“เลือกผิดชีวิตเปลี่ยน” คำนี้ใช้ได้กับแทบทุกเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของ เพื่อน แฟน การเรียน หรือแม้แต่การเลือกอาชีพ แต่ใครเลยจะรู้ว่าเส้นทางที่เราเลือกจะพาไปสู่อนาคตที่วาดหวังหรือไม่ เพราะชีวิตย่อมไม่มีคู่มือหรือสูตรสำเร็จที่จะพาให้ชีวิตของแต่ละคนไปถึงฝั่งฝัน
อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า “ก้าวแรก” ของเส้นทางสายอาชีพนั้นกลับเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจและต้องการการเปลี่ยนแปลงเสมอ จากรายงานของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาในปี 2021 พบว่ามีบัณฑิตใหม่เพียง 21% ที่ตัดสินใจประกอบอาชีพตามสาขาวิชาที่ตนเรียนมา ส่วน 70% ของพนักงานใหม่ในสหรัฐฯ กำลังมองหาอาชีพใหม่ที่ดีกว่าเดิม และมีเพียง 14% เท่านั้นที่พอใจในหน้าที่การงานของตนในปัจจุบันและไม่ต้องการเปลี่ยนงานเร็ว ๆ นี้ น่าแปลกใจที่แม้แต่ประเทศที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมากมายอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังมีนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากที่ยังพลั้งพลาดกับก้าวแรกในเส้นทางสายอาชีพ วันนี้ TK Park จะชวนมาพูดคุยกันว่าทำไมคนจำนวนมากถึงยังหลงเส้นทางสายชีวิตจนต้องสะดุดล้มเมื่อก้าวไปถึงบันไดขั้นสำคัญที่เรียกว่าการทำงาน
ชีวิตมาถึงก้าวสำคัญ แต่ฉันไม่รู้ตัว
สำหรับมนุษย์ออฟฟิศหรือคนที่ทำงานมาเป็นเวลานานแล้วคงรู้ว่า “อาชีพ” ที่เราเลือกนั้นแทบจะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเราเมื่อเลือกแล้ว ทั้งการเดินทาง สถานที่ เวลาที่ใช้ไปในแต่ละวัน เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว คนรัก ทั้งหมดโคจรอยู่รอบๆ อาชีพที่เราเลือกทำทั้งสิ้น กว่าที่เราจะรู้ว่าเลือกอาชีพผิดก็ตอนที่สมดุลของชีวิตบางด้านได้พังทลายลงไปแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นมีสองทางเลือกคือ ทำใจและปรับตัวกับงานใหม่ กับลาออกจากงาน และทางที่คนส่วนใหญ่เลือกคืออย่างหลัง
เหตุใดนักศึกษาส่วนใหญ่จึงไม่ตระหนักว่าการเลือกอาชีพนั้นเป็นก้าวสำคัญที่เปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างสิ้นเชิง? อย่าลืมว่าพวกเขาเพิ่งจะสลัดคราบดักแด้ออกมาเป็นผีเสื้อโบยบินในโลกกว้าง ในเส้นทางการศึกษาที่เหมือนการอยู่ในดักแด้มีเป้าหมายให้โฟกัสอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น วิชาการ ผลการเรียน สังคมเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ แถมยังมีโอกาสให้เรียนรู้และลองผิดลองถูกจนผ่านพ้นได้ จนอาจเผลอนึกไปว่าการทำงานก็เหมือนอีกขั้นบันไดหนึ่งที่ก้าวต่อมาจากลำดับชั้นประถม-มัธยม-มหาวิทยาลัย ซึ่งพวกเขาจะก้าวขึ้นมาและรับมือได้เหมือนทุกครั้ง หลายคนจึงอาจไม่ได้เตรียมใจหรือไม่ได้ศึกษาเส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองอย่างถี่ถ้วนก่อนถึงวัยที่ต้องทำงานอย่างจริงจัง
ตัวฉันคือใคร ทำไมไม่เคยรู้จัก
ความสนใจ ตัวตน และความถนัด สามข้อนี้คือปัจจัยสำคัญในการเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด แต่เมื่อลองโยนคำถามนี้เข้ามาก่อนจบการศึกษา ปรากฏว่าคนจำนวนมากก็ยังตอบไม่ได้ว่าทั้งสามข้อของตนเองคืออะไร
