักเรียนวัยรุ่นอาจจะไม่เข้าใจมุกตลกร้ายเสียดสีเป็นต้น
การวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การใช้อารมณ์ขันอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหาและแนวคิด เป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมความจำได้ดี และเรายังสามารถนำระบบรางวัลโดพามีนมาใช้ในการกระตุ้นสมองให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อีกด้วย
ที่มา
https://www.edutopia.org/blog/laughter-learning-humor-boosts-retention-sarah-henderson?fbclid=IwAR14zcCEugXsi4CLTiM8J-x3wH-ZuX3NfDwjSmne4ydcfD58C1w-flTRtjA
https://www.apa.org/monitor/jun06/learning?fbclid=IwAR2NLjPMfkQWHBIqnyPXvdEUKo94IT2Kvrb458gZNY0pNchSjXjb9EcxBSc