ในปีนี้โลกยังคงเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งสภาพทางสังคมยุคหลังโควิด-19 ที่เปลี่ยนผ่านสู่โลกออนไลน์มากขึ้น การเตรียมตัวเข้าสู่ Metaverse รวมถึงบทบาทของอีบุ๊ก ที่เปลี่ยนประสบการณ์การอ่านให้มากกว่า “ตัวหนังสือ” ด้วยเสียงอ่านและฟีเจอร์ Interactive ต่างๆ เรื่องเหล่านี้มีอิทธิพลต่อรูปแบบและเนื้อหาของวรรณกรรมเยาวชนในปัจจุบันที่ต้องปรับตัวตามไปให้เท่าทันโลก
ปัจจุบันตลาดวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งครอบคลุมถึงกลุ่มวรรณกรรมวัยรุ่น ที่เรียกกันเป็นสากลว่า Young Adult หรือ YA มีมูลค่ารวมกว่า 16,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีกกว่า 21,900 ล้านดอลลาร์ใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นถึง 5.4% ทีเดียว ในขณะที่ตลาดหนังสือเด็กเล็กไม่มีการเติบโตขึ้นเท่าไรนัก ซึ่งอาจเป็นเหตุมาจากอัตราการเกิดของประชากรทั่วโลกที่ลดลงฮวบฮาบในตอนนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมองว่า วรรณกรรมเยาวชนเป็นที่ต้องการในตลาด เพราะเข้ามาเป็นตัวช่วยดึงความสนใจของเด็กวัยรุ่นออกจากอาการติดหน้าจอในยุคโควิด-19 ได้ และการที่วรรณกรรมกลุ่มนี้มาแรงแซงโค้งอาจเพราะสามารถต่อยอดไปสู่สื่อบันเทิงอื่น ๆ ได้ เช่น เกม ภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ต่าง ๆ ทำให้สามารถขยายฐานผู้ชมให้หันมาอ่านหนังสือที่เป็นเรื่องราวยอดฮิตจากเกม ภาพยนตร์หรือซีรีส์ มากขึ้นตามไปด้วย
เมื่อการเติบโตของวรรณกรรมเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมมีการสร้างสรรค์รูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น เราลองมาจับกระแส 6 เทรนด์ของวรรณกรรมเยาวชนยุคใหม่กันไหม ว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง พร้อมแล้วไปดูกันเลย
โลกของเกม โลกใบใหม่ในวรรณกรรมเยาวชน
เมื่อพูดถึงสิ่งที่เป็นความบันเทิงอันดับต้น ๆ ของเด็ก แน่นอนว่าต้องพูดถึงเกม ทั้งในฐานะของวิดีโอเกมยอดนิยม หรือเรื่องเล่าที่มีลักษณะของเกม จากรายงานการวิจัยของ Globe Newswire กล่าวว่า บริษัทหนังสือยอดนิยมอย่าง Barnes & Noble และ Penguin Books มีการจัดจำหน่ายหนังสือที่อิงจากวิดีโอเกมยอดนิยมมากขึ้น เนื่องจาก “เรื่องราว” หรือ “ตัวละคร” ในวิดีโอเกมเป็นสิ่งที่เด็กจำนวนมากได้รับรู้ร่วมกันผ่านการเล่นเกม เกิดการพูดคุยและถกเถียงเป็นวงกว้าง บางเกมมีวิธีการเล่าเรื่องที่เข้มข้นและน่าสนใจไม่แพ้วรรณกรรม นอกจากนี้แล้วตัวละครในเกมที่โดดเด่นยังสามารถต่อยอดเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ยอดนิยมที่มีเรื่องราวของตัวเองได้ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Sonic ที่ถูกสร้างมาอย่างต่อเนื่องถึงภาค 2 แล้ว หรือซีรีส์ Arcane : League of Legends ที่สร้างจากตัวละครในเกมและกลายเป็นซีรีส์ยอดนิยมใน Netflix