ความสนใจและตัวตนแม้เป็นสิ่งที่ค้นพบได้ยาก แต่ก็มีโอกาสจะค้นพบได้ผ่านการแนะแนวจากอาจารย์ด้านจิตวิทยาหรือผู้มีประสบการณ์ในแต่ละอาชีพ ตลอดจนการลองทำกิจกรรมที่หลากหลายในระหว่างเรียน แต่ก็ต้องยอมรับว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในประเทศไทย หรือแม้แต่ในต่างประเทศก็ยังขาดระบบแนะแนวที่ดีพอในการนำทางให้นักศึกษาค้นพบตัวเองก่อนเข้าสู่เส้นทางอาชีพ และไม่ว่าจะมีหรือไม่มีระบบรองรับ สุดท้ายแล้วแต่ละคนจะต้องแสวงหาสองสิ่งนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งคนที่โชคดีได้ค้นพบก่อนจะเริ่มเลือกอาชีพมีน้อยกว่าน้อย
ในด้านความถนัดนั้นอาจวัดได้ด้วยการศึกษาและผลการสอบในระหว่างเรียน แต่ก็ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันอาจไม่ได้ช่วยวัด “ความถนัด” ที่แท้จริงของแต่ละคน เช่น นักศึกษาที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงลิ่วอาจได้คะแนนต่ำเตี้ยเรี่ยดินเมื่ออยู่ในระบบการศึกษาแบบท่องจำ หรือแม้แต่การอยู่ในระบบการศึกษาที่เน้นความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ก็ยากที่จะมีเกณฑ์ชี้วัดชัดเจนว่าความคิดสร้างสรรค์แบบไหนเป็นความคิดที่ดีและเหมาะสมกับงานแบบใด
สุดท้ายอย่าลืมว่า นอกจากนักศึกษากลุ่ม “เลิศเลอ” และ “ยอดแย่” ซึ่งอยู่บนสุดและล่างสุดของกราฟ ยังมีกลุ่ม “เด็กปานกลาง” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ แม้จะไม่ได้เลวร้าย แถมยังมีศักยภาพมากพอในการประคองตัวให้รอดพ้นจากระบบการศึกษาได้ แต่ก็เป็นกลุ่มที่ยังไม่รู้ว่าความสนใจ ตัวตน และความถนัดของตัวเองคืออะไร จึงต้องเสียเวลาและโอกาสไปอีกหลายปีในการ “ยืนผิดที่” หรือทำงานที่ไม่ใช่กว่าจะรู้ว่าตนเองเหมาะสมกับอาชีพใดจริงๆ
เมื่อเข็มทิศชี้ผิดทาง ชีวิตอาจเคว้งคว้างอีกนาน
พ่อแม่ ผู้ปกครอง อาจารย์ นักจิตวิทยา ผู้มีประสบการณ์ในแต่ละอาชีพ เหล่านี้คือรายชื่อของ “เข็มทิศ” หรือผู้แนะแนวทางสู่อาชีพที่ใช่ให้แก่นักเรียนนักศึกษาได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถแนะแนวเส้นทางได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ แม้ว่าทุกคนเต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์ แต่ก็เป็นประสบการณ์ในโลกยุคเก่า ส่วนโลกยุคปัจจุบันคือยุคที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดทุกปีจนยากจะตามทันทั้งจากเทคโนโลยี โรคระบาด หรือคำศัพท์ใหม่ ๆ อย่างเช่น ฺBig Data, AI, Metaverse, Streaming ฯลฯ ซึ่งบางครั้งเรื่องราวเหล่านี้ก็กลายเป็นช่องว่างระหว่างวัยที่ยากจะถมให้เต็ม หากวันหนึ่งเด็กโพล่งออกมาว่าอยากจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ พ่อแม่บางคนอาจยังต้องเกาหัวแกรก ๆ นึกไม่ออกว่าอาชีพนี้คืออะไร และสร้างรายได้มหาศาลอย่างไรในโลกยุคปัจจุบัน