เรื่องราวในเกมยอดนิยมจึงมักเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เกิดความสนใจในการอ่านและรับรู้เรื่องราวใหม่ๆ เกี่ยวกับวิดีโอเกมที่พวกเขาชื่นชอบ หรือการผสมผสานกันระหว่างเรื่องราวในหนังสือที่ออกมาคู่กับวิดีโอเกมเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ที่หลากหลายจากตัวหนังสือและจากการเล่นเกม นอกจากนี้ วรรณกรรมเยาวชนและวรรณกรรมวัยรุ่นหลายต่อหลายเรื่องยังนำองค์ประกอบของเกมหรือคำศัพท์ในเกมไปใช้ เช่น การแข่งขันเพื่อล่าชีวิตใน The Hunger Game หรือวรรณกรรมแนวต่างโลกที่เต็มไปด้วยศัพท์ในเกม เช่น สกิล ดันเจี้ยน อัพเลเวล ผ่านด่าน สู้บอส ปราบมอนสเตอร์ ซึ่งเคยเป็นศัพท์เฉพาะทางของเกม แต่ในยุคปัจจุบันน่าจะเป็นคำศัพท์ที่นักอ่านรุ่นใหม่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
หนังสือนิทานในแบบของเรา การเปลี่ยน “นักอ่าน” เป็น “ตัวเอก”
สมัยก่อนเมื่อเราอ่านนิทาน เรามักจะจินตนาการภาพใบหน้าของตัวเองซ้อนทับเข้าไปในรูปภาพของ “เจ้าชาย/เจ้าหญิง” ในนิทาน และออกผจญภัยไปกับเรื่องราวสุดแสนตื่นเต้นในนิทานเรื่องดังกล่าว แต่จะดีแค่ไหนหากรูปภาพในนิทานเล่มนั้นเป็นภาพใบหน้าของเราจริง ๆ โดยไม่ต้องจินตนาการ ชื่อของเจ้าชายเจ้าหญิงในเล่มก็ไม่ใช่เจ้าชายชื่อโหล ๆ แต่กลับกลายเป็นชื่อของเราจริง ๆ ลักษณะนิสัย การผจญภัยที่เราต้องการฟันฝ่า และบทสรุปที่แสนสวยงามในความฝัน ทั้งหมดจะถูกเขียนไว้เป็นนิทานสำหรับเราคนเดียวเท่านั้น
นี่คือเทรนด์ใหม่ของหนังสือนิทานและวรรณกรรมสำหรับเด็กที่เรียกว่า Personalized Storybooks หรือหนังสือนิทานแบบเฉพาะตัว ที่สามารถสร้างเรื่องราวขึ้นจากความต้องการของผู้ซื้อได้โดยตรง โดยผู้ซื้อนิทานสามารถติดต่อสำนักพิมพ์ผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยใส่รูปภาพของเด็ก ชื่อ ที่อยู่ ลักษณะพิเศษ นิสัยส่วนตัว ความชอบและไม่ชอบของ “ตัวเอก” ลงในหนังสือนิทาน รวมถึงเพื่อนและคนในครอบครัวที่จะมีบทบาทต่าง ๆ ในเรื่อง จากนั้นสำนักพิมพ์ก็จะดัดแปลงภาพและสร้างเรื่องราวที่เหมาะสมกับตามความต้องการของผู้ซื้อออกมาในรูปแบบของนิทาน
ตัวอย่างเช่นสำนักพิมพ์ Bang On Books ในสหราชอาณาจักรที่มีบริการนี้ โดยลูกค้าสามารถเลือกแนวเรื่อง สอดแทรกตัวละครและปรับแต่งเหตุการณ์ในเรื่องผ่านช่องทางออนไลน์ได้โดยมีบรรณาธิการนิทานเด็กคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะลงรายละเอียดของตัวละครตามรูปถ่ายและข้อมูลของเด็กที่เป็น “ตัวเอก” เพื่อให้นิทานเล่มนั้นมีคุณภาพในฐานะวรรณกรรมสำหรับเด็กหนึ่งเล่ม และเป็นนิทาน “เล่มพิเศษ” ของเด็กที่เป็นตัวละครเอกอย่างแท้จริง
เสริมสร้างจินตนาการผ่านภาพประกอบ
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา หนังสือนิยายภาพ หรือ Graphic Novel สำหรับเยาวชนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของภาพประกอบในวรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมวัยรุ่น หรือการใช้ภาพประกอบเรื่องแบบ Light Novel ซึ่งเป็นผลมาจากการที่วัฒนธรรมภาพจากการ์ตูนได้รับการยอมรับในสื่อร่วมสมัยมากขึ้น รวมถึงการใช้ภาพตัวละครจากภาพยนตร์หรือซีรีส์มาประกอบในหนังสือชื่อดังเพื่อเปิดตลาดผู้อ่านหน้าใหม่และเพิ่มยอดขายมากขึ้น