อีกด้านหนึ่ง ผู้แนะแนวทางอาชีพให้กับเด็กก็เหมือนดาบสองคม โดยเฉพาะผู้ปกครอง เพราะอคติหรือความกลัวต่ออาชีพใหม่ที่ตนไม่รู้จักย่อมทำให้ผู้ปกครองเกิดความความห่วงใยต่ออนาคตของลูกไม่มากก็น้อย การตีความ “ความมั่นคง” ในบางอาชีพมากเกินไปซึ่งนับวันกำลังจะหมดความสำคัญในโลกสมัยใหม่ เช่น อาชีพข้าราชการ พนักงานบัญชี พนักงานธนาคาร พนักงานฝ่ายการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งนับวันมีแอปพลิเคชัน หุ่นยนต์ เอ.ไอ. และหลากหลายเทคโนโลยีมาแทนที่ หากความรักความห่วงใยมีมากเกินพอดีก็อาจกลายเป็นอำนาจในการบังคับให้ลูกทำตามสิ่งที่ตนเองเห็นว่าถูกต้อง ปิดกั้นโอกาสสู่เส้นทางอาชีพในโลกใหม่ กลายเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน” อย่างไม่รู้ตัว
อยู่กับเพื่อนตลอดไปอาจไม่พบงานที่ใช่
เมื่อพูดถึงคำว่าเพื่อน คำนี้น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของวัยรุ่น กว่า 90% ในเวลาของชีวิตวัยรุ่นนั้นอยู่กับเพื่อน กินกับเพื่อน เรียนกับเพื่อน เมื่อเกิดปัญหาหนักอก คนแรกที่วัยรุ่นจะปรึกษาไม่ใช่พ่อแม่หรืออาจารย์ แต่จะรี่ไปหาเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ เขานั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจหากเพื่อนจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลในชีวิตของวัยรุ่นเป็นลำดับต้นๆ เมื่อเพื่อนแนะนำอะไร ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าวัยรุ่นจะคล้อยตามสิ่งที่เพื่อนนำเสนอ
มุมมองและคำแนะนำจากเพื่อนนั้น แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม เพราะมองผ่านสายตาของคนที่อยู่ในโลกสมัยใหม่เหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าเรากับเพื่อนนั้นอายุห่างกันไม่กี่ขวบปี ด้านประสบการณ์ชีวิตก็ยังนับเป็นเบบี๋ของโลกใบนี้ไม่ต่างกัน ดังนั้นการฟังหูไว้หู เลือกทำตามคำแนะนำที่มีประโยชน์หรือเหมาะสมกับตัวเอง น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าเชื่อเพื่อนไปทั้งหมด
การตัดสินใจแบบลอกเลียนเพื่อน แบบ Copycat ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเป็นห่วง เมื่อเพื่อนเลือกเรียนต่อ หรือเมื่อเพื่อนเลือกเส้นทางอาชีพ หากเรายังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรต่อไป คนจำนวนไม่น้อยก็เลือกเรียนและเลือกอาชีพตามเพื่อนนั่นเอง เพราะหากเพื่อนที่เรียนตามกันมาทำได้ เราเองก็คงทำได้ หรือหากเกิดปัญหาระหว่างทาง อย่างน้อยก็ยังมีเพื่อนที่คอยช่วยเหลือกัน แต่สุดท้ายแล้วเพื่อนก็คือเพื่อน เราก็คือเรา การจับคนสองคนที่มีความแตกต่างไปนั่งบนเก้าอี้ทำงานตำแหน่งเดียวกันไม่มีทางจะมีผลลัพธ์เหมือนกันได้ หรือแม้แต่การลงเอยว่าเพื่อนเองก็เลือกเส้นทางชีวิตผิดเหมือนกัน จากที่ว่าจะคอยช่วยเหลือกันก็กลายเป็นการกอดคอเพื่อนรักกระโดดลงหุบเหวแห่งความล้มเหลวเสียอย่างนั้น
เทรนด์โลกและเทรนด์เราไม่เท่ากัน
อิทธิพลของสื่อและความนิยมในสังคมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการเลือกอาชีพของวัยรุ่น ใครเล่าไม่อยากทำอาชีพที่สุดแสนป๊อปปูลาร์ที่ใครๆ ในสังคมต่างก็อิจฉา หรืออาชีพสุดแสนมั่นคงอย่างการสอบเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ แต่อาชีพสุดคูลบางครั้งอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาฮันนีมูนกับอาชีพสุดเท่ เราก็ต้องกลับมาเผชิญกับโลกความจริงในอาชีพนั้น นักแคสเกม ไม่ใช่แค่เล่นเกมไปวันๆ แต่ต้องทุ่มเทพลังมากมายเพื่อให้ผู้ชมสนุกไปด้วย งานในหน่วยงานของรัฐก็ดูเหมือนจะมีกรอบกติกาบางอย่างที่คนรักอิสระรู้สึกอึดอัด การเริ่มต้นอาชีพจากความสนใจของสังคมแทนที่จะเป็นความสนใจของตัวเอง สุดท้ายแล้วหากสองสิ่งนี้ไม่ไปด้วยกันคงต้องถึงวันเลิกรา
แทนที่จะค้นหาว่าอาชีพในเทรนด์โลกของโลกตอนนี้เป็นอย่างไร ลองตั้งคำถามในอีกด้านว่าความสนใจของเราจะอยู่ตรงไหนในเทรนด์ของโลกได้บ้าง มีทักษะด้านใดที่เป็นจุดเด่นเหมาะสมกับอาชีพตัวเลือกของเรา ด้านไหนที่เรายังขาดถ้าจะไปสู่อาชีพนั้น ๆ เมื่อหาจุดที่ลงตัวได้ รับรองว่าคบกับอาชีพใหม่ไปกันยาว ๆ แน่นอน
อดทน ขยัน มุ่งมั่น คือปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
โลกยุคโซเชียลมีเดียที่หมุนเร็วกว่าปกติ เรามักจะพบกับเพื่อนหรือคนที่มีเรื่องเล่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าอิจฉา ความล้มเหลวกลับกลายเป็นเรื่องที่น่าอับอายและไม่ค่อยมีใครอยากเล่ามากนักในโลกออนไลน์ ทำให้คนในยุคปัจจุบันหวาดกลัวความล้มเหลว และอยากประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ในโลกของการทำงาน มีบางสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนหากต้องการไปถึงความสำเร็จของอาชีพนั้น ๆ นั่นคือความขยัน ความอดทน ความมุ่งมั่น และไม่กลัวที่จะล้มเหลว เพราะก้าวที่พลาดคือประสบการณ์ที่จะหล่อหลอมให้เราเข้มแข็งมากพอจะผ่านพ้นความยากลำบากในหนทางข้างหน้า เมื่อเริ่มทำงานเรามักจะพบอุปสรรคขวากหนามคอยขวางกั้นมากมาย ทุกสิ่งดูเหมือนไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง แต่บางครั้งดอกไม้ที่สวยงามก็ต้องการเวลาเพาะบ่ม หากหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ไม่ท้อถอยไปเสียก่อน ดอกผลของอาชีพในฝันก็คงเบ่งบานในไม่ช้า
การเลือกอาชีพนับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายแล้วเราจะเลือกถูกหรือผิด แต่หากสุดท้ายอาชีพที่เราเลือกไม่ใช่ปลายทางที่หวังก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือล้มเหลว เพราะมีเพียงไม่กี่คนในโลกที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ก้าวแรก ทว่าการเลือกแต่ละครั้งย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย หากเลือกอาชีพใหม่บ่อยครั้ง ต้นทุนชีวิตที่ต้องจ่ายอาจติดตัวแดงจนเสียโอกาสมากกว่าคนอื่น ดังนั้นหากเราเตรียมพร้อมถางทางไว้ตั้งแต่วันนี้ ปลายทางที่วาดหวังก็คงไม่ยากเกินกว่าจะเดินทางไปถึง
รายการอ้างอิง
Aleksandar Dimovski. (2022). 20 Eye-Opening Statistics About The State of Career Changes in 2022. Retrieved June 26, 2022, from https://goremotely.net/blog/career-change-statistics
Anurag. (2022). Why Students make Wrong Career Choices? Retrieved June 26, 2022, from https://thecareerquest.in/why-students-make-wrong-career-choices
Julia Wuench. (2022). The Myth Of The Wrong Career Choice. Retrieved June 26, 2022, from https://www.forbes.com/sites/juliawuench/2022/04/11/the-myth-of-the-wrong-career-choice/?sh=5f14a59174f4
Krishna Reddy. (2021). Reasons Why Students Make Bad Choices In Choosing A Career. Retrieved June 26, 2022, from https://ihararejobs.com/blog/reasons-why-students-make-bad-choices-in-choosing-a-career