แอนนาเบล บาร์คเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมเยาวชนและหนังสือเด็กจากออสเตรเลียกล่าวว่า มองเห็นแนวโน้มชัดเจนว่านิยายแทบทุกแนวในยุคปัจจุบัน มีการหันมาใช้ภาพประกอบมากขึ้น รวมถึงมีการนำเสนอหรือจัดเรียงข้อความในรูปแบบที่แปลกใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการพิมพ์ที่พัฒนามากขึ้น และความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอของผู้เขียนที่ต้องการทดลองอะไรใหม่ๆ และที่สำคัญก็คือการยอมรับจากผู้อ่านว่าภาพประกอบและการจัดเรียงข้อความอย่างมีศิลปะเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างจินตนาการในวรรณกรรมสมัยใหม่
“อ่าน” น้อยลง “ฟัง” มากขึ้น
แม้ตัวเลขตลาดหนังสือสำหรับเยาวชนจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับกลายเป็นว่ายอดการอ่านในกลุ่มเยาวชนมีแนวโน้มลดลง จากการสำรวจของเว็บไซต์ ComfyLiving ในปี 2020 พบว่ากว่า 80% ของกลุ่มวัยรุ่นไม่นิยมอ่าน และมองว่าการอ่านไม่ใช่กิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายหรือความบันเทิงในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับการวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวเดลี ประเทศอินเดีย พบว่ามีวัยรุ่นเพียง 20.6% เท่านั้นที่ชอบอ่านหนังสือในช่วงเวลาว่าง
ขณะที่มีผลสำรวจว่าการอ่านหนังสือเล่มลดลง ทว่ายอดขายของหนังสือเสียง และอีบุ๊กกลับเพิ่มขึ้น จากการสำรวจของ Audio Publishers Association ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ยอดขายหนังสือเสียงเพิ่มขึ้น 16% ในปี 2020 นอกจากนี้ จำนวนหนังสือเสียงที่ได้รับการกดฟังต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 6.8% ในปี 2019 เป็น 8.1% ในปี 2020 นอกจากนี้ จากรายงานของ Association of American Publishers พบว่ายอดขายอีบุ๊กเพิ่มขึ้น 15.2% เมื่อเทียบกับหนังสือที่จัดพิมพ์ในแบบรูปเล่ม ซึ่งสร้างรายได้เกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับแต่ละสำนักพิมพ์ในปี 2020 แสดงให้เห็นว่า ความสนใจของของวัยรุ่น ได้เปลี่ยนจากการการอ่านแบบรูปเล่ม ไปสู่การฟังหนังสือเสียงหรืออ่านในรูปแบบอีบุ๊ค ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของหนังสือที่ทำให้ผู้อ่านมีส่วนร่วม หรือมีปฏิสัมพันธ์ได้มากกว่าหนังสือเล่มในรูปแบบเดิมๆ
แต่งเติมความสดใหม่ในความคลาสสิก
เมื่อกล่าวถึงวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง โมบี้ ดิก (Moby-Dick) นักอ่านอาจจะนึกถึงวรรณกรรมเลื่องชื่อของอเมริกาที่เล่าถึงการผจญภัยของสองตัวเอก อิชมาเอล และอาฮับ เพื่อล่าวาฬสีขาวดุร้ายชื่อโมบี้ ดิก แต่จะเป็นอย่างไรหากวรรณกรรมเรื่องนี้ถูกเล่าใน “มุมกลับ” ดังที่ปรากฏในเรื่อง And the Ocean Was Our Sky โดย แพทริก เนส และ โรวินา ไคล์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ Moby-Dick จากมุมมองของวาฬ ซึ่งการนำนวนิยายคลาสสิกมาเล่าใหม่โดยเปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่องของตัวละครกำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ เช่นนวนิยายเรื่อง A Thousand Acres ของ Jane Smiley ที่เปลี่ยนมุมมองผู้เล่าเรื่องจากวรรณกรรมคลาสสิก King Lear หรือ Wicked ของ Gregory Maguire ที่เปลี่ยนมุมมองผู้เล่าเรื่องใน The Wonderful Wizard of Oz หลายเรื่องได้รับรางวัลการันตีคุณภาพ เช่น รางวัล Kate Greenaway Medal และ Carnegie Medal ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นในประเทศอังกฤษ
แอนนาเบล บาร์คเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมเยาวชนของออสเตรเลียตั้งข้อสังเกตว่า “การเล่าในลักษณะที่คล้ายกับ Fan Fiction หรือที่เรียกกันว่า แฟนฟิค ได้เปิดจินตนาการใหม่ ๆ ของความคิดและความเชื่อที่มีต่อนวนิยายคลาสสิก หรือบางเรื่องก็ดูเหมือนเป็นการ “คารวะ” งานเก่า โดยชุบชีวิตเรื่องเล่าเหล่านั้นให้โลดแล่นในจินตนาการของคนรุ่นใหม่อีกครั้งโดยเล่าผ่านมุมมองของตัวละครอื่นตามแบบของแฟนฟิค ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก”
เด็กยุคใหม่พร้อมเผชิญหน้าปัญหาของโลก
โลกแห่งความเป็นจริงที่เลวร้าย ปัญหาโลกร้อน ภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้ง สงคราม การสูญเสีย การคุกคามทางเพศ ฯลฯ ทั้งหมดเป็นประเด็นที่ปรากฏมากขึ้นในวรรณกรรมเยาวชน สะท้อนให้เห็นทัศนคติของเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบันที่เติบโตมาพร้อมกับสังคมออนไลน์ที่มีอำนาจการรับข่าวสารทัดเทียมกับผู้ใหญ่ ทำให้ปัญหาสำคัญเรื่องต่าง ๆ ของโลกอยู่ในการรับรู้ของเด็กและเยาวชนเช่นกัน เด็กยุคใหม่จึงรู้จักคำว่าโลกร้อนมากพอ ๆ กับคำว่าสตรีนิยม ปิตาธิปไตย ความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ
วรรณกรรมเยาวชนในยุคนี้ จึงไม่ได้บอกเล่าถึงความฝันที่สวยงามของวัยเด็ก ปัญหาความรักของหนุ่มสาว หรือการก้าวข้ามสู่วัยผู้ใหญ่ในแบบที่เคยเป็นมา แต่หันมาสอดแทรกปัญหาภัยธรรมชาติหรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความสิ้นหวังต่อโลก หรือความหวังถึงโลกที่ดีกว่าเดิม ตลอดจนยอมรับการมีตัวละครและความรักแบบหลากหลายเพศได้มากขึ้น
กล่าวกันว่าหากอยากจะรู้จักวัยรุ่นยุคไหนก็ต้องอ่านวรรณกรรมของยุคนั้น เทรนด์ว่าด้วยวรรณกรรมเยาวชนและวัยรุ่น ที่หยิบยกมาคงพอจะสะท้อนให้เห็นภาพของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง รวมถึงพัฒนาการของหนังสือและการอ่านในแง่มุมต่างๆ ที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์รูปแบบและเนื้อหาของวรรณกรรมได้อย่างหลากหลายมากขึ้น แต่ไม่ว่ากระแสของวรรณกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือนำเสนอในรูปแบบใด สิ่งที่นักอ่านเยาวชนทุกยุคทุกสมัยมองหาไม่เคยเปลี่ยน คือความปรารถนาที่จะค้นพบเรื่องราวสนุกสนานและประสบการณ์แสนพิเศษมาเติมเต็มชีวิต
รายการอ้างอิง
Annabel Barker. (2020). 7 trends in children’s and YA publishing. Retrieved April 28, 2022, from https://www.writerscentre.com.au/blog/7-trends-in-childrens-and-ya-publishing
Children And Young Adult Books Market Trends Include Innovative, Engaging Themes – Personalized And Video Game-Based. (2021) Retrieved April 28, 2022, from https://www.globenewswire.com/news-release/2021/06/01/2239733/0/en/Children-And-Young-Adult-Books-Market-Trends-Include-Innovative-Engaging-Themes-Personalized-And-Video-Game-Based
Valerie Peterson. (2018). Young Adult and New Adult Book Markets. Retrieved April 28, 2022, from https://www.thebalancecareers.com/the-young-adult-book-market-2799954